"ไพโรจน์ รัตตกุล 'ปรับตัว' รับคู่ท้าชิง"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

หากเอ่ยถึง "คู่กัด" ในสมาคมธุรกิจแล้ว คู่กัดที่เป็นมหาอมตะนิรันตร์กาลคู่หนึ่งน่าจะได้แก่คู่ของโค้กกับเป๊ปซี่ที่ทุกแห่งในโลก ทั้งค่ายโคคาโคล่า และค่ายเป๊ปซี่-โคล่าต่างก็งัดกลยุทธ์ทางการตลาดมาต่อกรกันอย่างดุเดือด

สำหรับเมืองไทยนั้นคู่กัดระหว่างค่ายน้ำดำทั้งสอง ก็ดุเดือดไม่แพ้ที่ไหนในโลก ในการเผชิญหน้ากัน ระหว่างค่าย "ไทยน้ำทิพย์" ในฐานะตัวแทนจำหน่ายโค้กกับ "เสริมสุข" ตัวแทนจำหน่ายเป๊ปซี่ในไทย

สงครามค่ายทั้งสองมีทั้งการดึงศิลปิน นักกีฬามาเผชิญหน้ากันในฐานะ PRESENTER ของแต่ละค่าย

แต่ในตลาดน้ำดำนั้น มีพื้นที่หนึ่งที่ต่างจากพื้นที่อื่นนั่นคือภาคใต้ !!

เพราะบังเอิญตัวแทนน้ำดำของโคคา-โคล่า อินเตอร์เนชั่นแนลในภาคใต้นั้นได้แก่ "หาดทิพย์" ไม่ใช่ "ไทยน้ำทิพย์" อย่างภาคอื่น ๆ

ตำนานของหาดทิพย์นั้นเริ่มจากการเข้าไปเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำดื่มของค่ายโคคา-โคล่าแห่งสหรัฐอเมริกาของหลวงศุภชลาศรัยในนามบริษัท "นครทิพย์" แต่จากการที่มีปัญหาบางประการ กลุ่มผู้ถือหุ้นปัจจุบันจึงได้มีการรวบรวมทุนตั้งเป็นบริษัท "ไทยธนา" เข้าไปบริหารในปี 2517 และซื้อกิจการของนครทิพย์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท "หาดทิพย์" ขึ้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2521 จนกระทั่งปัจจุบัน และเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นบริษัทภูมิภาคบริษัทต้น ๆ

หาดทิพย์เปลี่ยนผู้บริหารมาหลายคนจนปัจจุบันผู้บริหารสูงสุดคือ ร.ต. ไพโรจน์ รัตตกุล น้องชายพิชัย รัตตกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมผู้จัดการ

ร.ต. ไพโรจน์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าตลาดของน้ำดื่มในภาคใต้นั้น เป็นตลาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ เพราะภาคใต้ มีประชากรเพียงแค่ 6 ล้านคนโดยประมาณ ในขณะที่ภาคอีสาน มีประชากรนับสิบล้าน จึงเป็นตลาดที่ใหญ่มาก

การทำตลาดของหาดทิพย์ ในฐานะที่เป็นตัวแทนที่แปลกแยกของโคคา-โคล่าอินเตอร์ จึงไม่ได้เป็นเช่นเดียวกับไทยน้ำทิพย์ รายการพรีเมียมต่าง ๆ ของไทยน้ำทิพย์มีข้อผูกมัดตามสัญญากับโคคา-โคล่าอินเตอร์เนชั่นแนลตั้งหาดทิพย์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มของบริษัทยกเว้นการนำเข้าของหาดทิพย์ เช่นกรณีโค้กแคน ที่หาดทิพย์ไม่มีการผลิตเองเพราะตลาดแคบเกินที่จะลงทุนในสินค้าตัวดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้จะไม่ได้รับสิทธิ์สำหรับดื่มแต่ค่ายหาดทิพย์ ได้รับประโยชน์ในเรื่องการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาของไทยน้ำทิพย์เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เครือข่ายของทีวีแต่ละช่องครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น

ตลาดเล็ก ๆ แห่งนี้ในสายตาของเสริมสุขเอเย่นต์ค่ายเป๊ปซี่ไม่ใช่ตลาดเล็กอีกต่อไปแล้ว !!

