มีเดียพลัส-ไทยสกายทีวี เกมนี้ยังเหนื่อยอีกนาน

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

มีเดียพลัสและไทยสกายเคเบิลทีวี คือ 2 สื่อที่เครือวัฏจักรกรุ๊ปเข้าไปซื้อกิจการเพื่อหวังขยับขยายบทบาทจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปในสู่สื่อวิทยุและโทรทัศน์ ในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่กระจายไปตามสื่อต่าง ๆ ให้ครบวงจร

รวมเป็นเวลาถึง 2 ปีเต็มที่กลุ่มวัฏจักรเพียรพยายามพลิกฟื้น สื่อทั้งสองประเภทนี้ให้ลุกขึ้นยืนหยัดอยู่ในวงการ แต่ดูเหมือนกับความพยายามของกลุ่มวัฏจักรจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

แม้ว่าภายหลังจากการสิ้นสุดยุคของอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ ผู้ก่อตั้งมีเดียพลัสภายใต้ร่มเงาของกลุ่มวัฏจักรยังคงมียอดรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตลอดปี 2538 มีเดียพลัสมีรายได้ 760 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากค่าโฆษณาจากธุรกิจวิทยุทั้ง 6 สถานีและเป้าหมายปี 2539 คืออัตราเติบโต 10% หรือ 1,070 ล้านบาท

หากไม่คิดอะไรมาก ก็ถือว่ามีเดียพลัสทำรายได้ที่ค่อนข้างดีให้กับวัฏจักร เพียงแต่อาจจะต้องเผชิญปัญหา 2 ประการคือ หนึ่ง-ความไม่แน่นอนของสัมปทานวิทยุ ที่เปลี่ยนกับแทบจะทุกปีสอง-การปรับองค์กรภายในที่มีเดียพลัสมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก

นอกจากนั้นการขยับขยายไปสู่โครงการใหม่ ๆ เพื่อเป็นตัวเสริมสร้างรายได้ ก็เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับมีเดียพลัส โดยเฉพาะการที่กลุ่มวัฏจักร ซึ่งมีทั้งสื่อและฐานข้อมูลข่าวสารในมือ

เป้าหมายของมีเดียพลัสที่ผู้บริหารพยายามชี้แจงมาตลอด คือ การขยายโครงการเคเบิลเรดิโอ หรือรายการวิทยุแบบบอกรับสมาชิก ธุรกิจจัดคอนเสิร์ตจากต่างประเทศโครงการวิทยุดาวเทียม โครงการพิเศษสไมล์คลับ ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนแต่เกิดตั้งแต่ในยุคอิทธิวัฒน์ทั้งสิ้น เพียงแต่นำปัดฝุ่นใหม่เท่านั้น แต่ไม่สำคัญเท่ากับว่าโครงการเหล่านี้ยังไม่เริ่มดำเนินการเลย

หากสังเกตให้ดีช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีเดียพลัสใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในเรื่องจัดองค์กรภายใน เพราะภายหลังจากอิทธิวัฒน์ขายหุ้นทั้งหมดในมีเดียพลัสทิ้ง ลูกหม้อเก่าที่ร่วมบุกเบิกมีเดียพลัส ไม่ว่าจะเป็นวนิดา ทักษิณาภินันท์ อดีตกรรมการผู้จัดการ มรว.รุจยาภา อาภากร และวินิจ เลิศรัตนชัย พร้อมกับทีมงานจำนวนหนึ่งต่างก็ทยอยกันลาออกไป

แม้ว่ากลุ่มวัฏจักรจะมีความพร้อมทั้งข้อมูลและสื่อต่าง ๆ ในมือ แต่ธุรกิจวิทยุเป็นเรื่องใหม่ การขาดบุคลากรยุคบุกเบิกที่สร้างให้มีเดียพลัสเติบโตมาจนระดับนี้ย่อมมีปัญหาแน่

มีเดียพลัส ได้มีการปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยการดึง สรจักร เกษมสุวรรณ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป้นกรรมการผู้จัดการแทน มรว.รุจยาภา พร้อมทั้งดึงเอามืออาชีพในวงการต่าง ๆ อาทิ ศรัณย์ จันทพลาบูรณ์ มือการตลาดจากฟิลม์สีฟูจิมาเป็นผู้จัดการทั่วไป รวมทั้งมือดีจากเอไทม์ มีเดีย ชัยยุทธ เลาหะชนะกูร มาเป็นกรรมการผู้จัดการ และกินรี หินอ่อน ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและธุรกิจพิเศษ

แต่มีเดียพลัสในยุคของสรจักรต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกโครงการต่าง ๆ ที่วางไว้ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย แถมยังเกิดกรณีเกย์ไลน์ คลื่น 107.0 เมกะเฮิรตซ์จนเป็นข่าวอื้อฉาวบนหน้าหนังสือพิมพ์อยู่หลายวัน

มีเดียพลัสจึงต้องลงมือปรับทัพอีกหน ด้วยการโยกสรจักรไปเป็นนั่งรองประธานกรรมการบริหาร และให้รับผิดชอบเฉพาะโครงการสกายเรดิโอ ที่หวังกันว่าจะเป็นรูปเป็นร่างภายในปี 2539 พร้อมกับดึงเอายงยุทธ ฟูพงศ์ศิริพันธ์จากไทยสกายทีวีมาเป็นกรรมการผู้จัดการแทน โดยมีประดิษฐ์ รัตนวิจารณ์ มือบริหารของวัฏจักรซึ่งในระยะหลังมีบทบาทค่อนข้างมากขึ้นมานั่งเป็นประธานมีเดียพลัสดูแลธุรกิจกลุ่มวิทยุทั้งหมด

