"คุณธีระเคยทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ส่วนธุรกิจค้ารถเก่าหรือเต๊นท์รถ
ไม่แน่ใจว่าเคยทำหรือเปล่า แต่ตอนเขามาดึงเราไปร่วมธุรกิจตอนนั้นเขานำเข้ารถจากต่างประเทศมาขายแล้ว
แต่หุ้นส่วนเก่าของเขาถอนออกไปเราก็ไม่รู้ว่าถอนไปเพราะอะไรแต่ด้วยความเป็นเพื่อนที่เคยคบกันมา
คุณรังสิตจึงตัดสินใจเข้าไปร่วมด้วย" ผู้ใกล้ชิด รังสิต กุนธร กล่าว
รังสิต กุนธร เป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้าร่วมธุรกิจกับ ธีระ สกุลรัตนะ ในช่วงการก่อตั้งบริษัท
มอเตอร์เวย์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับบริการให้กับรถยนต์วอลโว่ ที่จำหน่ายผ่านบริษัท
มอเตอร์เวย์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งธีระถือหุ้นใหญ่
ในส่วนของมอเตอร์เวย์เซอร์วิสนั้น รังสิตเป็นผู้ลงทุนเกือบทั้งหมด และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
แต่เมื่อบริษัทด้านการตลาดไม่สามารถจำหน่ายรถยนต์วอลโว่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้งานด้านบริการจึงไม่สามารถดำเนินต่อไปได้
เพราะไม่คุ้ม
สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะผิดกับเงื่อนไขที่มีการตกลงกัน ระหว่างธีระกับรังสิต
ที่ฝันไปไกลถึงขนาดจะให้งานบริการส่วนนี้ ขยายออกไปถึงขั้นรับบริการรถนำเข้าจากต่างประเทศ
ที่ทำการนำเข้าจากผู้นำเข้าอิสระรายย่อยอื่นๆ เลยทีเดียว
ด้วยความเป็นเพื่อนที่ไว้เนื้อเชื่อใจ รังสิตต้องใช้เงินลงทุนกว่า 100
ล้านบาท กับการร่วมทุนในครั้งนั้น
แต่ชั่วเวลาไม่นาน รังสิตก็ต้องถอนตัว เมื่อรู้ว่าการเข้าลงทุนครั้งนั้น
ตนเองไม่ได้มีส่วนร่วมในการเข้าไปทำธุรกิจค้ารถวอลโว่แม้แต่น้อย จะมีแต่งานบริการเท่านั้น
ซึ่งรู้กันอยู่ว่า งานบริการกับงานขายนั้นกำไรต่างกันลิบลับ
คนใกล้ชิดของรังสิตกล่าวว่า ทางรังสิตไม่พอใจธีระมาก และอาจถึงขั้นฟ้องร้อง
เพราะมีความรู้สึกเหมือนถูกหลอกที่แผนการณ์ที่วางไว้ไม่เป็นจริง
มิหนำซ้ำเมื่อธีระได้โปรเจกต์ใหญ่กลับไม่ให้รังสิตเข้าร่วมถือหุ้นในโครงการนั้นด้วย
"พอคุณธีระมีแนวโน้มที่จะได้รับสิทธิ์นำเข้าสโกด้ามาจำหน่ายในเมืองไทย
ซึ่งก็รู้กันว่าถ้าได้สิทธิ์จริงน่าจะทำกำไรให้มหาศาล แต่คุณธีระกลับไม่ให้คุณรังสิตเข้าร่วมด้วยมาถึงขั้นนี้แล้ว
แน่ใจเลยว่าโดนทิ้งแล้ว จึงถอนตัวออกมา" ผู้ใกล้ชิดรังสิต กล่าว
วิถีและความปวดร้าวของรังสิต ไม่ต่างไปจากอีกหลายคนที่ได้สัมผัสกับความเป็นนักธุรกิจอย่างธีระ
ธีระเป็นนักธุรกิจอีกผู้หนึ่งในแวดวงธุรกิจยานยนต์ที่ช่วง 3-4 ปีมานี้มีข่าวฮือฮาโดยตลอด
เริ่มแรก เมื่อประกาศท้าชนสวีเดนมอเตอร์ส ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์วอลโว่อย่างเป็นทางการในไทย
ด้วยกลยุทธ์ราคาและความพร้อมรอบด้าน แต่ก็ดูน่ากลัวได้พักเดียว
เมื่อเวลาผ่านไป ความฝันของธีระในฉากนี้ก็ปิดม่านลง
ในระหว่างนั้น ยังมีโครงการอีกหลายอย่างในวงการธุรกิจยานยนต์ ที่ธีระเอื้อมมือเข้ามา
