ป่วน!!วงการที่ดิน รับแผนรื้อขนส่งมวลชน ลิ่วล้อ “ทักษิณ”เตรียมผงาด


ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 กุมภาพันธ์ 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

- รื้อโครงข่ายคมนาคม ป่วนวงการที่ดิน ทำนักธุรกิจการเมืองเดี้ยงคาที่
- ลิ่วล้ออดีตนายกฯทักษิณ เตรียมผงาดวงการที่ดิน หลังโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อสมบูรณ์
- “หญิงอ้อ” นำขบวนกว้านซื้อที่ดินย่านบางนา รอโครงข่ายโลจิกติกส์พร้อม ตามด้วย “สุดารัตน์ ”ดอดเก็บที่ดินย่านรัตนาธิเบศร์อิงสายสีม่วง
- ขณะที่“สุริยะ” รวบที่ดินย่านอยุธยา รอรถไฟฟ้ารางคู่พาดผ่าน หวังเก็งกำไร

จับตาการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารอบกรุงเทพฯปริมณฑล และโครงการรถไฟรางคู่เชื่อมต่อการเดินทางเหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก และเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน ตัวแปรทำวงการอสังหาริมทรัพย์ป่วนรอบใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ แผนสร้างสุวรรณภูมิมหานคร และเมืองใหม่นครนายก ทำวงการอสังหาริมทรัพย์สะเทือนมาแล้วหลายระลอก จนทำให้นักเก็งกำไรเดี้ยงคาที่ดินมานักต่อนัก โดยเฉพาะนักการเมืองนกรู้ และข้าราชการการเมืองที่อาศัยข่าววงในร่วมปั่นราคาที่ดิน จนทำให้ผู้ที่ไหวตัวไม่ทันปล่อยที่ดินออกไปไม่ทัน สุดท้ายต้องแบกรับภาระหนี้สิน และดอกเบี้ยบานตะไท

จากแผนการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 9 เส้นทาง มูลค่ากว่า 500,000 ล้านบาท และแผนลงทุนก่อสร้างรถไฟรางคู่ของรัฐนาวา สมัคร สุนทรเวช จอมโปรเจกท์ ผู้ช่ำชองเรื่องการวางระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ และต้นกำเนิดโครงการทางด่วน และทางพิเศษรอบกรุงเทพฯ กำลังจะทำให้วงการอสังหาริมทรัพย์วุ่นวายอีกครั้งหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดการปั่นราคาที่ดินรอบใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เคยมีการปั่นราคาที่ดินบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ,ที่ดินในจังหวัดนครนายก หลังจากที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกาศจะสร้างเมืองใหม่นครนายก หวังกระจายความเจริญของกรุงเทพฯไปยังนครนายก และลดความแออัดในตัวเมืองลง รวมถึงการปั่นราคาที่ดินจากแผนการสร้างสะพานข้ามอ่าวไทย หรือแหลมผักเบี้ย ที่มีนักการเมือง และนักธุรกิจการเมืองร่วมก๊วนเก็งกำไร

แต่การปั่นราคาที่ดินรอบนี้ จะแตกต่างจากการปั่นราคาที่ดินทุกครั้ง เพราะแผนการลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า และรถไฟรางคู่ ค่อนข้างจะเป็นรูปธรรม และจะเกิดการลงทุนแน่นอน โดยเฉพาะรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง จาก 9 เส้นทางที่เริ่มมีความชัดเจนมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา และตามเป้าหมายของสมัคร ต้องการให้ทั้ง 9 เส้นทางมีความชัดเจนภายใน 5 ปี ข้างหน้า หรือในปี 2556ซึ่งก็ต้องจับตาดูต่อไปว่า สมัครจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะยังไม่ทันเริ่มโครงการก็มีข่ายเล็ดลอดออกมาแล้วว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางบางเส้นทาง ซึ่งจะทำให้แผนการลงทุนล่าช้าออกไปออกน้อย 6-12 เดือน

เชื่อรถไฟรางคู่เกิด

ขณะที่การลงทุนรถไฟรางคู่ ก็ต้องลงทุนแน่นอน เพราะไทยจะต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านการขนส่ง จึงจำเป็นต้องวางโครงข่ายโลจิกติกส์ให้สมบูรณ์ เพื่อรองรับการแข่งขันที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งหากไม่ลงทุนโครงข่ายคมนาคมขนส่งให้เชื่อมต่อกัน ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ จะทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น จากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นจนแตะระดับ 100 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งมีผลให้ต้นทุนสูงมาก

ดังนั้น เชื่อว่า รัฐบาลสมัครจะเร่งลงทุนโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อการขนส่งโดยเร็ว แม้ว่าสมัครต้องการให้แก้ไขรางจากเดิมที่รัฐบาลชุดก่อนกำหนดให้ใช้รางขนาด 1 เมตรเป็น 1.435 เมตรก็ตาม

