ตระกูลว่องวานิชถือกำเนิดจากหมอล้วน ว่องวานิชมีเชื้อสายเป็นชาวไหหลำ ที่เกิดในประเทศจีนเมื่อปี
พ.ศ. 2434 หมอล้วนมีพี่น้อง 3 คนทั้งพ่อและแม่เสียชีวิตเมื่อเขามีอายุได้
8 ปีส่วนน้องชายเสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์ หลังจากนั้นไม่นานพี่สาวซึ่งออกเรือนไปแล้วก็ได้เสียชีวิตลงพี่เขยจึงได้พาเข้าประเทศไทยซึ่งขณะนั้นอายุได้
12 ปี
ยุคแรกของการเข้ามาอยู่ในเมืองไทยหมอล้วนได้รับการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ
ขณะเดียวกันก็ทำงานอยู่กับพี่เขยที่โรงงานน้ำอัดลมเชิงสะพานมอญ สี่กั๊กพระยาศรีด้วย
และเมื่อพี่เขยเสียชีวิตเขาก็ได้ต่อสู้ชีวิตด้วยลำแข้งของตนเองเป็นครั้งแรก
ที่ห้างขายยาตราบัว มีตำแหน่งเป็นเภสัชกรต่อมาได้เข้าทำงานที่ห้างขายยาอังกฤษ
(ตรางู) ในตำแหน่งผู้ช่วยเภสัชกรและผู้ช่วยแพทย์
หมอล้วนได้ย้ายที่ทำงานไปเรื่อย ๆ จากห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ไปอยู่ที่ห้างขายยาบางกอก
ดิสเปนซารี่ (ตราช้าง) ห้างขายยาเยาวราช สมัยท่าน กิมพงษ์ (ทองทัด) เป็นเจ้าของในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการและผู้ช่วยแพทย์จนในที่สุดได้ออกมาตั้งตัวโดยเข้าหุ้นกับเพื่อนอีก
2 คนคือเม่งกิต และโกศล ปังศรีวงศ์ (ซึ่งต่อมาโกศลเป็นเจ้าของห้างขายยา บี.
แอลฮั้ว) ตั้งห้างขายยาสมิท ฟาร์มาซีอยู่ที่สี่แยกวัดตึกเป็นตัวแทนจำหน่ายยาปาร์คเดวิส
เมื่อแมคเบธเจ้าของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ต้องการที่จะพักผ่อนและกลับประเทศของตนเพราะมีอายุมากแล้วจึงได้ขายห้างนี้ให้กับหมอล้วนซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสามารถรอบด้าน
คือเป็นทั้งเภสัชกรและแพทย์ประกาศนียบัตร ซึ่งรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขรวมทั้งพูดภาษาต่างประเทศได้ดีไม่ว่าจะเป็นภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษ
ซึ่งหมอล้วนศึกษามาจากโรงเรียนอัสสัมชัญแมคเบธจึงเจรจาขายห้างใหในสมัยนั้นด้วยราคา
100,000 บาท
หมอล้วนเล็งเห็นว่าห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) จะมีความเจริญเติบโตต่อไปในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน
จึงได้หยิบยืมเงินเพื่อนฝูงส่วนหนึ่งและเงินสดของตนเองอีกส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายหุ้นในห้างขายยาสมิท
ฟาร์มาให้กับเม่งกิตนำมาซื้อห้างขายยาแห่งนี้ เมื่ออายุเพียง 36 ปีเท่านั้น
เมื่อหมอล้วนได้เป็นเจ้าของห้างขายยาอังกฤษตรางูเขาก็ได้ขายหุ้นของห้างขายยาสมิท
ฟาร์มาซีให้กับเม่งกิตไปและตนเองได้มาดูแลห้างขายยาอังกฤษตรางูอย่างเต็มตัว
นั่นคือการเปิดฉากธุรกิจของตระกูลว่องวานิชโดยมีหมอล้วนเป็นต้นตระกูล
