เมารีกับสงครามปืนไฟและการตกเป็นอาณานิคม

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าผมถามท่านผู้อ่านว่าเหตุผลใดทำให้อังกฤษมายึดเอาอเมริกาจากอินเดียนแดง ผมเชื่อว่าหลายท่านคงตอบได้โดยง่ายทั้งจากเหตุผลที่ชาวอังกฤษที่ต้องการที่ดินทำกิน หรือไม่ก็แสวงโชคจากดินแดนแห่งเสรีภาพ ซึ่งทำเป็นภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง เช่น ฟาร์แอนด์ อเวย์ หากถามถึงออสเตรเลียก็คงเป็นคำตอบมาตรฐานว่ามาจากที่ทิ้งนักโทษการเมือง ส่วนถ้าแอฟริกาก็ต้องเป็นเรื่องของทรัพยากรและยศถาบรรดาศักดิ์อย่างในภาพยนตร์เรื่องรูท แต่ถ้าถามถึงสาเหตุที่นิวซีแลนด์ต้องมาเป็นอาณานิคมผมเชื่อว่าคงหาผู้ตอบได้ยาก เพราะโดยมากจะมีการอธิบายคร่าวๆ แค่ว่าชาวเมารียินยอมลงนามยอมเป็นเมืองขึ้นฝรั่งในสนธิสัญญาไวตังกิ แต่ทำไมถึงยอมลงนามทิ้งเอกราชกันง่ายๆ ผมจึงขอถือโอกาสนี้นำเรื่องเกี่ยวกับเมารีในนิวซีแลนด์และเหตุที่อังกฤษยึดนิวซีแลนด์เป็นอาณานิคมมาเล่าสู่กันฟัง

ในความเป็นจริงแล้วก่อนจะมีการเซ็นสนธิสัญญาไวตังกิในปี 1840 ขณะนั้นยังไม่มีประเทศเอาเทียรัวที่เมารีกล่าวอ้าง ถ้าจะพูดให้ถูกไม่มีแม้แต่ชาวเมารีเสียด้วยซ้ำไป ก่อนที่ฝรั่งจะค้นพบประเทศนิวซีแลนด์นั้นแผ่นดินนี้ได้เป็นของชาวโพลีนีเชียนที่มาตั้งรกราก ชาวพื้นเมืองทุกกลุ่มจะสร้างอาณาจักรของตนเองและมีผู้นำปกครอง ชาวโพลีนีเชียนกลุ่มต่างๆจะมีเขตแคว้นของตนเรียกว่า อีวี่ และในอีวี่หนึ่งๆ จะมีพา หรือเมืองที่มีป้อมปราการล้อมจวนของเจ้าเมืองอีกทีหนึ่งและในเมืองมีมาราย ซึ่งเป็นเหมือนศาลากลางเพื่อประชุมและให้ประชาชนมาร้องทุกข์ในแคว้นใหญ่ๆ เช่น ไวกาโต เจ้าเมืองจะตั้งตัวเป็นพระราชามีปราสาทราชวังและมีอีวี่เล็กๆ เป็นเมืองออก ส่วนตำบลที่ขึ้นกับเมืองใหญ่ๆ จะเรียกว่าฮาพู และจะมีหัวหน้าเผ่าปกครอง และจะถูกเกณฑ์ไพร่พลเวลาที่มีศึกมาประชิดเมืองหลวง ทีนี้แคว้นต่างๆ ก็รบพุ่งกันก่อนที่ฝรั่งจะมาพบนิวซีแลนด์เสียอีก

