ปตท.สผ.ปั๊มยอดขายโต24% ทุ่มงบ3แสนล้านลงทุน5ปี


ผู้จัดการรายวัน(13 กุมภาพันธ์ 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ปตท.สผ. ตั้งเป้ายอดขายปิโตรเลียมปีนี้ 2.23 แสนบาร์เรล/วัน สูงกว่าปีที่แล้ว 24% หลังรับรู้รายได้โครงการใหม่ทั้งโครงการอาทิตย์ โครงการเวียดนาม 9-2 และโครงการ G4/43 เผยแผนลงทุน 5 ปีทุ่มเงิน 2.86 แสนล้านบาทลุยโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยปีนี้จะใช้เงินลงทุน 8.1 หมื่นล้านบาท ระบุไตรมาส 2 นี้เตรียมออกตั๋วบี/อี 2-3 พันล้านบาท เพราะมีความจำเป็นต้องใช้เงินช่วงสั้นและสอดคล้องแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง มั่นใจเซ็นสว็อปหุ้นแหล่ง M3 และ M4 ในพม่ากับจีนได้ในปีนี้ แจงยังไม่ได้รับใบสั่งตรึงราคาก๊าซฯเพื่ออุ้มค่าไฟ โบ้ยให้รัฐไปหารือกับปตท.ในฐานะผู้ซื้อก๊าซ

นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายการขายปิโตรเลียมไว้ที่ 223,334 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน เพิ่มขึ้น 24%จากปีก่อนที่มียอดขายปิโตรเลียม 1.8 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งอัตราการขายที่เพิ่มขึ้นมาจากโครงการใหม่ที่จะเริ่มผลิตได้ในปีนี้ ได้แก่ โครงการอาทิตย์และอาทิตย์ตอนเหนือ โครงการเวียดนาม 9-2 และโครงการ G4/43

"ปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ที่ประกอบด้วยโครงการอาทิตย์ที่จะเข้าในปลายเดือนก.พ.นี้ ปริมาณ 330 ล้านลบ.ฟุต/วัน และอาทิตย์ตอนเหนืออีก 120 ล้านลบ.ฟุต/วันจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 นี้ โครงการเวียดนาม 9-2 อีก 2 หมื่นบาร์เรล/วัน ผลิตได้ไตรมาส 3/2551 โดยในปีหน้าคาดว่าการขายปิโตรเลียมของปตท.สผ.จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 แสนบาร์เรล/วัน เนื่องจากมีโครงการเจดีเอไทย-มาเลเซียเข้ามาอีก 270 ล้านลบ.ฟุต/วัน"

นายมารุต กล่าวถึงแผนการลงทุนเพื่อสำรวจพัฒนาและผลิตปิโตรเลียม 5 ปีข้างหน้า (2551-2555) ว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 286,898 ล้านบาท โดยปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุน 81,232 ล้านบาทใน 38โครงการ แบ่งเป็นการลงทุนภายในประเทศรวมทั้งพื้นที่คาบเกี่ยวเป็นเงิน 62,265 ล้านบาทหรือ 77% ที่เหลือเป็นการลงทุนในต่างประเทศ 23%

ในปี 2552 บริษัทใช้เงินลงทุนรวม 69,322 ล้านบาท ปี2553 การลงทุน 51,868 ล้านบาท ปี 2554 การลงทุน 45,893 ล้านบาท และปีถัดไป 38,585 ล้านบาท โดยงบการลงทุนดังกล่าวยังไม่ได้รวมเงินลงทุนเต็มที่ของโครงการM9 ที่พม่า และโครงการที่เวียดนาม 16-1 รวมถึงโครงการอื่นๆที่ปตท.สผ.อาจจะเข้าไปร่วมถือหุ้นได้ โดยพม่าจะใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงในปี 2553-55 ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3.3 หมื่นล้านบาท

"นับจากนี้การเติบโตของปตท.สผ.ไม่ได้อยู่ที่เงินลงทุน แต่อยู่ที่บุคลากรที่มีจำกัด การลงทุนจำเป็นต้องโฟกัสในประเทศที่เคยลงทุนอยู่แล้ว 14 ประเทศ หากจะลงทุนในประเทศใหม่ๆ ก็จะพิจารณาถึงศักยภาพด้านปิโตรเลียม การจัดเก็บภาษี ความเสี่ยงทางการเมือง และการยอมรับการลงทุนของบริษัท"

เตรียมออกบี/อี 2-3พันล.

นายชัชวาล เอี่ยมศิริ รองผู้จัดการใหญ่สายการเงินและบัญชี บมจ. ปตท.สผ. กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 2 บริษัทมีแผนจะออกตั๋วบี/อีประมาณ 2-3 พันล้านบาท อายุ 3-6 เดือน ซึ่งเป็นการก่อหนี้ระยะสั้นเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สอดรับกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะอ่อนตัวลง และเมื่อครบกำหนดชำระก็อาจจะออกตั๋วบี/อีใหม่เพื่อชำระคืนแทน

โดยสาเหตุที่ตัดสินใจออกตั๋วบี/อี เนื่องจากมีความต้องการใช้เงินในช่วงระยะสั้น เพื่อจ่ายเงินปันผลงวดปี 2550 ให้ผู้ถือหุ้นประมาณ 5 พันล้านบาท และภาษีรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้จากโครงการอาทิตย์เข้ามาช้ากว่าเล็กน้อย

