"(ร่าง) กฎหมายป้องกันการทุ่มตลาด"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีบริษัทเอกชนที่ผลิตสินค้าในประเทศไทยยื่นเรื่องต่อกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์โดยแจ้งว่า มีบริษัทต่างประเทศหลายบริษัทส่งสินค้าเข้ามาขายในประเทศไทย ด้วยราคาต่ำกว่าต้นทุน อันถือว่าเป็นการทุ่มตลาดส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่สภาพตลาดการกำหนดราคา และผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันภายในประเทศ

อดีตซึ่งอยู่ในยุคในช่วงที่จอมพลถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทุ่มตลาดขึ้น และได้ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2507 ซึ่งมีทั้งหมด 16 มาตรา

มีมาตราที่กล่าวถึง ความหมายของการทุ่มตลาด, ราคาปกติของสินค้าและการเก็บอากรการทุ่มตลาด อยู่เพียง 2 มาตรา ส่วนอีก 14 มาตรา ที่เหลือ เป็นเรื่องการแต่งตั้งกรรมการและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้มีการออกกฎกระทรวงตามกฎหมายนี้มาหนึ่งฉบับ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับบัตรประจำตัวกรรมการ และพนักงาน เจ้าหน้าที่ พระราชบัญญัตินี้จึงถูกลืมมิได้บังคับใช้โดยปริยาย

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2534 ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทุ่มตลาดและตอบโต้การช่วยอุดหนุน พ.ศ. 2534 ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเล็งเห็นว่าเพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในโลกการค้าเพราะการใช้มาตรการตอบโต้การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศ และอีกประการหนึ่งกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ภาคเอกชนของไทยจะสามารถร้องเรียนต่อกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเรียกเก็บอากรป้องกันการทุ่มตลาดซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับบริษัทในประเทศที่มีการทุ่มตลาดไม่ว่าจะเป็นการแก้ต่างข้อกล่าวหา, การเสียอากร หรือการถูกประณามจากประเทศอื่นก็ตาม

การเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด ถือเสมือนเป็นการใช้ภาษีศุลกากรอย่างหนึ่ง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบทบัญญัติและวิธีปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกติกาการค้าของโลกอย่างเป็นธรรม เพราะมิฉะนั้นแล้ว อาจมีการนำมาตรการนี้ไปใช้เป็นมาตรการการกีดกันทางการค้านอกกรอบของมาตรการการกีดกันทางการค้า ซึ่งกระทำได้ตามมาตรา 6 ของ "ข้อตกลงทางการค้าและภาษีศุลกากร" (GATT)

โดยมาตรา 6 ของแกตต์ ได้ระบุถึงลักษณะการช่วยการแข่งขันในการค้า 2 ประเภท คือ การป้องกันการทุ่มตลาดและการเก็บภาษีตอบโต้ (COUNTERVAILING DUTLES) หรือ GVD ในกรณีที่มีการช่วยอุดหนุน

ตามมาตรา 6 นี้ ถ้าพิจารณาในลักษณะหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าวิธีการนี้เป็นข้อยกเว้นที่อนุญาตให้ภาคีสมาชิกทำการตอบโต้โดยไม่ขัดต่อแกตต์ แต่ในขณะเดียวกัน การที่มาตรานี้ระบุสถานการณ์ที่จะใช้ข้อยกเว้นเอาไว้ค่อนข้างจำกัดและระมัดระวังมาก มาตรานี้จึงเป็นการสร้างข้อผูกพัน ให้กับภาคีสมาชิกของแกตต์ในการใช้หลักป้องกันการทุ่มตลาดด้วยเช่นกัน

ในเรื่องการทุ่มตลาดนั้น มีสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือ ประการแรก อะไรคือการทุ่มตลาด ประการที่สองคือเรื่องความเสียหาย ประการที่สามคือ ข้อจำกัดในการตอบโต้

อะไรคือการทุ่มตลาด

ข้อสังเกตที่สำคัญคือ การทุ่มตลาดนั้นโดยตัวของตัวเองไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะตอบโต้ได้แต่ต้องมีการทุ่มตลาดและความเสียหาย ซึ่งเป็นองค์ประกอบ 2 ประการประกอบกันจึงจะถือเป็นกรณีที่จะให้มีการตอบโต้ได้

ในมาตรา 6 นั้น ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า "การทุ่มตลาด" หมายถึง การที่สินค้าของประเทศหนึ่งได้ถูกนำเข้าไปในอีกประเทศหนึ่งในราคาที่ต่ำกว่าราคาหรือค่าปกติของสินค้านั้น (LESS THAN THE NOMAL VALUE) และได้ระบุต่อไปว่าการกระทำดังกล่าวนั้นสมควรจะมีการประณามถ้าก่อ หรือคุกคามที่จะให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมในประเทศที่สอง หรือเป็นการหยุดยั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศที่สองนั้น

สำหรับตัวบทของแกตต์ มาตรา 6(1) (A) และ (B) ได้ให้ความหมายของการทุ่มตลาด หรือการที่สินค้านำเข้ามีราคาต่ำกว่าปกติของสินค้าดังนี้คือ

