"ผมไม่มีทางพูดอะไรเป็นเรื่องบวกได้เลยในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานไม่ว่าอาจารย์วีรศักดิ์จะไปพูดเรื่องเปลี่ยนชื่อ
หรือแบงก์ชาติจะออกมาพูดอะไรก็ตาม เขาจ้องอยู่ทุกฝีก้าว" เจ้าของคำพูดกล่าวด้วยสีหน้าเหนื่อยหน่าย
ศุภชัย พานิชภักดิ์หนุ่มอนาคตไกลผู้ผันแปรตัวเอง จากนักวิชาการในแบงก์ชาติมาเป็นการเมืองแล้วจึงก้าวเข้าสู่สนามนักการธนาคารเส้นทางเหล่านี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลายสำหรับเขา
โดยเฉพาะการเข้ามารับตำแหน่งบริหารแบงก์ที่มีลักษณะพิเศษอย่าง "ทหารไทย"
อันเต็มไปด้วยผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สถาบันทหารรวมไปถึงคณะกรรมการก็เป็นทหารเกือบทั้งคณะ
แม้ว่าครั้งกระนั้นเมื่อเขาเข้าทำงานใหม่ ๆ เขาเคยชื่นชมกับการต้อนรับอย่างอบอุ่นของคนที่นี่จนต้องเอ่ยวาจาออกมาว่า
"ถ้าผมรู้ว่าแบงก์ทหารไทยต้อนรับผมอย่างนี้ ผมคงจะมาตั้งแต่เมื่อ 5
ปีที่แล้ว" คำกล่าวนี้เขากล่าวเมื่อปี 2531 ไม่ทราบว่าปี 2535 เขายังจะยืนยันคำพูดเดิมหรือไม่
ทุก ๆ ครั้งที่ทหารทำร้ายประชาชนหรือทหารก่อรัฐประหาร แบงก์แห่งนี้มักได้รับผลสะเทือนไปด้วยเสมอ
ฉนั้นผู้กุมบังเหียนของแบงก์นี้จึงต้องรับบทหนักถึงกับมีคำพูดหลุดลอยออกมาว่า
"ช่วงนี้ผมเหนื่อยมาก ๆ ข้างหนึ่งประชาชน ข้างหนึ่งทหาร"
ในช่วงพฤษภาทมิฬ ที่ทั่วโลกต้องจารึกถึงความป่าเถื่อนของทหารครั้งนี้ทำให้แบงก์ทหารไทยต้องเผชิญวิกฤตศรัทธาจากประชาชนด้วยเช่นกัน
ท่ามกลางสถานการณ์คับขันระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคมที่ผ่านมา พนักงานคนอื่นๆ
สามารถกลับบ้านตามประกาศหยุดงานได้ แต่ระดับผู้บริหารไม่สามารถไปไหนได้เลยโดยเฉพาะศุภชัย
กรรมการผู้จัดการใหญ่
คนในแบงก์ทหารไทยบรรยายสภาพในวันนั้นให้ฟังว่า อาจารย์ศุภชัยถูกกักตัวไว้ไม่ให้สัมภาษณ์
ไม่ให้พบผู้คนบางคนบอกว่าอาจารย์ไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่ตัดสินปัญหาแล้วยังย้ำว่าเดี๋ยวอย่าพูดไปนะ
อย่าทำอะไร อย่าไปไหน เกรงว่าถ้าให้สัมภาษณ์ระหว่างเหตุการณ์กำลังรุนแรงอาจารย์จะอัดทหารแล้วจะมีผลกระทบต่อแบงก์
เพราะอาจารย์เป็นคนตรงไปตรงมา และรักประชาธิปไตยพอสมควรส่วนผู้บริหารคนอื่น
ๆ ก็เดินไปเดินมาให้ขวักไขว่ไปหมด เข้าห้องโน้น ออกห้องนี้เรียกได้ว่า สับสนวุ่นวายพอประมาณทีเดียว
วันที่ 18-19 มีความคิดเห็นแตกเป็นหลายฝ่ายเกี่ยวกับการวางท่าทีของแบงก์ส่วนที่เป็นลูกหลานทหาร
หรือทหารเก่าที่มีเยอะแยะในแบงก์บอกว่าทหารต้องชนะแน่ สำหรับคนที่เป็นพลเรือนเต็มขั้นบางคนก็อยู่ในอาการใบ้ถามอะไรก็ไม่มีคำตอบเรื่องทุกเรื่องก็ไปสุมที่อาจารย์ศุภชัย
แม้กระทั่งเรื่องเครื่องแต่งกายยังต้องถามว่าเราจะทำอย่างไรกันจะแต่งเครื่องแบบมาทำงานได้ไหม
เมื่อ "ผู้จัดการ" สอบถามไปยังศุภชัย ก็ได้คำตอบว่าวันนั้นไปไหนไม่ได้เพราะผู้บริหารคนอื่น
ๆ ขอร้องให้อยู่ เนื่องจากไม่มีใครกล้าตัดสินใจใด ๆ ทั้งสิ้น วันนั้นมีปัญหา
108
แต่ไม่มีใครเข้าใจผม….!