เหตุผลหลัก ๆ ที่ต้องการเร่งแผนลงทุนให้ชัดเจน ก็เพราะต้องทำก่อนที่นักธุรกิจจะย้ายฐานผลิตจากไทยไปยังประเทศอื่น ๆโดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่กำลังมาแรง ดึงนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทยไปจำนวนมาก หลังจากที่เวียดนามบุกหนักโดยให้ผลประโยชน์และสร้างความสะดวก เพื่อดึงนักลงทุนเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ขณะที่ไทยแม้ว่าจะมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่ความไม่ชัดเจนทางการเมือง ในช่วงที่ประเทศถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร รวมถึงมาตรการกันสำรอง 30%ด้วย ทั้งนี้ หากไทยเร่งทำให้ระบบโลจิกติกส์ให้ครอบคลุมเชื่อมต่อการเดินทางได้สมบูรณ์ ในอนาคตนักลงทุนข้ามชาติจะกลับเข้ามาลงทุนในไทยเหมือนเดิม เพราะปัจจุบันประเทศถูกบริหารโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต่างชาติให้ความสำคัญเรื่องประชาธิปไตยและมีความมั่นใจมากขึ้น

แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ และอดีตผู้ที่ร่วมวางแผนลงทุนโครงข่ายคมนาคม เปิดเผย”ผู้จัดการรายสัปดาห์”ว่า เชื่อว่าแผนการลงทุนโครงการคมนาคมขนส่งทั้งระบบจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะรัฐบาลชุดนี้ ต้องการกอบกู้ความเชื่อมั่นจากประชาชน และจะทำให้นักลงทุนกลับมาเชื่อถือเหมือนสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 เพื่อลบภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ของอดีตบิ๊กไทยรักไทย โดยเฉพาะตระกูลชินวัตร วงศ์สวัสดิ์ รวมถึงดามาพงศ์ ที่ประสบปัญหาถูกตรวจสอบเรื่องการโกงภาษีการซื้อขายหุ้น รวมถึงการร่ำรวยผิดปกติ ซึ่ง ในช่วงนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่จะอาศัยความได้เปรียบทางการเมือง ที่พรรคพลังประชาชน ของสมัคร ซึ่งประกาศว่าเป็นนอมินีให้ทักษิณ สร้างผลงานให้ประชาชนยอมรับ

ลุยขนส่งมวลชนดันจีดีพีโต

ทั้งนี้ การลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ และขยายเครือข่ายโลจิกติกส์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จะทำให้ทั้งประชาชน นักธุรกิจ พอใจ รวมถึงจะช่วยทำให้จีดีพีเติบโตขึ้น จากการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนชั้นล่างและชนชั้นกลางจะมีรายได้มากขึ้น

การลงทุนดังกล่าวจะเกิดขึ้นตามแผนงานที่รัฐบาลทักษิณ 1 ต่อเนื่องทักษิณ 2 เพราะในขณะนั้น กระทรวงคมนาคมมีเจ้ากระทรวงเป็นอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย คือสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่คุมงานด้านการลงทุนโครงข่ายคมนาคม และหลังจากนั้น เจ้ากระทรวงถูกเปลี่ยนตัวให้ “เสี่ยเพ้ง”พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ดูแล ซึ่งรู้กันดีว่าเสี่ยเพ้งเป็นผู้ใกล้ชิดกับ”คุณหญิงอ้อ”พจมาน ชินวัตร และคุณหญิงอ้อให้ความไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง

ส่งสายตรงคุมต่อระบบขนส่ง

ขณะที่ปัจจุบัน เก้าอี้ตัวใหญ่ในกระทรวงหูกวางนี้ ถูกควบคุมดูแลโดยสายตรงของคุณหญิงอ้อ คือ สันติ พร้อมพัฒน์ ดังนั้น แผนการลงทุนโครงข่ายคมนาคมจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเส้นทางหลัก ๆ ยังใช้เส้นทางเดิม เพราะเอกสารประกอบการลงทุนฉบับที่เสี่ยเพ้งเคยใช้ ขณะนี้อยู่ในมือสันติเรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่าสันติ ต้องทำตามเอกสารเดิม ซึ่งในเอกสารการลงทุนเป็นไปตามที่ทักษิณต้องการด้วย

แม้คำยืนยันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะออกมาย้ำว่า ไม่มีการรื้อแผนเก่า เป็นการถ่วงเวลาให้ล่าช้าอย่างแน่นอน แต่คงต้องยอมรับว่า แนวเส้นทางใหม่ที่ออกมา ทำให้ต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี เพื่อศึกษาถึงความเหมาะสมของโครงการ

การขยับเปลี่ยนแนวเส้นทางครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก หากมองย้อนไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง และเกิดมาจากอำนาจของการเมืองทั้งสิ้น และสร้างความปั่นป่วนให้กับวงการที่ดินเป็นอย่างมาก เกิดการปั่นราคาที่ดินในบางทำเล เพื่อเก็งกำไรอย่างมหาศาล เช่น สุวรรณภูมิ รับข่าวการเกิด “สุวรรณภูมิมหานคร” เมืองสนามบินแห่งใหม่ รวมทั้งย่านบางใหญ่ บางบัวทองตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่มีเคยมีความคืบหน้าถึงขั้นรัฐบาลประกาศอนุมัติในช่วงกลางปี 2547 แต่กลับมายกเลิกกลางคันในช่วงปลายปีเดียวกัน ทำให้นักเก็งกำไร เจ้าของที่ดินเจ็บตัวไปตามๆ กัน