การปรับในครั้งนี้แม้โครงสร้างจะมองดูชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนธุรกิจวิทยุเช่น การจัดแยกทีมขายเป็น 4 กลุ่ม ทำหน้าที่ดูแลลูกค้าในแต่ละประเภท เช่น ทีมขายและการตลาดคลื่น 96, 98, และ 99.5 ทีมขายและตลาดคลื่น 100 เมกกะเฮิรตซ์ขึ้นไป และทีมขายดูและ ลูกค้าธุรกิจโทรทัศน์ส้มหล่น ที่มีเดียพลัสจะผลิตรายการป้อนให้

หากพิจารณากันให้ดีแล้วโครงสร้างใหม่นี้ เป็นเพียงแค่การจัดทัพใหม่ให้ดูดีขึ้นเท่านั้น เพราะยังคงยังให้ความสำคัญไปที่ธุรกิจวิทยุเช่นเดิม ในขณะที่ธุรกิจใหม่ ๆ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่จะมารองรับที่ชัดเจนแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของมีเดียพลัสนับจากนี้

การปรับปรุงในครั้งนี้จึงน่าเป็นแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ และแต่งหน้าทาปากให้ดูดีเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเป้าหมายสำคัญ คือ การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2539 เท่านั้น

กระนั้นก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นกันมีเดียพลัส ยังไม่เท่ากับสถานการณ์ที่ไทยสกายคอมกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ เพราะแม้มีเดียพลัสยังไม่มีโครงการอะไรใหม่ แต่ก็มีรายได้ต่อเนื่องผิดกับไทยสกายคอมอย่างชิ้นเชิง หลังจากกลุ่มวัฏจักรซื้อไทยสกายคอมต่อจากคีรี กาญจนพาสน์ที่ทำล้มเหลวมาแล้วโดยหวังจะใช้เป็น"สื่อ"ทางด้านทีวี แต่การดิ้นรนพลิกฟื้นสถานการณ์ของกลุ่มวัฏจักรดูจะไร้ผล

ไทยสกายทีวี ยังคงต้องวิ่งไล่ตามคู่แข่งอย่างไอบีซีที่วิ่งนำหน้าไปหลายช่วงตัวและยังไม่มีทีท่าว่าจะไล่ตามทัน ในขณะที่ยูทีวีเคเบิลทีวีของค่ายยักษ์ใหญ่ซีพี ก็วิ่งไล่กวดมาติด ๆ

สองปีเต็มที่ผ่านมา กลุ่มวัฏจักรได้ลงมือปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการด้วยการจับมือพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ไทยสกายทีวีจำต้องทุ่มเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อซื้อรายการระดับอินเตอร์ หลังพบว่ากลุ่มลูกค้าคนไทยนิยมบิรโภครายการจากต่างแดนมากกว่ารายการท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการจับมือสตาร์ทีวี เครือนิวส์ คอร์ป และรายการข่าวซีเอ็นเอ็น และการ์ตูนทีเอ็นที

แม้ว่าไทยสกายทีวี จะลดจุดอ่อนของตัวเองในเรื่องรายการต่างประเทศ ที่เท่าเทียมเคเบิลทีวีรายอื่น ๆ แต่รายการเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างไปจากไอบีซี หรือ ยูทีวีเลย

ทีมข่าว เป็นอีกสิ่งที่ไทยสกายทีวีทุ่มเทอย่างมาก เพราะเป็นความภูมิใจ ที่สร้างจุดแตกต่างให้กับไทยสกายทีวีในเวลานี้ จนกระทั่งต้องหันจับกับกลุ่มเนชั่นเพื่อเสริมสร้างจุดแข็งทางด้านนี้ให้มากยิ่งขึ้น แต่ความพยายามของไทยสกายไม่สัมฤทธิผล เพราะหลังจากร่วามือกันไม่นานกลุ่มเนชั่นก็ถอนตัวออกไป เช่นเดียวกันสารคดีของแปซิฟิก ที่ไทยสกายทีวีเคยนำมาแพร่ภาพก็ต้องลาจากกันไป

ทางด้านคู่แข่งขันมีเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับการแข่งขัน ไอบีซีเฉือนหุ้นให้ช่อง 7 และแกรมมี่ สองยักษ์ใหญ่ซอฟ์ตแวร์ของไทยเข้ามาซื้อ ในขณะที่ยูทีวีซึ่งมีความพร้อมในเรื่องเงินทุน และเครือข่ายก็เข้ามาในตลาด ยิ่งเป็นแรงกดดันให้กับไทยสกายทีวี

กระทั่งไทยสกายต้องมีการปรับโครงสร้างการบริหารใหม่ ด้วยการดึงเอาประมุทสูตะบุท อดีตผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) เข้ามานั่งเป็นประธานบริษัทเพื่อสร้างภาพลักษณ์ และอาศัยสายสัมพันธ์ และประสบการณ์ของอดีตผู้อำนวยการอ.ส.ม.ท.นี้ให้เป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจ

แผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ยังเป็นเป้าหมายของไทยสกายทีวี เพื่อใช้ปรับตัวเองเพื่อวิ่งไล่คู่แข่งให้ทัน ก็เป็นต้องอาศัยซอฟต์แวร์มีคุณภาพ และต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี ซึ่งต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก

แต่การเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ต้องมีกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันตลอด 3 ปี ในขณะที่การเพิ่มยอดสมาชิกยังอยู่เกือบ 3 ปีเต็มไทยสกายทีวีมียอดสมาชิกยังไม่ถึงแสนเลย และยังไม่มีผลกำไรที่เกิดจากการดำเนินงาน ในสภาวะเช่นนี้แล้วความฝันของไทยสกายทีวีคงอีกยาวไกล



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.