วันนี้ เสริมสุขจึงเตรียมบุกตลาดภาคใต้ครั้งใหญ่

สำหรับที่ผ่าน ๆ มานั้นไม่ว่าจะด้วยการมองตรงกับไพโรจน์ ที่ว่าตลาดภาคใต้เป็นตลาดที่เล็กหรือไม่ก็ตาม แต่ตลาดนี้ นับเป็นจุดบอดมาโดยตลอดของเสริมสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายการเป็นแขนขาในการกระจายสินค้า เพราะตลาดที่มีผู้ดื่มเพียง 6 ล้านคนนั้น เสริมสุขเองก็รู้ว่าไม่คุ้มที่จะลงทุนตั้งโรงงานอย่างหาดทิพย์ที่มีโรงงานอยู่ที่หาดใหญ่

ปัญหาของเสริมสุขมีเพียงว่า จะหาใครที่มีเครือข่าย และแขนขาไม่ด้อยกว่าเครือข่ายของหาดทิพย์ ที่ตั้งหลักปักฐานในภาคใต้มานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำโฆษณาที่ว่าหาดทิพย์เป็นบริษัทของคนใต้สร้างความสำเร็จให้กับหาดทิพย์มานาน กระทั่งกล่าวกันว่าภาคใต้เป็นภาคเดียว ที่น้ำดื่มโค้กขายสูงกว่าเป๊ปซี่

มองไปมองมา เสริมสุขก็ตกลงใจเลือกบ้านซูซูกิ ว่าเหมาะสมที่จะเป็นเอเย่นต์ของตนใน 14 จังหวัดภาคใต้

"บ้านซูซูกิ" ของตระกูล "ลาภาโรจน์กิจ" ที่มีบุญเลิศ ลาภาโรจน์กิจ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา 2 สมัยเป็นหัวเรือใหญ่ในภาคใต้นั้น ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร เพราะในฐานะตัวแทนจักรยานยนต์ "ซูซูกิ" ใน 14 จังหวัดภาคใต้ (จนกระทั่งนำมาใช้เป็นชื่อบริษัท) นั้น แขนขาเครือข่ายที่มีดีลเลอร์เกือบ 100 แห่งที่กำลังขยายฐานออกไปเป็นดีลเลอร์สินค้าอื่น เช่นรถยนต์โตโยต้าคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม เครื่องไฟฟ้าซันโย วิทยุติดตามตัวฮัทชิสันทำให้บ้านซูซูกิในวันนี้เริ่มมั่นใจศักยภาพของตัวเองมากขึ้น ว่าจะสามารถทำตลาดได้ในการรับเป็นตัวแทนเป๊ปซี่ได้

อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเป๊ปซี่อินเตอร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าการทาบทามเพื่อตั้งกลุ่มบ้านซูซูกิ ให้เป็นเอเย่นต์นั้นมีการเตรียมมานานแล้วแต่รายละเอียดคงต้องให้ทางบ้านซูซูกิเป็นผู้เปิดเผย

แหล่งข่าวในบ้านซูซูกิกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าการตั้งบริษัทเอเย่นต์ของเสริมสุขในครั้งนี้ ไม่สร้างความหนักใจกับบริษัทนัก และเชื่อว่าบริษัทที่จะให้ สุปัญญา ลาภาโรจน์กิจน้องชายของบุญเลิศเป็นผู้ดูแลงานนี้คงจะทำตลาดได้

เมื่อเสริมสุขรุก มีหรือที่หาดทิพย์จะรับเพียงฝ่ายเดียว !!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนชื่อไพโรจน์ รัตตกุล บิ๊กบอสส์ใหญ่ของหาดทิพย์เองไม่มีทางที่จะเป็นฝ่ายตั้งรับให้คนอื่นมาบุกถึงถิ่น

หลายคนจึงค่อนข้างแปลกใจที่เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ไพโรจน์ตอบรับปากที่รับตำแหน่งประธานสมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ที่เจ้าตัวปฏิเสธมาหลายครั้งแล้วโดยอ้างว่าตนต้องการที่จะอยู่ "หลังฉาก" มากกว่าที่จะออกมา "หน้าฉาก"

"ผมยินดีที่จะรับตำแหน่งเพราะไม่สามารถที่จะปฏิเสธการขอจากผู้ใหญ่ได้โดยเฉพาะผู้ใหญ่จากกองทัพ ที่ต้องการเห็นการท่องเที่ยวหาดใหญ่ฟื้นจากสภาพตกต่ำ" ไพโรจน์กล่าววันรับตำแหน่ง