ไม่ว่าจะเป็นการเปิดแผนงานจำหน่ายเครื่องตกแต่งยานยนต์ อุปกรณ์เสริมกำลังเครื่องยนต์และอีกหลายอย่าง
แต่ทุกอย่างดูเหมือนว่า จะเดินทางเข้าสู่จุดหมายเดียวกัน คือ ความเงียบที่มาพร้อมกับความเจ็บปวดของหุ้นส่วน
ในครั้งนั้น ธีระพูดถึงบทบาทของการนำเข้าวอลโว่ในฐานะผู้นำเข้าอิสระรายย่อยว่า
คงจะลดความเข้มข้นลงเนื่องจากจะหันมาเอาดีทางการจำหน่ายสโกด้า รถยนต์นั่งขนาดเล็กจากสาธารณรัฐเชก
"ปีนี้เราคงเน้นที่สโกด้ามากกว่ายี่ห้ออื่น เนื่องจากความสดของโปรดักส์
ราคาที่สู้กับคู่แข่งได้ ส่วนวอลโว่คงไม่เน้นทำตลาดเท่าไร"
แต่ที่รู้ๆ กันอยู่ว่าสถานการณ์ขณะนั้นเป็นอย่างไร เพราะจากผลที่ธีระ ประกาศชนสวีเดนมอเตอร์ส
ทำให้ยักษ์ใหญ่ย่อมต้องลงมาเล่นด้วยเพื่อศักดิ์ศรีและภาพพจน์
ตอนนั้นสวีเดนมอเตอร์ถึงกับประกาศว่า ไม่รับซ่อมหรือให้บริการกับรถยนต์วอลโว่ที่ไม่ได้ซื้อผ่านสวีเดนมอเตอร์สหรือเครือข่าย
หรือแม้ว่าจะมีการรับประกันการบริการในลักษณะทั่วโลก(WORLDWIDE SERVICE)
ก็จะให้บริการถัดจากงานบริการที่ให้กับลูกค้าของตนเอง
การประกาศปิดกั้นรายย่อยที่หาญกล้ามาท้าทายได้ผลชงัดนัก
ครั้งนั้นผู้คนในวงการยานยนต์เมืองไทย วิจารณ์กันว่า ธีระผิดพลาดอย่างไม่อาจจะให้อภัยได้
เพราะเห็นทางแพ้ตั้งแต่ต้นแล้ว และธีระเองก็รู้ซึ้งถึงความผิดพลาดนั้น จึงต้องมาเริ่มใหม่ที่สโกด้า
แผนงานในส่วนของสโกด้ากำลังจะไปได้ดี ธีระได้ผู้ร่วมทุนกลุ่มใหม่ที่ดูมีศักยภาพไม่น้อย
กลุ่มบางกอกเคเบิ้ลตัดสินใจเข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัท บางกอกมอเตอร์เวย์เพื่อทำตลาดรถยนต์สโกด้าแต่แล้วก็ไม่วายมีปัญหา
ธีระดำเนินการแบบไม่ชอบมาพากล และไม่โปร่งใสกับผู้ร่วมทุนรายอื่น มีการจดทะเบียนและร่วมทุนซ้ำซ้อนและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ถ้าการจำหน่ายสโกด้าในไทยไปได้สวย
ผู้ถือหุ้นอื่นมองธีระเป็นอย่างนั้นการแตกหักจึงเกิดขึ้น
ทุกอย่างปรากฏภาพชัดเจนเมื่องานเปิดตัวสโกด้า ในวันที่ 22 มีนาคม 2538 ณ
โรงแรมสยามอินเตอร์ คอนติเนนตัล ที่ฝ่ายธีระเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ต้องกลายเป็นงานเลี้ยงครบรอบ
100 ปีแห่งการผลิตรถยนต์สโกด้าของสาธารณรัฐเชก
ความขัดแย้งของกลุ่มผู้ถือหุ้นในไทย สร้างความสับสนอย่างมาก ติดตามด้วยข่าวการล้อบบี้ทางสโกด้าสาธารณรัฐเชกอีกหลายระลอก
ที่สุดสโกด้า แห่งสาธารณรัฐเชก จึงตัดสินใจชะลอการส่งรถยนต์มาจำหน่ายและก็เนิ่นนานมาถึงเดี๋ยวนี้เกือบจะหนึ่งปีเต็ม
ผลงานของธีระครั้งนี้เป็นผลให้ผู้ถือหุ้นเจ็บตัวไปตามๆ กันอีกเช่นเคย เสียทั้งเวลา
เงินทอง และโอกาสทางธุรกิจ
ความผิดพลาดในเรื่องของการร่วมทุนที่ผ่านมาของธีระ ดูเหมือนว่าจะทำให้นักธุรกิจผู้นี้หมดโอกาส
หรือไม่ ก็มีโอกาสน้อยเต็มทีที่จะดึงแหล่งทุนให้เข้ามาร่วมกันใหม่ได้
แต่ถึงวันนี้ ธีระก็ยังพอมีความหวังกับการทำตลาดสโกด้า เพราะสิทธิ์จำหน่ายสโกด้า
ยังถือว่าอยู่ในมือของบริษัท เอ็มดีที เชคคาร์ ยูเค ที่จดทะเบียนในอังกฤษ
และธีระเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความร้าวฉานกับกลุ่มบางกอกเคเบิ้ล
