|
รับเหมาไทยผวายักษ์ก่อสร้างจีนบุกชิงงานเมกะโปรเจกต์เป็นแพกเกจ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 กุมภาพันธ์ 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
จับตากองทัพ “รับเหมาจีน” เตรียมกวาดโครงการเมกะโปรเจคไทย โดยเฉพาะงานสร้างรถไฟฟ้า ชี้รับเหมาจีนเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด เนื่องเพราะพร้อมทั้ง “ทุน-ไฮเทคโนโลยี” แนะรับเหมาไทยขนาดใหญ่ต้องรวมตัวกันถึงจะสู้ไหว ขณะที่เลขาธิการสมาคมอุตฯ ก่อสร้างไทยวอนรัฐช่วยบริษัทไทยก่อนต่างชาติ
ปัจจุบันบริษัทรับเหมารายใหญ่ ๆ ของจีน ได้รุกเข้ามารับงานโครงการขนาดใหญ่ของไทยมากขึ้น และเป็นการเข้ามาแบบครบวงจร ทั้งเงินลงทุน งานก่อสร้าง และงานระบบ โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลใหม่ที่จะมีการอนุมัติการประมูลโครงการขนาดใหญ่ในไม่ช้า เป็นผลให้ผู้รับเหมาต่างตื่นตัวและเฝ้าจับตาดูการรุกคืบของยักษ์รับเหมาจากจีน เพื่อหาหนทางรับมือในครั้งนี้
รับเหมาจีนมาเป็นแพค-ตีตลาดไทยกระจุย
แหล่งข่าวในวงการรับเหมา กล่าวว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้างจากจีนเวลานี้มีความเข้มแข็งมาก โดยเฉพาะภายหลังที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกาศนโยบาย PPP (Private Public Partner) ที่อนุญาตให้เอกชนของประเทศต่างๆ ที่มีไฮเทคโนโลยีสามารถนำเงินมาลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ในประเทศไทยได้ และเป็นการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จทั้งโครงการ ซึ่งก่อนหน้าเช่นการประมูลรถไฟฟ้า อาจแบ่งสัญญาเป็นรัฐลงทุนบางส่วน และให้เอกชนลงทุนบางส่วนเท่านั้น
“วิธีการประมูลในอดีตนั้นถือว่าเป็นภาระหนักให้ภาครัฐที่จะหางบประมาณมาจัดทำโครงการ ”
ขณะที่นโยบาย PPP นั้นจะสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติสามารถเข้ามาประมูลงานในไทยได้มากขึ้นในรูปแบบพันธมิตรร่วมทุน ในลักษณะสร้างเสร็จก่อนรัฐถึงจะทยอยใช้เงินคืน จุดนี้เองที่ทำให้จีนได้เปรียบผู้รับเหมาจากประเทศอื่น รวมทั้งไทยด้วย
“จีนมีพร้อมทุกอย่าง ทั้งเงินทุน ทั้งบริษัทที่ผลิตไฮเทคโนโลยีต่างๆ”
ยกตัวอย่างบริษัทที่เคยมาติดต่อขอรับงานกับภาครัฐของไทย โดยเฉพาะงานรถไฟฟ้า บริษัทของจีนก็จะมีการจับมือกันมาประมูลงาน ได้แก่ บริษัทผลิตรถไฟฟ้าของจีน บริษัทรับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งแหล่งเงินทุนอย่างแบงค์ออฟไชน่า