ดังนั้น จึงต้องจับตาดูกันอีกยาวว่า การประกาศปรับเส้นทางครั้งนี้จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระลอกคลื่นใหญ่กับวงการที่ดินอีกหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ข่าวลอยๆ ที่ผ่านมาเข้ามา ไม่สร้างความตื่นเต้นให้นักลงทุนอีกต่อไป หลังเข็ดจากประสบการณ์เก่าๆ เป็นเหมือนฟองสบู่ที่สุดท้ายก็แตกเข้าตาทำให้เจ็บตัวมาแล้วหลายครั้งหลายครา

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าว กล่าวว่า สันติ น่าจะเร่งให้โครงข่ายคมนาคมให้เกิดโดยเร็ว เพราะสันติเองเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก โดยในอดีตสันติ เติบโตและร่ำรวยมาจากการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรและชิ้นส่วนรถยนต์ ถึงขั้นเป็นกระเป๋าเงินใบใหญ่ของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งครั้งก่อนและพรรคพลังประชาชนจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด จนทำให้ได้เก้าอี้ตัวใหญ่ในกระทรวงหูกวางเป็นรางวัล

“สันติ น่าจะรู้จักวิธีหาเงินจากการลงทุนโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการเก็งกำไรราคาที่ดิน และการลงทุนโครงการบ้านจัดสรรเกาะแนวรถไฟฟ้า และรถไฟรางคู่ ฉะนั้น ในช่วงที่นั่งเก้าอี้ตัวนี้ จะเร่งโครงข่ายคมนาคมให้เสร็จ เพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าแน่นอน”แหล่งข่าวระบุ

รอเวลาปั่นราคารอบใหม่

แหล่งข่าวคนเดิม กล่าวอีกว่า หากการลงทุนมีความคืบหน้ามากขึ้น จะทำให้ราคาที่ดินรอบๆ แนวทางพุ่งขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะถูกปั่นมาแล้วในช่วง 3-4 ปีก่อน จนราคาสูงมาก และนักเก็งกำไรเริ่มไม่กล้าซื้อ เพราะกลัวเจ็บตัว ซึ่งทำให้นักการเมือง และข้าราชการประจำที่อาศัยข่าววงในไปกว๊านซื้อที่ดินดักไว้ต้องเจ็บตัว จากการเก็งกำไรที่ผิดพลาด จนทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยจำนวนมาก

“หญิงอ้อ”รวบที่ดินย่านบางนา

คุณหญิงอ้อ ผู้กำหนดนโยบายลงทุนตัวจริงไปกว๊านซื้อที่ดินจำนวนมาก ในหลายทำเล แต่ทำเลที่เด่น และแปลงใหญ่ เป็นที่ดินในย่านสนามบินสุวรรณภูมิ บริเวณบางนา เพราะหากมีการลงทุนรถไฟรางคู่ จะทำให้การเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า จากสนามบินไปยังท่าเรือแหลมฉบังสมบูรณ์ และสะดวก ซึ่งที่ดินในย่านนั้น จะกลายเป็นทอง เพราะสามารถนำมาพัฒนาเป็นคลังสินค้า ออฟฟิศบิวดิ้ง โรงแรม ศูนย์การค้า และที่พักอาศัยได้ ซึ่งจะช่วยสร้างเงินเข้ากระเป๋าอย่างมหาศาล โดยคุณหญิงอ้อ ได้ร่วมมือกับกลุ่มกฤษดามหานคร เพราะตระกูลกฤษดาธานนท์ มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับตระกูลชินวัตร และวางแผนที่จะร่วมกันพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ในย่านบางนา ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ แต่แผนการทุกอย่างต้องถูกพักไว้ก่อน เพราะถูกมรสุมทางการเมืองเล่นงาน จนขยับขยายไม่ได้

“หญิงหน่อย” กว้านซื้อสายสีม่วงเก็งกำไร

สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ไปกว๊านซื้อที่ดินบริเวณรัตนาธิเบศร์ อิงแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงไว้กว่า 1,000ไร่เช่นเดียวกัน โดยอาศัยข่าววงในที่รู้ว่าจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงแน่นอน จึงไปกว๊านซื้อที่ดินดักไว้ก่อน แต่การซื้อช่วงนั้น แผนการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงยังไม่ชัดเจนนัก และไม่มีการประกาศต่อสาธารณชนมากนัก จึงซื้อที่ดินได้ในราคาถูก ทุกวันนี้ จึงไม่เจ็บตัว เพราะเป็นการซื้อก่อนที่ราคาจะถีบตัวสูงขึ้น

ขณะที่สุริยะ เป็นผู้ที่รู้แผนการลงทุนอย่างชัดเจน เพราะเป็นผู้กำกับดูแลการลงทุนโครงข่ายคานาคมโดยตรงได้ไปกว๊านซื้อที่ดิน บริเวณอยุธยาไว้หลายพันไร่ ซึ่งในเบื้องต้นให้นายหน้าไปรวมที่ดินให้ได้ 3,000 ไร่ แต่ยังไม่ครบจำนวน และต้องเจอกับมรสุมทางการเมืองก่อน แต่การซื้อที่ดินของสุริยะ จะแตกต่างจากของ สุดารัตน์ เพราะสุริยะ มาเริ่มซื้อในระยะหลังซึ่งเป็นช่วงที่ราคาที่ดินเริ่มสูงขึ้น และราคายังไม่ขยับไปมากนักในปัจจุบัน เพราะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการแผนการลงทุนรถไฟรางคู่ที่จะเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯไปทางเหนือ ทำให้สุริยะ ต้องแบกรับดอกเบี้ยจ่ายจำนวนไม่น้อย

