ธนารักษ์เพิ่มราคาประเมินคอนโดติดรถไฟฟ้า


ผู้จัดการรายวัน(1 กุมภาพันธ์ 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

กรมธนารักษ์เล็งปรับราคาประเมิน 200 คอนโดฯหรู แนวรถไฟฟ้าขึ้นอีก 15-20% ส่วนคอนโดฯราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทปรับลด 15-20% เพื่อลดภาระค่าภาษี พร้อมเตรียมทะยอยประเมินราคาที่ดินใหม่ทุกปี ประเดิมประเมินรายแปลง 5 เขตในกทม. และประเมินรายบล็อก 50 จังหวัด ประกาศใช้ปี 2552 ด้าน ธอส.เตรียมดึงเอกชนร่วมหาแนวทางกระตุ้นอสังหา ชงรัฐบาลใหม่เชื่อรัฐมีมาตรการออกมากระตุ้นคนซื้อบ้านแน่ เล็งให้การเคหะฯ ค้ำประกันกลุ่มอาชีพอิสระที่บ้านเอื้ออาทรจาก 5 ปีเป็น 7 ปีเพื่อลดความเสี่ยง

นายแคล้ว ทอง สม ผู้อำนวยการสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์เตรียมปรับราคาประเมินอาคารชุดคอนโดมิเนียมระดับบน ที่ตั้งอยู่แนวรถไฟฟ้าและถนนเมนหลักในเขตกรุงเทพมหานครขึ้นอีก 15-20% ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวน 200 อาคาร ส่วนโครงการคอนโดมิเนียมราคาถูกต่ำกว่า 1 ล้านบาท ที่ตั้งอยู่ห่างจากถนนหลัก จะทำการปรับลดลงมา 15-20% เช่นกันเพื่อลดภาระให้แก่อาคาร

นอกจากนี้ กรมธนารักษ์จะทำการประเมินราคาที่ดินใหม่ทุกปีโดยทยอยทำในแต่ละพื้นที่ โดยจะพิจารณาจากพื้นที่ๆมีการซื้อ-ขายเปลี่ยนมือมาก โดยในปีนี้จะทำการประเมินราคาที่ดินใหม่ในเขตกรุงเทพ ได้แก่ ดอนเมือง, มีนบุรี, ลาดพร้าว, บึงกุ่มและบางกะปิ ปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5% และประเมินเป็นรายบล็อกอีก 50 จังหวัด โดยปรับขึ้นเฉลี่ยอย่างน้อย 10% ซึ่งราคาประเมินใหม่จะประกาศใช้ในปี 2552

จากเดิมกรมธนารักษ์ จะทำการทำการประเมินที่ดินใหม่ทุกๆ 4 ปี ทำให้ไม่สะท้อนราคาที้แท้จริงของตลาดอีกทั้งยังต้องใช้เจ้าพนักงานจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องทะยอยประเมินราคาที่ดินไปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เหมาะสมและใกล้เคียงกับราคาตลาด

ส่วนการประกาศปรับขึ้นราคาประเมินที่ดินใหม่นั้น จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีที่ดินได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20% โดยในปีงบประมาณ 2550 (1 ตุลาคม 49 – 30 กันยายน 50) สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินได้จำนวน 50,003 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณก่อนหน้า 0.89% จากจำนวนผู้เสียภาษี 5,363,000 ราย ลดลงจากปีงบประมาณ 2549 จำนวน 2.67%

สำหรับการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2551 ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2550 สามารถเก็บภาษีได้ 9,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2549 จำนวน 7.30% จากจำนวนผู้เสียภาษี 907,484 ราย

ด้านนายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ธนาคารกำลังเตรียมข้อมูลรายงานต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ถึงแนวทางที่จะดำเนินการเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้ว และโครงการที่จะดำเนินการในอนาคต รวมถึงเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน โดยจะหารือร่วมกับภาคเอกชนถึงแนวทางที่จะนำมาใช้ในการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีมาตรการออกมากระตุ้นให้คนซื้อบ้าน เพราะมาตรการที่เคยใช้ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอน ลดค่าธรรมเนียมจดจำนอง ลดภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นต้น ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาแล้ว