สิทธิในการจำหน่ายยังอยู่ เพียงแต่ว่าขณะนี้ ยังไม่มีของเข้ามาจำหน่ายเท่านั้น
ในระยะหลัง ธีระเก็บตัวเงียบ และเข้าใจว่า ยังคงดำเนินธุรกิจนำเข้ารถยนต์มาจำหน่าย
แต่ลดความร้อนแรงและความใหญ่โตลงไปมากพร้อมด้วยความฝันที่หวังว่าจะได้กลับมาอีกครั้งกับการเปิดตลาดสโกด้าในไทย
แต่แล้วความฝันของธีระดูจะริบหรี่เต็มที เมื่อสโกด้ากลายเป็นที่หมายตาของผู้ค้ารถยนต์รายใหญ่ของไทยรายหนึ่ง
"เอาอยู่แล้ว รอให้ทางเชกตัดสิทธิ์รายเดิมเสียก่อนหรือรอให้หายเหม็นเสียก่อน"
พิทักษ์พันธุ์ วิเศษภักดี กรรมการบริหารของ ยนตรกิจ อินเตอร์เซลส์ ตัวแทนจำหน่ายเอาดี้
โฟล์กสวาเก้นกล่าว
พิทักษ์พันธุ์กล่างถึงการติดต่อเพื่อเป็นตัวแทนสิทธิ์จำหน่ายสโกด้าว่า
การติดต่อผ่านเข้าทางสโกด้า แห่งสาธารณรัฐเชกนั้น ถือว่าผิดพลาดในเชิงธุรกิจ
เพราะจริงๆ แล้วต้องติดต่อเข้าทางโฟล์กสวาเก้น เอจี แห่งเยอรมัน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสโกด้า
คำกล่าวของพิทักษ์พันธุ์ดูเหมือนว่าจะกระทบถึงการดำเนินงานของธีระ โดยตรง
และแม้ว่าธีระยังนับว่า ถือสิทธิ์สโกด้าอยู่แต่ก็เป็นการถือสิทธิ์ที่ได้รับจากสโกด้า
แห่งสาธารณรัฐเชก ไม่ใช่สิทธิ์จากโฟล์กสวาเก้น เอจี
เรื่องราวของการเป็นผู้จำหน่ายสโกด้า ในส่วนนี้ยุ่งยากขึ้น ก็เนื่องจากว่า
ในช่วงระรหว่างที่ธีระดำเนินการเจรจาและขอสิทธิ์จำหน่ายสโกด้านั้นเป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่โฟล์กสวาเก้น
เอจี ดำเนินการเข้าเทกโอเวอร์ สโกด้าแห่งสาธารณรัฐเชก
และเมื่อสโกด้าตกอยุ่ภายใต้อาณัติของโฟล์กสวาเก้น เอจี แล้ว สิทธิ์ที่ธีระได้รับจึงดูจืดชืดลงทันที
เพราะเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ว่า สายสัมพันธ์ระหว่างโฟล์กสวาเก้น เอจี
กับกลุ่มยนตรกิจนั้นแนบแน่นเพียงใด
เดือนมีนาคมที่จะถึงนี้การประกาศอย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ได้สิทธิ์จำหน่ายสโกด้าอย่างเป็นรูปธรรมจะเกิดขึ้น
และการเปิดตลาดสโกด้าในไทยก็จะสามารถกระทำได้ในเวลาต่อมาไล่เลี่ยกัน
แม้ว่าขณะนี้ยังไม่อาจชี้ชัดว่าจะเป็นใคร แต่เท่าที่รับทราบมา ทางยนตรกิจ
อินเตอร์เซลส์ ได้เตรียมแผนงานเปิดตลาดไว้บ้างแล้ว พร้อมทั้งแจ้งไปยังเหล่าดีลเลอร์ทั้งหลายแล้วว่าทางกลุ่มจะทำการจำหน่ายสโกด้า
ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
สำหรับธีระแล้ว เสียงในฐานะเจ้าของสิทธิ์สโกด้าในไทยเงียบลงทุกขณะ
จากผู้ค้าขายรถยนต์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ได้ก้าวผงาดขึ้นเป็นผู้นำเข้ารถยนต์ที่หาญกล้าท้าชนกับยักษ์ใหญ่
จากผู้นำเข้าอิสระรายย่อย ธีระฝันถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จากต่างประเทศ
อย่างเป็นทางการพร้อมแผนงานรอบด้าน
แต่ด้วยบุคลิกของตนเอง ทำให้การร่วมทุนทุกครั้งมีปัญหาและพบจุดจบแบบ เจ็บช้ำโดยตลอด
หรือว่า ธีระจะเป็นได้เพียง ผู้ค้ารถธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น