เมื่อ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมพุทธศักราช
2535 ทดแทนกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2518
กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับนี้เป็นหนึ่งในกฎหมายนับร้อยฉบับที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ในสมัยอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นครั้งสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางด้านกฎหมาย
ก่อนหน้านี้มีการเสนอแนะการปรับปรุงหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดรับกับปัญหาที่ทวีความรุนแรงมาเรื่อยๆ
นับตั้งแต่หลังจากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยภาคใต้เมื่อปี 2531 จนกระทั่งล่าสุดปัญหาการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมลงลุ่มน้ำพอง-ชี-มูลในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
บางแนวคิดถึงกับเสนอให้ตั้งเป็นทบวงสิ่งแวดล้อมเพื่อจะได้รวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอยู่ในองค์กรเดียวกัน
แต่ในที่สุดแนวคิดเรื่องการปรับปรุงองค์กรที่รับผิดชอบงานด้านสิ่งแวดล้อม
ก็หาข้อสรุปได้โดยการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (ฉบับที่
6) พ.ศ. 2535 เพิ่มหน่วยงานขึ้นอีก 3 กรม คือสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม
กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
ประเด็นที่นับได้ว่าสำคัญที่สุดในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้คือการคั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม
แนวคิดในเรื่องการมีกองทุนสิ่งแวดล้อมมีมาก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติใหม่ตั้งแต่สมัยอานันท์
ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรีโดยในแผน 7 มีการเน้นถึง กองทุนด้านสิ่งแวดล้อมและหลักการผู้ใดก่อมลพิษผู้นั้นต้องเป็นผู้จ่าย
(POLLUTERS PAY PRINCIPLE-PPP)
เงินก้อนแรกจากงบประมาณปี 2535 จำนวน 500 ล้านบาท ได้รับอนุมัติให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตและเดือนมีนาคม
2535 อานันท์ ปันยารชุนได้อนุมัติให้โอนเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน
4500 ล้านบาท เข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม โดยผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ
แต่ในระหว่างนั้นยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่
เงินจำนวนดังกล่าวจึงยังไม่ตกมาถึงกองทุน และเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่
นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะเป็นผู้อนุมัติการโอนเงินจำนวนดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนเงิน 500 ล้านบาทแรกที่ได้รับจากงบประมาณปี 2535 ก็ยังคงมิได้ถูกนำไปใช้
เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมายังไม่ได้มีการกำหนดระเบียบการใช้เงินในรายละเอียดแต่อย่างใด
แม้ว่าขณะนี้กฎหมายฉบับใหม่จะบังคับใช้แล้วก็ตาม การจัดระเบียบในเรื่องกองทุนสิ่งแวดล้อม
ยังคงอยู่ในระหว่างการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ โดยวางแนวคิดไว้ว่าในหน่วยงานรัฐ
รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน สามารถกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการจัดหาหรือลงทุนงานด้านบำบัดอากาศเสีย
น้ำเสียและกำจัดของเสียอื่นๆ
แหล่งข่าวในวงการสิ่งแวดล้อมกล่าวถึงที่มาของกองทุนสิ่งแวดล้อมว่า มีแนวคิดในการที่จะให้รัฐและเอกชนกู้ยืมหรือเป็นเงินช่วยเปล่าสำหรับต้นทุนคงที่ที่ต้องลงทุนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
โดยกลุ่มเป้าหมายภาคเอกชนแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือเอกชนรายย่อยที่ต้องการลงทุนสร้างระบบบำบัดเอง
อีกกลุ่มคือโรงงานอุตสาหกรรมที่รวมกลุ่มกันและจ้างบริษัทเอกชนมาทำการบำบัดของเสีย
ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินมาก
ถ้าให้บริษัทดังกล่าว กู้เงินจากแหล่งเงินกู้ทั่วไปเพื่อใช้ในการลงทุนอาจจะไม่ค่อยคุ้มทุน
แต่ถ้ากู้จากกองทุนซึ่งจะกำหนดอัตราดอกเบี้ย ที่ต่ำอาจจะเป็นแรงจูงใจให้บริษัทรับจ้างกำจัดมลพิษมีแรงจูงใจในการลงทุนมากขึ้น
ในด้านการบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อมจะมีคณะกรรมการกองทุนโดยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
เป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่ในการพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้ในกิจการต่าง
ๆ
