ปัญหาการระเบิดหินบนเกาะสีชังที่เกิดขึ้นแทบจะทำให้ฝันของบริษัท สีชังทองเทอร์มินัล
จำกัด (สีชังทองฯ) ต้องล่มสลายไปอีกครั้ง เนื่องจากโดนกระแสต่อต้านจากชุมชนอย่างหนัก
...!
การระเบิดหินซึ่งส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของเกาะสีชังทั้งสภาพพื้นเกาะหรือโบราณสถานนั้น
ไม่ว่าสีชังทองฯ จะเป็นผู้ดำเนินการหรือเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่องานของสีชังทองฯ
กำลังจะกลายเป็นโครงการหลักของพื้นที่นั้น จึงทำให้โครงการนี้กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมท่ามกลางชุมชนและธรรมชาติที่อยู่คู่กันอย่างสงบมานาน
เป็นเหตุให้ฝันของจิระ รัตนะรัต เจ้าของโครงการเป็นเส้นทางที่เลี้ยวลดคดเคี้ยวชนิดที่ท้อแท้ขนาดจะยกเลิกงานนี้ก็หลายครา
ความได้เปรียบที่ตระกูล "หงศ์ลดารมภ์" มีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่เกาะบางส่วนเพราะจับจองมาหลายสิบปี
ในฐานะที่คุณหญิงทองทิพ ภรรยาของจิระเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขขอองตระกูลนี้จึงกลายเป็นทำเลสร้างท่าเรือน้ำลึก
และโรงงานโซลเว้นท์ได้อย่างเหมาะเจาะแม้ว่าทางราชการจะอนุมัติให้อย่างทุลักทุเลก็ตาม
เฉพาะอย่างยิ่ง ท่าเรือน้ำลึกเกาะสีชังที่จะสร้างขึ้นนี้จะมุ่งให้เป็นท่าเรือสากลประสานกับท่าเรือแหลมฉบัง
เพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งไปสู่อินโดจีนในอนาคต
แต่แล้ววันนี้สายสัมพันธ์กับ "หงศ์ลดารมภ์" กลับกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่คอยทิ่มตำความก้าวหน้าของโครงการอย่างที่จิระคงปฏิเสธปัญหานี้ไม่ได้
เนื่องจากบริษัทที่เป็นต้นตอของปัญหาการทำลายสภาพแวดล้อมของเกาะสีชังนั้น
ก็คือ บริษัท ภูเพ็ญ จำกัด โดยได้รับอนุมัติให้ระเบิดหินด้วยเหตุผลว่า เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำ
และบริษัท พรเพ็ญประทาน จำกัด ก็ได้รับอนุญาตให้สร้างโรงโม่หินและย่อยหิน
ประการสำคัญ ทั้งสองบริษัทนี้ถือหุ้นหลักโดยพี่น้อง "หงศ์ลดารมภ์"
เฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทภูเพ็ญนั้นถือหุ้นหลักโดยตระกูลนี้และยังมีคุณหญิงทองทิพเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย
ขณะที่ตระกูล "หงศ์ลดารมภ์" ถือหุ้นอยู่ในสีชังทองฯ 5%
ยิ่งภาพการระเบิดหินที่ลุกลามขยายวงกว้างออกไปจนล่าสุดทางราชการได้ออกคำสั่งห้ามบริษัท
ภูเพ็ญระเบิดหินอย่างเด็ดขาดเพราะระเบิดออกนอกพื้นที่สัมปทานไปแล้ว 13 ไร่ซึ่งเหลืออีกเพียงประมาณ
4 เมตรก็จะทำให้เกาะแยกจากกัน
ทำให้ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าสีชังทองฯ ไม่เกี่ยวข้องกันกับ "หงศ์ลดารมภ์"
ผู้ระเบิดหิน แม้ว่าสีชังทองฯ จะไม่ใช่ผู้ดำเนินการโดยตรงก็ตามจึงช่วยไม่ได้ที่ชุมชนจะเข้าใจว่าสีชังทองฯ
คือผู้สร้างปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดบนเกาะแห่งนี้
ทั้งที่การระเบิดหินบนเกาะเกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด
บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ชนะประมูลในการสร้างท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังได้ซื้อสัมปทานพื้นที่ระเบิดหินจาก
"หงศ์ลดารมภ์" ซึ่งมีเอกสารสิทธิ์ที่เรียกว่า ส.ค. 1 โดย ครม.