สำหรับการตั้งสมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดสงขลานี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ 6 องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดสงขลา คือ หอการค้าจังหวัดสงขลา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา สมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดสงขลา ชมรมภัตตาคารและร้าน อาหารหาดใหญ่ และชมรมผู้ค้าปลีกหาดใหญ่ ร่วมกับหน่วยงานราชการคือ กองทัพภาค 4 (ค่ายคอหงส์-หาดใหญ่) สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และอำเภอหาดใหญ่เมื่อปลายปีก่อน และลงมติที่จะให้ไพโรจน์รับตำแหน่งเพราะเชื่อมั่นใน "พลัง" ที่เขามีกับ "ผู้ใหญ่"

นักธุรกิจในหาดใหญ่คนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าการรับตำแหน่งของไพโรจน์ครั้งนี้ก็เพื่อหาดทิพย์ กล่าวคือถึงเวลาแล้วที่กรรมการผู้จัดการหาดทิพย์จะต้องออกโรงมาอุทิศตนเพื่อสังคมบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมที่โรงงานตั้งอยู่อย่างสงขลา

จะว่าไปแล้ว ไพโรจน์ไม่ใช่คนที่ไม่เคยทำอะไรเพื่อสังคมเพราะอย่างน้อยตำแหน่งนายกสมาคมมวยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในสมัยกีฬาโอลิมปิคที่สหรัฐอเมริกานั้น ไพโรจน์เคยทำให้ไทยได้รับเหรียญเงินกีฬาโอลิมปิคมาแล้ว

แต่คราวนั้นความคิดของนักธุรกิจหาดใหญ่มองว่าไพโรจน์ ยังไม่ได้ทำเพื่อหาดใหญ่ตรงกันข้าม คราวนี้เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุดเพราะหาดใหญ่กำลังวิกฤติจริง ๆ อันเนื่องมาจากสถานการณ์การท่องเที่ยวตกต่ำเพราะหลายปัจจัย

การขอให้ไพโรจน์รับตำแหน่งประธานสมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา จึงทำให้ไพโรจน์ต้องคิดหนักและในครั้งแรกเจ้าตัวเองต้องปฏิเสธ เนื่องจากยังไม่ต้องการที่จะทุ่มเวลาให้กับงานสังคม เพราะเป็นที่รู้กันว่าท่องเที่ยวหาดใหญ่นั้นเป็นทุกลมหายใจของเศรษฐกิจทีเดียว

แต่ถึงวันนี้ไพโรจน์ต้องยอมรับตำแหน่งแล้ว

ด้วยเหตุผลอรรถาธิบายได้สั้น ๆ ว่า "ธุรกิจ" อันเนื่องมาจากการรุกตลาดของเสริมสุขที่ตั้งกลุ่มบ้านซูซูกิเป็นเอเย่นต์มาแข่งขันนั่นเอง

หมากนี้ของไพโรจน์ จึงไม่ใช่หมากธรรมดาเพราะเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

และยังไม่รู้ว่าการลงทุน "เปลืองตัว" ของไพโรจน์ครั้งนี้จะคุ้มหรือไม่เพราะตอนนี้ เขากำลังจะเสียมิตรทางธุรกิจไปกลุ่มหนึ่งแล้ว นั่นคือกลุ่มแม่บ้านซูซูกิ ด้วยการที่หอการค้าจังหวัดสงขลา ซึ่งรู้ ๆ กันว่าเป็นทีมงานของบ้านซูซูกิเกือบทั้งสิ้นได้ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับสมาพันธ์ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยเหตุผลว่า หอการค้าฯ เป็นองค์กรนิติบุคคล ไม่สามารถร่วมงานกับองค์กรที่ไม่ใช่นิติบุคคลได้

หากแต่ลึก ๆ รู้กันว่าบ้านซูซูกิ "เปิดศึก" กับ "หาดทิพย์" แล้ว

เลยต้องรอลุ้นกันว่างานนี้ใครจะชนะ "ศึกน้ำดำ" ระหว่างบ้านซูซูกิกับหาดทิพย์ หรือระหว่างหอการค้าจังหวัดสงขลากับสมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดสงขลาที่เพิ่งตั้งและมีไพโรจน์ เป็นหัวเรือหลัก

และบางทีหมากที่ไม่ธรรมดานี้ ไพโรจน์จะเปลืองตัวฟรีก็เป็นได้ !!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.