ช่วงสองสามเดือนนี้เป็นระยะที่คณะกรรมการกองทุนต้องกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขระเบียบและวิธีการขอจัดสรรหรือขอกู้ยืมเงินกองทุน
และต้องกำหนดรายละเอียดถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ย การกำหนดสัดส่วนเงินให้กู้ระหว่างหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลาง-ท้องถิ่น
และหน่วยงานเอกชนรวมถึงเงินบางส่วนที่กองทุนอาจจะจัดสรรให้กับเอ็นจีโอที่จดทะเบียนกับสำนักงานนโยบายฯ
เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือส่งเสริมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
ส่วนในด้านการปฏิบัติงานจัดการกองทุนนั้นทางสำนักงานนโยบายฯ ได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลให้แนวคิดดังกล่าวเป็นจริง
คือสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม องค์กรรัฐและเอกชน ที่มีความประสงค์ในการกู้เงินจากกองทุนจะต้องส่งโครงการมายังสำนักงานกองทุนแห่งนี้
ทางสำนักงานกองทุนจะพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและประสานงานเพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการทั้งด้านการลงทุนและวิชาการ
และเสนอให้คณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมในการพิจารณาต่อไป
กองทุนสิ่งแวดล้อมนับได้ว่าเป็นแรงจูงใจระดับหนึ่งเพื่อสนับสนุนให้เอกชนสนใจที่จะมากู้เพื่อการจัดการของเสียจากอุตสาหกรรม
แต่ปัญหาที่หลายฝ่ายติงไว้ก็คือ วิธีการบริหารกองทุนที่ตั้งขึ้นจากหลักการที่สวยหรู
แต่ในทางปฏิบัติทำให้การกู้ยืมติดขัดและยุ่งยากตามแบบระบบราชการไทยที่เอกชนอาจจะทนไม่ได้และเบื่อหน่ายไปเสียก่อน
ขณะเดียวกันจำนวนเม็ดเงินของกองทุนสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ มิใช่พูดกันแต่เพียงว่าการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข
และทางรัฐก็ได้ตั้งกองทุน เพื่อการนี้แล้วแต่ว่ากองทุนมีเงินเพียงไม่กี่ร้อยล้านในการให้กู้ยืมเท่านั้น
ในเรื่องเม็ดเงินที่จะมาสู่กองทุนจะมากหรือน้อยขึ้นกับนายกรัฐมนตรีในแต่ละยุคสมัยที่จะให้ความสำคัญในประเด็นสิ่งแวดล้อมหรือไม่
เพราะเงินก้อนใหญ่จำนวนหนึ่งของกองทุนมาจากการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจในการอนุมัติโอนเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ระหว่างนี้อุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็กที่มีโครงการเกี่ยวกับการสร้างระบบกำจัดมลพิษคงจะต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
และต้องอดใจรอไปอีกซักระยะหนึ่งเพื่อให้ระบบต่าง ๆ เข้ารูปเข้ารอย
การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งของกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่
โดยจังหวัดจะมีหน้าที่ในการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ตามความรุนแรงของปัญหาในจังหวัดนั้น ๆ เช่นการจัดการ คุณภาพอากาศ น้ำ การควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
การประสานงานในเรื่องแผนการปฏิบัติการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมระดับท้องถิ่นกับส่วนกลางจะมีสำนักงานสิ่งแวดล้อม
4 ภาค คือภาคตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคเหนือ เป็นหน่วยงานเชื่อมประสาน
หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมจากส่วนกลางในการเข้าไปใกล้ชิดกับปัญหาระดับภาคนั่นเอง
ในส่วนการควบคุมมลพิษแต่เดิมมาสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป
เช่น มาตรฐานคุณภาพน้ำในแม่น้ำลำคลอง คุณภาพน้ำบาดาล คุณภาพอากาศ เป็นต้น
กฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้กรมควบคุมมลพิษ มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด
โดยเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษแหล่งกำเนิดโดยเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษที่มีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
เป็นประธาน และเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาต ิ เพื่อเป็นประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ในการบังคับใช้ต่อไป นอกเหนือจากการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมมาโดยทั่วไป
มาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ผ่านมามีกฎหมายและหน่วยงานดูแลอยู่เช่นการปล่อยน้ำเสีย
หรืออากาศเสียของโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้กำหนดมาตรฐานอยู่แล้วภายใต้พระราชบัญญัติโรงงาน
พ.ศ. 2512
หลายครั้งได้เกิดปัญหาขึ้นคือจะยึดมาตรฐานการควบคุมมลพิษของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือว่ามาตรฐานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่เสนอโดย
สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่าถ้าหากมาตรฐานเดิมที่กำหนดไว้ต่ำกว่า
มาตรฐานที่เสนอโดยกรมควบคุมมลพิษให้หน่วยงานที่ดูแลอยู่แก้ไขมาตรฐานนั้น
ตามมาตรฐานใหม่แต่ถ้ามาตรฐานเดิมสูงกว่าก็ให้ยึดมาตรฐานเดิม
ขณะเดียวกันกรมควบคุมมลพิษก็จะต้องกำหนดมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ไม่มีหน่วยงานใด
ๆ ดูแลอยู่ด้วย
นิศากร โฆสิตรัตน์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำกรมควบคุมมลพิษยกตัวอย่างในประเด็นนี้ว่า
"มีคนพูดกันมากเรื่องน้ำเสียจากสนามกอล์ฟที่ก่อให้เกิดปัญหาสนามกอล์ฟไม่ต้องผ่านการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกกันว่า
EIA กฎหมายใหม่เราจะควบคุมน้ำทิ้งจากสนามกอล์ฟได้"
แต่อย่างไรก็ตามในการออกมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิด นอกจากจะพิจารณาหลักวิชาการด้านวิชาการสิ่งแวดล้อมแล้ว
ความเหมาะสมในการออกมาตรฐานที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติของธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมต่าง
ๆ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน
กรมควบคุมมลพิษได้นำแนวคิด PRIVATE CONTROLS PRIVATE มาใช้ในการควบคุมระบบกำจัดมลพิษของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่างๆ
คือแทนที่จะไปตรวจระบบที่ควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมตามโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรงซึ่งเป็นงานที่ซ้ำซ้อนกับทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ทางกรมจะควบคุมบริษัทที่รับกำจัดของเสียของโรงงาน หรือธุรกิจแห่งนั้นแทนโดยกำหนดให้บุคคล
หรือนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่ทางกรมกำหนดมาจดทะเบียนขออนุญาตทำการขจัดมลพิษ
และถ้าหากมีการทำผิดกฎระเบียบในเรื่องการปล่อยของเสียไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางกรมจะถอนทะเบียนอนุญาตของบริษัทนั้น
ๆ
"การไปควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม หรือธุรกิจหรือหน่วยงานที่ต้องมีระบบบำบัดของเสีย
ก็เหมือนโปลิศจับขโมยเมื่อเราไปควบคุมก็มีคนอยากหนีเราจึงใช้วิธีควบคุมโดยบุคคลที่สาม
(THIRD PARTY) เหมือนกับการสร้างอาคารอนุญาตให้ทำไปก่อนได้แต่ต้องมีบริษัทสถาปนิกมาการันตี
ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นจะต้องถูกถอนใบอนุญาต" ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำให้ความเห็นถึงวิธีการควบคุมมลพิษอีกวิธีหนึ่ง
สำหรับการกำหนดอัตราค่าบริการขอองระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบบำบัดน้ำเสียรวมของแต่ละชุมชนที่รัฐเป็นผู้สร้างตามหลักการ
PPP ทางกรมควบคุมมลพิษจะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าบริการเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษ
และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
การกำหนดเช่นนี้ เพื่อจะได้ไม่ทำให้นักการเมือง ที่ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งมาทำหน้าที่ฝ่ายบริหารลำบากใจในการเก็บอัตราค่าบริการกำจัดของเสีย
เพราะเกรงว่าจะเสียคะแนนนิยมจากประชาชน
สำหรับกรมส่งแสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่ในแง่ของการประชาสัมพันธ์รณรงค์
ในเรื่องสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการประสานงานกับหน่วยงานรัฐและเอกชน
การประกาศใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ที่เพิ่มอำนาจหน้าที่และเพิ่มหน่วยงานที่รับผิดชอบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นนิมิตรหมายอันดี
ข้อจำกัดในการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (วล.) ในอดีต
ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่นักทำได้แต่เพียงการเสนอแนะแนวทางเท่านั้น
จนกระทั่งใครต่อใครพากันกล่าวว่า วล. เป็นเพียงเสือกระดาษ
ปัจจุบันประชาชน เริ่มตระหนักถึงคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีกันมากขึ้น ขณะเดียวกันช่องว่างและข้อจำกัดของหน่วยงานรัฐเริ่มถูกปรับปรุงแก้ไขภายใต้กรอบการควบคุมดูแลอันใหม่ที่เข้มข้นขึ้น
มีบทบาทและอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม
บทบาทที่มีอยู่น้อยมากในระยะที่ผ่านมาของ วล. กับบทบาท ณ วันนี้ที่ทั้งสามหน่วยงาน
กำลังตื่นตัวกับความรับผิดชอบใหม่คงจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการพิสูจน์ศักยภาพขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐในเมืองไทย