|

“ซับไพร์ม”พ่นพิษ เงินฝากประจำพิเศษจุกดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศขาลง-ชิงได้เปรียบฝากยาว
ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 กุมภาพันธ์ 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ไทยแข่งหาเงินฝากเพลิน งัดดอกเบี้ยสูงล่อใจผู้ฝาก ตายใจคิดดอกเบี้ยขาขึ้น เฟดดับฝันลดดอกเบี้ยแรง ส่งผลดอกเบี้ยในประเทศต้องปรับลง นายแบงก์ยอมรับงานนี้เจ็บตัว ค่ายใดเสนอดอกเบี้ยสูง ฝากได้ยาวเจ็บหนัก แนะผู้มีเงินออมฉวยโอกาสล็อกฝากยาว คาดดอกเบี้ยในประเทศต้องลงอย่างน้อย 0.5% ผนวกรัฐบาลใหม่ต้องการเห็นดอกเบี้ยต่ำ กลายเป็นบทพิสูจน์ฝีมือแบงก์ชาติต้องคุมทั้งเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนให้ได้
นับตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3 ของปี 2550 ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่ง ใช้กลยุทธ์ดอกเบี้ยพิเศษสำหรับเงินฝากตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากปกติเพื่อจูงใจลูกค้า ครั้งนั้นธนาคารกสิกรไทย นครหลวงไทย ธนชาติ ทิสโก้และธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์เพื่อรายย่อย ตามมาด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ที่ออกโปรโมชั่นผลตอบแทน 2.6%
โปรโมชั่นข้ามปีของไทยพาณิชย์อย่าง Combo Set ด้วยบัญชีเงินฝาก 2 บัญชี คือฝากประจำ 3 เดือนรับดอกเบี้ย 2.7% และฝากประจำ 12 เดือนดอกเบี้ย 2.4% เงินฝากทั้ง 2 บัญชีต้องเท่ากัน ครั้งแรกไม่ต่ำกว่าบัญชีละ 5 หมื่นบาท การฝากครั้งต่อไปต้องไม่ต่ำกว่าบัญชีละ 1 หมื่นบาท
นับได้ว่าแรงได้ใจผู้คนไม่น้อย เนื่องจากเป็นความต่อเนื่องจากภาพยนตร์โฆษณาที่เชิญชวนผู้คนให้เข้ามาใช้บริการที่ธนาคารแห่งนี้ โดยเปิดรับฝากจนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2551
ก้าวข้ามสู่ปี 2551 สงครามเรียกลูกค้าด้วยดอกเบี้ยเงินฝากอัตราพิเศษที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากปกติเริ่มขยายวงมากขึ้น ค่ายกสิกรไทยเริ่มกลับนำเอากลยุทธ์นี้มาใช้อีกครั้ง ขณะที่ Combo Set ของไทยพาณิชย์ก็ยังเป็นนางกวักเรียกลูกค้าอยู่ และค่ายที่โดดลงมาเล่นในสมรภูมินี้คือธนาคารทหารไทยที่สูญเสียเงินฝากไปมากจากปัญหาภายในของธนาคารเอง เมื่อได้ผู้ร่วมทุนต่างชาติรายใหม่เข้ามาค้ำยันความมั่นคงจึงได้เปิดฉากทวงคืนเงินฝาก
เริ่มจากธนาคารกสิกรไทยที่ออกโปรโมชั่นต่อเนื่องมาจากปี 2550 แต่คราวนี้กสิกรไทยออกบัญชีเงินฝากประจำ 4 เดือนดอกเบี้ย 2.75% ฝากขั้นต่ำ 1 แสนบาท หากฝากไม่ถึง 3 เดือนจะได้ดอกเบี้ยที่อัตรา 0.75% แต่ถ้าฝากเกินกว่า 3 เดือนแต่ไม่ถึง 4 เดือนจะได้ดอกเบี้ยที่ 2% โดยฝากได้ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2551
ที่มาแรงจากอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงคือธนาคารทหารไทยออกโปรโมชั่น TMB Buddy TD กำหนดให้ต้องเปิดบัญชีเงินฝาก 2 บัญชี เริ่มจากฝากประจำ 9 เดือน ดอกเบี้ย 2.9% ต่อปี เริ่มต้นที่ 5 หมื่นบาท อีกบัญชีหนึ่งเป็นบัญชีฝากประจำ 24 เดือน ดอกเบี้ยที่ 3.5% ต่อปี เริ่มที่ฝากขั้นต่ำที่ 1 แสนบาท เมื่อฝากเงินกับทั้ง 2 บัญชีนี้จะได้รับสิทธิเปิดบัญชีออมทรัพย์พิเศษของธนาคารที่เรียกว่า TMB Prima Saving ได้รับดอกเบี้ย 2.75% ต่อปี นับว่าสูงกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ปกติที่ 0.75% เท่านั้น ฝากได้จนถึง 31 มีนาคม 2551
