"รอยยิ้มแห่งสันติภาพหวนคืนสู่ภาคตะวันตกของกัมพูชา"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

"พระตะบองและศรีโสภณ 2 จังหวัดทางภาคตะวันตกของกัมพูชา กลับคืนสู่บรรยากาศของสันติภาพ หลังสงครามกลางเมืองได้ยุติลงการเข้ามาของทหารกองกำลังรักษาสันติภาพ ความสัมพันธ์ของชีวิตและโครงสร้างต่างๆ กำลังแปรเปลี่ยนไป"

ชีวิตได้กลับคืนสู่ภาคตะวันตกของกัมพูชา พร้อมด้วยความหวังแห่งสันติภาพอย่างช้า ๆ เหมือนแดดยามเช้าที่ค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิให้กับที่ราบลุ่มแม่น้ำสะตรึงสังคี สายน้ำที่ไหลผ่านเมืองพระตะบองไปอย่างเงียบเชียบประชาชนที่เริ่มสัญจรออกจากบ้านมุ่งสู่ตลาดเช้าได้เพิ่มจำนวนขึ้น บ่งบอกว่าความรีบเร่งสับสนสัญลักษณ์ของชีวิตได้หวนคืนสู่ถนนรนแคมในเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ หรือเมืองหลวงแห่งภาคตะวันตกอีกครั้งหนึ่งหลังจากหลายปีของภัยล้างผลาญแห่งสงคราม

ประชาชนที่นั่งซดข้าวต้ม หรือจิบกาแฟในตลาดเก่ากลางเมืองพากันพิศวงกับการปรากฏตัวของแถวทหารออสเตรเลียที่วิ่งออกกำลังกายในตอนเช้า และเด็กเสริฟอาหารที่ภัตตาคารกลางแจ้งริมฝั่งสะตรึงสังคีก็ได้ยินสำเนียงแปร่ง ๆ ของตำรวจชายแดนเยอรมันที่นั่งดื่มเบียร์เป็นกลุ่ม ๆ ใต้ฟ้าที่มีดาวระยิบระยับ

ทหารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังรักษาสันติภาพนานาชาติกว่า 2 หมื่นนายที่ถูกส่งเข้ามาประจำการทั่วกัมพูชาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 6 เดือนหลังจากข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติสงครามได้รับการลงนามจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่กรุงปารีสเมื่อเดือนตุลาคม 2534

สำหรับชาวพระตะบองการมาถึงของทหารต่างชาติเหล่าน ี้เป็นสัมผัสของความมั่นคงในความรู้สึกถึงกลิ่นอายของสันติภาพ และการสิ้นสุดของยุคแห่งความป่าเถื่อนและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เริ่มขึ้นพร้อม ๆ กับเดือนแรกในการปกครองของเขมรแดงเมื่อปลายปี 2518 ผ่าน 13 ปีของสงครามกลางเมืองผลพวงที่ตามมาจากการปรากฏตัวของทหารเวียดนามในกัมพูชาในปลายปี 2521

การถอนทหารเวียดนามออกจากกัมพูชาในเดือนตุลาคม 2532 เกือบจะทำให้พระตะบองตกกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง หากกองทหารรัฐบาลไม่สามารถต้านยันการโจมตีของกองโจรเขมรแดงที่เข้มแข็ง ที่รุกประชิดเข้ามาจากทิศตะวันตกเอาไว้ได้เป็นผลสำเร็จ

ทว่า ทุกคนในพระตะบองก็ยังคงฝันร้ายกับประสบการณ์ครั้งล่าสุดของสงครามเมื่อต้นปี 2533 ได้ดี เมื่อเขมรแดงที่คืบใกล้เข้ามาห่างจากตัวเมืองทางตะวันตกเพียงแค่ 10-15 กิโลเมตร ปูพรมชุมชนตลาดใหม่ที่ชานเมืองด้านทิศใต้ด้วยจรวดและปืนใหญ่หลายร้อยนัด นายทหารสหประชาชาติผู้หนึ่งบอกกับเราว่าตัวตลาดที่มีขนาดกว้างราว 4 เท่าของสนามฟุตบอลแหลกไม่มีชิ้นดี มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 200 คน

"นั่นเป็นครั้งล่าสุดที่พระตะบองสัมผัสกับสงครามและเราหวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย" ชอน สารัธ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการท่องเที่ยวและข่าวสาร สำนักผู้ว่าราชการพระตะบองกล่าว

ในความเป็นจริงใช่ว่าที่ราบลุ่มพระตะบองไม่เคยตกอยู่ภายใต้สงครามมาก่อน ในประวัติศาสตร์เหมือนเมืองอื่น ๆ ในเอเชียอาคเนย์ ดินแดนที่แบ่งแยกเป็นรัฐเล็ก ๆ รัฐน้อยที่นี่ล้วนเคยตกเป็นเป้าหมายของการยึดครองและผ่านการรบพุ่งมาแล้วอย่างโชกโชน อย่างน้อยสำหรับพระตะบองเองมันก็ได้ปรากฏอยู่ในตำนานเมืองตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

ฮกลี ซินลี เจ้าหน้าที่เขมรวัย 31 ปี ที่ทำงานที่ศูนย์รับกลับชาวอพยพกัมพูชาของสหประชาชาติที่ศรีโสภณ เมืองเอกของจังหวัดชายแดนบันเตียเมียนเจย เหนือพระตะบองขึ้นไปราว 70 กิโลเมตร บอกว่ากษัตริย์เขมรพระองค์หนึ่งทรงใช้กระบองขว้างใส่ข้าศึกในการรบพุ่งกับผู้รุกรานในที่ราบริมน้ำสะตรึงสังคีแห่งนี้ จนข้าศึกแตกพ่ายไป แต่กระบองมีฤทธิ์ของพระองค์ก็กระเด็นตกลงไปในแม่น้ำ งมหาไม่พบ เมืองที่ได้รับการสถาปนาขึ้นที่นี่ในเวลาต่อมาจึงได้ชื่อว่า "ปัตตะบอง" หรือ "กระบองสูญ" อันเป็นการรำลึกถึงที่มาของความสงบสุขในที่ราบแห่งนี้