ส่วนการก่อหนี้ระยะยาวนั้น หากมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ บริษัทฯก็มีพร้อมที่จะออกบาทบอนด์หรือเยนบอนด์วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้านผลการดำเนินงานในปี 2550 ที่ผ่านมานั้น นายชัชวาล กล่าวว่า บริษัทมีรายได้รวม 96,773 ล้านบาท โตขึ้น 6% จากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 36.52 เหรียญสหรัฐเป็น 39.78 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และกำไรสุทธิ 28,455 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 408 ล้านบาท โดยปีที่แล้วบริษัทได้บันทึกขาดทุนกำไรจากการทำประกันความเสี่ยง(เฮดจิ้ง) ราคาน้ำมันประมาณ 858 ล้านบาท คงเหลือการทำเฮดจิ้งน้ำมันในไตรมาสแรกปีนี้อีก 1.6 ล้านบาร์เรล ที่ราคา 84 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หากราคาน้ำมันดิบดูไบสูงกว่า 84 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปตท.สผ.ก็จะขาดทุนกำไรจากการทำเฮดจิ้งอีก และหลังจากนี้บริษัทฯจะทำเฮดจิ้งอีกหรือไม่คงต้องรอดูสภาพตลาดน้ำมันโดยรวมก่อน

เล็งสว็อปหุ้นแปลงในพม่ากับจีน

นายอัษฎากร ลิ้มปิติ รองผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์และพัฒนาศักยภาพ ปตท.สผ. กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาสว็อปการถือหุ้นในแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่พม่ากับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีน (China National Offshore Oil company หรือ CNOOC) ในแปลงM3 และM 4 ของปตท.สผ.กับแปลงสัมปทานปิโตรเลียมของ CNOOC คือ C 1 และ A1 ในพม่าเช่นเดียวกัน ในสัดส่วน 20% เพื่อลดความเสี่ยงด้านเงินทุน และเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันที่รัฐบาลไทยได้ลงนามเอ็มโอยูกับจีนในการพัฒนากิจการพลังงานร่วมกันสมัยนายวิเศษ จูภิบาล เป็นรมว.พลังงาน ทำให้บริษัทฯเข้าไปมีส่วนในแปลงสัมปทานด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า และหากสำรวจพบก๊าซฯก็อาจดึงให้มาส่งป้อนในไทยได้ คาดว่าการเจรจาดังกล่าวจะได้ข้อสรุปในปีนี้

นอกจากจะมีความร่วมมือในพม่าแล้ว ในอนาคตปตท.สผ.และ CNOOC จะร่วมมือกันดำเนินธุรกิจในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสของ ปตท.สผ. และเป็นการกระจายความเสี่ยงการลงทุนร่วมกัน

ส่วนแปลง M9 ในพม่านั้น บริษัทคาดว่าจะมีการลงนามสัญญาร่วมทุนโดยให้โอมานเข้ามาถือหุ้นในแปลงดังกล่าว 5%ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ การลงทุนในโครงการM 9 จะเจาะหลุมสำรวจเพิ่มอีก 4 หลุม จากเดิม 8 หลุม พบว่ามีสัญญาณที่ดี และโครงการนี้จะลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นการซื้อขายก๊าซกับ ปตท.ได้ประมาณกลางปี2551 ปริมาณการผลิตเบื้องต้น 300 ล้านลบ.ฟุต/วัน คาดว่าจะเริ่มผลิตในไตรมาส 1/ 2555

ยังไม่ได้รับใบสั่งตรึงราคาก๊าซอุ้มค่าไฟ

นายมารุต กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ให้ช่วยตรึงราคาก๊าซธรรมชาติ เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าไม่ขยับขึ้นในอนาคต แต่หากให้นโยบายเช่นนี้คงจะต้องผ่าน บมจ.ปตท. ในฐานะผู้ซื้อก๊าซฯ จาก ปตท.สผ. ซึ่งการตัดสินใจเช่นนี้อยากให้พิจารณาถึงผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย แต่หากจะทำได้ก็คงเหมือนในอดีตที่เป็นลักษณะของรูปแบบได้ผลประโยชน์ทุกฝ่ายร่วมกัน (win-win) คือเมื่อมีส่วนลดราคาก๊าซฯ แล้ว ต้องมาพิจารณาถึงเรื่องการรับซื้อก๊าซฯ ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติเป็นสูตรที่รวมกันระหว่างราคาก๊าซพม่าและอ่าวไทยที่เป็นสูตรผันตามราคาน้ำมันช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และราคาก๊าซฯ ได้ปรับสูงขึ้น โดยไตรมาส 3/2550 ราคาอยู่ที่ 4.3 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ส่วนไตรมาส 4 ขยับขึ้นเป็น 5.09 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งปีนี้คาดว่าราคาก๊าซฯจะขยับขึ้นตามราคาน้ำมันปีที่แล้วซึ่งปรับขยับขึ้นไปถึง 90-100 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงานต่ออายุสัมปทานแหล่งบงกชก่อนหมดสัญญาลง 5 ปีว่า เป็นเรื่องปกติที่ทั่วโลกดำเนินการเช่นนี้ เพื่อที่ผู้ลงทุนจะได้มีความมั่นใจเตรียมการลงทุนล่วงหน้าที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่สำคัญหากไม่กำหนดแผนลงทุนที่ชัดเจนก็อาจจะกระทบต่อความต้องการไฟฟ้าในประเทศ เพราะในขณะนี้ปริมาณผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดลงประมาณ 30% ต่อปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.