|
เมเจอร์ฯคิดกินรวบตลาดหนัง
ผู้จัดการรายวัน(7 กุมภาพันธ์ 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
เมเจอร์ฯคิดการใหญ่ ถือหุ้นผ่านทราฟฟิกฯ 40.81%ดันเอ็มพิคเจอร์สบุกตลาดหนัง เปิดบิสซิเนสโมเดลใหม่ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ผลิต จัดจำหน่าย ช่องทางขาย โปรโมท
จากการที่บริษัท ทราฟฟิก คอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRAF ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 120 ล้านบาท เป็น 360 ล้านบาท โดยออกหุ้นกู้สามัญจำนวน 240 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท รวมเป็น 240 ล้านบาท จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ราคา 1.79 บาทต่อหุ้น และกรณีที่หุ้นเหลือจากการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม บริษัทจะจัดสรรให้แก่บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) และผู้ถือหุ้นรายอื่นของบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด ขณะนี้โครงสร้างการถือหุ้นปัจจุบันคือ เมเจอร์ฯถือหุ้นในทราฟฟิกคอร์นเนอร์ 40.81% และทราฟฟิกฯถือหุ้นในเอ็ม พิคเจอร์ส 99.99%
นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การร่วมมือเป็นพันธมิตรกันครั้งนี้จะช่วยทำให้บิสซิเนสโมเดลที่เมเจอร์ฯวางไว้เป็นจริงมากขึ้น โดยจะเป็นคล้ายๆกับสตูดิโอต่างประเทศ คือมีทั้ง การผลิตหนังเอง การจัดจำหน่าย การทำตลาด ช่องทางการฉายหนัง อีกทั้งจะทำให้อุตสาหกรรมหนังไทยเติบโตขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการผูกขาดธุรกิจหนังทั้งหมดไว้คนเดียว เพราะทุกวันนี้เมเจอร์ฯอยู่ในตลาดหลักทรัพย์คงต้องทำธุรกิจที่ถูกกฎหมาย ถูกต้อง ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ตามใจ แต่การขยายธุรกิจก็เพื่อต้องการสร้างความแข็งแกร่ง เพราะเมเจอร์ฯไม่ได้เก่งคนเดียวที่สามารถจะทำอะไรเองได้ทุกอย่าง
เมเจอร์ฯมีธุรกิจหลักคือ โรงหนัง 4 แบรนด์ จำนวน 38 สาขา เอ็มพิคเจอร์สมีคอนเทนต์หนังต่างประเทศในมือจำนวนมาก มีความเชี่ยวชาญด้านการซื้อหนัง ทำหนัง ขณะที่ทราฟฟิกฯนั้นมีความแข็งแกร่งด้านคอนเทนต์กีฬาจากต่างประเทศ 3 รายการดัง เช่น ฟุตบอลเอฟเอคัพ ฟุตบอลบุนเดสลีกาเยอรมัน และฟุตบอลกัลโซ่ซีรี่ส์อาร์จากอิตาลี มีช่องทางตลาดและสื่อในมือหลากหลาย ดังนั้นจะทำให้ธุรกิจทั้งสามบริษัทสามารถต่อยอดไปได้มากขึ้นและประหยัดต้นทุนด้วย ซึ่งเดิมเมเจอร์ฯมีช่องทางเดียวคือโรงหนัง แต่ตอนนี้เราจะมีมากขึ้น ผ่านทางทราฟฟิกฯ
"เราไม่ได้ผูกขาด เราเปิดกว้างติดต่อกับทุกคน อย่าง เสี่ยเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) หรือค่ายจีทีเอช เราก็คุย ส่วนรายย่อย ถ้าใครมีไอเดียมีโครงการ ไม่มีทุนก็มาคุยกับเราร่วมกันสร้าง ใครสร้างหนังน้อย เราก็อยากให้สร้างมากขึ้น หรือใครมีหนังแต่ไม่รู้จะเข้าตลาดยังไง เราก็ช่วยจัดการจัดจำหน่ายได้ด้วย เพราะหนังไทยปีหนึ่งมีน้อยไม่เกิน 50 เรื่อง มองว่าช่วยผลักดันให้ตลาดหนังไทยโตมากกว่าเดิม ตัวหนังถือเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของธุรกิจหนัง ฮอลลีวู้ดยอมจ่ายเม็ดเงินมากเพื่อสร้างหนังแต่บางทีเขาก็ไม่ได้จัดจำหน่ายเอง "
นายวิชากล่าวต่อว่า ระยะใกล้นี้เรามองว่าสเกลของเราต้องใหญ่เพียงพอที่จะเติบโตได้ การร่วมมือจึงต้องเพิ่มบทบาททางธุรกิจและงาน ขณะที่ตลาดรวมธุรกิจหนังมีมากกว่า 4,000 ล้านบาท สำหรับโครงสร้างการบริหารจากนี้ไปจะมอบหมายให้ทางทราฟฟิกฯบริหาร เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจอยู่แล้ว โดยเมเจอร์ฯจะเป็นกรรมการตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่านั้น
นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ในฐานะผู้ก่อตั้ง บริษัท ทราฟฟิก คอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงแรกนี้คงต้องทำการรีแบรนด์ดิ้งทราฟฟิกฯใหม่ ที่ไม่ได้ทำธุรกิจแค่คอนเทนต์กีฬาและบริหารสื่อเท่านั้น ต้องมีการจัดพอร์ทโฟลิโอใหม่หมด และอาจจะมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ด้วย วางตำแหน่งเป็นไลฟ์สไตล์มีเดีย เนื่องจากธุรกิจภาพยนตร์ไทยยังมีการขยายตัวที่สูง ในปีแรกยังไม่ได้มองว่าธุรกิจจะต้องเติบโตแบบก้าวกระโดด
ทั้งนี้จะมีการเพิ่มมูลค่าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่มีอยู่ขยายไปยังสื่ออื่นๆเพื่อเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงหนัง วีซีดี ดีวีดี โมบาย ฟรีทีวี เคเบิลทีวี เป็นต้น คาดว่าในเบื้องต้นนี้บริษัทฯเริ่มกิจภาพยนตร์ จะมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 50+% ของรายได้รวม จากเดิมที่มี 100% และจะทำให้สัดส่วนรายได้ธุรกิจโทรทัศน์เหลือเพียง 50%
ส่วนการสร้างหนัง เบื้องต้นมีการเจรจากับทาง 3 ผู้สร้างหนังแล้วคือ สุพล วิเชียรฉาย ยุทธเลิศ สิปปภาค และบอย โกสิยพงษ์ คาดว่าจะลงทุนรวมประมาณ 100 ล้านบาท ปัจจุบัน ทราฟฟิกฯมีรายได้ประมาณ 200 กว่าล้านบาท ส่วนเอ็มพิคเจอร์สมีรายได้ประมาณ 300 กว่าล้านบาท
"ตอนนี้เรามองหาแอร์ไทม์ที่นานขึ้นและมากขึ้น นอกเหนือจากโรงหนังที่เอ็มฯทำอยู่แล้ว เรามองที่ฟรีทีวี เคเบิลทีวี โมบาย ทุกอย่างที่สามารถเป็นช่องทางกระจายหนังได้"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|