ทุนโลกอัดกระแทกย้ำรอยช้ำเศรษฐกิจบทพิสูจน์ "ธปท."ตีโจทย์แก้ไขปัญหา


ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 กุมภาพันธ์ 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ทุนโลกที่ไหลอย่างเข้ามาบ้าคลั่งยังเอเชีย เสมือนการเข้าโจมตีจากกองกำลังพลที่มีทหารจำนวนมหาศาลเพื่อบดขยี้ประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ให้ย่อยยับ ถือเป็นความเจ็บปวดที่ได้รับกันถ้วนหน้าสำหรับประเทศที่อยู่ในเป้าหมาย ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ว่านี้ และปีนี้ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป แม้สภาพเศรษฐกิจจะไม่ได้เอื้อให้ทุนวิ่งเข้าก็ตามที ภาวะเช่นนี้องค์กรสำคัญอย่าง"แบงก์ชาติ"ต้องเล่นบทหน่วยรบแถวหน้าสร้างกองกำลังรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยกลยุทธ์ที่เฉียบคม เพื่อพยุงร่างกายที่บอบช้ำของประเทศจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยให้ขับเคลื่อนต่อไป

เหมือนอยู่ดีๆปัญหาต่างๆก็เข้ามาประจันอยู่ข้างหน้า เหตุผลหลักนั้นเพราะโลกในยุคใหม่ไร้พรมแดนขวางกั้น ที่แม้แต่เงินทุนก็ยังไร้สัญชาติ นั่นทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอีกทวีปหนึ่งกระทบมายังอีกทวีปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

เงินทุนจำนวนหมาศาลที่ไหลบ่าเข้ามายังเอเชียเป็นปัญหาใหญ่ของภูมิภาคแห่งนี้ และยิ่งสะท้อนชัดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ในภาวะเปราะบางสุดๆจากหลายๆปัญหา ทั้งขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลทางการคลัง และประเด็นสำคัญสุดคือเรื่องปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ซึ่งท่าทีที่เกิดขึ้นทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ต้องออกมา ปรับดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 0.75% ซึ่งถือเป็นการปรับในสัดส่วนทีสูงและแรง

การที่เฟดปรับดอกเบี้ยนโยบายลงเร็ว ยิ่งตอกย้ำความชัดเจนของกระแสการไหลของเงินทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งแน่นอนว่าเงินจำนวนดังกล่าวต้องวิ่งมาที่เอเชีย...สถานการณ์นี้เกิดขึ้นมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และจะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งนั้นหมายความถึงประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหลายด้านที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาวิกฤติเงินทุน

โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ไม่เพียงต้องเผชิญกับความผันผวนทางอัตราแลกเปลี่ยน ยังเสี่ยงกับปัญหาเรื่องออเดอร์สินค้าที่จะถูกสั่งน้อยลง เพราะคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะสหรัฐฯที่กำลังเจ็บป่วยจากพิษไข้ทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่การแข็งของค่าเงินบาท และสกุลอื่นๆในเอเชีย ที่สวนทางค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เพียงกระทบแค่ภาคเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงสังคม

จะเห็นว่าในปีที่ผ่านมา ธุรกิจรายเล็กรายย่อยได้ตายเป็นเบือไปแล้ว แม้จะมีมาตรากรออกหนุนเพื่อดันภาคธุรกิจปลาซิวปลาสร้อยแล้วก็ตาม แต่ก็ยังฉุดรั้งไม่อยู่ ทำให้ภาคธุรกิจเหล่านั้นต้องล้มละลายมีหนี้สินรัดตัว ไม่เพียงผู้ประกอบการเท่านั้นที่ต้องแย่ แต่พนักงานก็พลอยรับผลตามไปด้วย เพราะกลายเป็นบุคคลที่อยู่ในสภาพไร้งาน ปรมาจารย์นักวิชาการ ออกมาทำนายแล้วว่าไตรมาส2 ปีนี้จำนวนคนตกงานจะเพิ่มขึ้นแน่ ตราบที่รัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เห็นถึงมราตรการและกลยุทธ์ที่แบงก์ชาติงัดออกมาใช้เพื่อดูแลค่าบาทและเงินทุนเคลื่อนย้าย มาตรการที่ออกมามีทั้งถูกใจและไม่ถูกใจ กล่าว่าบุคคลที่รับผลประโยชน์เต็มๆย่อมพอใจ ขณะที่บุคคลเสียผลประโยชน์ก็ย่อมไม่ถูกใจ ดั่งเช่น มาตรการกันสำรอง 30% ที่ถูกใจพ่อค้าผู้ส่งออกยิ่ง และดูเหมือนมาตรการนี้ ธปท.ออกมากล่าวว่ายังไม่พร้อมจะเลิกเพราะที่ผ่านมาก็มีการคลายเกณฑ์เข้มไปค่อนข้างมากแล้ว

"ธาริษา วัฒนเกส" ผู้ว่าการ ธปท. บอกว่า การดูแลค่าบาทและเงินทุนเคลื่อนย้าย ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในปีนี้ เพราะความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และเงินทุนที่ล้นหลาม ทำให้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลไหลเข้ามาในเอเชียมากขึ้นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุน ประจวบเหมาะกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยิ่งทำให้นักลงทุนตัดสินใจได้เร็วขึ้นในการเลือกแหล่งลงทุน

ธาริษา เล่าด้วยว่า ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ยังเป็นเรื่องที่ประเมินยาก แม้ในเดือนพ.ย.50ที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์จะลงไปเตะจุดต่ำสุดแล้วก็ตาม แต่ความเสี่ยงที่ค่าเงินจะผันผวนยังมีสูง ดังนั้นในส่วนของผู้ประกอบการส่งออก ควรจะบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันความเสี่ยงทางการเงินไว้ด้วย

"ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนเช่นในปัจจุบัน เราไม่สามารถตั้งเป้าได้ว่า ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ควรอยู่ ในระดับใด แต่ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว การแข็งของค่าเงินบาทนั้นอยู่ในระดับกลาง นับตั้งแต่สิ้นปี 2550 ถึง 28 ม.ค.51 ค่าบาทแข็งขึ้น 1.4%"

ส่วนประเทศในแถบเอเชีย อย่างญี่ปุ่น แข็งค่าขึ้น 6% มาเลเซียแข็งค่าขึ้น 2.2% จีน แข็งค่าขึ้น 1.3% สิงคโปร์ 1.2% และฟิลิปปินส์ แข็งค่าขึ้น 1% โดยทั้งนี้แบงก์ชาติจะดูแลให้ค่าเงินบาทวิ่งไปในทิศทางเดียวกับประเทศแถบนี้ พร้อมกับคุมไม่ให้ผันผวนมากจนเกินไป

ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(แอกซิมแบงก์) แนะแบงก์ชาติในเรื่องการดูแลค่าเงินบาทนั้นควรหาแนวที่ที่ชัดเจนในการควบคุมไม่ให้ค่าเงินแข็งเร็วมากเกินไป และที่สำคัญควรกำหนดอีตราการแข็งค้าของเงินบาทให้ชัดเจนเหมือนที่จีนได้ทำ เช่นกำหนดว่าไม่ควรให้ค่าบาทแข็งเกิน 5-7% หรือ 2บาทต่อดอลลาร์

ให้เดาว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังคงบอบช้ำเช่นเดิม ทั้งจากฤทธิ์การเมืองที่ยังไม่นิ่งแม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลตามรนะบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม ขณะที่อีกปัญหาใหญ่ไม่แพ้กันคือ การไหลล้นทะลักของเม็ดเงินทุนจำนวนมหาศาลเข้ายังเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ดังนั้นแค่ 2 ปัจจัยนี้ก็ทำนายได้แล้วว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยท่าจะร่วงมากกว่ารุ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.