Lost in Beijing

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

หลายปีมานี้นอกจากภาพยนตร์ของผู้กำกับจีนแผ่นดินใหญ่กระแสหลักอย่างจาง อี้โหมว, เฝิง เสี่ยว กัง หรือเฉิน ข่ายเก๋อแล้ว ผมไม่ได้ดูภาพยนตร์สะท้อนสังคมในท่วงทำนองสลดหดหู่ที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่มากเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์แนวนี้มาอย่างต่อเนื่องในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Beijing Bicycle (กำกับโดยหวัง เสี่ยวซ่วย), Cellphone (เฝิง เสี่ยวกัง), Shower (จาง หยาง) หรือ Together (เฉิน ข่ายเก๋อ) เป็นต้น

เหตุผลของการไม่พยายามดูและไม่เขียนถึงภาพยนตร์แนวนี้อีกในช่วงหลายปีหลังก็คือ ผมรู้สึกว่าคนทำหนังจีนแผ่นดินใหญ่ จำนวนมากทำภาพยนตร์สะท้อนสังคมได้สลดหดหู่อย่างถึง "ก้นบึ้ง" ของจิตใจเสียเหลือเกิน สลดหดหู่เสียจนผมคิดว่า หากคนที่รู้สึกโดดเดี่ยว-เหงาหงอยอยู่แล้ว ได้ดูภาพยนตร์เหล่านี้ ก็อาจจะลงมือทำอัตวินิบาตกรรมได้ง่ายๆ ดังนั้นในช่วงหลังผมจึงหันไปดูภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่ในแนวอื่นๆ เช่น หนังพีเรียด หนังตลก หนังกำลังภายในแทน กระทั่งเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมไปเจอข่าวชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ชื่อ Lost in Beijing...

ข่าวระบุว่าภาพยนตร์เรื่อง Lost in Beijing ถูกคณะกรรมการบริหารกิจการวิทยุ ภาพยนตร์และโทรทัศน์แห่งชาติจีน (SARFT) (ที่ผมตั้งชื่อเล่นให้สั้นๆ ว่า "กบว.จีน" แต่ กบว. จีนนี้เป็นองค์กรมีอำนาจมากกว่า กบว.ไทยหลายเท่านัก) ถอดออกจากโรงด้วยข้อหา 3 ประการหลักๆ ด้วยกันก็คือ หนึ่ง ละเมิด "ระเบียบการจัดการภาพยนตร์" ด้วยการมีเนื้อหาลามกอนาจาร สอง ผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์เนื้อหาลามกอนาจารที่ไม่ได้รับอนุญาตดังกล่าวไปบนอินเทอร์เน็ต สาม นำภาพยนตร์ชุดที่ไม่ได้รับการอนุมัติส่งเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่กรุงเบอร์ลิน (Berlin International Film Festival) เมื่อเดือนกุมภา พันธ์ 2550 จึงมีคำสั่งให้ถอนใบอนุญาตการเผยแพร่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะที่ ฟัง ลี่ โปรดิวเซอร์และเจ้าของบริษัท Laurel Films ผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่อง นี้ก็ถูกแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์เป็นเวลาสองปี

หลายคนคงสงสัยแล้วว่าภาพยนตร์ Lost in Beijing นั้นมีเนื้อหา อย่างไร ทำไมจึงถูกแบนได้?

Lost in Beijing หรือในชื่อจีนคือ ผิงกั่ว ที่แปลความหมายตรงตัวได้ว่า "แอปเปิล" นั้นเป็นภาพยนตร์ที่สร้างโดยผู้กำกับหญิง ที่ชื่อว่า หลี่ อี้ว์ นำแสดงโดยดาราจีนชื่อดังอย่างดาราสาว ฟ่าน ปิงปิง (แสดงเป็นหลิว ผิงกั่ว สาวบริการในร้านนวดเท้า) ถง ต้าเว่ย (แสดงเป็นอาคุน สามีของหลิว ผิงกั่ว ประกอบอาชีพเป็นช่างเช็ดกระจกตามตึกสูง) ดาราฮ่องกงมากประสบการณ์เหลียง เจียฮุย (แสดงเป็นหลิน ตง เจ้าของร้านนวดเท้า) และ จิน เยี่ยนหลิง ดาราหญิงมากฝีมือชาวไต้หวัน (แสดงเป็นหวัง เม่ย ภรรยาของเจ้าของร้านนวด)

เรื่องราวมีอยู่ว่าหลิว ผิงกั่วและอาคุน สามีนั้นเป็นชาวตงเป่ย (ชาวจีนภาคตะวันออก เฉียงเหนือ) ที่อพยพมาหาเลี้ยงชีพในมหานครปักกิ่ง โดยผิงกั่วนั้นเป็นสาวสวยที่ได้งานในร้าน นวดเท้าที่เปิดกันอย่างกลาดเกลื่อนในประเทศจีน โดยมีเจ้าของร้านเป็นชายวัยกลางคนจอม เจ้าชู้นามหลิน ตง โดยหลิน ตงนั้นก็มีภรรยาที่แต่งงานกันมานาน 10 กว่าปีแล้ว

