|
มือถือสู่อินเทอร์เน็ตคอมปะนีโมเดลคอนเวอร์เจนซ์สองโลกสื่อสาร
ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 กุมภาพันธ์ 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
- ค่ายมือถือเปลี่ยนจากผู้ผลิตสู่ผู้ให้บริการตอบรับไลฟ์สไตล์ยุคไซเบอร์
- ก้าวสำคัญยักษ์ใหญ่ "โนเกีย" วางบทบาทใหม่ "อินเทอร์เน็ตคอมปะนี"
- โมเดลธุรกิจคอนเวอร์เจนซ์รูปแบบใหม่ระหว่างมือถือกับอินเทอร์เน็ต
- บทพิสูจน์ขายมือถืออย่างเดียวไม่เพียงพอรองรับรายได้ในอนาคต
โลกอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนทั่วโลก ทำให้สื่อชนิดนี้ได้รับความสนใจจากธุรกิจต่างๆ ที่พร้อมจะกระโดดเข้ามาร่วมวงบริการอินเทอร์เน็ตเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ยุคออนไลน์ ที่สำคัญเป็นการปูฐานสู่ฐานรายได้มหาศาลในอนาคต
แม้แต่ค่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลก อย่าง "โนเกีย" ยังเล็งเห็นถึงอานุภาพของอินเทอร์เน็ต ที่นับวันจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกโมบายมากยิ่งขึ้น จนทำให้โนเกียเกิดแนวคิดโมเดลธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือจากธุรกิจผลิตมือถือ ธุรกิจบิสซิเนสโซลูชั่น และธุรกิจอินฟราสตรักเจอร์ โดยโมเดลธุรกิจใหม่หรือธุรกิจใหม่ที่ว่าคือ "อินเทอร์เน็ตเซอร์วิส"
"ก้าวสำคัญของโนเกียคือการเป็นอินเทอร์เน็ตคอมปะนี"
เป็นคำกล่าวของ วิภู ซาบาวาล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด ตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจของโนเกียที่จะเปลี่ยนจากการเป็นเพียงผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือไปสู่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสมบูรณ์แบบ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกำลังมีผลต่อรูปแบบการให้บริการในประเทศไทยด้วย
จากเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าโมบายอินเทอร์เน็ตเติบโตขึ้นอย่างมาก การใช้งานของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกนอกที่อยู่อาศัยเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยมีตัวเลขยืนยันของไอดีซีที่ระบุว่า 70% ของคนใช้อินเทอร์เน็ตใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ
ปัจจัยที่ทำให้มือถือกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเป็นช่องทางเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ต เป็นผลมาจากโทรศัพท์มือถือปัจจุบันรองรับเทคโนโลยี 3จี และ ไว-ไฟมากขึ้น ทำให้ค่ายมือถืออย่างโนเกียต้องมาพิจารณาว่าโลกอินเทอร์เน็ตกำลังเกิดอะไรขึ้น คำตอบที่ได้คืออินเทอร์เน็ตก้าวเข้ามาในโลกโมบายมากขึ้น โนเกียจึงต้องหันกลับมาดูธุรกิจหลักที่มีอยู่จนนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจใหม่
"2-3 ปีที่ผ่านมาทุกคนจะพูดถึงเรื่องของการคอนเวอร์เจนซ์ดีไวซ์ วันนี้โนเกียมองไปมากกว่านั้น เนื่องจากมือถือเพียงอย่างเดียวไม่พอสำหรับการดำเนินธุรกิจ แต่ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตคือหัวใจสำคัญใหม่ของโนเกีย" นนทวัน สินธวานนท์ หัวหน้าฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์และบริการ บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
การนำโนเกียไปสู่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตนั้น โนเกียได้มีการเปิดตัวการให้บริการภายใต้ชื่อ "Ovi" เป็นภาษาฟินนิชที่แปลว่า "ประตู" โดยโนเกียจะให้โอวี่เป็นประตูสู่โลกอินเทอร์เน็ตที่เต็มไปด้วยบริการอินเทอร์เน็ตหลากหลายประเภท จากความร่วมมือกับเหล่าพันธมิตรยักษ์ใหญ่แห่งโลกอินเทอร์เน็ต อาทิ myspace, Linked in, flickr และ YouTube
การพัฒนารูปแบบการให้บริการอินเทอร์เน็ตของโนเกียนั้น ใจความหลักของโอวี่คือต้องการให้ง่ายต่อการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นบริการเกี่ยวกับโฟโต้ มิวสิก เกม หรือวิดีโอต่างๆ ที่สำคัญจะต้องทำให้การใช้งานระหว่างโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เกิดปัญหาด้านการใช้งาน
ตามแผนการให้บริการอินเทอร์เน็ตของโนเกียนั้น ในปีนี้โนเกียได้ให้ความสำคัญใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ เกม มิวสิก แผนที่ และอินเทอร์เน็ต
