กสิกรไทยลุยสินเชื่อเอสเอ็มอีรับ"สมัคร1"


ผู้จัดการรายวัน(12 กุมภาพันธ์ 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์กสิกรไทยจี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเร่งปรับตัว หลังต้นทุนลอจิสติกส์ของไทยพุ่งเป็น 23.9% บริษัทยิ่งเล็กต้นทุนยิ่งสูง แนะลดต้นทุนก่อนเสียเปรียบด้านการแข่งขัน พร้อมตั้งเป้าลุยขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้เพิ่มอีก 6 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 20% เป็น 360,000 ล้านบาท มั่นใจหลังตั้งรัฐบาล-เมกะโปรเจ็กต์ช่วยหนุน

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ในขณะนี้ผู้ประกอบการของไทยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต ทั้งจากราคาน้ำมันและวัตถุดิบที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ผู้ส่งออกก็จะมีปัญหาเรื่องแนวโน้มค่าเงินบาทที่มีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาซับไพรม์ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวในการบริการจัดการ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการลดต้นทุนทางด้านลอจิสติกส์ ทั้งด้านการวางแผนขนส่งสินค้า การสต็อกสินค้า วัตถุดิบ เป็นต้น เนื่องจากปัญหาต้นทุนด้านลอจิสติกส์ของไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 19.4% ในปี 2548 เป็น 23.9% ในปี 2549 และบริษัทที่มีขนาดเล็กจะยิ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้น โดยกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะมีต้นทุนลอจิสติกส์สูงถึง 26%

ทั้งนี้ การลดต้นทุนลอจิสติกส์ของเอสเอ็มอี จะทำได้ง่ายและมีประสิทธิผลกว่าการลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นที่อาจจะควบคุมจัดการได้ยาก หรือการลดคุณภาพสินค้าที่อาจจะส่งผลเสียหายรุนแรงกว่าในระยะยาว นอกจากนั้นการจัดการลอจิสติกส์ที่ดีจะช่วยให้องค์กรมีผลกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเชียเข้าไปร่วมพัฒนาการจัดการด้านลอจิสติกส์ของลูกค้า พบว่าจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ถึง 15%

นายปกรณ์ กล่าวว่า จากความสำคัญของการจัดการด้านลอจิสติกส์ ธนาคารกสิกรไทยจึงมีเป้าหมายที่จะมุ่งให้ความรู้ด้านลอจิสติกส์แก่ลูกค้าของธนาคาร โดยการจัดสัมมนาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ล่าสุดธนาคารได้จัดสัมมนาเรื่อง "เคล็ดไม่ลับ จับทางลอจิสติกส์ กับ K SME Care" มีเป้าหมายที่จะพัฒนาความรู้ด้านลอจิสติกส์ แก่ผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีประมาณ 800 คน ระหว่างวันที่ 11-14 กุมภาพันธ์นี้

สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีสุทธิของธนาคารในปีนี้ตั้งไว้ที่ 60,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งจะทำให้พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีสิ้นปีจะอยู่ที่ 360,000 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายจำนวนลูกค้าใหม่คาดว่าจะอยู่ที่ 30% จากปัจจุบันมีฐานลูกค้า 400,000 ราย โดยจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจะมาจากส่วนที่ยังไม่เคยใช้สินเชื่อของธนาคารและเป็นลูกค้าที่มาจากธนาคารแห่งอื่น

นอกจากนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายว่าปีนี้ส่วนแบ่งทางการตลาดของธนาคารจะเพิ่มเป็น 30% จากในปีก่อนอยู่ที่ 25-27% ซึ่งจะทำให้ธนาคารอยู่ในส่วนของผู้นำในตลาด โดยส่วนที่ทำให้ธนาคารเชื่อว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายนั้นเนื่องจาก ธนาคารมีความรวดเร็วในการให้บริการ ซึ่งปัจจุบันธนาคารสามารถอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวได้ภายใน 3 วัน ได้รับเงินภายใน 10 วัน วงเงิน 10 ล้านบาท รวมถึงความครบถ้วนในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าและมีการให้คำแนะนำ การให้ความรู้และข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจของลูกค้า

"ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ของสินเชื่อเอสเอ็มอีนั้นสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 2.8% ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะอยู่ 3.8% ส่วนแนวโน้มในปีนี้นั้นจะต้องดูเรื่องการปรับตัวของผู้ประกอบการในปัจจุบันว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน แต่ในส่วนของธนาคารได้มีการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ไม่ได้ไปดูตอนมีปัญหาแล้ว ซึ่งจะมีทีมเฉพาะที่ดูแลลูกค้าแยกเป็นอุตสาหกรรม" นายปกรณ์กล่าว

นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบนั้นคาดว่าจะมีการเติบโตประมาณ 8-10% จากปีก่อนเติบโตอยู่ที่ 6-8% โดยสาเหตุที่มองว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้จะมีการขยายตัวค่อนข้างสูงนั้น เนื่องจากจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศซึ่งมีอยู่ 2,200,000 รายนั้น ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงธนาคารต่างๆได้ให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวมากขึ้น เพราะการปล่อยสินเชื่อนี้จะทำให้ธนาคารได้ประโยชน์จากการใช้เกณฑ์มาตรฐานการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Basel 2) ที่จะนำมาคำนวณความเสี่ยง 75% และสินเชื่อเอสเอ็มอียังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าสินเชื่อรายใหญ่

ทั้งนี้ จากการที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจะเป็นส่วนช่วยให้ความเชื่อมั่นกลับมาได้ และจากการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกซ์) นั้นเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับเอสเอ็มอีในทางอ้อม เนื่องจากการลงทุนก่อสร้างขนาดใหญ่นั้น จะต้องมีการซื้อวัสดุอุปกรณ์หรือวัตถุดิบจากผู้ประกอบการรายกลางรายเล็ก ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขายสินค้าได้มากขึ้น

"ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นมองว่าผู้ประกอบการได้ปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ด้วยการไปหาตลาดใหม่ รวมถึงใช้ช่วงจังหวะนี้เปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ และยังถือว่าเป็นช่วงโอกาสในการปรับการการผลิต แต่ถ้าผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นก็จะสามารถปรับราคาขายได้" นายปกรณ์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.