หมอล้วนมีบุตรชายหญิงด้วยกัน 6 คนคือนายแพทย์บุญชิต, ดร. บุญยง, วรรณา
บุญศรี (เสียชีวิตเมื่อปี 2499) วลัย และวิไลพันธ์ ก่อนที่หมอล้วนจะเสียชีวิตได้ยกกิจการห้างขายยาให้กับหมอบุญชิตและบุญยงเป็นผู้ดูแลสืบทอดเจตนารมย์ต่อไป
หมอล้วนเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2507 ขณะนั้นมีอายุได้ 73 ปีในขณะที่หมอล้วนบริหารงานห้างขายยาอังกฤษ
(ตรางู) อยู่นั้น บุญยงบุตรชายคนที่ 2 เล่าว่าหมอล้วนผู้เป็นบิดามีปรัชญา
4 ข้อในการทำธุรกิจที่เป็นของตนเองตลอดมาคือเพื่อประชาชน เพื่อผู้ลงทุน เพื่อผู้ร่วมงานและเพื่อช่วยพัฒนาสังคม
ปัจจุบันห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ได้ผ่านพ้นมือผู้บริหารของตระกูลว่องวานิชมาด้วยกันถึง
3 ยุค แต่ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้วห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ได้เปลี่ยนมือผู้บริหารมาถึง
4 สมัย
บุญยงบุตรชายคนที่ 2 ของหมอล้วนซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกรรมการห้างขายยาอังกฤษ
(ตรางู) หรือประธานว่องวานิชกรุ๊ปเล่าให้ฟัง "ผู้จัดการ" ฟังว่า
แท้ที่จริงแล้วการเปลี่ยนมือผู้บริหารห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ในปัจจุบันนี้เป็นรุ่นที่
3 ของตระกูลว่องวานิชก็จริง แต่หากนับย้อนจากยุคแรกคือยุคของหมอเฮส์หรือโธมัส
เฮย์วาร์ด เฮส์ ผู้ก่อตั้งห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) โดยร่วมทุนกับหมอปีเตอร์
กาแวนเมื่อปี พ.ศ. 2435 ก่อนยกให้แมคเบธเมื่อปี 2441 ก็นับได้ว่าปัจจุบันได้เข้าสู่ยุคที่
4 ของการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารห้างขายยาอังกฤษ(ตรางู)นั่นเอง
นับจากสมัยแรกหมอเฮส์เปิดเป็นร้านขายยาโดยใช้ชื่อว่า BRITISH DISPENSARY
และมีรูปงูที่หัวมีศรปักเป็นเครื่องหมายการค้า แต่เนื่องจากคนไทยในสมัยนั้นไม่สามารถออกเสียงได้
ประกอบกับเครื่องหมายการค้าของร้านขายยาแห่งนี้เป็นรูปงูถูกศรปักที่หัว ทำให้คนไทยเรียกร้านขายยาแห่งนี้ว่า
"ห้างขายยาอังกฤษตรางู"
ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) แห่งแรกตั้งอยู่ที่ปากตรอกโรงภาษีข้าม หมอเฮส์เล็งเห็นว่าห้างนี้จะสามารถรองรับลูกค้าที่เป็นชาวต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณนั้น
ประกอบกับอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อมีเรือเทียบท่าลูกค้าก็ย่อมมีเพิ่มขึ้น
และอีก 5 ปีต่อมาได้ขยายสาขาอีกแห่งหนึ่งที่สี่กั๊กพระยาศรี ซึ่งที่นี่กลุ่มเป้าหมายก็ได้เปลี่ยนไปจากชาวต่างชาติมาเป็นลูกค้าที่เป็นเจ้านาย
ข้าราชการ และบรรดาผู้มีอันจะกินที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้พระบรมมหาราชวัง