ฮกลี ซินลี ที่พูดภาษาอังกฤษคล่องปรือในสำเนียงแปร่ง ๆ บอกว่าเขาได้อ่านตำนานเมืองพระตะบองระหว่างอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในไทยระหว่างปี 2525-2534 อย่างไรก็ดีเขาไม่ได้บอกว่ากองทหารสหประชาชาติจะมีอิทธิฤทธิ์มากพอ ที่จะสถาปนาสันติภาพเหนือประเทศนี้ขึ้นมาอีกครั้งเหมือนกระบองที่สูยหายไปหรือไม่

แต่กระนั้น เช่นเดียวกับชาวเมืองพระตะบอง ชาวเขมรในฝั่งตะวันตกของประเทศกำลังฝากความหวังไว้กับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ หรืออันแทค(UNTAC) ในการกอบกู้พวกเขาออกจากภาวะของเชลยแห่งสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเอง

สำหรับกัมพูชา ไม่มีที่ไหนในประเทศที่ได้รับผลกรรมจากสงครามรุนแรงและยาวนานที่สุดเท่าภาคตะวันตก ตลอดระยะ 13 ปีของสงครามในกัมพูชา ภาคตะวันตกได้กลายเป็นสมรภูมิของการรบยืดเยื้อที่ดุเดือดรุนแรงที่สุดในเอเชียอาคเนย์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในจำนวนทหารเวียดนามกว่า 300,000 คนที่ปฏิบัติการในประเทศนี้ และทหารรัฐบาลพนมเปญกว่า 150,000 คนราว 2 ใน 3 ถูกส่งเข้ามาประจำการในเขตตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือที่ติดกับชายแดนไทย การต่อต้านจากกลุ่มกองโจรในสังกัดรัฐบาลผสม 3 ฝ่ายที่มีกำลังรวมกันราว 50,000 คน ได้ทำให้ภาคตะวันตกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเข้าใกล้ขั้นหายนะ ทั้งด้านโครงสร้างประชากร พื้นฐานทางเศรษฐกิจและด้านจิตใจ

สงครามได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรรุนแรงที่สุด มีผู้คนถูกกวาดต้อนและหนีภัยสงครามจากบริเวณนี้เข้ามาอยู่ค่ายอพยพในไทยกว่า 350,000 คน อีกจำนวน 1 ล้านคนต้องอาศัยกันอยู่ในเขตสู้รบแย่งชิงพื้นที่ที่ขนานไปกับชายแดน ไทย-กัมพูชา จากอุบลฯ จรดตราด ประชากรส่วนใหญ่ที่อยู่ในเขตรัฐบาลพนมเปญในแถบนี้ ซึ่งประมาณว่ามีอยู่ราว 2 ล้านคนเศษ ก็ต้องละทิ้งไร่นาของตนมาออกันอยู่ในตัวเมืองและถนนหลวง แหล่งเดียวที่ตนจะได้รับการคุ้มครองจากทหารรัฐบาลได้ดีที่สุด

สงครามได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดในภาคตะวันตกนี้ หรือไม่ก็ทำให้มันทรุดโทรมลงจนเกือบใช้การไม่ได้ เส้นทางหมายเลข 5 ซึ่งคู่ขนานไปกับทางรถไฟสายเดียวของกัมพูชา ซึ่งเชื่อมระหว่างอำเภอปอยเปต ซึ่งตั้งประชิดกับอำเภออรัญประเทศ ผ่านศรีโสภณ พระตะบอง โพธิสัตว์ กัมปงชะนัง กรุงพนมเปญ และเลยไปจนถึงท่าเรือน้ำลึกกัมปงโสมในอ่าวไทยถูกทำลายจนเกือบจะใช้การไม่ได้ ก่อนการบูรณะซ่อมแซม เฉพาะเส้นทางยาว 49 กิโลเมตรระหว่างปอยเปต-ศรีโสภณ ต้องใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ถึง 4 ชั่วโมง

ตัวเมืองที่ถูกเอ่ยถึงถูกทอดทิ้งในสภาพปรักหักพัง ขาดแคลนซึ่งสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า หรือน้ำประปา

มิพักจะกล่าวถึงรอยยิ้มที่หายไปนานจากใบหน้าของคนในท้องถิ่น ตามตลาดน้อยใหญ่สองฝากถนนเต็มไปด้วยคนพิการจากสงคราม และที่จริงภาวะอนาธิปไตยกลายเป็นวิถีชีวิตในเขตแดนต่อแดนของอิทธิพลที่สองฝ่ายตั้งเผชิญหน้ากันอยู่

โดยสรุป นอกจากตัวเมืองที่บริหารโดยคณะกรรมการพลเรือนพ้นรัศมี 5 กิโลเมตรออกไปแล้วปราศจากหลักประกันใด ๆ ต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนโดยสิ้นเชิง และนี่เป็นจริงทั้งในเมืองหลวงของภาคตะวันตกเช่นพระตะบองพอ ๆ กับเมืองชายแดนเช่น ตลาดปอยเปต