แต่บัญชีเงินออมทรัพย์พิเศษนี้ต้องฝากเงินขั้นต่ำที่ 5 แสนบาท และมีเงื่อนไขว่าต้องมีเงินคงเหลือในบัญชีไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาทต่อเดือน ถ้าต่ำกว่าทางธนาคารจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี 500 บาท บัญชีดังกล่าวสามารถเบิกถอนได้ 2 ครั้งต่อเดือน ถ้าถอนเกิน 2 ครั้งจะเรียกเก็บรายการละ 500 บาท
นอกจากนี้ธนาคารเล็กอย่างธนชาตยังคงให้ดอกเบี้ยฝากที่ 3% สำหรับฝากประจำตั้งแต่ 1 แสนบาท สำหรับฝากประจำ 9 เดือน และวงเงิน 5 แสนบาทขึ้นไปสำหรับฝากประจำ 3 และ 6 เดือนได้ผลตอบแทน 3% เช่นกัน ธนาคารทิสโก้มีให้เลือกทั้งฝาก 8 เดือนดอกเบี้ย 3% และ 12 เดือนดอกเบี้ย 3.4% สำหรับวงเงิน 1 ล้านบาท ธนาคารเกียรตินาคิน ฝาก 12 เดือนดอกเบี้ย 3.5% และ 18 เดือนดอกเบี้ย 3.75% สำหรับฝากขั้นต่ำที่ 5 แสนบาท
ที่เพิ่งหมดเขตไปเมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาอย่างนครหลวงไทยกับบัญชีฝากประจำ 5 เดือนที่ 2.6% และ 10 เดือนที่ 2.8% วงเงินขั้นต่ำแค่ 1 หมื่นบาท และดอกเบี้ย 3% สำหรับเงินฝาก 12,24 และ 36 เดือนสำหรับวงเงินขั้นต่ำ 1 ล้านบาท
ส่วนธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์เพื่อรายย่อย ที่ให้ดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดปีแรก 3.25% ปีที่ 2 ดอกเบี้ย 3.875% และปีที่ 3 ดอกเบี้ย 4.25% แต่ธนาคารแห่งนี้รับเงินฝากเพียงแค่ 500 ล้านบาทเท่านั้น
เฟดทำดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศ
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวบ่งบอกถึงการคาดการณ์ของคนในวงการธนาคารพาณิชย์ว่าดอกเบี้ยในประเทศไทยน่าจะถึงจุดต่ำสุดและพร้อมที่จะปรับขึ้นได้ ดังนั้นการรีบล็อกดอกเบี้ยเงินฝากของลูกค้าไว้ก่อนถือเป็นการชิงความได้เปรียบหากดอกเบี้ยในอีก 2-3 ปีนับจากนี้สูงเกินกว่า 3.5% ขึ้นไป
แต่อัตราดอกเบี้ยในประเทศกลับเปลี่ยนทิศทางกระทันหันเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารปล่อยกู้ระหว่างกันชั่วข้ามคืนลง 0.75% มาอยู่ที่ 3.5% เมื่อ 22 มกราคมที่ผ่านมา นับเป็นการลดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 23 ปี เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจของสหรัฐที่ต้องเผชิญกับปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์(ซับไพร์ม) ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยก่อนที่จะมีการประชุมในวันที่ 29-30 มกราคมที่ผ่านมา หากธนาคารกลางสหรัฐประกาศลดดอกเบี้ยลดอีก 0.25-0.5% ยิ่งจะกดดันให้ดอกเบี้ยในประเทศมีโอกาสปรับลดลงได้มากยิ่งขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดการเงินทั่วโลก เมื่อสหรัฐในฐานะผู้บริโภครายใหญ่ส่งสัญญาณเช่นนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตรึงไว้ที่ระดับ 3.25% จึงอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในครั้งต่อไป
ก่อนหน้านี้ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงตามทิศทางของตลาดโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการแห่กันปรับขึ้นราคากันถ้วนหน้า ส่งผลให้เงินเฟ้อในประเทศเริ่มขยับขึ้น แน่นอนว่าธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ที่กำหนดทิศทางในตลาดเงินย่อมต้องการสยบปัญหาเงินเฟ้อด้วยนโยบายดอกเบี้ย
