|
ไฟเขียวบรอดแบนด์ TOT 4.7 พัน ล.
ผู้จัดการรายวัน( 543)
กลับสู่หน้าหลัก
บอร์ดสภาพัฒน์อนุมัติทีโอที "พัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ต" วงเงิน 4.7 พันล้าน แผนลงทุน 4 ปี หวังทดแทนแผนการขยายเครือข่ายเดิม รองรับความต้องการ กำหนดให้ทีโอทีปรับปรุงยุทธศาสตร์การตลาด พัฒนาคุณภาพบริการในเชิงรุก พร้อมเห็นชอบยกเลิกเปิดพื้นที่อนุรักษ์ทำเหมืองแร่
วานนี้ (4 ก.พ.) นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ สศช.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบวงเงินลงทุน 4,765 ล้านบาท ในแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการขยายโครงสร้างบรอดแบนด์ไอพี อินเทอร์เน็ต ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ตามที่กระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอแผนการลงทุน 4 ปี (2550-2554)
ทั้งนี้ เป็นการทดแทนแผนการขยายเครือข่ายเดิม เพื่อให้มีการขยายความต้องการจากเครือข่ายมากขึ้นโดยทีโอทีจะต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์การตลาด การพัฒนาคุณภาพการบริการในเชิงรุก ลักษณะของมืออาชีพ เป็นต้น
แผนการลงทุนดังกล่าวจะเป็นการขยายโครงสร้างของทีโอที ที่พบว่าปี 2550 มีค่าการตลาดที่ 34% และขยายตัวจากโครงสร้างอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ จาก 5 แสนหน่วย เป็น 1.342 ล้านหน่วย รวมทั้งจะสามารถเพิ่มจาก 32 บิต เป็น128 บิตด้วย
ก่อนหน้านี้ สภาพัฒน์คาดว่า การลงทุนในประเทศจะฟื้นตัวในปี 2551 โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่กำหนดวงเงินเกือบ 3 แสนล้านบาท โดยโครงการลงทุนใหม่ๆ นอกจาก การบินไทย (THAI) มีการจัดหาเครื่องบิน A330-300 จำนวน 8 ลำ วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 19,156 ล้านบาท แล้ว ทีโอที 14,619 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ในโครงการขยายเครือข่ายบรอดแบนด์ไอพี 4,765 ล้านบาท นี้ด้วย
ยกเลิกเปิดพื้นที่อนุรักษ์ทำเหมืองแร่
นายอำพนกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนการทำเมืองแร่ทองคำ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ สศช. ดำเนินการศึกษาและเสนอแนะนโยบายในการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำใน 3 มติ ประกอบด้วย มติที่ 1 ทบทวนผลประโยชน์ตอบแทน ในการออกอาชญาบัตรสำรวจแหล่งแร่ทองคำ และการให้สัมปทาน โดยเฉพาะอัตราการเก็บผลประโยชน์ในการสัมปทานขณะนี้ไม่ต่ำกว่าประเทศในระดับสากล ในอัตราก้าวหน้าที่เป็นตัวเลขของธนาคารโลก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 สูงสุดระหว่าง 2.5%-20% ของรายได้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วไทยถือว่าอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียง โดยขยับตามอัตราของทองคำในระดับปานกลาง ซึ่งจะสร้างรายได้ให้ประเทศ 300 ล้านบาทต่อปี
มติที่ 2 มิติด้านสังคม ชุมชน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมเห็นว่า ควรยกเลิกการทำสัมปทานการสำรวจในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 (ระดับ 1A หรือพื้นที่อนุรักษ์) เพราะหากสำรวจแล้วพบว่า หากเป็นพื้นที่ 1A ก็จะต้องไปขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็จะทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะเปิดการทำสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ 1A นอกจากนั้นยังเห็นควรให้ความสำคัญการฟื้นฟูแหล่งแร่หลังการดำเนินการ เพราะค่าการฟื้นฟูอาจจะได้ผลประโยชน์มากกว่าการสัมปทาน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะรับไปศึกษารายละเอียดในการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนให้คุ้มค่า โดยคิดถึงผลกระทบโดยฟื้นฟูแหล่งแร่ให้กลับมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะการหารือกับชุมชนก่อนออกสัมปทานตามรัฐธรรมนูญปี 2550
และมติที่ 3 ผลประโยชน์ตอบแทนต่อรัฐที่เหมาะสมคุ้มค่าต่อการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมเห็นควรให้ดำเนินการเพิ่มมูลค่าเพิ่มในการทำเหมืองแร่ในประเทศ มากกว่าการส่งออกแร่ดิบ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องไปพิจารณาในการทำอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการทำเหมืองแร่ให้อยู่ในประเทศมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|