แม้สัญญาสันติภาพได้ลงนามกันไปแล้ว สถานะของมันยังคงสั่นไหวอยู่เสมอ กองกำลังเขมรแดงซึ่งหวาดละแวงต่อเงื่อนไขสันติภาพ ยังคงแทรกซึมจากฐานที่มั่นใหญ่ติดชายแดนไทย 3 แห่งเข้าไปสู่ส่วนในของประเทศจากอันอันลองเวียงฐานที่มั่น ใหญ่ตรงข้ามเขตแดนต่อแดนสุรินทร์ ศรีสะเกษในเขตกัมพูชาซึ่งอยู่ใต้การนำของ "ตาม๊อก" อดีตรัฐมนตรีกลาโหมเขมรแดงที่ดุร้ายที่สุด ทหารระดับกองพลได้แทรก ซึมลงมากดดันโจมตีรัฐบาลลึกถึงกัมปงทมการรบที่สมรภูมินี้ฝ่ายกองโจรยังได้รับกำลัง หนุนจากฐานที่มั่นพนมจะไกร ซึ่งตั้งอยู่หลังค่ายผู้อพยพกัมพูชา "ไซท์ 8" ในเขตอำเภอคลองหาดในปราจีนบุรีซึ่งแทรกซึมไปตามเส้นทางผ่านตอนใต้ของศรีโสภณไปทางตะวันออก

และจากฐานที่มั่นที่อำเภอไพลินในพระตะบองกองโจรเขมรแดงยังคงแทรกซึมเข้าไปกดดันรัฐบาลลึกถึงโพธิสัตว์ กำปงชะนัง และกำปงสะปือบนถนนหมายเลข 5

"การแทรกซึมของกองโจรในเขตที่ราบพระตะบอง เสียมเรียบ และกำปงทมทำกันได้อย่างเปิดเผยด้วยกำลังหมวดสงครามขนาดใหญ่พร้อมที่จะระเบิดขึ้นอีกได้ทุกเมื่อ" นายทหารไทยผู้หนึ่งอ้างถึงขีดความสามารถของฝ่ายเขมรแดง ที่ได้รับการสนับสนุนจากรถถังขนาดหนักจากจีนราว 30 คัน ในจำนวนนี้ครึ่งกับครึ่งแบ่งกันไปประจำอยู่ที่อันลองเวียงกับไพลิน

"เรายอมจ่ายทุกอย่าง เพื่อซื้อสันตภาพ" เพญ สารี เลขานุการของผู้ว่าราชการบันเตียเมียนเจย บอกกับผู้เขียนในระหว่างการสนทนา วันหนึ่ง หนึ่งวันหลังจากทหารราบบังคลาเทศกว่า 850 นายเคลื่อนย้ายกำลังเข้าไปตั้งมั่นในศรีโสภณ เพื่อเริ่มการปลดอาวุธทหารรัฐบาลพนมเปญในจังหวัดนั้น

"เราได้รับคำสั่งจากพนมเปญให้ร่วมมือกับกองกำลังสหประชาชาติโดยปราศจากเงื่อนไข" เลขาฯ หนุ่มที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสได้คล่องเหมือนภาษาแม่ของตนปรารภ เมื่อเราสนทนาถึงท่าทีขอองฝ่ายเขมรแดงที่ปฏิเสธการสั่งปลดอาวุธของกองทหารสหประชาชาติตามข้อตกลงปารีส

เช่นเดียวกับศรีโสภณที่อื่น ๆ ในฝั่งตะวันตกของกัมพูชาล้วนกำลังเปิดตัวออกต้อนรับกระแสสูงของสันติภาพและการฟื้นฟูบูรณะประเทศด้วยความหวัง

ทหารจากมาเลเซียอีก 850 นายได้ตั้งกองบัญชาการคร่อม "กองบัญชาการยุทธิภูมิที่ 5" ของฝ่ายพนมเปญในพระตะบองเอาไว้ในภาระกิจเดียวกันนี้

ที่ชายแดนอรัญประเทศ กองร้อยคอหนังเนเธอร์แลนด์พร้อมกำลังพล 250 นายกำลังพยายามบุกเบิกจากพื้นที่ในเขตไทยเข้าไปปลดอาวุธทหารเขมรแดงที่พนมมาลัย กองร้อยคอหนังนี้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพนาวิกโยธินจากอดีตเจ้าอาณานิคมที่ต้องเข้าไปควบคุมเขตยึดครองของเขมรแดงทั้งหมด ที่เป็นแนวยาวขนานพรมแดนไทยใต้ลงไปจนจรดเขตจังหวัดตราดซึ่งรวมถึงขุมกำลังใหญ่ที่สุดของเขมรแดง ที่อำเภอไพลินทางตะวันตกเฉียงใต้ของพระตะบองด้วย

เหนือบันเตียเมียนเจยขึ้นไปเยื้องตะวันออก กองพันปากีสถานได้เคลื่อนพลเข้าไปยึดครองเขตแดนต่อแดนระหว่างอุดรมีชัยกับจังหวัดพระวิหาร ซึ่งอยู่ติดพรมแดนไทยในเขตอีสานใต้ของไทยเอาไว้แล้ว ขณะที่ต่ำลงมาอีกเล็กน้อยกองพันอินโดนีเซียก็เข้าประจำการในเขตจังหวัดเสียมเรียบ

รวมแล้วจะมีกองทหารทั้งสิ้น 18 กองพันหรือไม่น้อยกว่า 15,000 คน (กองพันละ 850 นาย) ตำรวจและเจ้าหน้าที่ด้านการบริหารอีกราว 5,000-7,000 คนเข้าไปประจำการทั่วกัมพูชาเพื่อยุติสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตนเองภายในกัมพูชา ทหารเขมรทั้งหมดกว่า 200,000 คนจะถูกปลดอาวุธ ร้อยละ 70 ในนั้นจะถูกปลดประจำการ และที่เหลือรอรายงานตัวต่อรัฐบาลใหม่หลังจากเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2537

ในกรอบข้อตกลงที่ปารีส สหประชาชาติยังต้องทำหน้าที่จัดส่งผู้อพยพกว่า 370,000 คนกลับถิ่นฐาน ดำเนินการบริหารประเทศในระหว่างปฏิบัติแผน และอำนวยการเลือกตั้งทั่วประเทศ นับเป็นการวางกำลังทางทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนแผนสันติภาพที่มุ่งผลสูงที่สุดในประวัติการณ์ขององค์การสหประชาชาติ

