หลังคายอดแหลมในสถาปัตยกรรมอิสลามของแคชเมียร์

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ในแคชเมียร์ดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม สถาปัตยกรรมที่น่าจะดารดาษหุบและเนินเขาแห่งนี้ควรได้แก่ยอดโดมและหอสูงของมัสยิดเช่นที่ปรากฏในเดลีและหัวเมืองหลายแห่งในอินเดีย แต่ทิวทัศน์ของที่นี่กลับแทรกแซมด้วยยอดแหลมของโครงหลังคาซ้อนลดหลั่นคล้ายเจดีย์ ชวนให้ผู้มาเยือนฉงนว่าโครงสร้างเหล่านี้เป็นมรดกของสายธารวัฒนธรรมใด

คำอธิบายของสถาปัตยกรรมแปลกตา นี้นอกจากจะเกี่ยวเนื่องกับภูมิอากาศที่มีหิมะลงหนักในช่วงฤดูหนาว ยังรวมถึงพื้นวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ในอดีตและการ รับเอาศาสนาอิสลามที่ต่างไปจากดินแดนอื่น

จากบันทึกโบราณในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1-6 แคชเมียร์หรือที่รู้จักกันในชื่อ กัษมีระ เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรคูชาน และมีสายวัฒนธรรมเชื่อมโยงใกล้ชิดกับกันธาระ ทั้งเชื่อกันว่าการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 4 (พ.ศ.643) มีขึ้นที่หุบเขาแห่งนี้โดยกษัตริย์ชาวพุทธคือกนิศกะ กุชานา เป็นองค์อุปถัมภ์ ผลจากการสังคายนา ครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดพุทธมหายาน ซึ่งต่อมาเผยแผ่ไปยังเอเชียกลาง จีน ตะวันออกไกล และชวา พุทธสถานสำคัญจากยุคนั้นที่ยังคงเห็นได้ในปัจจุบัน ได้แก่ ซากวิหารหินที่ฮาร์วัน และปารีหัสปุระ จากการสำรวจทาง โบราณคดีพบว่าโครงสร้างของเจดีย์และวิหาร ที่ฮาร์วันนั้นคล้ายคลึงกับที่พบในตักษิลา เดิมตัววิหารน่าจะเป็นหลังคาทรงพีระมิด มีมุขเป็นหน้าจั่วในสไตล์กันธาระ ส่วนซากเจดีย์ที่ปารีหัสปุระ เชื่อกันว่าฉัตรที่ตั้งอยู่เหนือองค์เจดีย์น่าจะสูงถึง 100 ฟุต

นับจากคริสต์ศตวรรษที่ 8 เป็นต้นมา ศาสนาฮินดูลัทธิไศวิษได้แแผ่เข้ามาแทนที่พุทธศาสนา ซากวิหารสำคัญจากยุคนั้น ได้แก่ มาร์ทันด์ อวันติปูร์ และปันเดรธาน ซึ่งล้วนแต่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกันและสืบทอดสไตล์จากพุทธสถานในช่วงศตวรรษก่อนหน้า คือเป็นวิหารหินบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขหน้าจั่วสี่ด้าน หลังคาทรงพีระมิด บางแห่งเป็นโครงสร้างซ้อนสองชั้น ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการสร้างที่ถอดแบบจากสถาปัตยกรรมไม้ในสมัยเดียวกัน

จากช่วงศตวรรษที่ 8 เช่นกัน เริ่มมีพ่อค้าและนักแสวงโชคชาวมุสลิมจากเปอร์เชียและเอเชียกลาง เดินทางเข้ามาค้าขายและตั้งรกรากในหุบเขาแคชเมียร์ ดังมีบันทึกโบราณว่าเติร์กบางกลุ่มเข้ามารับราชการเป็นทหารและศิลปินประจำราชสำนักของกษัตริย์ฮินดูในสมัยนั้น ทั้งชาวบ้านทั่วไปไม่นิยมเชือดสัตว์เอง แต่จะซื้อเนื้อจากพ่อค้าชาวมุสลิม กระนั้นชาวมุสลิมก็ยังถือเป็นประชากรส่วนน้อย

ประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแคชเมียร์อีกบทตอน เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1320-1323 เมื่อกัลโป รินชานา เจ้าชายชาวพุทธที่หนีการช่วงชิงบัลลังก์จากลาดักมาพร้อมบริวารกลุ่มเล็ก อาศัยช่องโอกาสทางการเมืองยึดอำนาจขึ้นเป็นกษัตริย์ของแคชเมียร์ในช่วงสั้นๆ ทั้งเปลี่ยนศาสนามานับถืออิสลามหลังจากได้พบกับ 'บุล บุล ชาห์' หรือเซย์ยิด ชาราฟูดิน ซูฟีจากเติร์กีสถาน สาเหตุการเปลี่ยนศาสนานั้นบางบันทึก ว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะรินชานาซึ่งเป็นชาวพุทธไม่ได้รับการยอมรับจากบรรดาพราหมณ์ที่เป็นมุขอำมาตย์ บ้างว่ารินชานาชอบปุจฉาวิสัชนาในทางธรรม และบรรดาพราหมณ์ประจำราชสำนักไม่สามารถให้คำตอบที่น่าพึงพอใจ กระทั่งเขาได้สนทนา ธรรมกับบุล บุล ชาห์ และเห็นว่าหลักความ เสมอภาคและภราดรภาพของศาสนาอิสลาม น่าจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่เกิดจากการถือวรรณะของชาวฮินดูในสมัยนั้น

แม้อิสลามจะกลายเป็นศาสนาประจำ ราชสำนักและสืบทอดต่อมาโดยกษัตริย์ชาวมุสลิมอีกหลายสมัย แต่ไม่พบว่ามีการบังคับให้ประชาชนเปลี่ยนศาสนา การหันมา นับถืออิสลามในหมู่ประชาชนมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป บ้างจากการเผยแผ่โดยตรง ของบรรดาซูฟีจากเปอร์เชียและเอเชียกลาง แต่ส่วนใหญ่เกิดจากความศรัทธาในหลักคำสอนของฤษีมุสลิมชาวแคชเมียร์ ในช่วงศตวรรษที่ 15-18 ซึ่งส่วนใหญ่บำเพ็ญพรตและมีชีวิตใกล้ชิดกับชาวบ้านอยู่ตามหุบเขาต่างๆ โดยเฉพาะฤษีนูรุดดิน (เชค นูรุดดิน) ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 และต้นศตวรรษที่ 15 กลอนคำสอนของเขายังเป็นที่จดจำและร้องในลักษณะของเพลงพื้นบ้านมาจนถึงทุกวันนี้

ด้วยการสืบทอดศาสนาอิสลามผ่านซูฟีสายต่างๆ และบรรดาฤษีมุสลิมเอง ทำให้ ขนบประเพณีทางศาสนาอิสลามของแคชเมียร์มีลักษณะพิเศษหลายประการ อาทิ การขับลำนำบทสวดที่เรียกว่า Aurad-I Fathiyya ริเริ่มโดยเซย์ยิด อาลี ฮัมดานี ซูฟีสายคูบราวีที่เข้ามาในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 เนื่องจากเห็นว่าชาวแคชเมียร์ไม่น้อย หรือแม้แต่กษัตริย์เมื่อเปลี่ยนมานับถืออิสลาม ก็ยังไม่เลิกนิสัยเข้าวัดตีกลองร้องลำนำบูชาเทพเจ้า จึงสอนให้ขับบทสวดพร้อมกันหลังการละหมาดเช้าและค่ำ โดยไม่ต้องมีการตีกลองหรือบูชายันต์แพะแกะ นอกจากนี้ยังมีการสร้างศาลและสุสานที่เรียกกันว่า asthan ของฤษีคนสำคัญๆ อยู่ตามหมู่บ้านทั่วไป บางแห่งสร้างเป็นทั้งมัสยิดและศาลสำหรับสักการะอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งทุกวันนี้ชาวบ้านที่ไปสักการะศาลก็ยังมีประเพณีการผูกด้ายขอพร ดื่มน้ำมนต์ บางแห่งใครจะเข้าสักการะต้องงดกินเนื้อสัตว์ในวันนั้น ซึ่งขนบความเชื่อเหล่านี้บอกได้ยากว่าเป็นพุทธ ฮินดู หรือมุสลิม

ในแง่สถาปัตยกรรมก็เช่นกัน หากสังเกตจากมัสยิดหรือศาลเก่าแก่ที่กระจัด กระจายอยู่ทั่วหุบเขาแคชเมียร์ จะพบว่าเป็น อาคารไม้ผสมงานก่ออิฐทรงจัตุรัส หลังคาเป็นทรงพีระมิดซ้อนและมีหอคอยเป็นยอดแหลมเพรียวลมคล้ายยอดเจดีย์ ซึ่งเป็นการปรับแบบจากสถานที่สำคัญทางศาสนาเดิมคือพุทธและฮินดู มากกว่าจะนำเข้าสถาปัตย- กรรมอิสลามแบบที่แพร่หลายอยู่ในเปอร์เชียและเอเชียกลางสมัยนั้น ซึ่งส่วนใหญ่มีการใช้ซุ้มประตูโค้ง หลังคารูปโดม และหอคอยสูง เหตุผลหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องภูมิอากาศที่มีหิมะลงหนักในช่วงฤดูหนาว หลังคาทรงพีระมิดย่อมเอื้อแก่การละลายตัวของหิมะ แต่เหตุผลสำคัญน่าจะอยู่ที่ความเชี่ยวชาญของช่างท้องถิ่นที่คุ้นชินกับสถาปัตยกรรมไม้ และความที่มีทรัพยากรไม้อยู่เหลือเฟือ ประกอบกับเป็นงานที่สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธา ของชาวบ้านที่มีต่อซูฟีหรือฤษีที่นับถือ มากกว่าเป็นสถาปัตยกรรมราชสำนัก แบบและโครงสร้างจึงเป็นการปรับใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยไม่ตั้งแง่ว่าเป็นมรดกจากศาสนาใด