"หลังวันที่ 20 พฤษภาคม มีข่าวลือถึงแบงก์ทหารไทยในแง่ลบมาตลอดไม่ว่าจะเรื่องปลดป้ายชื่อแบงก์ที่สำนักงานราชดำเนิน
หรือคนแห่ถอนเงินจากแบงก์มากมาย ผมรู้ว่ามีนักข่าวติดต่อผมเข้ามาตลอด ผมจัดตัดสินใจที่จะพบนักข่าวในวันที่
26 เพราะผมเป็นคนที่ชอบคอนแทกค์ ผมต้องการฟังเหมือนกันว่านักข่าวอยากรู้เรื่องอะไร
วันนั้นผมตัดสินใจคนเดียว ผมไม่มายไม่วอรี่ ถ้าจะมีการพาดหัวบ้า ๆ บอ ๆ แต่ผมต้องการรู้ความจริงและให้ความจริงปรากฏ"
เขากล่าวถึงเบื้องหลังภาวะคับขัน
เขาได้พบนักข่าวตามที่ต้องการแต่เขาเองก็ถูกต่อว่าจากนักข่าวมากพอสมควร
เนื่องจากช่วงก่อนหน้าที่เขาจะตัดสินใจพบนักข่าวมีหนังสือเพียง 2 ฉบับเท่านั้นที่ได้สัมภาษณ์เขา
ทำให้นักข่าวอีกหลายคนที่ลงทุนเฝ้าเขาอยู่หลายวันไม่ได้ข้อเท็จจริงทั้ง ๆ
ที่ทุกฉบับก็มีฐานะเป็นสื่อมวลชนเท่ากัน
แต่เหตุการณ์ลักลั่นระหว่างประชาสัมพันธ์กับนักข่าวก็ยังไม่จบเพราะเมื่อ
"ผู้จัดการ" ติดต่อขอนัดสัมภาษณ์ศุภชัยก็ต้องพบอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่ต้องทำจดหมายหนแล้วหนเล่าส่งถึงประชาสัมพันธ์
เมื่อถึงเวลาได้สัมภาษณ์ก็ปรากฏว่า ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบงานการข่าวในแบงก์กดโฟนลิ้งค์เรียกนักข่าวอื่น
ๆ มาร่วมสัมภาษณ์ด้วย จนนักข่าวต้องถามศุภชัยว่ามีเรื่องด่วนที่ต้องการให้ทำข่าวหรืออย่างไร
เขาต้องรีบบอกว่าเขาไม่ได้เชิญ ไม่ได้นัดแถลงข่าว ซ้ำช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่เขาเองก็มีปัญหาเยอะมาก
การจัดฉากในวันนั้น (16 มิ.ย. 35) นอกจากศุภชัย จึงมีผู้บริหารคนอื่นๆ
อีกหลายคนร่วมโต๊ะคุยกับนักข่าวพร้อมด้วยทีมงานประชาสัมพันธ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนเกือบครบทีม
บนโต๊ะเรียวยาวตัวที่นั่งพร้อมหน้ากันมีโมค์โคโฟน 1 ตัว ซึ่งเมื่อ ศุภชัยก้าวเข้านั่งหัวโต๊ะถึงกับบอกว่าให้เอาไมค์ออกจากโต๊ะเพราะไม่ใช่การแถลงข่าว
ในขณะเดียวกันการกดเรียกนักข่าวด้วยโฟนลิ้งค์ก็คัดเรียกเพียง 10 ฉบับเท่านั้น
จนนักข่าวที่ไม่ได้ถูกเรียกให้มาทำข่าวที่แบงก์ทหารไทยต่อว่าเขาและมองว่าเขาเลือกที่จะให้ข่าวกับบางฉบับเท่านั้น
กระบวนการเหล่านี้บางคนในแบงก์วิเคราะห์ว่า เป็นการป้องกันไม่ให้เขาคุยกับนักข่าวเฉพาะตัวด้วยเหตุผลเดียวกับการที่ขอร้องให้เขาอยู่เฉย
ๆ ในช่วงวิกฤตนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ศุภชัยก็ยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความคิดของคณะกรรมการธนาคารเลย
และเขาเองก็ได้รับอิสระอย่างเต็มที่ในการบริหารงาน