สกัดเงินทุนโลกป่วนคลังตั้งทีมฉุกเฉิน-ธปท.ผ่อนถือดอลล์


ผู้จัดการรายวัน(6 กุมภาพันธ์ 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

คลอดด่วน! คณะกรรมการรับมือกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายป่วนโลก "ฉลองภพ" สั่งลานาทีสุดท้าย กำหนดนโยบายและแผนฯ ดึงแบงก์ชาติ สภาพัฒน์ ก.ล.ต. พาณิชย์ และบีโอไอ เข้าร่วม ด้านแบงก์ชาติออกประกาศมาตรการผ่อนคลายการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ ทั้งขยายเวลาการถือครองเป็นสูงสุด 720 วัน เพิ่มวงเงินบริษัทในไทยไปลงทุนในบริษัทในเครือต่างประเทศเป็น 100 ล้านเหรียญ และเพิ่มวงเงินการถือครองเงินตราต่างประเทศ ขณะที่อดีตบิ๊กคลัง "นิพัทธ-ซุปไก่-แป๋ง" พรึ่บที่ปรึกษา รมต.คลัง

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (5 ม.ค.) นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รักษาการ รมว.คลัง ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและแผนรองรับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ เพื่อดูแลเงินทุนไหลเข้าออกให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศและกระแสเงินทุนโลกในปัจจุบันที่ค่อนข้างผันผวนรุนแรง

ปัจจุบัน หลายประเทศมีความกังวลเรื่องการเคลื่อนย้ายของเงินทุน โดยเฉพาะเงินทุนจากสหรัฐที่ผลตอบแทนต่ำประกอบกับดอลลาร์ยังมีแนวโน้มด้อยค่าลง การไหลบ่าเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียรวมถึงประทศไทยจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือการแข็งค่าของเงินบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2551 เงินบาทไทยเทียบดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ากว่าเพื่อนบ้านหรือแข็งค่าขึ้นแล้ว 2.4%

นางพรรณี กล่าวว่า วานนี้ คณะกรรมการฯได้มีการประชุมนัดแรก เพื่อวางกรอบการทำงานและมีมติให้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ได้แก่ คณะทำงานเพื่อจัดทำแผนระยะปานกลาง 3-5 ปี ซึ่งตนเป็นประธานฯ คาดว่าจะสามารถจัดทำแผนงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 5 เดือน ส่วนอีกชุดเป็นคณะทำงานฉุกเฉินซึ่งมีผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน

สำหรับคณะกรรมการชุดใหญ่ นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และจะมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทุกฝ่ายมีหน้าที่เป็นตัวประสานงาน ดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุน และคงไม่มีปัญหาหากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

ขณะที่นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ปัจจุบันกระแสเงินทุนไหลเข้าออกเร็วและผันผวน จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการของแผนงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องคุยกันเพื่อวางกรอบ และเสนอต่อ รมว.คลัง คนใหม่ การจัดทำแผนดังกล่าว ได้มอบหมายให้ คณะกรรมการฯ ไปดูเรื่องการจัดทำแผนรองรับ กรณีมีเหตุฉุกเฉินในเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนด้วย

ธปท.ผ่อนคลายถือครองเงินนอก

วานนี้ นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.ได้ลงนามในประกาศหนังสือเวียน ลงวันที่ 4 ก.พ. 2551 เรื่องการผ่อนคลายการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติม เพื่อให้ธุรกิจไทยมีความคล่องตัวในการบริหารเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.นี้เป็นต้นไป เป็นการประกาศภายหลังกระทรวงการคลังอนุมัติ

สาระสำคัญของประกาศดังกล่าวได้ให้ผู้ส่งออกขยายระยะเวลาในการรับชำระค่าสินค้าจากคู่ค้าได้ภายใน 360 วัน จากเดิมกำหนดภายใน 120 วัน แต่เมื่อใดที่ได้รับชำระเงินจากคู่ค้าแล้วจะต้องนำเงินตราต่างประเทศดังกล่าวเข้าประเทศทันที อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเข้าประเทศ แล้ว ธปท.ยังผ่อนผันเพิ่มเติมในผู้ส่งออกถือครองเงินดอลลาร์ได้เพิ่มขึ้นอีก จากเดิมที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดให้ฝากเงินไว้ที่ธนาคารพาณิชย์หรือฝากขายภายใน 120วัน นับตั้งแต่มีเงินโอนเข้ามาในประเทศ เพิ่มเป็นภายใน 360 วัน เท่ากับว่า หากนับเวลาที่นานที่สุด ตั้งแต่การส่งออกรองรับชำระเงินค่าสินค้า และการถือครองในประเทศหลังได้เงินตราต่างประเทศ ผู้ส่งออกจะมีเงินตราต่างประเทศในมือได้สูงสุด 720 วัน ซึ่งเท่ากับว่า ธปท.ได้ผ่อนคลายให้ผู้ส่งออกถือเงินดอลลาร์ไว้เป็นเวลาไม่มีกำหนด เพราะตามปกติในการค้าขายคงไม่มีใครถือเงินตราต่างประเทศทั้งหมดไว้ยาวนานกว่า 2 ปี