กิจการร้านขายยากำลังรุ่งเรืองแต่น่าเสียดายที่หมอกาแวนจะต้องเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของตนจึงได้ขายหุ้นทั้งหมดให้กับหมอเฮส์จนถึงปี
พ.ศ. 2449 หมอเฮส์ก็ได้ขายหุ้นทั้งหมดให้กับแมคเบธซึ่งเป็นคนปรุงยาในร้อน
(ปัจจุบันคือเภสัชกร) ทำงานกับหมอเฮส์มาตั้งแต่เมื่อเริ่มเปิดร้านขายยามาได้
6 ปี (พ.ศ. 2441)
ห้างขายยาฯ ในสมัยหมอเฮส์ผู้ก่อตั้งนั้นเป็นเพียงร้านหมอและขายยาให้ลักษณะการขายปลีกเท่านั้น
ปี 2471 เป็นสมัยที่ 2 ของผู้บริหารห้างฯ เมื่อหมอล้วนได้ซื้อกิจการห้างขายยาอังกฤษ
(ตรางู) จากแมคเบธและเป็นยุคแรกของตระกูลว่องวานิช ซึ่งในยุคนี้หมอล้วนได้ใช้ชั้นบนของห้างขายยาอังกฤษ
(ตรางู) เปิดเป็นคลีนิคเพื่อรักษาคนไข้ส่วนชั้นล่างก็ได้จัดเป็นร้านขายยาและจำหน่ายสินค้าอื่น
ๆ โดยเริ่มต้นการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเซนลุกซ์อาทิ สบู่ยาเซนลุกซ์
น้ำมันเซนลุกซ์และขี้ผึ่งเซนลุกซ์ ด้วยการสั่งเข้ามาจำน่ายจากประเทศอังกฤษ
รวมไปถึงเมลลินฟู้ดส์ น้ำมันตับปลา ยาแก้ปวดเพอร์รีเดวิส นอกจากนี้ยังเป็นคลังจำหน่ายสินค้าชั้นดีของเบอร์โรห์ส
และบริษัทผลิตยาเวลคัมแอนด์โค
นอกจากนี้ในยุคของหมอล้วน ยังได้ริเริ่มการผลิตสินค้าของตนเองเพิ่มเติมโดยสินค้าที่หมอล้วนคิดค้นพัฒนาได้คือแป้งน้ำโดยการปรับปรุงจากยามะโนลาที่ห้างขายยาอังกฤษ
(ตรางู) ผลิตอยู่แล้วและต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นแป้งน้ำมโนราโดยการนำเอาแป้งมาละลายกับน้ำแล้วเติมกลินน้ำอบไทย
และผสมเมนธอลแล้วนำไปบรรจุขวดเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นแป้งน้ำควินนาและแป้งเด็กเซนลุกซ์ก็เกิดในยุคนี้ด้วยเช่นกัน
ปี พ.ศ. 2506 หมอล้วนได้ยกธุรกิจห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ให้กับหมอบุญชิต
และบุญยงเป็นผู้ดูแลกิจการต่อไป จึงถือว่าห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ได้เข้าสู่สมัยที่
3 ของการบริหารห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู)
และเป็นยุคที่ 2 ของการสืบทอดมรดกทางธุรกิจของตระกูลว่องวานิช
ในยุคของบุญชิตและบุญยงนี้เป็นช่วงของการดำเนินงานท่ามกลางวิกฤติการณ์ภาวะสงครามโลกครั้งที่
2 จึงทำให้กิจการไม่ค่อยจะรุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งก่อนสงครามยุคของหมอล้วนที่รุ่งโรจน์สุดขีด
"แต่ก็ไม่ถึงกับต้องปิดกิจการไปสินค้าใดที่เคยผลิตในสมัยหมอล้วนก็ยังคงผลิตและขายต่อไปเพียงแต่ยากลำบากกว่ายุคของพ่อเท่านั้น"
บุญยงเล่าว่าความลำบากที่ว่านี้หมายถึงต้องคอยหลบการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตรซึ่งย่านสี่พระยาเป็นเป้าหมายหนึ่งของการโจมตีทางอากาศ
อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นสุดสงครามในยุคนี้ก็ได้มีการขยายการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเพิ่ม
เช่นยาของบูทส์เพียวดรัก และอิลายลิลลี่ รวมทั้งจำหน่ายเครื่องสำอางชั้นดี
เช่น อูบากอง อลิซเบธอาร์เดน และคริสเตียนดิออร์ด
ในยุคของบุญชิตและบุญยงนี้มีความสามารถที่แตกต่างกัน คนเก่าแก่ที่เคยอยู่ห้างฯ
นี้มาก่อนเล่าว่า บุญชิตเก่งด้านการผลิตเพราะเป็นทั้งหมอและเภสัชกร จึงคิดค้นและผลิตสินค้าภายใต้ชื่อของตนเองขึ้นมาได้อีกมากมาย
ในขณะที่บุญยงเก่งด้านบริหารและงานขายจึงได้มีการจัดทีมงานขายของตนเองขึ้นมาเพื่อขยายออกไปขายตามต่างจังหวัด
"ในส่วนของการขายก็ขายไปเรื่อย ๆ ส่วนด้านการผลิตก็ผลิตไปเรื่อย ๆ
พร้อมกับการพัฒนาสินค้า เช่น เดิมเคยผลิตแป้งกระป๋องที่มีบรรจุภัณฑ์ทำด้วยกระดาษเมื่อสมัยก่อนก็เปลี่ยนเป็นกระป๋องสังกะสี
นอกจากนี้การผลิตเครื่องสำอางก็เกิดขึ้นในยุคนี้ด้วย"
นับได้ว่าสมัยที่ 3 ของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) แต่เป็นยุคที่ 2 ของตระกูลว่องวานิชได้เกิดโรงงานผลิตสินค้าและเริ่มเน้นการผลิตสินค้าภายในชื่อของตนเองเป็นหลัก
ทั้งนี้เพราะเมื่อสิ้นสุดสงครามเจ้าของสินค้า ที่เคยเป็นตัวแทนจำหน่ายเห็นว่าสินค้าของตนเองขายดีและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักก็เริ่มที่จะดึงสินค้าของตนเองกลับไป
อนุรุธ ว่องวานิชบุตรชายคนโตของบุญยง และเป็นกรรมการบริหารว่องวานิชกรุ๊ปถึงกับกล่าวว่า
"การนำสินค้าของคนอื่นเข้ามาขายในฐานะเป็นเพียงแค่ตัวแทนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดีไม่มีอะไรยั่งยืนเราพึ่งพาอะไรเขาไม่ได้"
ปี พ.ศ. 2506 จึงนับว่าเป็นปีที่สำคัญเพราะได้เริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตสินค้าขึ้นมา
กุญแจที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือการเปลี่ยนแปลงจากการยืมจมูกคนอื่นหายใจมาเป็นการพึ่งพาตนเอง
พัฒนาสินค้าของตนเอง เป็นปีที่มีทรัพยากรบุคคลมีสินค้า มีทีมงานขาย มีการขายปลีก
ขายส่ง เพราะการผนึกกำลังของบุญชิตและบุญยงโรงงาน แอล. พี. แสตนดาร์ดจึงเป็นรูปร่างได้สำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้การสะสมที่ดินจนกลายเป็นแลนด์แบงก์ก็ได้เกิดขึ้นในยุคนี้อีกเช่นกัน
โดยที่ดินพื้นที่เก่าแก่ที่สุดของตระกูลนับย้อนได้ 40 ปีมาแล้วปัจจุบันนี้ยังถือครองอยู่คือที่ดินที่บ้านเพ
จังหวัดระยองมีทั้งหมด 70 ไร่
ล้วนชาย ว่องวานิช บุตรชายอีกคนหนึ่งของบุญยงเล่าว่า "คุณพ่อเป็นคนที่มีสัญชาติญาณพิเศษเกี่ยวกับที่ดินที่ดินทุกพื้นที่คุณพ่อซื้อไว้ในมือ