ตัวอย่างสถาปัตยกรรมสไตล์ดังกล่าว ที่เห็นเค้าชัดเจนและยังคงสภาพงดงาม ได้แก่ มัสยิดชาห์อีฮัมดาน และศาลของฤษีนูรุดดิน ศาลดังกล่าวแม้ว่าอาคารเดิมจะถูกไฟไหม้ไปเมื่อหลายปีก่อน แต่งานที่สร้างขึ้นใหม่ก็มีความพยายามที่จะรักษาโครงสร้างเดิมไว้ ส่วนมัสยิดชาห์อีฮัมดานริมแม่น้ำเจห์ลุมในเมืองศรีนาการ์นั้น ถือว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์จากครั้งแรกสร้างและต่อเติมในศตวรรษที่ 15 โครงสร้างเป็นอาคารไม้สองชั้นทรงจัตุรัส มีมุขยื่นเป็นระเบียงเปิดทั้งสี่ทิศ หลังคาทรงพีระมิดลดหลั่น ตรงกลางมีหอคอยสำหรับขานยามละหมาด เหนือหอคอยเป็นยอดแหลมประดับด้วยหน้าจั่วเล่นเชิงชายคาทั้งสี่ทิศ ตัวอาคารถือเป็นมรดกสถาปัตยกรรมไม้ที่หาดูได้ยาก แสดงให้เห็นหลักการก่อสร้างในสมัยโบราณ ซึ่งก่อผนังด้วยการเรียงสลับด้วยซุงขนาดใหญ่คล้ายการก่ออิฐ เพดานด้านในประดับด้วยงานไม้ลวดลายเรขาคณิตที่เรียกว่า คาตัมบันด์

สถาปัตยกรรมที่สำคัญอีกแห่งคือจาเมียมัสยิดในเมืองศรีนาการ์ สร้างขึ้นโดยสุลต่านซิกันดาร์ ในปี 1404 และผ่านการบูรณะหลายครั้ง แต่ยังคงไว้ซึ่งโครงสร้าง ดั้งเดิม มัสยิดแห่งนี้ถือว่ามีโครงสร้างใกล้เคียงกับสถาปัตยกรรมอิสลามกระแสหลักมากที่สุด นั่นคือตัวอาคารเป็นระเบียงเปิดสู่ลานจัตุรัสภายใน แบ่งพื้นที่ภายในและค้ำยันโครงสร้างด้วยเสาขนาดใหญ่ 378 ต้น แต่ซุ้มทางเข้าที่อยู่กึ่งกลางแนวระเบียงทั้งสี่ทิศ สร้างเป็นซุ้มหลังคาทรงพีระมิดเหมือน มีศาลสี่หลังเป็นองค์ประกอบนั่นเอง

แม้ว่ามัสยิดที่บูรณะหรือสร้างขึ้นใหม่ ทุกวันนี้ จะเริ่มหันมาใช้โครงสร้างสถาปัตย-กรรมอิสลามกระแสหลักอย่างยอดโดมทรงกลมกันมากขึ้น แต่หลายแห่งพบว่ามีการผสมผสานด้วยหอคอยหลังคาพีระมิดยอดแหลมที่เป็นเอกลักษณ์ และสาเหตุของการเปลี่ยนมาใช้ยอดโดมน่าจะเป็นเรื่องวัสดุ ซึ่งทุกวันนี้อิฐและปูนย่อมหาง่ายและราคาย่อมเยากว่าไม้ ดังที่บ้านสร้างใหม่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นงานก่ออิฐถือปูนมากกว่าไม้ผสมอิฐเช่นสมัยก่อน

ภาพทิวทัศน์หุบเนินที่ประดับแซมด้วยหลังคาพีระมิดยอดแหลมของมัสยิด นอกจากจะเป็นมรดกความงามของแคชเมียร์ ยังเป็นประจักษ์พยานถึงความอดกลั้นและการเคารพในรากวัฒนธรรมของกันและกันอันน่ายกย่องของคนในอดีต


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.