ประชาชนกัมพูชากำลังฝากความหวังไว้ที่พวกเขา แต่กระนั้นการปฏิบัติจากแผนการทางทหารเพื่อสันติภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะหากมีการขัดขืน

เราพบขบวนรถหน่วยล่วงหน้าของกองร้อยนาวิกโยธินชาวดัทช์บนเส้นทางจากอรัญประเทศไปศรีโสภณในช่วงสายของวันหนึ่งเมื่อต้นเดือนมิถุนายน พวกเขากำลังเจรจากับทหารรัฐบาลพนมเปญที่บ้านนิมิตร 26 กิโลเมตรทางตะวันตกของสีโสภณ ที่ตั้งค่ายชั่วคราวที่จะได้รับคำประกันจากทหารรัฐบาลว่าปลอดกับระเบิด ที่คาดว่าจะถูกฝังไว้หลายหมื่นลูกตลอดเส้นทางสายนี้เป็นสิ่งที่ต้องการสำหรับคนเหล่านี้

อันที่จริงทหารหน่วยนี้พักค้างคืนในโรงแรมเดียวกับเราในตัวเมืองอรัญเมื่อคืนก่อนเกือบ 1 สัปดาห์แล้วที่พวกเขาถูกเขมรแดงขัดขวางไม่ยอมให้ข้ามเขตไทยเข้าไปตั้งฐานปฏิบัติการ เพื่อดำเนินการปลดอาวุธที่พนมมาลัย ติดเขตไทยห่างจากอรัญลงไปทางใต้เพียง 20 กิโลเมตร

ความล่าช้าของหน่วยล่วงหน้าทำให้ทหารส่วนหนึ่งค้างเติ่งที่พัทยา และการลำเลียงทหารที่เหลือจากเนเธอร์แลนด์มีอันต้องเลื่อนไปอีกอย่างไม่มีกำหนด

"พันตรีโฮเวิร์ด" หัวหน้าหน่วยล่วงหน้าดัทช์ บอกว่าเขาต้องขอความร่วมมือจากทหารรัฐบาลพนมเปญ เพื่อจะเข้าไปประจำการในเขตเขมรแดงให้ได้ กล่าวกันว่ากองพันนาวิกโยธินหน่วยนี้เป็นหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดและพร้อมที่สุดของกองกำลังรักษาสันติภาพในกัมพูชา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่พวกเขาได้รับมอบหมายภาระกิจที่ยากลำบากที่สุดในการเข้ายึดอำเภอไพลินซึ่งคาดว่าเป็นศูนย์บัญชาการทหารและที่เก็บตัวของ"พลพต" ผู้บัญชาการสูงสุดตัวจริงของเขมรแดง

"พวกเขา (คอหนังจากเนเธอร์แลนด์) เตรียมพร้อมมาเพื่อการปะทะ" นายทหารฝ่ายเสนาธิการไทยผู้หนึ่งบอกกับเราที่กรุงเทพฯ เขาอ้างถึงจำนวนที่ไม่เปิดเผย แต่มากพอของเฮลิคอปเตอร์กันชิปที่คอหนังหน่วยนี้ขนใส่เรือมาจากเมืองแม่ ในการเผชิญหน้ากับกองโจรที่ได้ชื่อว่ารบเก่งที่สุด มีวินัย มีประสบการณ์ที่สุด และเฉียบขาดที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนี้

ท่ามกลางการแข็งขืนของฝ่ายเขมรแดงต่อบทบาทของทหารสหประชาชาติ การสู้รบละลอกใหม่ระหว่างทหารรัฐบาลกับเขมรแดงระลอกใหม่ก็ระเบิดขึ้นอีกในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน 50 กิโลเมตรเหนือกัมปงทมขึ้นไปตามทางหลวงหมายเลข 12 ที่ตัดตรงขึ้นไปอันลองเวียงในจังหวัดพระวิหาร การสู้รบระลอกใหม่ช่วยซ้ำเติมให้สถานภาพของสันติภาพคลอนแคลนมากยิ่งขึ้น

การแข็งขืนต่อสัญญาสันติภาพของเขมรแดงไม่ได้เป็นอุปสรรคเดียวสำหรับทหารอันแทค การหาที่ตั้งค่ายพัก วัสดุอุปกรณ์สำหรับสร้างที่พักซึ่งหายาก น้ำดื่ม มาลาเรีย ความไม่เคยชินกับสภาพภูมิอากาศ และความแตกต่างด้านการสื่อภาษาเป็นอุปสรรคที่มีการระบุให้อยู่ในระดับแรก ๆ ในบัญชีความยากลำบากที่เผชิญหน้าทหารนานาชาติกลุ่มนี้

ที่ศรีโสภณ ทหารราบบังคลาเทศทั้งกองพันพบว่าพวกเขาไม่อาจหาน้ำดื่มที่สะอาดได้ในตลาดใหญ่หรือที่ไหน ๆ ในตัวเมืองมา 2 วันแล้วนับตั้งแต่มาถึงในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน สาเหตุก็คือเครื่องทำน้ำประปาประจำกองพันเกิดใช้การไม่ได้

ดูเหมือนว่ากองร้อยทหารช่างไทยในสังกัดสหประชาชาติที่ตั้งอยู่ติดกันไม่สามารถแบ่งน้ำดื่มให้ได้ เครื่องทำประปาหน่วยนี้สามารถผลิตน้ำดื่มได้ประมาณ 8 คันรถต่อวัน ซึ่งใช้ภายในกองร้อยและสนองให้กับหน่วยภารกิจอื่นของสหประชาชาติในบันเตียเมียนเจยทั้งจังหวัด

