ถาวร พรประภาเป็นตัวอย่างของพ่อค้าในยุคสงครามโลกครั้งที่สองที่บุกเบิกกิจการค้ารถยนต์จนสร้างอาณาจักรอุตสาหกรรมในนามของ
"สยามกลการ" ได้สำเร็จเพราะส่วนผสมระหว่างสายสัมพันธ์ธุรกิจกับการะสมทุนให้แข็งแกร่ง
ยามวิกฤต ถาวรได้พิสูจน์ว่าคอนเนกชันที่มีอยู่กับผู้ยิ่งใหญ่ของบ้านเมืองนี้
สามารถช่วยให้กิจการของครอบครัวตัวเองรอดพ้นการล่มสลายได้
จาก "บันทึกความทรงจำ" ที่ถาวรได้เขียนขึ้นในวาระครบรอบ 60 ปี
ถาวรได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ตนเองได้แยกตัวออกจาก "ตั้งท่งฮวด"
กิจการเก่าของพ่อแม่มาตั้งบริษัทสยามกลการต่อมาตั้งท่งฮวดประสบวิกฤตการณ์อย่างหนักเพราะเกิดคอร์รัปชันครั้งใหญ่
ทำให้ตั้งท่งฮวดเกือบจะล้มละลาย !
ยิ่งกว่านั้น ถาวรได้เล่าว่า ลูกน้องตั้งท่งฮวดที่ทุจริตก็ยังกลั่นแกล้งพี่ชายของตนและตั้งท่งฮวดนานาประการใส่ร้ายทำเรื่องถูกให้กลายเป็นผิด
"เหมือนพระช่วยดลบันดาล ทำให้ข้าพเจ้าเลื่อนการเดินทางไปอีก 3 วัน
พอวันรุ่งขึ้นก็เกิดเรื่อง ถ้าข้าพเจ้าไปเยอรมันตอนนั้นแล้ว เรื่องคงผันแปรไปหมด
และจะวิ่งไปขอให้ท่านผู้ใหญ่ช่วยก็คงไม่ทัน" ถาวรบันทึกถึงจังหวะชีวิตเลวร้ายช่วงนี้ไว้
ผู้ใหญ่ที่ช่วยเหลือถาวรในตอนนั้นมี สัญญา ยมสมิต สหัส มหาคุณ และจงกลณี
จันทรสาขาซึ่งเป็นน้องท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ เป็นผู้พาถาวรไปพบจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์
"ตอนนั้น ท่านจอมพลเป็นประธานของธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของตั้งท่งฮวดเมื่อข้าพเจ้าไปเรียนเรื่องราวให้ท่านทราบ
และขอความช่วยเหลือจากท่านแล้ว ท่านพูดว่าท่านจะช่วย แต่ต้องให้ข้าพเจ้ารับรองว่าข้าพเจ้าจะต้องไปช่วยควบคุมด้วย
ข้าพเจ้าก็รับปาก และท่านถามว่าจะทำกันต่อไปไหวหรือ ข้าพเจ้าก็ตอบว่า ไปไหว
แต่อยู่ที่ท่านคนเดียวเท่านั้นที่จะให้รอดหรือไม่รอด เพราะท่านเปรียบเสมือนหมอ
ถ้าหมอช่วยก็ไปรอดแล้วท่านก็รับปากว่าจะดูให้" ถาวรเล่าให้ฟังถึงการแก้ไขสถานการณ์
จากการแก้ไขปัญหาทีละเปลาะ ถาวรได้วิ่งเข้าไปขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ
ในคดีความที่สินธุ์ พรประภาพี่ชายของตนและกิจการตั้งท่งฮวดถูกใส่ร้าย โดยปรึกษากับเฉลิม
เชี่ยวสกุล ซึ่งคบหาสนิทกันมานาน
"คุณเฉลิมพาไปหาท่าน ประมาณ อดิเรกสารที่บ้านข้าพเจ้าจำได้ว่า ตอนที่ข้าพเจ้าไปท่านประมาณนั้น
ท่านกำลังเดินเล่นอยู่ในสวนในบ้าน ข้าพเจ้าไปเล่าเรื่องที่เป็นจริงให้ฟังและพูดว่า
"พรุ่งนี้ ผมจะปิดบริษัทหมด เพราะแผ่นดินนี้มืดเสียแล้ว" เพราะคนที่โกงเขาแล้วยังไปแจ้งตำรวจ
ท่านประมาณจึงพาไปหาพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นอธิบดีกรมตำรวจ
ตอนแรกคุณเผ่าก็ต่อว่าข้าพเจ้าโดยท่านเข้าใจว่าข้าพเจ้าเป็นคนทำให้เสียหาย