“หากการลงทุนโครงข่ายระบบขนส่งสมบูรณ์ ทั้งรถไฟฟ้า และรถไฟรางคู่ จะทำให้ที่ดินบริเวณแนวรถพุ่งขึ้นหลายเท่า และจะทำให้นักการเมือง นักลงทุนที่ไปเก็งกำไรร่ำรวยมหาศาล”

แนะร.ฟ.ท.สร้างมูลค่าเพิ่มที่ดินย่านมักกะสัน

แหล่งข่าว กล่าวว่า หากรัฐบาลเชื่อมโครงข่ายรถไฟฟ้าสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่าง เส้นทางรอบกรุงเทพฯปริมณฑล แล้วเสร็จ ทำให้เกิดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รุ่งเรืองมากขึ้น โดยที่ดินย่านมักกะสัน หากร.ฟ.ท.สามารถหาแผนพัฒนาที่ดินที่ดีมาพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวได้ จะทำให้ที่ดินในย่านนั้นมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งน่าจะสร้างรายได้ให้กับร.ฟ.ท.ไม่ต่ำกว่า 10 เท่า หากเทียบกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สามารถหารายได้จากการให้มาบุญครองเช่นพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของศูนย์การค้ามาบุญครองได้กว่า 27,000 ล้านบาท

“การพัฒนาที่ดินย่านมักกะสัน ควรจะทำให้เทียบเท่าหรือกว่าย่านออชาร์ด โรด ของสิงคโปร์หรือนาธาน ฮ่องกง เพราะจะเป็นแหล่งชอปปิ้ง และย่านธุรกิจ แห่งใหม่ ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจมาใช้บริการจำนวนมาก และจะสร้างงานสร้างเงินเข้าประเทศจำนวนมาก”

สำหรับแผนการตัดถนนจากกรุงเทพฯไปนครนายก และมีศูนย์กลางทางธุรกิจอยู่ที่คลอง 6 ซึ่งจะเป็นลู้บขนาดใหญ่ ที่เป็นจุดเชื่อมต่อรถขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดชุมชนแห่งใหม่ จะเป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งเส้นทางนี้ จะตัดผ่านโครงการบางกอก บลูเลอวาร์ด รามอินทรา เป็นโครงการบ้านจัดสรรของบมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอร์ชัน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลชินวัตร น่าจะถูกปัดฝุ่นขึ้นมาทำต่อ เพราะจะช่วยดันราคาที่ดินในแนวที่ถนนตัดผ่านขึ้น และเอสซีฯยังมีที่ดินเหลือในย่านรามอินทราอีกมาก

พลิกปูม“สันติ พร้อมพัฒน์”

“หญิงอ้อ”ส่งคุมระบบขนส่งมวลชน

ในที่สุดโผรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็เป็นไปตามที่คาดหมายไว้แต่แรก เนื่องจากคำสั่งตรงจากนายใหญ่จากฮ่องกง และหญิงอ้อ ที่สั่งตรงมายังพรรคพลังประชาชนว่ายังไง สันติ พร้อมพัฒน์ คนสนิท เสี่ยเพ้ง พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย จะต้องนั่งเก้าอี้กระทรวงหูกวาง

หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน พบว่าสันติ เล่นการเมืองครั้งแรก ด้วยการลงสมัคร ส.ส.เพชรบูรณ์ ในนามพรรคความหวังใหม่ ที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือบิ๊กจิ๋ว เป็นหัวหน้าพรรค และได้รับเลือกเป็น ส.ส.3สมัยซ้อน

ว่ากันว่าสันติถือว่าเป็นกระเป๋าเงินของ บิ้กจิ๋ว เห็นได้จากการได้นั่งในเก้าอี้ตำแหน่งสำคัญๆ หลายเก้าอี้เช่น ที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย ในปี 2537 และที่ปรึกษา รมว.คมนาคม ในปี 2538-2539 ซึ่งต้องยอมรับว่า สันติไม่ใช่แค่สส.ธรรมดาเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลในพรรคความหวังใหม่มาก

นอกจากสันติจะเป็นนักการเมืองแล้ว สันติยังมีธุรกิจส่วนตัวอีกหลายแห่ง เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยนั่งเป็นประธานกรรมการบริษัท นวพัฒนาธานี จำกัด ประกอบธุรกิจประเภทพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งประกอบอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรและชิ้นส่วนรถยนต์

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมสันติจึงได้รับความไว้วางใจจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากความที่สันติกระเป๋าหนัก ประกอบกับความเป็นคนใจถึงกล้าได้เสีย และการเลือกตั้งครั้งก่อน ยังได้รับมอบหมายให้ดูแล ส.ส.และพื้นที่ภาคกลางตอนบนเกือบทั้งหมด อาทิ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร และลพบุรี และภาคอีสานบางจังหวัด เคียงคู่กับแกนนำภาคกลางอย่าง พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล หรือเสี่ยเพ้ง คนใกล้ชิดคุณหญิงอ้อ และทักษิณในครั้งนั้น

สำหรับประวัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ ที่ชื่อว่า สันติ พร้อมพัฒน์ถือว่าโลดแล่นอยู่ในวงการการเมืองค่อนข้างโชกโชน โดยในปี 2537 เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ),ปี2538-39เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม(วันมูหะมัด นอร์มะทา) ,ปี 2544-45 เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม(สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ),ปี 2544-46 เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม(พิเชษฐ์ สถิรชวาล) ,ปี2538-39 เลาขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์(มนตรี ด่านไพบูลย์),ปี 2539-40เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงมหาวิทยาลัย(มนตรี ด่านไพบูลย์),ปี2540เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม( มนตรี ด่านไพบูลย์) นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 3 สมัยซ้อน โดยปี 2538-39 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบูรณ์ปี 2539-43 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบูรณ์และปี 2548-49 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ จังหวัดเพชรบูรณ์

นอกจากจะรับตำแหน่งทางการเมืองแล้วสันติยังเป็นกรรมาธิการในหน่วยงานต่าง ๆ อีกเช่น รองประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ,รองเลขานุการคณะกรรมาธิการ การทหาร,รองประธานคณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กรรมาธิการพิจารณาพระราชบัญญัติการเช่าที่ดิน ,กรรมาธิการพิจารณาพระราชบัญญัติการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าทางการเกษตร ,กรรมาธิการพิจาณาพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน , กรรมาธิการพิจารณาพระราชบัญญัติศาลล้มละลาย, คณะกรรมการปราบปราบการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร,คณะกรรมการสรรหาและก่อสร้างที่ทำการรัฐสภาแห่งใหม่และในปี2538-2543 เป็นกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่

ทั้งนี้ สันติจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์)ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์หาบัณฑิต(รัฐศาสตร์) ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร ปีการศึกษา 2547


“รัตนาธิเบศร์-แคราย”ทำเลทอง
“แอร์พอร์ตลิงก์”แจ้งเกิดทำเลใหม่

ราคาที่ดินตามแนวสายสีม่วงพุ่งรับกระแสรัฐบาล “หมัก1” ตีข่าวลงทุนโครงข่ายรถไฟฟ้า 9 เส้นทาง ใน 5 ปี ส่งผลราคาที่ดินอิงสายสีม่วงที่นิ่งมานาน เริ่มขยับขึ้น 30-40% ขณะที่เส้นทางแอร์พอร์ตลิงก์ทั้งศรีนครินทร์ พัฒนาการ และลาดกระบัง ถูกดีเวลลอปเปอร์จับจองพื้นที่ ผุดโครงการบ้านจัดสรรเพียบ

พลันเมื่ออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “สมัคร สุนทรเวช” เข้ามาสวมบทบาทในฐานะนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด พร้อมประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะเดินหน้าผลักดันโครงการรถไฟฟ้า ภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2556 แม้เหมือนจะดูเป็นการส่งสัญญาณที่ดีจากภาครัฐบาลว่าจะมีการเดินหน้าอย่างจริงจัง และเป็นการสร้างความหวังให้กับภาคเอกชน หลังจากที่ต้องรอคอยมาหลายปี เพราะมองว่าเป็นทางออกเพียงทางเดียวที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้

แต่การกลับมาครั้งนี้ของสมัครที่หลายคนรู้จักดีว่ามีอำนาจเก่าเป็นเงาอยู่เบื้องหลัง มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ ด้วยการปรับสูตรใหม่จากแผนเดิมที่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์อนุมัติไว้เพียง 5 สาย คือ สายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) สายสีเขียวอ่อน (อ่อนนุช-แบริ่ง) และสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่) กลายมาเป็น 9 สาย กระจายไปทั่วทุกมุมเมืองในรูป 8 แฉก โดยอิงจากแนวเส้นทางเดิมที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.) เคยศึกษาไว้

หากพิจารณาความแตกต่างระหว่างแนวคิดเดิมของ สนข. ที่เคยศึกษาไว้ 10 สาย กับแนวคิดใหม่ 9 สาย จะเห็นได้ว่าไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก เพียงแต่ยกเลิกเส้นทางที่คู่ขนานในแนวเดียวกัน เปลี่ยนไปต่อขยายจากสถานีปลายทางเดิมให้ยาวออกไปนอกเมืองมากขึ้น เน้นการเชื่อมโยงกับสถานีเก่าๆ ในลักษณะสถานีร่วม ทั้งนี้สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า ทุกอย่างจะไม่ถูกรื้อโครงการให้ช้าออกไป โครงการที่สืบเนื่องจากรัฐบาลชุดเก่าที่อยู่ระหว่างดำเนินการในขณะนี้จะยังคงเดินหน้าต่อไป แต่จะมีการนำเส้นทางใหม่ๆ ที่เสนอไปหารือกับ สนข. อีกครั้ง