ในกรณีที่ไม่ใช่การส่งออก ธปท.ยังกำหนดให้บุคคล และกรณีเหล่านี้ สามารถยืดเวลาการรับเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศได้มากขึ้น กว่า 360 วัน แต่จะต้องขอผ่อนผันมายัง ธปท. ประกอบด้วย1.คนไทยที่พักอยู่ในต่างประเทศเป็นการถาวร หรือทำงานในต่างประเทศ 2. ผู้ลงทุนสถาบันที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในต่างประเทศในกรณีนำเงินตราต่างประเทศไทยลงทุนต่อในหลักทรัพย์อื่นในต่างประเทศ 3.การรับชำระเงินจากบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ 4. การรับชำระเงินจากบัญชีเงินบาทของบุคคลในประเทศเวียดนาม และประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย 5.เงินตราต่างประเทศมีมีมูลค่าต่ำกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐฯ 6.กรณีที่รับชำระเงินจากต่างประเทศ แล้วนำเงินนั้นไปชำระให้แก้บุคคลในต่างประเทศ รวมถึงการชำระเงินแทนธุรกิจในเครือ 6 กรณีที่มีเครดิตการค้าในการรับชำระเงินเกิน 360 โดยมีเหตุผลที่รับฟังได้

หนังสือเวียนฉบับนี้ยังขยายขอบเขตการลงทุนและให้กู้ยืมแก่กิจการในเครือในต่างประเทศ โดยอนุญาตให้บริษัทแม่ในไทยลงทุน หรือให้กู้ยืมกับบริษัทในเครือในต่างประเทศ ได้รวมกันไม่เกิน 100 ล้านเหรียญฯ ต่อปี จากเดิม ไม่เกิน 10 ล้านเหรียญ และอนุญาตให้บริษัทในประเทศไทยให้กู้ยืม หรือลงทุนในบริษัทแม่ในต่างประเทศ หรือบริษัทในเครือของบริษัทแม่ได้รวมกันไม่เกิน 100 ล้านเหรียญฯ และในกรณีที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีงบการเงินเป็นบวก สามารถให้กู้หรือลงทุนในต่างประเทศ ในกรณีที่เป็นบริษัทแม่ได้ไม่จำกัดจำนวนและ ไม่เกิน 100 ล้านเหรียญฯ ในกรณีที่เป็นบริษัทลูก นอกจากนั้น ในกรณีที่บุคคลประสงค์จะโอนเงินออกไปซื้อสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ในโอนออกไปได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ธปท.ในวงเงิน 5 ล้านเหรียญ จากเดิมที่ให้อนุญาตไม่เกิน 1 ล้านเหรียญ

นอกจากนี้ ได้เพิ่มวงเงินที่บุคคลในประเทศสามารถซื้อ แลกเปลี่ยน และกู้ยืมเงินจากต่างประเทศจากนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาต และฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ ได้มากขึ้น โดยกรณีที่มีภาระผูกพัน ให้ฝากเงินได้ไม่เกินภาระผูกพัน และมียอดคงค้างในบัญชีไม่เกิน 1 ล้านเหรียญ กรณีบุคคลธรรมดาจากเดิม 500,000 เหรียญและไม่เกิน 100 ล้านเหรียญสำหรับนิติบุคคล จากเดิมมียอดคงค้างได้ไม่เกิน10 ล้านเหรียญ หรือไม่เกินยอดภาระผูกพันการจ่ายเงินตราต่างประเทศที่มีภายในเวลา12 เดือน ส่วนกรณีที่ไม่มีภาระผูกพัน ให้มียอดรวมเงินตราต่างประเทศทุกสกุล ไม่เกิน 100,000 เหรียญ จากเดิม 20,000 เหรียญสำหรับกรณีบุคคลธรรมดา และไม่เกิน 300,000 เหรียญ จาก 100,000 เหรียญ กรณีนิติบุคคล

แหล่งข่าวสายตลาดการเงิน ธปท.ระบุว่า การประกาศผ่อนคลายการถือครองเงินตราต่างประเทศดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นแพ็คเกจการผ่อนคลายการถือครองเงินตราต่างประเทศ และการผลักดันให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในต่างประเทศที่ ธปท.เสนอกระทรวงการคลังไปแล้ว เมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการผ่อนคลายมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติมที่ออกไปเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมาด้วย แต่กรณีนี้กระทรวงการคลังเพิ่งจะอนุมัติ และออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง เมื่อ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ธปท.จึงได้นำออกประกาศเป็นหนังสือเวียนอย่างเป็นทางการในช่วงนี้

ทีมขุนคลังเลี๊ยบคึกบุกป่วนคลัง

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า วานนี้ คณะทำงานและที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่ เดินทางไปดูสถานที่และจับจองห้องทำงาน ประกอบด้วย นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตข้าราชการกระทรวงการคลัง นายไชยยง รัตนอังกูร ผู้อำนวยการ ทีซีดีซี นอกจากนี้ นายนิพัทธเริ่มขอข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อใช้ประกอบการทำงานตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว นายนิพัทธเป็นลูกหม้อที่มีความเชี่ยวชาญการเงินและการคลัง โดยเฉพาะเศรษฐกิจมหภาคในเวทีสากล อย่างไรก็ตาม ประวัติการทำงานไม่ราบรื่นนัก เคยถูกกล่าวหาพัวพันโครงการที่ราชพัสดุหรือหมอชิต

ส่วนที่ปรึกษาของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มีการทาบทามนายศุภชัย พิสิฐวานิช และนายสมใจนึก เองตะกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.