แต่หลังจากได้เรียนชี้แจงให้ท่านเข้าใจเรื่องที่เป็นจริงแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้รับความกรุณาช่วยเหลือจากท่าน"
ผู้มีพระคุณที่ถาวรจะลืมไม่ลงอีกคนหนึ่งก็คือ เจ้าสัวอื้อจือเหลียง มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งในยุคนั้น
ในยามวิกฤตครั้งที่สองที่ถาวรต้องเผชิญปัญหาข่าวลือสะพัดในวงการค้าว่าบริษัทในเมืองไทย
6 บริษัทจะล้มละลายในจำนวนนี้มีบริษัทสยามกลการอยู่ด้วย
นอกจากนี้ถาวรยังถูกกลวิธีปล่อยข่าวแกล้งด้วยว่าถาวรหนีไปอยู่เวียงจันทร์
ประเทศลาวแล้ว ปิยะ ภิกยาธร พนักงานชั้นผู้ใหญ่ของธนาคารกรุงเทพได้โทรศัพท์มาเล่าให้ถาวรฟังแล้วถามว่ารู้ไหม
เขาพูดกันอย่างนี้ ถาวรก็ตอบว่า
"ข้าพเจ้ารู้แล้ว และคนที่ปล่อยข่าวแกล้งพวกข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็พอทราบว่าเป็นพวกทำงานธนาคาร
นายธนาคารบางท่านได้บอกกับข้าพเจ้าว่า เรื่องที่เขาลือกันนี้ได้ท้าพนันไปแล้ว
1 ต่อ 100 ถ้าเป็นจริงจะให้ 1 ล้านบาท ข่าวนี้เป็นการทำความปั่นป่วนในวงการธุรกิจเป็นอย่างมาก
เจ้าสัวอื้อจือเหลียงนี้ข้าพเจ้าเคารพท่านมาก และท่านก็เมตตากับข้าพเจ้า
หลังจากที่มีข่าวแพร่ออกไปแล้ว วันหนึ่งท่านได้มาหาข้าพเจ้าที่บริษัทและบอกข้าพเจ้าว่า
"ถาวร อั๊วกำลังจะไปปีนัง แต่อั๊วสั่งอุเทนไว้แล้วว่าถ้าต้องการใช้เงิน
30-40 ล้านบาท ก็ให้ไปเอา" ข้าพเจ้าขอบพระคุณท่านบอกท่านว่าตอนนี้ยังไม่เป็นไรถาวรบันทึกบุญคุณครั้งนี้ไว้
การที่ถาวรมีผู้ใหญ่ที่มีอำนาจและอิทธิพลทั้งด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคมเป็นเกราะป้องกันภัยคุกคามกิจการสยามกลการ
ทำให้ถาวรดำเนินนโยบายแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ปลดเกษียณแล้วมาเป็นที่ปรึกษาบริษัทในหลายยุคสมัยติดต่อกัน
ถาวรได้ให้เหตุผลแห่งการกระทำนี้ว่า
"วิธีที่ข้าพเจ้าเชิญผู้มีอายุมาก ซึ่งเคยรับราชการในตำแหน่งชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาล
หรือเคยเป็นพนักงานชั้นผู้ใหญ่ในวงการธุรกิจการค้ามาแล้วมาเป็นที่ปรึกษา
จึงเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าคิดว่าถูกต้อง บริษัทในต่างประเทศก็ตั้งพวกที่ปลดเกษียณอายุแล้วมาเป็นที่ปรึกษาเช่นกัน
ข้าพเจ้านึกถึงเรื่องสามก๊ก การให้แม่ทัพแบบลิโป้ หรือเตียวหุย ซึ่งมีแต่กำลังแต่ไม่มีปัญญาไปรบนั้นจะสู้ให้คนที่มีกำลังและปัญญาเช่นจูล่งไปรบไม่ได้"
ถาวรเล่าให้ฟัง
ผลการสนับสนุนและเป็นผู้หนึ่งที่ริเริ่มสมาคมอุตสาหกรรมไทย ก็ทำให้ถาวรมีโอกาสใกล้ชิดกับวรการเศรษฐกิจทั้งภายในภาคเอกชนและภาครัฐบาลเสมอมา
บทบาทของ "สยามกรุ๊ป" ในปัจจุบันจึงมีอยู่สูงมากในสาขากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