มาตรา 6(1) (A) ระบุว่า จะถือว่าสินค้านำเข้ามีราคาต่ำกว่าปกติต่อเมื่อราคาของสินค้าที่ส่งออกจากประเทศผู้ส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้านั้น ต่ำกว่าราคาที่พอจะเปรียบเทียบกันได้ของสินค้าที่คล้ายคลึงกันในการค้าปกติ ในการที่สินค้านั้นเข้าไปขายในประเทศส่งออก (ราคาภายในประเทศผู้ส่งออกนั่นเอง)

มาตรา 6(1) (B) ระบุว่า ถ้าไม่มีราคาภายในประเทศดังกล่าวแล้ว ราคาที่ต่ำกว่าปกติของสินค้าก็คือ ราคาสูงสุดที่พอจะเปรียบเทียบได้กับราคาของสินค้าที่คล้ายคลึงกันที่ส่งออกไปยังประเทศที่สามในการค้าปกติ หรือถ้าไม่สามารถหาราคาดังกล่าวได้ให้เอาต้นทุนการผลิตในประเทศที่ผลิต (ซึ่งอาจจะเป็นประเทศผู้ส่งออกหรือประเทศอื่น) รวมกัน ค่าใช้จ่ายในการขายและกำไร ในกรณีที่ใช้ต้นทุนการผลิตของประเทศอื่นกฎหมายให้คำนึงถึงแตกต่างในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย

สรุปแล้วการจะใช้การป้องกันการทุ่มตลาดได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่ามีการทุ่มตลาด การทุ่มตลาดก็คือ การที่สินค้าถูกส่งไปขายในประเทศนำเข้าในราคาที่ต่ำกว่าค่าปกตินั้น กฎหมายให้ดูว่าถ้าราคาที่ส่งออกนั้นต่ำกว่าราคาของสินค้าที่คล้ายคลึงกันที่เข้าไปขายอยู่ในประเทศผู้ส่งออก หรือถ้าไม่มีราคาขายในประเทศผู้ส่งออกก็ให้ดูราคาที่ส่งไปขายยังประเทศที่สาม หรือถ้าราคาดังกล่าวหาไม่ได้ ให้เอาต้นทุนการผลิตในประเทศที่ผลิตรวมกับค่าใช้จ่ายในการขายและกำไร ในกรณีใดกรณีหนึ่งนั้นก็จะหาราคาที่ต่ำกว่าค่าปกติได้

ความเสียหาย

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุ่มตลาด จะป้องกันหรือตอบโต้การทุ่มตลาดไม่ได้ จนกว่าจะได้พิสูจน์และตัดสินโดยประเทศผู้เสียหายว่า ผลกระทบของการทุ่มตลาดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง (MATERAIL INJURY) แต่การพิสูจน์ความเสียหายก็กระทำได้ยากเพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจมาจากสาเหตุอื่น มิใช่การทุ่มตลาดจากประเทศนั้นเพียงอย่างเดียว เช่น การบริหารบริษัทไม่ดี, เศรษฐกิจตกต่ำทำให้ไม่มีกำลังซื้อ หรือมีหลายประเทศเป็นผู้ส่งสินค้าเข้ามาขายในราคาต่ำเหมือนกันเป็นต้น

ข้อจำกัดในการตอบโต้

การตอบโต้การทุ่มตลาดนั้น ให้เก็บภาษีได้ไม่เกินขอบของการทุ่มตลาด (MARGIN OF DUMPING) เช่น ถ้าสินค้าราคาค่าปกติ 100 บาทแล้ว แต่มีการนำเข้าในลักษณะทุ่มตลาดในราคา 80 บาท การเก็บภาษีป้องกันการทุ่มตลาดจะต้องคิดจากฐานราคา 80 บาทเป็นเกณฑ์ ดังนั้นจึงจะเก็บได้ไม่เกิน 20 บาทเป็นต้น แต่ในทางปฏิบัติในการดำเนินคดีแล้ว จะมีการโต้เถียงกันมากในการคำนวณภาษีที่จะเก็บในเรื่องการคิดราคาส่งออกว่ารวมหรือไม่รวมต้นทุนอะไรบ้าง

การเก็บภาษีการตอบโต้การทุ่มตลาด จึงก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการแข่งขันเชิงการค้า (LEVEL PLAYING FIELD) เพราะการที่บริษัทในต่างประเทศแทรกแซง โดยการทุ่มตลาดแล้ว จะทำให้สินค้าต่ำกว่าความเป็นตริง ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น ดังนั้น ANTI DUMPING จะเป็นภาษีที่ปรับให้ราคาสินค้าอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทุ่มตลาด และตอบโต้การช่วยอุดหนุน พ.ศ. 2534 ได้ค้างอยู่ในการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่เพิ่งสิ้นสุดวาระเมื่อปลายเดือนมีนาคม ศกนี้ กฎหมายฉบับนี้ จึงตกไปโดยปริยาย

ทางกระทรวงพาณิชย์จึงพยายามหาทางออกโดยการใช้พระราชบัญญัติการนำเข้าส่งออก พ.ศ. 2522 เป็นหลักในการปฏิบัติ และระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้องแทน

อย่างไรก็ตามการใช้มาตรการโดยอ้อมเช่นนี้ก็คงจะมีข้อด้อยกว่ากฎหมายเฉพาะที่บัญญัติไว้สำหรับการนี้ จึงหวังว่าร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทุ่มตลาด และตอบโต้การช่วยอุดหนุนคงจะถูกหยิบยกมาพิจารณากันใหม่ในสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า เพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่บอบช้ำให้พัฒนารวดเร็วยิ่งขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.