"พลเอกสิทธิ จิรโรจน์ "คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าทหารก็ช่วยแบงก์ทหารไทย"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

"ก็ย้อนไปถึงตอนอยู่ทหารไทย ทหารไทยตอนนั้นผมจำได้ว่ามีสาขาทั้งหมดตอนปีที่ผมออก ปี 23 มีประมาณ 68 สาขา ถ้าผมจำไม่ผิด ผมไปเยี่ยมมาในฐานะกรรมการบริหาร รองประธานกรรมการบริหารประธานกรรมการบริหาร ผมไปมาทั้งหมดประมาณ 64 สาขา ยังเหลือเฉพาะภาคใต้อีก 4 สาขา ผมไม่ได้ไป"

นายพลนอกราชการท้าวความถึงเมื่อเข้ารับตำแหน่งกรรมการแบงก์ทหารไทยครั้งแรกให้ "ผู้จัดการ" ฟังพร้อมทั้งบอกเหตุผลว่า ถ้ามัวแต่นั่งอ่านเอกสารเราไม่เห็นของจริง ผมจึงต้องการสัมผัสของจริงให้ได้รู้ได้เห็นด้วยหูด้วยตาของเราเอง ซึ่งอันนี้เป็นประโยชน์ต่อตัวเรามาก

ตอนที่ผมคุยกับผู้จัดการสาขาผมก็มีโอกาสเชิญผู้จัดการมารู้จักกัน เชิญผู้ช่วยผู้จัดการ สมุห์บัญชี ผู้ช่วยสมุห์บัญชี แคชเชียร เขามีอะไรก็ถามเขา เราก็ได้ความรู้ด้วย แถมยังช่วยแก้ปัญหาได้อีก

ผมพยายามทำให้ลักษณะการไปเยี่ยมสาขาเหมือนไปให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานไม่มีการไปทานอาหารในโรงแรม จะทานกันที่แบงก์ ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ

"สำหรับที่แบงก์ทหารไทย ผมรู้สึกว่างานจะไปเสร็จสิ้นที่คณะกรรมการบริหารซึ่งมีประธานกรรมการบริหารเป็นหัวหน้าพูดง่าย ๆ ว่าเราทำงานกันตามลำดับความรับผิดชอบ ผมพยายามไม่เข้าไปก้าวก่ายสอดแทรกเลย มีแต่เพียงสิ่งที่ส่งขึ้นมาให้พิจารณาผมเห็นอะไรไม่เหมาะหรือสงสัยผมก็เชิญมาพบหน่อย มาอธิบายให้ฟังหน่อย"

อดีตประธานฯ ผู้เอาจริงเอาจังกับงานทุกงานที่ตนรับผิดชอบ มาทำงานประจำที่แบงก์ทหารไทยสัปดาห์ละ 3-4 วัน ถือได้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่กรรมการบริหารมีบทบาทต่อแบงก์ทหารไทยมากพอดูทีเดียว เมื่อเทียบกับการเป็นประธานแบงก์มหานครใน พ.ศ. 2535 ซึ่งนายทหารผู้นี้กล่าวถึงการเข้ารับตำแหน่งนายแบงก์เป็นครั้งที่สองในอีกแบงก์หนึ่งว่า

"ผมมีประวัติดีที่เขายอมรับในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต ด้านตรงไปตรงมาและเป็นคนมือสะอาด เขาจึงเชิญมาเพื่อขอไปเป็นหลักนำของแบงก์"

แต่การเป็นนายแบงก์ที่มหานครนี้พอเอกสิทธิบอกว่า งานหนักน้อยกว่าแบงก์ทหารไทยหลายเท่านัก เมื่อครั้งอยู่ทหารไทยต้องพิจารณาสินเชื่อรายใหญ่ ๆ ระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป เพราะสมัยก่อนยังไม่มีระดับ 100 ล้าน แต่มาอยู่ที่มหานครยังไม่เคยพิจารณาสินเชื่อเลย ความต่างอีกประการหนึ่งของการเป็นนายแบงก์สองครั้งนี้ก็คือครั้งแรกเป็นเพราะตำแหน่งทางทหารคือเสนาธิการทหารบก ครั้งที่สองเป็นเพราะได้รับเชิญ

นายทหารฉายาเปาปุ้นจิ้นสิทธิย้อนอดีตแต่หนหลังให้ฟังว่า สมัยจอมพลสฤษดิ์คิดตั้งแบงก์บังคับให้ซื้อหุ้นผ่อนส่ง ผมก็ซื้อ 40 หุ้น ถูกหักเดือนละ 100 บาท ระยะเวลา 100 เดือน ตอนนั้นมียศนายพันตรีพูดแล้วยังเสียดายเพราะราคาหุ้นปัจจุบันนี้ไปไกลหลายเท่าตัว แต่ตอนนั้นแม้ซื้อเพียงเล็กน้อยก็ต้องรัดเข็มขัดมากทีเดียว ส่วนพวกนายร้อยถ้าจะซื้อหุ้นก็คงหนักหน่อยเพราะเงินเดือนเพียง 80 บาทเท่านั้น

"ในความจำเป็นที่ต้องใช้ทหารเป็นกรรมการก็มีเหตุผลอยู่ว่าเพราะงบทหารฝากที่นี่ทั้งหมดสมัยก่อนได้ราว ๆ 10,000 ล้านบาท แต่เดี๋ยวนี้เขาตัดทอนเป็นงวด ๆ เงินฝากก็ไม่มาก อาจจะมีบ้างที่ให้เงินเดือนบางหน่วยผ่านแบงก์"

นอกจากนี้พลเอกสิทธิ ยังเผยถึงการทำงานในฐานะนายแบงก์เพิ่มเติมว่างานเสริมจากการพิจารณาสินเชื่อก็คือการเป็นประธานเปิดสาขา อบรมพนักงานให้กำลังใจพนักงานบ้างตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

"ถ้าจะพูดถึงเรื่องทหารช่วยแบงก์ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็ช่วย เวลาแบงก์จะตั้งสาขา ผมก็ไปดูด้านการตลาดด้วย ลงพื้นที่ช่วยเลือกที่ตั้งสาขา ตอนนั้นยังอยู่ในราชการ ที่ไหนมีหน่วยทหาร เราก็ไปขอข้อมูล มาประกอบการพิจารณา"

เมื่อย้อนอดีตให้ฟังแล้วนายพลรุ่นพี่ยังได้กล่าวถึงพลเอกประยุทธ ประธานแบงก์ทหารไทยคนปัจจุบัน ว่าเป็นรุ่นน้องที่น่ารักมาก เขามาจากสายการข่าวสายเสนาธิการเช่นเดียวกันกับผมเพียงแต่ผมไม่ได้เป็น ผบ. ทบ. เท่านั้น อย่างไรก็แล้วแต่ผมก็ภูมิใจในตัวเองและชอบใจที่จะเป็น

"นายแบงก์มากกว่าประธานตรวจสอบทรัพย์สินฯ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.