สิ่งที่ทำให้ฝรั่งมาตั้งรกรากนั้นคือปลาวาฬที่อยู่นอกชายฝั่งนิวซีแลนด์ เมื่อฝรั่งมาถึงนิวซีแลนด์ก็ยังไม่ได้คิดที่จะยึดเอาเป็นเมืองขึ้น โดยมากก็มาเพื่อหาซื้อเสบียงจากชาวพื้นเมือง ตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มของคำว่าเมารี เพราะชาวพื้นเมืองเห็นฝรั่งตัวขาวๆ ลงจากเรือก็เรียกพวกนี้ว่า ปักคีฮ่า แปลว่าคนขาว ฝรั่งก็เลยชี้ถามชาวพื้นเมืองบ้าง ชาวพื้นเมืองซึ่งมาค้าขายกับฝรั่งก็มองหน้ากันแล้วชี้มาที่ตนเองกับเพื่อนแล้วตอบว่า เมารี แปลว่า พวกเดียวกัน จากนั้นเป็นต้นมาฝรั่งก็โมเมจำกัดความว่าชาวโพลีนีเชียนทั้งนิวซีแลนด์ว่าเป็นชาวเมารี เมื่อเริ่มทำการล่าปลาวาฬ ฝรั่งก็ต้องการลูกเรือไปล่าโมบีดิ้ค ชาวเมารีจำนวนไม่น้อยก็สมัครไปกับเรือฝรั่งและพบกับความมหัศจรรย์ของปืน เพราะเมารีในยุคนั้นมีอาวุธแค่หอกไม้กับพลองจะล่าปลาก็ทำได้แต่ปลาค็อด ทีนี้พอฝรั่งเอาปืนกับฉมวกมาโชว์ แถมลากปลายักษ์ ขึ้นมาบนบกได้ง่ายๆ พวกเมารีก็เกิดสนใจอาวุธของฝรั่งขึ้นมา

มูลเหตุของสงครามปืนไฟซึ่งต่อมานำมาถึงการเป็นเมืองขึ้นนั้นมาจากการที่ฝรั่งได้ตั้งเมืองเล็กๆ ขึ้นชื่อว่ารัสเซล ซึ่งอยู่ตรงข้ามกรุงไวตังกิซึ่งเป็นเมืองหลวงของเมารีเผ่านาปูฮี แคว้นนาปูฮีที่จริงแล้วเป็นอีวี่เล็กๆ ที่เป็นเมืองออกให้กับอีวี่ใหญ่คือนาติวาตัว แต่เจ้าเมืองนี้ชื่อ ฮองกิ ฮิกะ ก็เหมือนกับเจ้าเมืองเล็กๆ ทั่วไปที่ต้องการความเป็นไทของอาณาจักร จึงได้ต้อนรับขับสู้ฝรั่งเป็นอย่างดี จนฝรั่งก็ปักใจว่าฮองกิ ฮิกะนั้น ถ้าไม่ใช่กษัตริย์เมารีก็ต้องเป็นเจ้านายคนสำคัญ จึงส่งทูตมาประจำที่ไวตังกิ เรียกว่าเรสซิเดนท์ ในเวลานั้นฝรั่งไม่เคยบุกเข้าไปในแผ่นดินกีวีมากนัก โดยมากก็จะหาซื้อของแถวไวตังกิแล้วก็ออกเรือ จึงยังไม่รู้ความจริง

ฮองกิเองก็มองหาแหล่งที่จะได้ปืนมามากๆ นั่นก็คืออังกฤษ เขาจึงไปผูกมิตรกับสาธุคุณทอมัส เคนดอล โดยได้อุปถัมภ์ตั้งแต่ช่วยกันหาคำแปลระหว่างเมารีกับอังกฤษ ที่จริงแล้วเคนดอลเองก็มีหัวการค้าเขาจึงเดินทางไปเอาสินค้าโดยเฉพาะปืนจากซิดนีย์มาขายที่ไวตังกิอย่างสม่ำเสมอจนร่ำรวย ในที่สุดทางรัฐบาลที่ซิดนีย์เองก็กลัวว่าจะเกิดความวุ่นวายในนิวซีแลนด์จึงมีคำสั่งห้ามขายปืนให้เมารี

แต่เนื่องจากเคนดอลได้กลายเป็นผู้สันทัดภาษาเมารีจึงพาฮองกิ ฮิกะไปอังกฤษ โดยฮองกิเองก็สวมรอยว่าตนเองเป็นพระราชาของเมารีที่เดินทางมาเข้าเฝ้าพระเจ้าจอร์จที่ 4 เมื่อไปถึงอังกฤษ ทางการอังกฤษต่างต้อนรับขับสู้ฮองกิ ฮิกะเป็นอย่างดี เพราะสำคัญว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมารีจริงๆ ฮองกิและเคนดอลได้เข้าเฝ้าพระเจ้าจอร์จอย่างสมเกียรติ และได้เล่าถึงสงครามเพื่อปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องรวมทั้งการที่ซิดนีย์ประกาศห้ามขายปืนให้กับตน ผมเชื่อว่า ฮองกิคงเป็นนักเจรจาที่เก่งไม่น้อยเพราะสามารถทำให้รัฐบาลอังกฤษหลงเชื่อว่าเป็นพระราชาเมารีจริงๆ จนกระทั่งได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าจอร์จถึงกับทรงเสด็จพาฮองกิเยี่ยมชมโรงงานปืนใหญ่วูลวิชและยังทรงพระราชทานชุดเกราะอัศวินให้อีกด้วย รวมทั้งทางรัฐบาลอังกฤษยังได้มีคำสั่งให้ผู้ว่าการซิดนีย์ขายปืนให้ฮองกิ