ดังนั้นทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยจึงค่อนข้างนิ่ง หลายฝ่ายประเมินกันว่าน่าจะถึงจุดต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ย และมีความเป็นไปได้สูงที่ในปีนี้อัตราดอกเบี้ยในประเทศมีโอกาสในการปรับขึ้นได้ 0.25-0.5% ตามทิศทางของเงินเฟ้อ แต่สถานการณ์ในวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่สหรัฐกำหนด และถ้าปัญหาซับไพร์มในสหรัฐยังไม่ทุเลาลง ธนาคารกลางสหรัฐก็จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก
ด้วยเหตุนี้จึงกระทบต่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทย ที่แม้ว่าปัญหาเงินเฟ้อในประเทศจะขยับขึ้น แต่การจะใช้นโยบายดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อตามสูตรสำเร็จของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นย่อมต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทอีกรอบ
เนื่องจากเมื่อผลตอบแทนในสหรัฐเริ่มลดลง เม็ดเงินเหล่านั้นย่อมต้องไหลไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ไม่เพียงแค่การหาส่วนต่างจากดอกเบี้ยเงินฝากจากประเทศอื่น ๆ เท่านั้น แต่ช่องทางในการหาผลตอบแทนที่สูงยังรวมไปถึงตลาดหุ้นของแต่ละประเทศด้วย
การไหลบ่าของเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาตามประเทศต่าง ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ ด้วย หากไม่สามารถบริหารจัดการที่ดีพอย่อมกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากนโยบายดอลลาร์อ่อนจากสหรัฐและเม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้ามาแสวงหาผลตอบแทน ยิ่งเป็นแรงบวกให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นย่อมทำให้ความสามารถในการส่งออกของประเทศไทยลดลง นั่นคือราคาสินค้าของประเทศไทยจะมีราคาสูงขึ้นเมื่อส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐ ย่อมทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐชะลอการใช้จ่าย
การบ้านชิ้นใหญ่แบงก์ชาติ
วันนี้ธนาคารกลางสหรัฐได้สร้างการบ้านชิ้นใหญ่ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก ระหว่างการประคองค่าเงินบาทไม่ให้แข็งเกินไปเพื่ออุดหนุนอุตสาหกรรมส่งออก และการสกัดเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อทิศทางดอกเบี้ยของโลกเริ่มลดลงประเทศไทยคงฝืนยืนได้ยาก เพราะถึงขณะนี้ดอกเบี้ยของสหรัฐสูงกว่าไทยต่างกันแค่ 0.25% โดยดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วันของไทยอยู่ที่ 3.25%
ขณะนี้ในตลาดเงินคาดการณ์กันว่าโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยลงตามทิศทางต่างประเทศก็มีความเป็นไปได้สูง อันเนื่องมาจากนโยบายดอลลาร์อ่อนของสหรัฐและการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามปัญหานี้ก็ต้องพิจารณาควบคู่กับทิศทางของอัตราเงินเฟ้อว่า ผลกระทบจากราคาน้ำมันนั้นทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งแค่ไหน เช่น เรื่องค่าโดยสาร ขสมก.ที่จะเพิ่มขึ้นอีก 1 บาทสำหรับรถปรับอากาศต่อระยะทางและอีก 50 สตางค์สำหรับรถไม่ปรับอากาศ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 มีนาคมนี้ หากสามารถควบคุมได้การลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลค่าเงินบาทก็ทำได้ง่ายขึ้น หรือราคาน้ำมันปาล์มที่อนุมัติให้ปรับขึ้นอีกลิตรละ 4 บาทเป็น 47.50 บาทต่อลิตรที่มีผลไปแล้ว