ในส่วนของเกม ปีนี้โนเกียจะให้เป็นปีแห่งการกลับมาของเอ็นเกจ ที่จะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่พร้อมจะมีโทรศัพท์มือถือหลากหลายรุ่นมาตอบสนองผู้ที่ต้องการเล่นเกม เซอร์วิสหรือรูปแบบการให้บริการนั้นจะมีการสร้างเป็นคอมมูนิตี้ โดยโนเกียมีพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตเกมยักษ์ใหญ่ของโลกพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในส่วนของให้บริการนี้
ด้านมิวสิกนั้น หลังจากค่ายเพลงทั่วโลกต้องประสบกับปัญหาความตกต่ำของยอดขายซีดีที่เป็นผลจากเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการก๊อบปี้อย่างง่ายดาย ความหวังของค่ายเพลงในอนาคตจึงฝากไว้กับดิจิตอลมิวสิกที่นับวันยิ่งเติบโต โดยโนเกียพร้อมที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนค่ายเพลง รวมถึงการเปิดโนเกียมิวสิกสโตร์เพื่อให้ประสบการณ์ที่จะเป็นโมเดลใหม่สำหรับการดาวน์โหลดถูกต้องสิทธิ์
ในประเทศไทยโนเกียสร้างประสบการณ์การใช้งานมิวสิก เพื่อสร้างกระแสการรับรู้และความตื่นตัวเกี่ยวกับดนตรีผ่านมือถือ ในบริการมิวสิกของโอวี่นั้นโนเกียร่วมมือกับแกรมมี่ ให้บริการดาวน์โหลดเพลงแกรมมี่แบบไม่จำกัดจำนวนเป็นเวลา 6 เดือนฟรี สำหรับลูกค้าใหม่ผู้ใช้งานโนเกีย เอ็น ซีรีส์ และ โนเกีย Xpress Music
ในเรื่องของบริการแผนที่ โนเกียมองว่าเทรนด์ของสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี GPS จะมาแรง และจะกลายเป็นฟีเจอร์มาตรฐานจากราคาที่ลดต่ำลง ตลาดสมาร์ทโฟนที่โตขึ้นนี้จะเข้าไปทดแทนตลาดในส่วนของพีดีเอที่มี GPS และอุปกรณ์ GPS ที่จำหน่ายอยู่ในตลาดขณะนี้
ทั้งนี้โนเกียมีโซลูชั่นที่สมบูรณ์ในการให้บริการเรื่องของแผนที่ หลังจากที่ได้มีการซื้อกิจการผู้ผลิตแผนที่ระดับต้นๆ ของโลก ทำให้ในแง่คอนเทนต์นั้น โนเกียมีพร้อมสำหรับผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตามบริการแผนที่ของโนเกียไม่เฉพาะเรื่องการนำทางให้กับผู้ที่ขับรถยนต์เท่านั้น แต่จะรวมไปถึงการบอกทางด้วยการเดินเท้า การเสิร์ชหาสถานที่ต่างๆ จากชื่อหรือเบอร์โทรศัพท์ การบอกจุดสำคัญๆ ทั่วโลก ที่สามารถสร้างให้เกิดเป็นคอมมูนิตี้ที่ผู้คนจะเข้ามาแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน และเรื่องของโลเกชั่นแพกกิ้ง เพียงผู้ใช้มือถือถ่ายรูปจากส่วนใดในโลกก็จะถูกเก็บบันทึกทันที
สำหรับเรื่องบริการอินเทอร์เน็ตนั้น ปัจจุบันไว-ไฟเข้ามามีส่วนสำคัญ โนเกียจึงได้จับมือกับผู้ให้บริการไว-ไฟ เพื่อสร้างประสบการณ์ใช้งานให้กับผู้ใช้มือถือ และจะมีการโปรโมตรูปแบบการใช้งานให้ผู้บริโภคเห็นถึงความง่าย สะดวกและประหยัดของการใช้งาน
ทิศทางธุรกิจของโนเกียนอกเหนือจากการโฟกัสธุรกิจใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตแล้ว ในส่วนของโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่จะออกมาวางจำหน่ายในปีนั้น โนเกียจะขยายฐานการใช้งานมือถือมัลติมีเดียให้กับผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น โดยโนเกียมีแผนที่จะขยายฟังก์ชั่นมัลติมีเดียให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์มากขึ้นในราคาที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย
ด้านกลยุทธ์ทางการตลาด อุณา ตัน หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงมาร์เกตติ้งโฟกัสของโนเกียว่า จะมีเรื่องการทำ Experience Marketing ไปหาผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการทำมิวสิก คาร์ โมบาย คาร์ ไว-ไฟโซนและโนเกีย เอ็น ซีรีส์ เอ็กซ์พีเรียนซ์ เซ็นเตอร์
นอกจากนี้มิวสิกมาร์เกตติ้ง โนเกียกำลังสร้างคอมมูนิตี้ขึ้น เพื่อทำห้ผู้บริโภคมีประสบการณ์จริง อย่าง IAC เว็บไซต์ที่ผู้ใช้สามารถอัปโหลดเพลงของตนเองขึ้นไปบนเว็บไซต์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้
กลยุทธ์การตลาดอีกด้านหนึ่งคือเรื่อง Retail Experience ผ่านทางโนเกียช็อป เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นที่โนเกียจะสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค เนื่องจากการขายโทรศัพท์มือถือวันนี้ไม่เพียงเป็นการขายเครื่องมือถือเท่านั้น แต่เป็นการขายโทเทิลโซลูชั่น รวมถึงการทำการตลาดแบบ 360 องศา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเปิดตัวมือถือโนเกียรุ่นใหม่ ผู้บริโภคจะเห็นมือถือโนเกียในทุกๆ จุดของสื่อการตลาด เป็นการแสดงให้คอนซูเมอร์เห็นถึงโทเทิลแบรนด์ของโนเกีย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|