กสิกรไทยกับสาวงาม และ e-service


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ด้วยเหตุผลที่ธุรกิจของธนาคารเป็นเรื่องห่างไกล ยากที่ผู้บริโภคจะเข้าถึงได้ง่ายๆ ไม่เหมือนกับ consumer product อื่นๆ

ยิ่งเมื่อบวกกับคอนเซ็ปต์บริการใหม่ ที่แบงก์กสิกรไทยจะชูธงรบอย่างหนักในปีนี้ ที่ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เอาไอทีมาประยุกต์ใช้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะเป็นเรื่องยากที่ผู้บริโภคจะเข้าใจได้ง่าย

บริการใหม่ 8 รูปแบบ ที่ว่านี้จะมีคำว่า e ที่ย่อมาจาก electronic นำหน้า อาทิ e-phone Ba nking, e-ATM, e-banking Center, e-mobile phone banking, e-info Service, e-commerce Service, e-cash Card, e-saving Account

ความหมายง่ายๆ ก็คือ บริการทั้ง 8 ของแบงก์นี้จะเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างบริการ e-mobile phone banking ที่เป็นบริการทางธนาคารแก่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่บริการเก่าอย่างเอทีเอ็ม ก็จะมีการปรับปรุงใหม่ให้ตอบสนองการให้บริการได้ครอบคลุมมากขึ้น เรียกว่า เป็นการใช้ทดแทนการเปิดสาขาใหม่ของแบงก์เลยก็ได้

ความยากของการให้บริการเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีแล้ว เพราะทุกแบงก์ก็มีความพร้อมในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่แบงก์ต้องทำ คือ จะทำอย่างไรที่จะให้บริการเหล่านี้เข้าถึงผู้บริโภคได้ คือโจทย์สำคัญของแบงก์

"โจทย์การตลาดของเราคือ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าใจบริการใหม่ของแบงก์ ความรู้สึกของคนทั่วไปกับแบงก์ยังแข็ง เป็นอะไรที่เข้าถึงได้ยาก เราจึงต้องหาวิธีที่จะสื่อให้เขาเข้าถึงได้ง่ายและสั้น เราก็มาคิดว่า ทำไมเราไม่เอาคนของเขามาเป็นตัวแทน มาพูดให้กับคนของเขาได้เข้าใจ มันจะง่ายกว่า การที่แบงก์จะเข้าไปนำเสนอเอง" อำพล โพธิ์โลหะกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์วิภัชธุรกิจ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว

และนี่เองก็คือที่มาของโครงการ TFB e-GIRLS ที่จะเป็นคำตอบของโจทย์เหล่านี้ ที่ผู้บริหารแบงก์เชื่อว่าสาวงามทั้ง 8 จะเป็นพรีเซนเตอร์ที่จะเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายที่สุด

งานนี้แบงก์ใช้วิธีว่าจ้างบริษัท เจเอสแอล เป็นผู้จัดประกวด เพื่อสรรหา e-GIRLS ทั้ง 8 คน ซึ่งคอนเซ็ปต์ของการคัดเลือก ไม่เหมือนกับเวทีประกวดสาวงามทั่วไป

คุณสมบัติในการคัดเลือกก็ยังหนีไม่พ้นคอนเซ็ปต์ E คือ Expressive มีเสน่ห์ชวนมอง Educated มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า และ E ตัว สุดท้ายคือ Electrifying มีความโดดเด่น เมื่อถ่ายภาพเหมาะสมกับการเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา แต่ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ความรู้ในเรื่องพื้นฐานของเทคโนโลยี

"เช่นพอจะรู้ว่า บริการของแบงก์เป็นยังไง อย่างน้อยก็เคยเล่นอินเตอร์เน็ตมาบ้าง" ดร.อภิวัฒน์ วัฒนางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเจเอส แอล ซึ่งรับผิดชอบงานนี้โดยตรงกล่าว

สำหรับ e-GIRLS ที่ได้รับคัดเลือก จะได้รับเงินรางวัลคนละ 1 ล้านบาท สำหรับการเป็นพรีเซนเตอร์ e-service ทั้ง 8 ของแบงก์เป็นเวลา 2 ปี ไม่รวมกับการออกโชว์ หลังจากคัดเลือกได้ e-GIRLS ทั้ง 8 คนแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของโอกิลวี่ ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ที่จะนำหญิงสาวทั้ง 8 ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั้ง 8 บริการ

"ถ้าถามว่า ยากกว่าสมัยที่แบงก์ทำเอทีเอ็มหรือเปล่า ผมว่าโจทย์ครั้งนี้ ไม่ยากเท่า เพราะอย่างน้อยคนส่วนใหญ่ก็สัมผัสกับเทคโนโลยีกันมาพอควรแล้ว เวลานั้นกว่าคนจะรับเอทีเอ็มได้ ก็ใช้เวลาไม่น้อย"

งานนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับ e-GIRLS ทั้ง 8 บวกผสมกับหมัดเด็ดทางการตลาดที่ทำให้บริการ e-services ทั้ง 8 บริการของธนาคารเข้าถึงผู้บริโภคได้มากน้อยเพียงใด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.