และคอนเนกชั่นที่ถาวรได้สานไว้ก็สืบต่อมาถึงคนรุ่นหลัง
นอกจากเหตุวิกฤตที่เกิดกับกิจการงานแล้ว ในชีวิตส่วนตัวของถาวร พรประภาที่ต้องประสบรุนแรงก็มี
คราวหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถาวรได้นั่งเครื่องบินจากไคโรไปอิตาลีเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบิน
ประกาศห้ามมิให้ผู้โดยสารแตะต้องสวิตช์ไฟฟ้าทุกอัน ถ้าแตะต้องเครื่องบินจะระเบิดทันที
ทุกคนตกใจมาก สวดมนต์ไหว้พระกันหมด ฝรั่งก็ไหว้พระด้วย จนกระทั่งเครื่องบินย้อนกลับมาลงไคโรโดยปลอดภัย
อีกครั้งหนึ่ง ถาวรได้เล่าให้ฟังว่า ไปชมโรงงานทอผ้าในญี่ปุ่นกับประมาณ
อดิเรกสาร ขณะที่เดินอยู่ในโรงงาน เกิดอุบัติเหตุ กระสวยทองเหลืองแหลมยาวประมาณ
12 นิ้วหลุดจากเครื่องทอผ้ามาชนหน้าอกตนเอง
"เดชะบุญในขณะนั้นอะไรไม่ทราบ ทำให้ข้าพเจ้าเอี้ยวตัวไปข้าง ๆ เล็กน้อย
ดังนั้นกระสวยที่วิ่งมาชนจึงชนหน้าอกข้าพเจ้าไม่ตรงนัก ประกอบกับตรงที่หน้านั้นเป็นกระเป๋าเสื้อที่ข้าพเจ้าใส่หนังสือเดินทางไว้
กระสวยเจาะตรงตราครุฑของหนังสือเดินทางพอดี จะพูดว่าครุฑช่วยข้าพเจ้าไว้ก็ไม่ผิด"
นับว่าเป็นความโชคดีของถาวร
ถาวรเคยประสบอุบัติเหตุรถยนต์ถึงสามครั้งสามคราแต่ก็รอดตายได้อย่างหวุดหวิด
ครั้งหนึ่งที่ถาวรได้บันทึกไว้ตอนที่ไปซื้อรถยนต์สหประชาชาติที่สิงคโปร์ได้นั่งรถไป
2 คนกับเพื่อนชื่อลิ่มกีตง ซึ่งต่อมาเป็นญาติกับปริญญาน้องชายถาวร ขณะนั้นฝนตกหนัก
ถนนลื่นทำให้ เกิดอุบัติเหตุรถหมุน รถเกือบตกหน้าผาที่ยะโฮบารู มาเลเซีย
จุดที่ล้อรถหยุดห่างจากขอบหน้าผาสูงไม่กี่นิ้ว
"ครั้งที่สอง รถโกดังวิ่งมาชนรถข้าพเจ้าที่สี่แยกบางนาตราด จุดที่ชนอยู่ตรงกลางตัวรถที่ข้าพเจ้านั่ง
ผู้ที่เห็นเหตุการณ์นึกว่าข้าพเจ้าคงแย่แล้ว เดชะบุญรอดไปได้อีกถ้านั่งผิดที่ไปอีก
5 นิ้ว ทางข้างหน้าหรือข้างหลังก็ต้องโดยเหล็กทิ่มลำตัวข้าพเจ้าไปทำบาดแผลเล็กน้อยที่โรงพยาบาลเท่านั้น"
ถาวรเล่าให้ฟังถึงอุบัติเหตุ
และรถนิสสัน PRESIDENT คันที่ถาวรนั่งไปในวันนั้นถาวรก็ได้นำมาซ่อมแล้วเก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย
ถึงกระนั้นก็ตามอุบัติเหตุครั้งที่สามก็เกิดขึ้นอีก
"ครั้งนี้เกิดขณะที่นั่งรถยนต์ไปพัทยา มีคุณอุษาและพรทิพย์ ลูกสาวนั่งไปด้วย
มีรถวิ่งมาชนรถที่นั่งอยู่ ทำให้รถหมุนไป 3 รอบ เดชะบุญรถไม่คว่ำ เลยไม่มีใครเป็นอันตรายในเรื่องอุบัติเหตุนี้
หมอดูหลายคนบอกว่าข้าพเจ้าน่าจะตายไปแล้ว"
ณ วันนี้ ถาวรอายุ 76 ปี แลเห็นความเปลี่ยนแปลงอันไม่แน่นอนของชะตาชีวิตและเหตุการณ์เศรษฐกิจบ้านเมือง
ที่ตนเองไม่อาจจะลงมือกระทำได้ แต่ได้มอบภารกิจนี้แก่ทายาทรุ่นหลังต่อมาที่เปลี่ยนแปลงโฉมสยามกลการที่มีอายุ
40 ปีภายใต้ชื่อเรียกใหม่ของกลุ่มว่า "สยามกรุ๊ป"