สายสีม่วง-แอร์พอร์ต ลิงก์ ทำเลทองรอบูมรอบใหม่

จากการคาดการณ์ของสันติ พบว่า สายสีม่วงมีความพร้อมที่จะดำเนินการต่อทันทีมากที่สุด เพราะมีการเวนคืนที่ดินแล้ว และอยู่ในช่วงรอธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) ให้คำตอบเรื่องเงินกู้ ก่อนดำเนินการประกวดราคาหาผู้รับเหมาต่อไป ทำให้ทำเลนี้น่าจะยังเป็นทำเลที่น่าจับตาของการบูมรอบใหม่ เจ้าของที่ดินไม่น่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบมากนัก เพราะยังใช้แนวเดิมที่รัฐบาลเคยอนุมัติไปแล้ว (บางใหญ่-บางซื่อ) แต่ทั้งนี้มีการขยายเส้นทางใหม่ต่อเนื่องจากบางซื่อ ผ่านสามแยกเตาปูน เปลี่ยนเป็นทางวิ่งใต้ดินเข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านเกียกกาย บางกระบือ บางลำพู วัดบวรนิเวศวิหาร ผ่านฟ้า ถนนมหาไชย ถนนจักรเพชร ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า วงเวียนใหญ่ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ไปสุดปลายทางที่ดาวคะนอง

วสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด กล่าวว่า ทำเลต่อจากบางซื่อที่สายสีม่วงตามแนวคิดรัฐบาลใหม่ตัดผ่าน ส่วนใหญ่อยู่ในใจกลางเมือง เป็นย่านชุมชนเก่าที่มีผู้อาศัยอยู่หนาแน่น ซึ่งก็จะได้รับผลดีจากการขยายเส้นทางในครั้งนี้

“รัตนาธิเบศร์-แคราย” ราคาทะยาน 30-40%

วสันต์กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาประเมินที่ดินในกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2550 เทียบกับปี 2549 โดยเฉลี่ยปรับขึ้นมาเล็กน้อยเพียง 2-3% เท่านั้น หากเจาะเฉพาะสายสีม่วง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเป็นสายที่มีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด พบว่า ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นรับข่าวตามความคืบหน้าเรื่องการเวนคืนและการเร่งเปิดการประมูล โดยที่ดินติดถนนใหญ่ราคาปรับเพิ่มขึ้น 10-15% แต่ปรับขึ้นน้อยกว่าที่ดินในซอยในย่านเลยถนนรัตนาธิเบศร์ แคราย พระนั่งเกล้า ที่ราคาซื้อขายปรับตัวอย่างก้าวกระโดด 30-40% เนื่องจากเป็นที่ดินแปลงใหญ่ ราคาถูกกว่า จึงมีการซื้อขายอย่างคึกคักเพื่อพัฒนาเป็นโครงการบ้านจัดสรร

ขณะเดียวกันวสันต์เห็นว่า ทำเลที่น่าจะบูมในเร็วๆ นี้ คือ แนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงก์ ที่การก่อสร้างระบบรางมีความคืบหน้าแล้ว และจะแล้วเสร็จประมาณปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้ย่านศรีนครินทร์ พัฒนาการ และลาดกระบังทั้งสองฝั่งที่รถไฟฟ้าตัดผ่านมีการพัฒนาโครงการจัดสรรมากขึ้น เพราะยังมีแปลงที่ดินเปล่าขนาดใหญ่อยู่อีกมาก โดยในทำเลดังกล่าวมีโครงข่ายถนนอยู่บ้างไม่หนาแน่น แต่จะมีรถไฟฟ้าเป็นแกนหลักในการขนคนเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ดีเวลลอปเปอร์แห่จองทำเลทอง ผุดบ้านจัดสรรรับแอร์พอร์ตลิงก์

สำหรับในย่านพระราม 9 พัฒนาการ ศรีนครินทร์เป็นทำเลที่มีดีเวลลอปเปอร์เข้าไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบแล้วหลายราย เช่น โนเบิล แสนสิริ ศุภาลัย ปรีชากรุ๊ป ซิตี้เรียลตี้ เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ รวมทั้งที่ดินเปล่าขนาดใหญ่ย่านพระราม 9 ของ นพ.บุญ วนาสิน เจ้าของโรงพยาบาลปิยะเวท ในนามบริษัท ราชธานี เพราะเห็นโอกาสสร้างยอดขายหลังจากที่แอร์พอร์ต ลิงก์เปิดให้บริการ

ตัดตอนสายสีแดง ไม่กระทบราคาที่ดิน

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) จะถูกตัดตอนในช่วงรังสิต-ตลาดพลูทิ้ง เหลือเพียงเริ่มต้นจากจอมทอง แต่ขยายเส้นทางไปสิ้นสุดที่มหาชัย ในส่วนที่ถูกตัดออก ในช่วงตลาดพลู-หัวลำโพง ก่อนจะขึ้นไปตามแนวรางรถไฟสายเหนือของ รฟท. คาดว่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินมากนัก เพราะเป็นชุมชนเมืองเก่า ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นอยู่แล้ว

สำหรับในช่วงสายสีแดงตั้งแต่ (บางซื่อ-รังสิต) ที่ถูกตัดทิ้งไป จะส่งผลกระทบต่อทำเลงามวงศ์วาน ดอนเมือง หลักสี่ ประชานิเวศน์ ประชาชื่น เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันช่วงรังสิต ช่วงต่อเนื่องจากสะพานใหม่เป็นต้นไป จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการขยายแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มเป็นส่วนต่อขยายจากสะพานใหม่ไปถึงรังสิตและลำลูกกาโดยตรงแทน

ในบรรดารถไฟฟ้า 9 เส้นทาง เห็นได้ว่าสายสีส้ม (วัดใหญ่-ป้อมพระจุล) เป็นแนวที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นเส้นทางในลักษณะวงแหวนรอบเมือง แตกต่างจากแนวเก่าที่เคยศึกษาไว้ ซึ่งผ่านชุมชนขนาดใหญ่หลายแห่งที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นกลาง เช่น บางกะปิ งามวงศ์วาน ราษฎร์บูรณะ ดาวคะนอง ซึ่งวสันต์ชี้ว่า บางทำเลที่สายสีส้มตัดผ่าน เช่น เกษตร-นวมินทร์ บางกะปิ ศรีนครินทร์ สุขสวัสดิ์ ราษฎร์บูรณะ ราชพฤกษ์ วัดนครอินทร์ จะส่งผลดีต่อดีเวลลอปเปอร์ที่มีการพัฒนาโครงการอยู่ก่อนแล้ว เพราะเป็นข่าวความเคลื่อนไหวที่จะทำให้โครงการที่กำลังเปิดขายอยู่คึกคักขึ้น ในขณะการลงทุนใหม่ๆ เพิ่ม ดีเวลลอปเปอร์คงใช้วิธีรอดูความแน่นอนของรถไฟฟ้าให้ถึงขั้นตอนการก่อสร้างก่อนจะตัดสินใจลงทุนซื้อที่ดินเพิ่ม

“รื้อ-เปลี่ยน”ระบบขนส่งมวลชน งานถนัดของรมต.คมนาคมทุกยุค

“หมัก 1” เดินเครื่องโครงการรถไฟฟ้า 9 เส้นทาง ขยายเครือข่ายครอบคลุมทั่วกรุงฯและชานเมือง เตรียมขยายเส้นทางเพิ่ม 30 กม. ด้านกระทรวงคมนาคมรับลูก เร่งสนข.ศึกษารายละเอียดให้สอดรับกับแนวทางรัฐบาล

ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย สมัคร สุนทรเวช ประกาศนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ด้วยการจะปรับลด-ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ในแผนแม่บท 7 เส้นทางเดิมเป็น 9 เส้นทางใหม่ เพื่อขยายเส้นทางออกสู่ชานเมืองมากขึ้น และจะขยายเส้นรถไฟฟ้าออกไปอีก 30 กม.

โดยเส้นทางรถไฟฟ้า 9 เส้นทาง ตามแนวคิดของสมัคร ประกอบด้วย 1.สายบางใหญ่-ไทรน้อย-ดาวคะนอง ระยะทาง 35 กม. 2.สายสำโรง-เมืองโบราณ 3.สายหมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา-ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ระยะทาง 17 กม. 4.สายตากสิน-มหาชัย ระยะทาง 20 กม. 5.สายบางซื่อ-คลองเตย (Loop 1) ระยะทาง 29 กม. 6.สายมีนบุรี-ศาลายา ระยะทาง 51 กม. 7.สายตากสิน-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 21.7 กม. 8.สายวัดใหญ่-ป้อมพระจุล ระยะทาง 6 กม. และ 9.สายบางกะปิ (Loop 2) รวมระยะทาง 311 กม. คิดเป็นมูลค่าก่อสร้างประมาณ 500,000 ล้านบาท ทั้งหมดจะเห็นเป็นรูปธรรมใน 3 ปี

นอกจากนี้ สมัครยังมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนรางรถไฟเป็นรางคู่ทั่วประเทศ 3 แสนล้านบาท มูลค่ารวม 8 แสนล้านบาท โดยสมัครต้องการจะปรับรางขนาด 1 ม. เป็น 1.435 ม. แต่ก็ได้รับเสียงคัดค้านมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ว่าหากรัฐบาลจะขยายรางจาก 1 ม.เป็น 1.435 ม. นั้น คงทำไม่ได้เพราะปัจจุบันรางรถไฟเป็นรางเดียว หากมีการขยายรางก็อาจทำให้รถไฟไม่สามารถวิ่งได้ ทางออกที่ร.ฟ.ท.เสนอคือ รัฐบาลควรสร้างรางคู่มากกว่าที่จะมาขยายราง

นอกจากสมัครจะมีความคิดขยายรางแล้วยังมีแนวคิดที่จะทำรางคู่ไปถึงเชียงใหม่เพื่อร่นระยะเวลาในการเดินทางลงเหลือ 6 ช.ม.ด้วย ในขณะที่โครงการประมูลรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง ระยะทาง 78 กม. นั้นอยู่ระหว่างเซ็นสัญญากับผู้รับเหมา และโครงการรถไฟรางคู่แก่งคอย-แหลมฉบัง ระยะทาง 106 กม. อยู่ระหว่างของบประมาณเพื่อศึกษารายละเอียด