ส่วนนโยบายในการปล่อยสินเชื่อบ้านให้กับโครงการบ้านเอื้ออาทร ล่าสุดได้หารือร่วมกับผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ถึงความพร้อมด้านการปล่อยสินเชื่อกู้ซื้อบ้านล็อตใหม่ที่ธอส.มีการจัดเตรียมวงเงินไว้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ขณะที่จำนวนหน่วยที่สร้างเสร็จที่อยู่กว่า 70,000 หน่วยนั้น ในจำนวนดังกล่าวมีประมาณ 70 % หรือคิดเป็น 49,000 หน่วยมีรายชื่อของประชาชนที่ยังคงยืนยันการจองสิทธิ์

ทั้งนี้ ในจำนวนหน่วยที่ประชาชนยืนยันนั้น จะต้องนำมาพิจารณาหรือตรวจสอบเครดิตของผู้ซื้อว่ามีขีดความสามารถในการผ่อนชำระมากหรือน้อยแค่ไหน ซึ่งการปล่อยในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มจัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรตั้งแต่ปี 2546 นั้นได้มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วคิดเป็นวงเงิน 20,000 ล้านบาท และมีเงื่อนไขร่วมกับการเคหะฯว่า การเคหะฯ จะต้องค้ำประกันการซื้อคืนภายใน 5 ปีในกรณีที่ลูกค้าค้างชำระติดต่อกันเกิน 3 งวด วงเงินที่ทำไว้เดิมประมาณ 300 ล้านบาท และได้ขยายเพิ่มเป็น 780 ล้านบาท

“เพื่อลดความเสี่ยงกับการเกิดหนี้เสียขึ้น นอกจากจะใช้วิธีการเพิ่มวงเงินการประกันการซื้อคืนแล้ว

ทางกคช.น่าจะมีการขยายเวลาการค้ำประกันการซื้อคืนออกไปจาก 5 ปีเป็น 7 ปี หรือไม่ก็ขยายเพิ่มอีก 5 ปีหลังครบ 5 ปี โดยกลุ่มลูกค้าที่เข้าข่ายที่จะต้องค้ำประกันการซื้อคืนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีอาชีพอิสระ พ่อค้า แม่ค้า ที่ไม่มีแหล่งที่มาของรายได้แน่นอน และเพื่อให้การดำเนินการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวมีความต่อเนื่อง ทางกคช.ควรจัดทำรายละเอียดส่งมายังธอส.ว่าในแต่ละปีจะมีบ้านสร้างเสร็จและพร้อมส่งมอบให้กับลูกค้ากี่ราย หรือกี่หน่วย ”นายขรรค์กล่าวแสดงความเห็น

ส่วนโครงการที่ธนาคารดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ การปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการบ้านเอื้ออาทร บ้านมั่นคง และโครงการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับข้าราชการในโครงการธอส.-กบข. โดยในส่วนของโครงการบ้านเอื้ออาทรในปีนนี้จะมีบ้านสร้างเสร็จ 7 หมื่นหลังที่จะต้องปล่อยกู้ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท ส่วนโครงการธอส.-กบข.จะมีการดำเนินการต่อเป็นระยะที่ 5 ส่วนแผนงานที่จะทำต่อไปอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูล

สำหรับการเพิ่มทุนของธอส.อีก 10,000 ล้านบาทนั้น เป็นการเพิ่มเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารในการนำมาจัดสรรในการปล่อยกู้ให้กับประชาชนที่ซื้อบ้านทั้งจากทั่วๆไป และจากโครงการที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล นอกจากความต้องการการอนุมัติการเพิ่มทุนจากรัฐบาลชุดใหม่แล้ว ธอส.ต้องการให้รัฐบาลค้ำประกันการออกพันธบัตรธอส.อีก 5,000 ล้านบาท เพราะหากรัฐบาลไม่ค้ำประกันธอส.ก็ต้องไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.