ยุคนายกชาติชาย ชุณหะวัณได้ไฟเขียวเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2531
หินที่ระเบิดในตอนนั้นใช้ในการถมทะเลเพื่อสร้างเขื่อนกั้นคลื่นความยาว
1.3 กิโลเมตรและกำแพงหินขอบท่าเรือขนาด 6.5 กิโลเมตร เพราะเป็นหินที่มีคุณสมบัติและขนาด
0.25-1,200 กิโลกรัมตามความต้องการ เป็นแหล่งหินที่ใกล้บริเวณสร้างท่าเรือที่สุด
สะดวกในการขนย้ายช่วยร่นระยะทางและประหยัดต้นทุน
เมื่อท่าเรือแหลมฉบังเสร็จไปในปี 2533 ก็ยังมีการย้ายพื้นที่ระเบิดหินมาใกล้แหล่งชุมชนและพระราชวังรัชกาลที่
5 มากขึ้น "ห่างแค่ประมาณกิโลเมตรเดียว จึงทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองโปรยปลิวตามทิศทางลม
และส่งผลต่อคุณภาพน้ำทะเลด้วย" แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกล่าวขณะที่พื้นที่ระเบิดหินก็ยังคงเป็นของ
"หงศ์ลดารมภ์" เหมือนเดิม
กระแสต่อต้านของชาวบ้านชุมชนเกาะสีชังที่เริ่มมีมาตั้งแต่ในช่วงแรกดูไม่รุนแรงนักเริ่มทวีความดุเดือดขึ้นตลอดเวลาทั้งโดยภาพเปิด
และภาพปิดขณะที่สภาพแวดล้อมถูกทำลายไปเรื่อยผนวกกับความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปก็เริ่มหนักหน่วงขึ้น
ดังนั้นเมื่อสีชังทองฯ ประกาศผลักดันสร้างท่าเรือสีชังภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นลำดับก็ถูกประสมประสานเข้ากับโครงการท่าเรือไปโดยปริยาย
เพราะไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ทางอิตาเลียนไทยฯ หรือบริษัทภูเพ็ญระเบิดหินอยู่
ส่วนแรกทาง "หงศ์ลดารมภ์" เป็นเจ้าของสัมปทานโดยไม่ได้ระเบิดเองแต่ส่วนหลัง
"หงศ์ลดารมภ์" เป็นทั้งผู้ถือกรรมสิทธิ์และดำเนินการเอง
สายใยแห่งความสัมพันธ์ตรงนี้จึงไม่อาจตัดแยกออกจากสีชังทองฯ ได้แม้ว่าแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าสีชังทองฯ
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารและการตัดสินใจของ "หงศ์ลดารมภ์"
ในบริษัท ภูเพ็ญต่างคนต่างทำและต่างความคิดก็ตาม
อีกทั้งย้ำว่าการสร้างท่าเรือสีชังทองฯ จะใช้วิธีระเบิดหินด้วยวิธีที่ไม่กระทบกระเทือนต่อสภาพแวดล้อมข้างเคียงไม่ว่าที่จะเกิดจากเสียง
การสั่นสะเทือน หินที่กระเด็น แต่จิระคง ไม่อาจแยกภาพความเป็นเครือญาติในทางนิตินัยจากการสมรสได้เลย
แม้คนที่ติดตามและรู้จักจิระดี มั่นใจว่าจิระไม่เห็นด้วยกับการระเบิดหินที่ทำลายสิ่งแวดล้อมบนเกาะ
หากกลับแปรเป็นเรื่องตลกเมื่อฝ่ายระเบิดหินกลายเป็นคนทำลายสภาพแวดล้อมที่ดี
ๆ ของชุมชน แต่ทางสีชังทองฯ คือจิระในฐานะผู้จัดการการบริหารพยายามที่จะตั้งกองทุนอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพทรุดโทรมมรดกล้ำค่าบนเกาะ
ด้วยรูปลักษณ์อย่างนี้ สีชังทองฯ จึงถูกแรงต่อต้านจากชุมชนเกาะสีชังกระหน่ำอย่างหนัก
แม้ว่าจะมีผู้คนส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับโครงการ แต่ก็ไม่อาจดูแคลนและมองข้ามผู้คนที่ปฏิเสธการเกิดขึ้นของสิ่งแปลกปลอมทั้งมวลบนเกาะ
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจหรือเทคโนโลยีใดก็ตาม
เมื่อสีชังทองฯ ไม่อาจต้านกระแสของชาวบ้านได้ล่าสุดจึงระงับโรงงานโซลเว้นท์ไว้ก่อนโดยจะเริ่มสร้างเฉพาะท่าเรือ
แต่ขณะเดียวกันก็จะตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์พื้นที่ของสีชังทองฯ จำนวน
800 กว่าไร่อีกครั้งหนึ่งแม้ว่าทางราชการจะไฟเขียวมาก่อนหน้านี้แล้วซึ่งทำให้ต้อองชะลอโครงการออกไปอีกครั้งหนึ่ง
จิระคงต้องสะดุดและล้มลุกคลุกคลานกับโครงการนี้อีกหลายยก ตราบเท่าที่แยกความสัมพันธ์ระหว่างสีชังทอง
ฯ กับ "หงศ์ลดารมภ์" ออกจากกันให้ชัดเจนไม่ได้ยังไม่รวมถึงจุดอ่อนที่สีชังทองฯ
ไม่ได้ปูฐานความเข้าใจของมวลชนท้องถิ่นต่อโครงการตั้งแต่ต้น
น่าวิตกอย่างยิ่งว่า สีชังทองฯ จะเจอกรณีเดียวกับโครงการแทนทาลัมจ. ภูเก็ตที่ล่มสลายไปแล้วหรือไม่...?