ไม่เพียงแค่เรื่องการบริหารจัดการเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาเพียงอย่างเดียว แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องดูแลในเรื่องการไหลออกของเม็ดเงินต่างชาติด้วย แม้ในช่วงนี้ต่างชาติจะมีการถอนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไปบ้าง แต่ยังไม่มากจนทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจเพราะหากไม่มีมาตรการควบคุมเงินตราปล่อยให้เงินไหลออกได้อย่างรวดเร็วปัญหาที่ตามมาคือการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาจจะประสบปัญหาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ยอมรับว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งต่อไป จะนำเอาเรื่องการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐเข้ามาเป็นประเด็นในการตัดสินใจกำหนดทิศทางดอกเบี้ยในประเทศ พร้อมทั้งระบุถึงความท้าทายของระบบเศรษฐกิจในปี 2551 นั้น แบงก์ชาติจะต้องดูแลใน 3 เรื่อง ได้แก่ ประการที่ 1 การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ภาวะราคาน้ำมันแพง และปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ประการที่ 2 การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้กระแสเงินทุนไหลเข้าออกอย่างรวดเร็ว และมีความผันผวน และประการที่ 3 การดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงินภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
สินค้ามากได้เปรียบ
เมื่อทั้ง 2 สถานการณ์เกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน โดยที่คนในวงการธนาคารพาณิชย์มองว่าทิศทางดอกเบี้ยในประเทศไทยจะปรับขึ้น แต่เมื่อเฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยกระทันหันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐ โอกาสที่ดอกเบี้ยในประเทศไทยจะปรับลดลงนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูง
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า “ไม่มีใครคิดว่าทิศทางดอกเบี้ยจะเลี้ยวกลับกะทันหันเช่นนี้ แน่นอนว่าที่ออกดอกเบี้ยพิเศษคงเจ็บตัวกันบ้าง ธนาคารใดที่เปิดให้ฝากยาวและให้ดอกเบี้ยสูงโอกาสเจ็บตัวก็มีได้มาก”
ในส่วนของธนาคารที่ออกโปรโมชั่นดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษนั้น คงจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยเฉพาะธนาคารที่กำหนดระยะเวลาในการฝากสั้น ๆ และดอกเบี้ยที่ให้ไว้ไม่สูงนัก เช่นของกสิกรไทย เพราะแค่ 4 เดือนกับดอกเบี้ยที่ 2.75% แต่ธนาคารที่กำหนดดอกเบี้ยสูงและเสนอให้ฝากระยะยาวนั้นอาจได้รับผลกระทบ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยที่กำหนดไว้และระยะเวลาที่เปิดรับฝาก รวมถึงการบริหารจัดการของธนาคารเองว่าจะทำได้ดีเพียงใด
เพราะว่าขณะนี้การปล่อยสินเชื่อทำได้ค่อนข้างยาก ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมหรือภาคประชาชน อีกทั้งธนาคารก็ต้องพิจารณาความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วยเช่นกัน ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่ความสามารถในการซื้อสินค้าน้อยลง และภาระของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อมีสูงขึ้น
เนื่องจากเป้าหมายใหญ่สุดของการเสนอดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของความต้องการในการระดมเงินฝากเพียงอย่างเดียว หากธนาคารใดมีความพร้อมในเรื่องของสินค้าอื่น ๆ ของธนาคารที่พร้อมให้บริการก็อาจผลักเอาเงินฝากเหล่านี้ไปยังสินค้าและบริการของบริษัทลูกของธนาคารได้ เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์หรือซื้อกองทนรวม โดยที่ธนาคารจะได้ค่าธรรมเนียมจากการขายไปในตัว พร้อมกับการรับรู้กำไรที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทลูกในอนาคต
แต่ถ้าธนาคารใดมีสินค้าและบริการอื่นน้อย เงินฝากก้อนนี้ก็จะกลายเป็นต้นทุนของธนาคารที่อาจสูงกว่าธนาคารอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร อาจต้องหันไปลงทุนด้านอื่นแทน ซึ่งก็มีความเสี่ยงจากการลงทุนสูงกว่าการสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม
ดูแบงก์ไหนเขี้ยว-เลือกฝากยาว
สำหรับทิศทางของดอกเบี้ยในประเทศไทยนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะเป็นตัวชี้นำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับลดลงได้ ยิ่งรัฐบาลใหม่ที่บอกถึงทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในประเทศว่าควรจะลดลงแล้ว น่าจะส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วันลงได้อย่างน้อยอีก 0.25% ลงมาเหลือ 3% และถ้าธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยลงอีก 0.5% ดอกเบี้ยในประเทศก็อาจลดลงได้อีกอย่างน้อย 0.25% ได้ในช่วงกลางปี
โปรโมชั่นที่เปิดรับฝากในเวลานี้ท่ามกลางทิศทางที่ดอกเบี้ยในประเทศกำลังเป็นขาลง ประโยชน์จึงตกอยู่กับผู้มีเงินออมว่าจะเลือกฝากเงินไว้กับธนาคารใด ทางที่ดีควรเลือกฝากกับธนาคารที่เสนอผลตอบแทนสูงและควรเลือกฝากระยะยาวไว้ก่อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ฝากเงินเองว่ามั่นใจที่จะใช้กับบริการของธนาคารใด เนื่องจากธนาคารขนาดเล็กมักจะมีสาขาที่ให้บริการน้อย ดังนั้นหากธนาคารที่เราหมายตามีสาขาอยู่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานก็น่าสนใจ แต่ถ้าไกลเกินไปต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางพอสมควรดอกเบี้ยดังกล่าวก็อาจไม่คุ้ม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ฝากต้องนำไปพิจารณาเอง
ส่วนประเด็นเรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝากจะเริ่มออกมาบังคับใช้ ที่ค่อย ๆ ลดการคุ้มครองเงินฝากลงจากมากลงมาน้อยนั้น แต่ถ้าผู้ฝากทั่วไปที่มีเงินออมไม่มากนักก็จะไม่ได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ตามทางที่ดีควรตรวจสอบกับธนาคารก่อนว่า โปรโมชั่นที่แต่ละธนาคารออกมานั้นยังพร้อมให้บริการอยู่หรือไม่ เพราะบางแห่งอาจจะมีการกำหนดวงเงินไว้เช่นของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ที่รับฝากแค่ 500 ล้านบาทเท่านั้น ถ้าเต็มแล้วก็ไม่รับฝาก
จากการสำรวจโปรโมชั่นดอกเบี้ยเงินฝากประจำอัตราพิเศษของธนาคารต่าง ๆ นั้น ผู้ที่ต้องการฝากเงินจะต้องศึกษาถึงเงื่อนไขของแต่ละธนาคารให้ดีว่ามีเงื่อนไขที่ยากต่อการปฏิบัติหรือไม่ บางแห่งกำหนดให้ต้องฝากเงินทั้ง 2 บัญชีเท่า ๆ กัน เช่น ของไทยพาณิชย์ บางแห่งเปิดทางให้เลือกฝากในประเภทใดประเภทหนึ่งได้ รวมถึงต้องสอบถามถึงเรื่องวงเงินฝากครั้งต่อไปด้วยว่าเป็นเท่าไหร่ เพราะอย่างธนาคารทิสโก้กำหนดฝากขั้นต่ำที่ 1 ล้านบาทและฝากครั้งต่อไปก็ต้อง 1 ล้านบาทด้วย
กรณีของธนาคารทหารไทย TMB Buddy นั้น เปิดให้ฝาก 9 เดือนที่ 2.9% ที่ 5 หมื่นบาท และฝาก 24 เดือนดอกเบี้ย 3.5% ฝากขึ้นต่ำที่ 1 แสนบาท โดยธนาคารให้สิทธิในการเปิดบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงถึง 2.75% ต้องฝากที่ 5 แสนบาทขึ้นไป มีเงื่อนไขอื่นกำกับไว้ ถ้าผิดเงื่อนไขธนาคารมีสิทธิคิดค่าปรับจากผู้ฝากเงิน ดังนั้นต้องศึกษาให้ดี
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|