"มันทารุณมากที่ไม่มีน้ำดื่ม" ร้อยเอกยักกี้ แห่งกองพันบังคลาเทศบอก เบื้องหลังของเขาคือทหารตัวดำมะเมื่อมนับร้อยที่นั่งหลบแดดยามเที่ยงอย่างง่วงเหงา ข้างตู้คอนเทนเนอร์ราว 20 ตู้ที่ขนสะเบียงอาวุธและอุปกรณ์ยังชีพผ่านอู่ตะเภาเข้ามา น้ำอัดลมกระป๋องเป็นน้ำดื่มสะอาดเพียงแหล่งเดียวในศรีโสภณ" นอกจากทำให้ท้องอืดแล้วมันยังทำให้เรากระหายน้ำมากขึ้นไปอีก" เขาเสริม

ภายใต้สภาพที่ขัดสนเช่นนี้ ดูเหมือนว่ากองพันทหารช่างของไทย ซึ่งได้เดินทางเข้าไปซ่อมสร้างเส้นทางในเขตตะวันตกของกัมพูชาล่วงหน้ามานานกว่า 3 เดือน ได้กลายเป็นที่พึ่งของหน่วยทหารใหม่ ๆ ที่หลั่งไหลเข้าไปในตะวันตกของกัมพูชาไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุปัจจัยสารพันที่ขาดแคลนหรือกระทั่งการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นชาวเขมร ความช่วยเหลือหรือคำแนะนำของเพื่อนร่วมภาระกิจจากไทยล้วนเป็นสิ่งมีค่า

"เราพยายามช่วยพวกเขาเท่าที่จะทำได้ "พันโท วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์ ผบ. ช. พัน 1 ซึ่งรับผิดชอบกู้ถอนกับระเบิดและซ่อมสร้างถนนสายปอยเปต-ศรีโสภณ เอ่ยถึงคำร้องขอของหน่วยทหารเนเธอร์แลนด์ที่มาเยี่ยมชมการก่อสร้างค่ายพักที่สอดคล้องกับสภาพอากาศ และขอคำแนะนำด้านการก่อสร้างและการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ

"เราเหมือนแม่บ้านในภาคตะวันตกใครปวดท้องร้องไห้ก็วิ่งมาหาเราทั้งนั้น" พันตรี สมบูรณ์ ปัญญาวงศ์ นายทหารการข่าว กองพันทหารช่างที่ 2 สหประชาชาติที่พระตะบองบอก

กระนั้นก็ดี คุณูปะการของทหารไทยที่ได้มอบให้กัมพูชานั้น กลับเป็นสิ่งที่จับต้องได้ที่มีคุณค่า และส่งผลสะเทือนกว้างไกลมากกว่าบทบาทที่ว่านี้อย่างมหาศาล นั่นคือการพลิกฟื้นโครงการทางสรีระ โดยเฉพาะถนนหนทางที่นั่น

ในจำนวนทหารช่าง 2 กองพันที่รัฐบาลไทยจัดส่งเข้าไปในกัมพูชานั้น ประกอบด้วยกองพันช่างที่ 1 ซึ่งรับภาระหน้าที่ในการซ่อมสร้างเส้นทางปอยเปตศรีโสภณ มูลค่า 140 ล้านบาทซึ่งเป็นของขวัญแห่งสันติภาพที่รัฐบาลไทยมอบให้เปล่า ส่วนกองพันทหารช่างที่ 2 ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของอันแทคภารกิจคือซ่อมสร้างถนนหมายเลข 5 และหมายเลข 6 ตลอดทั้งสองสาย

พันโท ชัยวัฒน์ ฐิตสาโร รอง ผบ. ช. พัน 2 บอกว่าถนนทั้งสองสายเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของกัมพูชาที่สุด

"ไม่เพียงทหารอันแทคจะได้ใช้เส้นทางนี้ในการเคลื่อนย้ายใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงตลอดภาระกิจรักษาสันติภาพเท่านั้น มันยังเป็นเส้นทางหลักสำหรับการอพยพเขมรพลัดถิ่นกลับเข้ามาตั้งรกราก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าของกัมพูชาให้ฟื้นตัวจากภาวะสงครามได้อย่างรวดเร็ว" รอง ผบ. ช. พัน 2 บรรยายสรุปที่ ที่ตั้ง บก. ในพระตะบอง

ที่ปราจีนบุรี วิชา สีหไกร พาณิชย์จังหวัดเปิดเผยตัวเลขการค้าข้ามแดนไทย-กัมพูชาที่ตลาดด่านคลองลึก-ปอยเปตทวีปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงวันละไม่น้อยกว่า 7 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับการค้าเถื่อน อันได้แก่ไม้และพลอยซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าตัวเลขข้างต้นอีกหลายสิบเท่าตัว

การค้าที่ด่านคลองลึกได้กระตุ้นให้เกิดกลุ่มการค้าและการขนส่งสินค้า ผุดขึ้นปานดอกเห็ดตามหมู่บ้านตลอดสองฝากทางระหว่างปอยเปต ไปจนจรดพระตะบองด้านหนึ่ง พวกเขาจะขนสินค้าประเภทบุหรี่และสุราต่างประเทศ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องกลขนาดเล็กที่ทำในรัสเซียจากทางรถไฟที่ทอดยาวจากศรีโสภณไปถึงท่าเรือ กำปงโสม มาที่ปอยเปต เครื่องจักรสาน ของป่าและปลาถูกลำเลียงมาตามทางรถยนต์รอบ ๆ ทะเลสาบใหญ่ตนแลซับก็ถูกลำเลียงมาที่ตลาดแห่งนี้ อีกด้านหนึ่งในขากลับสินค้าเครื่องอุปโภค บริโภค รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทยก็จะถูกลำเลียงกลับลึกเข้าไปทุกหนทุกแห่งในกัมพูชา