ปัจจุบันมักจะมีมูลค่ามหาศาลเลยทีเดียวทุกครั้งที่มีเวลาว่างท่านจะขับรถบุกป่าเพื่อซื้อที่ดินพฤติกรรมของท่านเป็นเช่นนี้ตลอดเวลา
40 ปีที่ผ่านมา"
นับจากวันนั้นของการเริ่มต้นซื้อที่ดินของบุญยงจนมาถึง ณ วันนี้ที่ดินของว่องวานิชกรุ๊ปมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า
5,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
ส่วนบุญชิตขณะนี้ป่วยด้วยโรคอัมพาตขณะเดียวกันลูก ๆ ทั้ง 3 คนก็ออกไปทำธุรกิจของตัวเองโดยไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจของว่องวานิชกรุ๊ปเลย
ในขณะที่บุญยงมีบุตร-ธิดาด้วยกัน 4 คนคืออัญญา อนุรุธ ล้วนชาย และเพิ่มหญิง
ทั้ง 4 คนจึงกลายเป็นทายาทผู้สืบสานเจตนารมย์ของบุญยงต่อไปในอนาคตจากจุดเปลี่ยนด้วยการเริ่มต้นผลิตสินค้าจุดนี้เองเมื่อเข้าสู่สมัยที่
4 ของห้างขายยาแห่งนี้และเป็นยุคที่ 3 ของตระกูลโดยลูก ๆ ทั้ง 4 คนของบุญยงไม่ว่าจะเป็นอัญญา
อนุรุธ ล้วนชายและเพิ่มหญิงก็ได้เข้ามาช่วยผู้เป็นบิดาดูแลกิจการนับตั้งแต่ปีพ.ศ.
2530 เป็นต้นมา จึงเป็นสมัยของการพัฒนาธุรกิจให้มีรากฐานที่มั่นคงยิ่งขึ้นด้วยน้ำมือของชนรุ่น3
นี้เองอาจกล่าวได้ว่าชนรุ่น 3 ของตระกูลนี้ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงภาพพจน์ของธุรกิจแบบครอบครัว
ให้เข้าสู่ความเป็นสากลมีมืออาชีพเข้ามาร่วมงานพร้อมกับแตกแขนงธุรกิจออกไปอีกมากมาย
นั่นหมายความว่าธุรกิจห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ได้เปลี่ยนแปลงจากยุคของการลงทุนโดยลำพังในลักษณะครอบครัว
(CONSERVATIVE) เข้าลักษณะของการร่วมหุ้น (JOINT VENTURE) เพื่อเป็นหลักประกันมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติหรือคนไทยด้วยกันหรือแม้แต่การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้เป็นของมหาชนในอนาคตก็ตาม
ยุคสมัยที่ 4 กลุ่มธุรกิจของว่องวานิชเริ่มขยายกิ่งก้านสาขาแตกแขนงออกไปมากมาย
แต่ก็ยังยึดหลักธรรมในการดำเนินงานและชีวิตพร้อมกับการขยายตัวจากธุรกิจยาและสินค้าอุปโภค-บริโภคซึ่งเป็นสินค้าดั้งเดิมมีอนุรุธเป็นผู้ดูแลกิจการนี้สู่ธุรกิจอาหาร
มีกิตติพงษ์ เมธาธรรมบุตรเขย (แต่งงานกับอัญญาบุตรสาวคนโต) ดูแลในนามของบริษัทยูเคเอ็ม
และธุรกิจพัฒนาที่ดิน ล้วนชายบุตรชายคนเล็ก เป็นผู้ดูแลส่วนบุตรสาวคนโตคืออัญญาดูแลด้านการเงิน
และเพิ่มหญิงบุตรสาวคนสุดท้องดูแลโรงงานผลิตสินค้าป้อนให้กับบริษัทในเครือ
ซึ่ง ณ วันนี้ธุรกิจในเครือได้แตกกิ่งก้านสาขาออกไปถึง 13 บริษัท (ดูผังบริษัทในเครือกลุ่มว่องวานิชประกอบ
3 สายธุรกิจ) ในขณะที่บุญยงมีอายุได้ 68 ปีและเตรียมที่จะปลดเกษียณตนเองเมื่ออายุครบ
70 ปีโดยยกหน้าที่หัวเรือใหญ่ให้กับอนุรุธเป็นผู้นำดูแลสืบสานกิจการต่อไป