อย่างไรก็ดี แนวโน้มของการประมูลงานโครงการ โดยเฉพาะโปรเจคใหญ่ๆ ของเมืองไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือกลุ่มผู้ประมูลจากประเทศจีน เพราะมีพร้อมครบวงจร โดยเฉพาะด้านการเงินที่พร้อมสนับสนุนให้บริษัทรับเหมาของจีนก่อสร้างโครงการจนเสร็จได้ ล่าสุดที่ผ่านมาในโครงการรถไฟฟ้าบางซื่อ-ตลิ่งชัน ก็เป็นบริษัทจีนที่ร่วมทุนกับไทยที่ประมูลได้
“อย่าลืมว่าผู้ประมูลต้องก่อสร้างให้เสร็จ ถึงจะได้เงินจากภาครัฐไทย เหตุผลนี้เองจะทำให้คู่แข่งขันรายอื่นสู้จีนไม่ได้”
นอกจากนี้จีนก็ยังมีจุดแข็งสำคัญอีกประการคือสามารถประมูลได้ในราคาต่ำกว่าบริษัทคู่แข่งอื่นๆ ด้วย แต่จีนก็ยังมีจุดอ่อน คือจีนยังไม่มีการปรับปรุงเทคโนโลยีมากนัก รวมทั้งการประเมินผล ซึ่งไทยมีจุดแข็งมากกว่า
ดังนั้นภาครัฐได้มีการแนะนำธุรกิจรับเหมาจีนว่า หากจะประมูลงานและทำงานให้สำเร็จในไทย จำเป็นจะต้องมีผู้ร่วมทุนเป็นคนไทย เพราะงานประมูลในประเทศไทยจะมีธรรมเนียมที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ที่นักลงทุนจีนสามารถไปลงทุนได้ 100% และให้นักลงทุนจีนได้ศึกษากรณีโฮปเวลล์เป็นตัวอย่าง
สำหรับผู้รับเหมาไทย สมัยก่อนนั้นมีลักษณะการผูกขาดงาน แต่วันนี้ไม่ปรับตัวไม่ได้ เพราะจีนมีทุนมหาศาลและมาแบบครบวงจร ดังนั้นผู้รับเหมาไทยโดยเฉพาะรายย่อยควรจะร่วมทุนกันให้กลายเป็นบริษัทใหญ่ และหากบริษัทใหญ่ๆ มีการร่วมทุนกันอีกก็จะทำให้ บริษัทผู้รับเหมาไทยมีโอกาสสู้กับจีนได้มากขึ้น
ทุนหนาจุดแข็งรับเหมาจีน
อังสุรัสมิ์ อารีกุล เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าจริงๆ แล้ว บริษัทก่อสร้างของจีนได้เข้ามาในไทยกันมากตั้งแต่ก่อนที่คมช. จะเข้ายึดอำนาจเมื่อ เดือนกันยายนปี 2549 แล้ว เนื่องจากรัฐบาลยุคทักษิณ ชินวัตรได้ประกาศจัดทำโครงการเมกะโปรเจคจำนวนมาก
โดยช่วงนั้นบริษัทจีน รวมถึงกองทุนของจีนได้ให้ความสนใจในการเข้ามาเพื่อประมูลงานเมกะโปรเจคของไทยมากมาย บริษัทที่สำคัญได้แก่ China State Construction และบริษัท China Harbor เป็นต้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทจีนขนาดใหญ่ เข้ามาประมูลงานรับเหมาในไทยมีประวัติยาวนาน
ขณะที่บริษัทจีน ส่วนใหญ่จะเห็นได้ชัดว่าจีนเป็นประเทศที่มีเงินทุนมหาศาล มีทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก หากรัฐบาลจีนมีการสนับสนุนธุรกิจจีนให้ไปเปิดตลาดที่ใด ก็ย่อมมีโอกาสสูง ขณะเดียวกันต้นทุนวัสดุของจีน โดยเฉพาะวัสดุที่ไทยไม่สามารถผลิตได้นั้น เช่น วัสดุเหล็กรางรถไฟ เคเบิล หรือออฟติคอลไฟเบอร์ ของจีนนั้นได้รับการยอมรับว่ามีราคาถูกที่สุดในโลก
วอนรัฐหนุนรับเหมาไทย-กันต่างชาติ
ที่สำคัญปัญหาใหญ่สุดของวงการรับเหมาไทยในเวลานี้คือการไม่มีงานป้อนสู่ตลาด