"ราคาและปริมาณสินค้าจากชายแดนไทยที่วางบนแผงในตลาด ช่วยให้พวกเราที่นี่รู้ถึงสถานการณ์ชายแดนได้โดยไม่ต้องออกจากเมืองไปไหน" ลงดี เกษตรกรอำเภอ ผู้จบสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยพระตะบองวัย 28 ปี บอกกับเราขณะจิบกาแฟอินสแตนท์จากไทยในยามเช้าที่พลุกพล่านในตลาดเก่าของพระตะบอง

เกษตรกรหนุ่มที่พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว บอกว่าราคาสินค้าจากไทยในตลาดพระตะบองขณะนั้นแพงขึ้นอย่างผิดสังเกต เหตุการณ์นั้นประจวบกันอย่างมีเลศนัยกับราคาบุหรี่ และสุราต่างประเทศที่ตลาดปอยเปตที่ถีบตัวสูงขึ้นจากซองละ 14 บาทเป็น 18 บาทในชั่วข้ามสัปดาห์

ชอน โสภอน รองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายการเมืองของบันเตียเมียนเจยบอกว่านั่นเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของด่านภาษีเถื่อนบนเส้นทางศรีโสภณ-ปอยเปต

เท่าที่เราสังเกตุด้วยตา ระหว่างขับรถบนถนนสายนั้นบนเส้นทาง 49 กิโลเมตรมีทหารรัฐบาลเคียนผ้าขาวม้าสะพายปืนอาการ์ (AK-47) กลุ่มละ 7-8 คนตั้งด่านเถื่อนเรียกเงินจากพ่อค้าแม่ค้าและผู้สัญจร ตามทางอื่น ๆ ตามอำเภอใจ กันไม่น้อยกว่า 20 จุดพวกเขาหลายคนอยู่ในสภาพมึนเมา

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นเพียง 2 วันหน่วยทหารหลักได้ส่งกำลังออกเคลียร์เส้นทาง นายทหารไทยที่ปอยเปตบอกว่ามีพวกแหกคอกตั้งด่านเถื่อนไม่น้อยกว่า 10 คนถูกยิงทิ้ง หลายสิบคนถูกจับ นั่นทำให้เราหวนคิดถึงคำพูดที่ว่า "เรายอมจ่ายทุกอย่างเพื่อสันติภาพ"

สำหรับผู้บริโภค ราคาสินค้าลดลงทันตาเห็น แต่สำหรับประชาชนที่นั่นมันก็คือบทเรียนทางธุรกิจของการค้าเสรีที่ดีที่สุด

ใต้มงคลบุรี เขตปลูกข้าวใหญ่ที่สุดของบันเตียเมียนเจย 10 กิโลเตร ยำ เติก ผู้อพยพภัยสงครามจากไซต์ 2 วัย 62 ปี กำลังวาดความหวังใหม่ในบั้นปลายชีวิตที่นี่ในเขตตั้งรกรากใหม่ชานเมือง เขาและครอบครัวซึ่งบัดนี้ได้บ้านหลังใหม่แล้วกำลังจะได้รับการจัดสรรที่ทำกิน อีก 5 ไร่

ครอบครัวของยำ เติก เป็น 1 ใน 40 ครอบครัวของชุมชนใหม่แห่งนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการและอนุเคราะห์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ที่จะอพยพผู้พลัดถิ่นจากภัยสงครามกลับประเทศ จนกระทั่งถึงต้นเดือนมิถุนายนมีผู้อพยพถูกส่งกลับประเทศไปแล้ว 18,700 คน จาก 4,199 ครอบครัวซึ่งกว่าร้อยละ 90 กระจายกันไปอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตภาคตะวันตกและที่เหลืออพยพไปพนมเปญ

ตามเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ผู้อพยพกลับจะได้รับที่ดินปลูกบ้านและอุปกรณ์ที่ดินครอบครัวละ 5 ไร่และเครื่องมือเกษตรหรือเงิน 50 เหรียญสหรัฐ และการเลี้ยงดูตลอดระยะเวลา 18 เดือนก่อนที่คาดว่าจะสามารถลงมือเพราะปลูกในฤดูฝนแรกที่เป็นไปได้

"ผมเลือกเอาที่ดิน เพราะลูก ๆ จะได้มีหลักประกันในอนาคต" ยำ เติกบอกพลางชี้ไปยังทุ่งเวิ้งที่กว้างราว 500 ไร่รายล้อมไว้ในทิวดงตาล ติดแม่น้ำมงคลบุรีที่อุดมสมบูรณ์ที่เห็นอยู่เบื้องหลังที่ แปลงนั้นเดิมทีเจ้าของจับจองอยู่แล้วแต่รัฐบาลท้องถิ่นมีแผนที่จะโยกย้ายคนเหล่านั้นไปสู่ที่ดินแปลงใหม่

เบย อู กิม ประธานคณะกรรมการเมืองมงคลบุรีบอกว่า ประชาชนที่จะถูกโยกย้ายออกไปมีปัญหาอยู่บ้าง "แต่ที่นี่เป็นของรัฐและแหล่งทำกินใหม่ก็อยู่ไกลออกไปจากที่เดิมเพียงไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น"

และนั่นดูเหมือนว่าจะเป็นการยืนยันอีกตัวอย่างหนึ่งตามนโยบาย "จ่ายทุกอย่างเพื่อสันติภาพ" ของรัฐบาลพนมเปญ