สนข.รอรัฐบาลส่งคนหารือ

ในขณะที่สนข.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการศึกษารายละเอียดเส้นทางรถไฟฟ้านั้น พร้อมรับแนวคิดของนายกรัฐมนตรี โดยจะเร่งศึกษารายละเอียดของโครงการรถไฟฟ้า 9 เส้นทาง แต่ต้องรอให้รัฐบาลประกาศนโยบายออกมาก่อนว่าจะดำเนินการไปในทิศทางใด

“รัฐบาลยังไม่ได้ส่งตัวแทนเข้ามาหารือถึงโครงการรถไฟฟ้า 9 เส้นทาง เนื่องจากต้องรอรัฐบาลแถลงนโยบายก่อน แต่สนข.เองก็เตรียมความพร้อมในรายละเอียดที่สนข.ได้ไปศึกษาเพิ่มเติมอยู่แล้ว ซึ่งไม่น่ามีปัญหา” ประณต สุริยะ รองผอ.สนข.

ทั้งนี้ สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้ให้สนข.ไปศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากที่ผ่านมารายละเอียดที่สนข.ทำมายังไม่ครอบคลุมคามที่ทางกระทรวงคมนาคมให้ไปหาข้อมูล เช่น การเชื่อมต่อตามจุดต่างๆตามแผนการพัฒนารถไฟฟ้า 7 เส้นทาง กับ 10 เส้นทาง และ 9 เส้นทาง 8 แฉก ที่สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีต้องการ

ย้อนรอยวิบากกรรมรถไฟฟ้า

หากย้อนประวัติแผนลงทุนก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน พบว่า พบกับการเปลี่ยนแปลงเส้นทางมาตลอด รวมถึงรัฐมนตรีด้วย เริ่มจากสมัย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มีแนวคิดในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า 7 สาย มูลค่า 500,000 ล้านบาท ประกอบด้วย1. สายสีแดงเข้ม รังสิต-มหาชัย ระยะทาง 65 กม.2. สายสีแดงอ่อน ตลิ่งชั่น-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 50 กม. 3.สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กม. 4.สายสีม่วง บางใหญ่- ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 43 กม. 5.สายสีส้ม บางกะปิ-บางบำหรุ ระยะทาง 43 กม. 6.สายสีเขียวอ่อน สนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนกและอ่อนนุช-สมุทรปราการ ระยะทาง 24 กม. 7.สายสีเขียวเข้ม สะพานตากสิน-บางหว้าและหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 19 กม.แต่ดูเหมือนว่าในสมัยที่สุริยะ ได้ผลักดันโครงการรถไฟฟ้าเกิดขึ้นเพียงเส้นทางเดียวคือสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางซื่อ เท่านั้นเอง

หลังจากนั้น ก็มีการเปลี่ยนเจ้ากระทรวงมาเป็นเสี่ยเพ้ง พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ได้นำโครงการรถไฟฟ้า 7 เส้นของสุริยะมาบรรจุไว้ในโครงการเมกกะโปรเจกต์ของรัฐบาล พร้อมกับมีการปรับเส้นทางใหม่ที่สร้างความสับสนไว้พอสมควร นอกจากนี้ ยังได้งอกเส้นทางออกมาอีก 3 เส้นทาง รวมเป็น 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 371 กม. มูลค่าลงทุน 600,000 ล้านบาท โดย 3 เส้นทางประกอบด้วย 1. สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 32 กม. สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 33 กม.และสายสีน้ำตาล บางกะปิ-มีนบุรี ระยะทาง 9.5 กม. ซึ่งล้วนแต่เป็นเส้นทางที่ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนรองรับสุดท้ายก็ถูกพับเข้ากรุไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าที่ดูจะเป็นผลงานเป็นที่ออกหน้าออกตาคงไม่พ้นรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ในสมัยสุริยะ หลังจากนั้นเส้นทางอื่นก็ติดปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินลงทุน รายละเอียดโครงการที่ต้องปรับเปลี่ยนหลายครั้งซึ่งสร้างความล่าช้าให้กับโครงการเป็นอย่างมาก

ขิงแก่สั่งลดเหลือ 3 เส้นทาง

หลังการปฏิวัติการเมืองเมื่อวันที่19 ก.ย.2549 มีการแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาบริหารประเทศโดยมีสุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมี ธีระ ห้าวเจริญ นั่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงหูกวาง ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มีการหั่นโครงการเหลือเพียง 3 เส้นทาง มูลค่า 150,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สายสีแดง ช่วงพญา-ไทบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 32 กม. มูลค่า 42,300 ล้านบาท ซึ่งร.ฟ.ท.เป็นผู้รับผิดชอบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกวดราคา สายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กม.

สายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กม. มูลค่า 120,000 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)เป็นผู้รับผิดชอบ ปัจจุบันสายสีม่วงอยู่ระหว่างการประกวดราคาหาผู้รับเหมา และจะได้ผู้รับเหมาในเดือนมี.ค. 2551 ส่วนสายสีน้ำเงินอยู่ระหว่างการกำหนดการประกวดราคางานโยธาและงานระบบรถไฟฟ้าที่จะมีขึ้นในเดือน มิ.ย.51

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนโครงการรถไฟฟ้านับว่าเป็นสิ่งที่ดีหากคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของใครบางคนอย่างที่เคยมีมาก่อน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.