พอกลับมาถึงไวตังกิในปี 1821 ฮองกิ ฮิกะอยู่ในสภาพพยัคฆ์ติดปีก เพราะผู้ว่าการที่ซิดนีย์ก็ไม่กล้าขัดคำสั่งของลอนดอนจึงต้องขายปืนให้ฮองกิ ซึ่งฮองกิก็ประกาศแข็งเมืองกับนาติวาตัวทันที จากจุดนี้เองเป็นจุดกำเนิดที่แท้จริงของสงครามระหว่างเมารีเรียกกันว่าสงครามปืนไฟ ฮองกิ ฮิกะได้ตีหัวเมืองทั้งพา ฮาพู หรืออีวี่ที่ขึ้นกับนาติวาตัวตลอดทางจนไปล้อมเมืองหลวงที่ทามากิจนแตกและสามารถจับประชาชนมาเป็นทาสได้หลายพันคน จากนั้นฮองกิ ฮิกะได้กรีธาทัพไปรบกับเมารีแคว้นต่างๆ หลังจากทำสงครามได้ 7 ปีเต็มๆ เผ่านาปูฮีได้ครอบครองเกาะเหนือของนิวซีแลนด์ไปมากกว่าครึ่งเกาะ ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ชาวเมารีหลายเผ่ารู้สึกถึงการเป็นชนชาติมากขึ้นเพราะว่าได้มารวมตัวกันเป็นพันธมิตรเพื่อป้องกันการรุกรานจากนาปูฮี และในที่สุดฮองกิ ฮิกะก็โดนพันธมิตร ซึ่งดั้นด้นหาปืนมายิงจนเสียชีวิตในปี 1828

ปัญหาที่ตามมาก็คือนาปูฮีตกอยู่ในภาวะวิกฤติเนื่องจากฮองกิ ฮิกะใช้เวลา 7 ปีอยู่แต่ในสนามรบแถมลูกชายของเขาต่างเสียชีวิตในสงครามจนหมดสิ้น แคว้นนาปูฮีแทบจะอยู่ในภาวะจลาจล บรรดาขุนศึกต่างแย่งชิงความชอบธรรมในการปกครองแคว้น เมื่อขาดกษัตริย์ที่อังกฤษรับรอง เผ่าที่ยังไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของนาปูฮีต่างก็สะสมปืนจากอังกฤษ ฝ่ายเมืองออกของนาปูฮีเห็นภาวะจลาจลต่างก็ประกาศแข็งเมือง ฝ่ายแคว้นพันธมิตร เมื่อไม่มีศัตรูร่วมกันก็เริ่มเกิดความแตกแยกและรบกันเอง สงครามปืนไฟหลังปี 1828 นั้นกินเวลาถึงถึง 11 ปี แคว้นไหนหาปืนได้ก็เกณฑ์ไพร่พลกันเพื่อทำสงครามทันที ทำให้มีทหารเมารีตายไปถึง 2 หมื่นคนในช่วง 11 ปีหลังและทำให้นิวซีแลนด์อยู่ในภาวะกลียุค

ในที่สุดชาวเมารีแคว้นที่รักสงบต่างมองว่ามีทางออกเพียงทางเดียวคือให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซง ในปี 1839 จึงได้ติดต่อผ่านเรสซิเดนท์เพื่อให้ช่วยไกล่เกลี่ยและจัดตั้งรัฐบาล จึงทำให้อังกฤษทำสนธิสัญญาไวตังกิ กับเมารี โดยชาวเมารีที่มาลงนามในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1840 ที่หน้าสถานทูตอังกฤษในกรุงไวตังกินั้นต่างยินยอมพร้อมใจให้อังกฤษเข้ามาปกครองแผ่นดินที่วุ่นวายโดยดุษฎี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.