"พวกเขาให้ความร่วมมือดีมาก" นิฮาล เดอ ซอซ่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดหาชาวศรีลังกาประจำศูนย์รับผู้อพยพพนมกองวา 13 กิโลเมตรเหนือศรีโสภณ สรรเสริญความมีน้ำใจของรัฐบาลท้องถิ่น "มัน เป็นโชคของเราและผู้ตั้งรกรากที่นี่อย่างที่สุดแต่ที่อื่น ๆ ผมเองไม่ทราบ" ที่ศูนย์แห่งนี้มีสถิติจัดส่งผู้อพยพออกไปสู่เขตที่ทำกินได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับศูนย์อื่น ๆ คือยอดรับเข้าจนถึงสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน 4,350 คนและส่งออกไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ได้ 3,420 คน

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดปรากฏที่พระตะบอง ศูนย์รับกลับ 2 แห่งที่นี่คือที่โอตากีและตวลมะกั๊ก รับผู้อพยพกลับไปแล้ว 8,200 คน ราวครึ่งหนึ่งยังติดอยู่ในศูนย์รัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถจัดหาที่ทำกินให้ได้เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่ตกอยู่ในดงทุ่นระเบิดและที่เหลือก็มีผู้เข้าไปทำกินหมดแล้ว

เป็นความจริงที่ว่าหลังปี 2528 ซึ่งเป็นปีที่ทหารเวียดนามและทหารรัฐบาลได้เปิดศึกใหญ่ ผลักดันกองทหารฝ่ายต่อต้านแตกกระเจิงออกจากฐานที่มั่นเล็ก ๆ ที่เรียงรายอยู่ตามแนวชายแดนและลึกเข้าไปในภาคตะวันตก หนีเข้ามาอยู่ในเขตไทยได้สำเร็จ ยุทธการล้อมปราบครั้งนั้นทำให้เกิดความมั่นคงขึ้นโดยรอบในที่ราบพระตะบองประชากรตามริมฝั่งสะตรึงสังคี ซึ่งเป็นเขตปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในกัมพูชาได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากจำนวนราว 1 แสนคนเศษบัดนี้มันขยายตัวออกเป็น 480,000 คนแล้ว "การรับผู้ตั้งรกรากใหม่เข้ามาเป็นปัญหาหนักอกของเราจริง ๆ" เต เฮียน ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง ฝ่ายการเมืองชี้ให้เห็นปัญหาของการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรที่กำลังจะเกิดขึ้นกับจังหวัดนี้

ตามสถิติที่จัดทำโดยศูนย์ประสานการส่งชาวกัมพูชากลับมาตุภูมิ (ศปสก.) ของกองบัญชาการทหารสูงสุดที่รวบรวมไว้จากจำนวนผู้อพยพทั้งสิ้น 370,000 คน มีที่ต้องการกลับไปตั้งรกรากในจังหวัดพระตะบองทั้งสิ้น 187,000 คน "นั่นจะทำให้ประชากรของจังหวัดขยายตัวขึ้นถึงร้อยละ 40 ในชั่วข้ามคืน" ผู้ช่วยผู้ว่าฯ วัย 48 ซึ่งเป็น ผู้สืบเชื้อสายของตระกูล "อภัยวงศ์" บอกจังหวัดกำลังเจรจากับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เพื่อให้อีกฝ่ายได้รับทราบความยากลำบากของตน

ปัญหาที่พระตะบองเป็นส่วนหนึ่งที่กำลังจะทำให้แผนการจัดส่งผู้อพยพกลับของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ต้องประสบความล่าช้า แต่โครงสร้างประชากร ของกัมพูชาภาคตะวันตกก็ได้ถูกกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่กวาดซัดไปแล้วอย่างไม่อาจจะถอยกลับ

ที่บันเตียชมาร์และทะมอพวกตรงข้ามกับอำเภอตาพระยา ปราจีนบุรีกองกำลังทหารเขมรเสรีภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีซอนซานน์ ได้เปิดเขตที่มั่นขึ้นใหม่ ประชาชนหลายหมื่นคนและทหารที่กำลังจะถูกปลดประจำการราว 1 หมื่นคนกำลังตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่ เพื่อรองรับผู้อพยพอีกจำนวนหนึ่งในค่ายผู้อพยพไซต์ 2ให้เข้าไปร่วมชมรมด้วย พวกเขาจะได้รับที่ดินครอบครัวละ 25 ไร่หรือ 5 เท่าของที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่จะให้

เหนือขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประชาชนผู้นิยมเจ้านโรดม สีหนุ ในค่ายผู้อพยพไซต์บีส่วนหนึ่ง ก็กำลังเตรียมตัวเข้าไปสมทบกับทหาร และครอบครัวทหารที่จะปลดประจำการในพื้นที่รอบ ๆ เมืองสำโรง เมืองเอกของจังหวัดอุดรมีชัย และอัมปึลที่ติดกับชายแดนไทยในเขตจังหวัดสุรินทร์

ใต้ลงมาที่พนมจะไกร ตรงข้ามค่ายผู้อพยพ ไซต์ 8 ของเขมรแดง ในเขตอำเภอคลองหาด ปราจีนบุรี ประชากรในไซต์หลายหมื่นคนถูกบังคับให้เคลื่อนย้ายออกมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในบริเวณนั้น ตั้งแต่ปลายปี 2534 เพื่อทำงานเป็นกรรมกรตัดไม้และชักลากในป่าเบญจพรรณผืนนั้นและที่ไพลินซึ่งอยู่ตรงข้ามอำเภอโป่งน้ำร้อน จันทบุรี ประชากรอีกหลายหมื่นคนหวนกลับจากเขตป่าเขาและค่ายอพยพไซต์เคในเขตอำเภอบ่อไร่ ตราด เข้ามาพำนักในตัวเมือง หลังจากเขมรแดงยึดเมืองนั้นได้ เมื่อทหารเวียดนามถอนกลับประเทศปลายปี 2532 บัดนี้ไพลินกลายเป็นที่พักของกรรมกรเหมืองพลอยไปแล้ว

"เรามีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 7 หมื่นคน" ลอง โนริน ผู้อำนวยการสำนักข่าวสารของรัฐบาลเขมรแดงที่ไพลินบอกระหว่างการเยือนช่วงสั้น ๆ ของเราในช่วงกลางเดือนมีนาคม "จำนวนนี้อาจจะเพิ่มขึ้นอีก" เขาเสริม

และเหนือสุดของกัมพูชาประชากรในค่ายอพยพโอเตรา ทางตะวันตกของปราสาทเขาพระวิหาร ก็กำลังจะถูกเขมรแดงบังคับให้อพยพมาตั้งรกรากที่อันลองเวียงและหัวเมืองสำคัญ ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน

การอพยพโยกย้ายประชากรขนานใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในภาคตะวันตกของกัมพูชาขณะนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในแผนการแย่งชิงประชาชนที่ฝ่ายต่าง ๆ ในกัมพูชากำลังปลุกปล้ำกันอยู่ ภายใต้จมูกของชาวโลกที่กำลังวิตกกังวลต่อแนวโน้มของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นั่น และช่างเป็นเรื่องที่น่าประหลาดไม่น้อยที่ไทยมีอิทธิพลต่อการโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหม่นี้โดยตรง

มีบริษัททำไม้ 2 แห่งที่ได้รับสัมปทานป่าไม้ในเขตบันเตียชมาร์ ทะมอพวก และยางแดงกุ่ม ซึ่งเป็นเขตยึดครองของเขมรเสรี และอีก 2 แห่งได้รับสัมปทานป่าจากเขมรแดงในเขตพนมจะไกร และไพลินนอกจากนี้บริษัทเหมืองพลอยไทยอีกเจ้าหนึ่งก็เข้าไปร่วมลงทุนกับเขมรแดงในการเปิดบ่อพลอยให้นักลงทุนไทยเช่าช่วงทำอีกราว 4 เจ้าในเขตเขาเพชรและรอบ ๆ อำเภอไพลิน

ไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการแต่ก็เห็นกันเป็นที่โจ่งแจ้งว่าชุมชนอพยพใหม่ ๆ ในการอำนวยการของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนั้นส่วนใหญ่ล้วนอิงอยู่บนกิจกรรมป่าไม้และเหมืองพลอยเป็นหลัก รถบลูโดเซอร์และรถเกรดจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปสร้างเส้นทางประดุจร่างแหในเขตสัมปทาน ซึ่งก็ได้กลายเป็นเส้นทางในการโยกย้ายถิ่นฐานและติดต่อกันระหว่างชุมชนเหล่านี้

บรรดาองค์กรนำของเขมรจะได้รายได้ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึง และได้ดำเนินแผนการตั้งชุมชนใหม่ ๆ ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของตนขึ้นในเขตยึดครองในขณะที่ประชากรที่อพยพเข้าไปในเขตนั้นก็จะได้ค่าจ้างเพื่อการยังชีพเป็นการตอบแทน

และสำหรับไทยเอง นี่เป็นก้าวสำคัญทางยุทธศาสตร์ ดินแดนที่ต้องสูญเสียให้ฝรั่งเศสไปได้หวลกลับเข้ามาอยู่ในวง-ไพบูลย์อีกครั้งหนึ่ง ในภารกิจใหม่ตามยุคสมัยที่เรียกกันว่า "การเชื่อมโยงเศรษฐกิจกัมพูชาเข้ากับตลาดโลก"

หรือว่า การขยายอาณานิคมได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาอีกแล้ว !

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามรอยยิ้ม ปรากฏขึ้นทั่วไปในไพลิน ประชาชนนับหมื่นปรากฏตัวขึ้นที่ลานโล่ง ๆ กว้างราว 200 ไร่กลางใจเมืองที่กระสุนปืนใหญ่และจรวดได้ช่วยรื้อถอนตึกรามบ้านช่องออกไป ในงานพิธีต้อนรับเจ้านโรดมสีหนุที่มาเยือนไพลินเมื่อกลางเดือนมีนาคม

พวกเขาอยู่ในชุดแต่งกายและจักรยานใหม่เอี่ยม จับกลุ่มซุบซิบขณะดูดหัวน้ำหวานผสมน้ำแข็งที่ขนผ่านด่านบ้านผักกาดจากจันทบุรีเข้าไปยังไพลิน โดยรถบริษัทเหมืองพลอยบนถนนที่ตัดโดยบริษัททำไม้ไทย

"คนที่นี่รวยกว่าและมีความเป็นอยู่ดีกว่าทั้งหมดในกัมพูชา" นายทหารติดตามพลตรี นาเวศ ณ หนองคาย ทูตไทยประจำตัวเจ้าสีหนุซึ่งได้ติดตามประมุขกัมพูชาผู้นี้ไปเยือนราษฎรในเขรยึดครองของฝ่ายต่อต้านและฝ่ายรัฐบาลพนมเปญในช่วงนั้นบอก

ผู้คนในเขตอิทธิพลรัฐบาลพนมเปญเองก็ยิ้มแย้มแจ่มใสไม่แพ้กัน เมื่อสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยวางขายอยู่เต็มตลาด และเงินดอลลาร์จากกระเป๋าของทหารและเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติมีไว้ให้เก็บเกี่ยวเอาอยู่ทั่วหัวระแหง

สาวเขมรหน้าตาคมคายเริ่มแต่งตัวฉูดฉาดมานั่งดื่มเบียร์และเต้นรำที่ภัตตาคารกลางแจ้งริมสะตรึงสาคีกันหนาตาขึ้น และทหารไทยก็เป็นผู้ที่น่าโปรดปรานมากที่สุดในบรรดาคนที่พกเงินดอลลาร์เข้าไป

"ฉันรักคนไทยมากที่สุดเลย" ดาริ ยา นูแม่ค้าสาวสวยวัย 18 ปีที่ตลาดใหม่ของพระตะบองบอก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.