“งาน 2 ปีที่แล้วเริ่มหมดแล้ว ผู้รับเหมาไทยกำลังดิ้นเพื่อหางานต่อยอดให้กับบริษัทตัวเอง แม้จะต้องรับงานที่ได้กำไรน้อย หรือขาดทุน ก็ต้องรับมาก่อน เพราะหวังว่าวันหนึ่งจะมีงานมากขึ้น ช่วงนี้จึงเป็นช่วงประสานแผลวิกฤตช่วงที่ผ่านมา”
อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรแสดงทีท่าที่ชัดเจนที่จะช่วยเหลือผู้รับเหมาไทยก่อน เพราะศักยภาพของผู้รับเหมาไทยนั้นไม่แพ้ประเทศอื่น ทั้งเรื่องของการดีไซน์ และคุณภาพ รวมทั้งอยากให้มีการนำงานออกมาประมูลมากขึ้น เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้อีกทางด้วย
“แรงงานรับเหมาก่อสร้าง ก็คือคนจากรากหญ้า จะอัดเงินเข้ารากหญ้า ต้องช่วยให้แรงงานก่อสร้างมีงานทำด้วย”
ขณะเดียวกันเมื่อวงการรับเหมาก่อสร้างของไทยกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตอย่างนี้ จึงอยากเรียกร้องว่าให้รัฐบาลไทยอุ้มชูบริษัทไทยก่อนบริษัทต่างชาติ เหมือนที่จีนดูแลบริษัทของจีนเอง
“ถ้าเราไปจีนจะเห็น ถนนตอนนี้มีการสร้างสะพานข้าม 4 แยก อีก 1-2 ปี ไปอีกครั้งจะเห็นมีการทุบสะพานนี้ทิ้งแล้ว เพื่อสร้างรถไฟฟ้า ตรงนี้เป็นขั้นตอนทางนโยบายของรัฐ ไม่ใช่แค่ฝีมือผู้รับเหมา ทำให้เขามีศักยภาพที่จะก่อสร้างได้ทันที”
แม้เวลานี้สถานการณ์การขาดแคลนงานจะมีมากกว่าปัญหาอื่นๆ แต่ทางสมาคมฯ ก็ยังให้ความสำคัญกับจีน เพราะมีต้นทุนที่ได้เปรียบ ยิ่งหากภาครัฐของจีนมีการถือหุ้นในบริษัทรับเหมาเหล่านั้น การตั้งใจและการทุ่มเทในการประมูลงานให้ได้งานใหญ่ๆ ในไทยก็มีความเป็นไปได้สูง
เผยบริษัทจีนเลิกฟันราคา-รับงานต้องได้กำไร
ด้านสมัย ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและติดตั้งระบบวิศวกรรมงานวางระบบท่อ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งภายหลังได้จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทยักษ์ใหญ่จีนอย่าง China National Petroleum Corporation:CNPC กลุ่มบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในจีน ดำเนินงาน Pipeline และ Steel Fabrication เปิดเผยว่า บริษัทจีนที่มารับงานรับเหมาก่อสร้างในไทยนั้นมีหลายบริษัท และเข้ามาในไทยหลายปีแล้ว
โดยจุดแข็งของบริษัทจีนคือเป็นบริษัทที่มีรัฐบาลจีนสนับสนุน ทำให้ฐานะการเงินของบริษัทอยู่ในระดับดีมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าบริษัทจีนที่เข้ามาประมูลงานในไทยในยุคแรกๆ นั้น ยังไม่เข้าใจระบบทำงานของเมืองไทยมากนัก ทำให้ได้กำไรในการประกอบการน้อย ต่อไปรัฐบาลจีนจะมีการควบคุมใกล้ชิด คงไม่มีบริษัทรับเหมาจีนรับงานอย่างสะเปะสะปะ แต่จะรับงานเฉพาะงานที่ได้กำไรเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|