จุดหักเหของเรื่องราวอยู่ที่ว่า วันหนึ่งผิงกั่วถูกเจ้านายข่มขืนในร้านนวด โดยที่อาคุน สามีของเธอนั้นบังเอิญเห็นเหตุการณ์เข้าพอดี (เนื่องจากเป็นช่างเช็ดกระจกที่กำลังเช็ดกระจก ห้องที่ภรรยาถูกข่มขืนอยู่พอดี) อาคุนจึงถือโอกาสนี้เรียกร้องเงินจากหลิน ตง เป็น "ค่าชดเชยความเสียหายทางจิตใจ" จำนวน 20,000 หยวน อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาผิงกั่วกลับตั้งท้องขึ้นมาโดยไม่ทราบว่าเด็กในท้องเป็นลูกของใคร ด้วยความละโมบ อาคุนจึงถือโอกาสนี้ ต่อรองขอเงินเพิ่มจากหลิน ตง เศรษฐีเจ้าของร้านนวดที่ซึ่งเดิมทีเบื้องลึกจิตใจก็มีรอยด่างอยู่แล้วเนื่องจากภรรยาที่แต่งงานกันมานานนับสิบปีไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ จนในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันได้ และทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรระบุว่า ถ้าเด็กคลอดออกมาแล้วสามารถพิสูจน์แล้วว่าเป็นลูกของหลิน ตง เขาก็จะต้องจ่ายเงินจำนวน 100,000 หยวนเป็นค่าตอบแทนให้กับอาคุนและผิงกั่ว

ในส่วนของหลิน ตง และหวัง เม่ย สอง สามีภรรยาที่ต้องการบุตรเพื่ออวดสถานะทางสังคม ทั้งคู่ต่างก็ทำสัญญาเป็นทางการต่อกันว่า หากหลิน ตง นอกใจไปมีสัมพันธ์กับผิงกั่วอีก ทั้งสองก็จะต้องหย่ากันโดยแบ่งทรัพย์สินกันคนละครึ่ง

ได้ฟังเรื่องย่อเพียงแค่นี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านก็เริ่มปวดหัวเสียแล้ว ตัวผมเอง เมื่อดูภาพยนตร์ถึงจุดนี้ก็รู้สึกไม่แตกต่างไปจาก ท่านผู้อ่านเท่าไรนัก ขณะที่นักวิจารณ์ฝรั่งหลายคนที่ได้ดู Lost in Beijing กลับแสดงทัศนะในแง่ลบต่อภาพยนตร์เรื่องนี้โดยจำนวนหนึ่งระบุว่าแม้ดาราตัวหลักทั้งสี่จะแสดงได้ยอดเยี่ยม แต่บทภาพยนตร์กลับ "ขาดความสมจริง" กล่าวคือเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ "มีความบังเอิญมากเกินไป" และการกระทำหลายอย่างของตัวละครนั้น "ยากที่จะทำความเข้าใจ"

โดยทัศนะส่วนตัว ผมกลับมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์จีนที่สะท้อนภาพของสังคมเมืองใหญ่ในประเทศจีนได้อย่างยอดเยี่ยม ความบังเอิญ ความซับซ้อน ความไม่สมจริงที่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์นั้น หลายเรื่องหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงในสังคมจีน ณ ปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ดังที่ผมกล่าวไปในตอนต้น ในยุคปัจจุบันนี้ภาพยนตร์สะท้อนสังคมของ จีนแผ่นดินใหญ่นั้น ผู้กำกับรุ่นใหม่หลายต่อหลายคนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่าง "ถึงกึ๋น" ทั้งสิ้น เนื่องจากพวกเขาอยู่ในสังคมที่มี "วัตถุดิบ" ในการสร้างหนังที่มากมายมหาศาล เพราะประเทศจีนในยุคปัจจุบันหลายสิ่งหลายอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจก็เติบโตเร็ว ปัญหาสังคมก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจกล่าวได้ว่าภาพความเปลี่ยนแปลงในประเทศจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นภาพความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนในโลกมาก่อน

จากปี 2544 ที่หนัง Beijing Bicycle ของหวัง เสี่ยวซ่วยออกฉาย โดยหยิบเอาเหตุการณ์การขโมยจักรยานในกรุงปักกิ่งมาอธิบายภาวะของสังคมเมืองที่เปลี่ยนไปของประเทศจีน เวลาผ่านมาเพียง 6 ปี เมื่อหนัง Lost in Beijing ออกฉาย Beijing Bicycle กลับกลายเป็นหนังตกยุคที่ไม่สามารถอรรถาธิบายความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ของสังคมจีนได้อีกต่อไปแล้ว

นอกจากนี้ผมยังไม่รู้สึกแปลกใจเท่าไรที่นักวิจารณ์ฝรั่งให้ทัศนะว่า พวกเขาไม่ค่อยเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน Lost in Beijing เพราะผมเห็นว่าคนที่จะทำความเข้าใจงานของ ผู้กำกับ หลี่ อี้ว์ ได้นั้นจำเป็นต้องเป็นผู้ที่สัมผัส กับสังคมจีนและเข้าใจพลวัตทางวัฒนธรรมจีน ในยุคปัจจุบันมากพอสมควร

ความเยี่ยมยอดของหลี่ อี้ว์ เริ่มต้นตั้งแต่ชื่อภาพยนตร์ คำว่า "ผิงกั่ว"...

จริงๆ แล้วโดยเนื้อหาของภาพยนตร์นั้นคำว่า "ผิงกั่ว" ไม่ได้มีนัยอะไรเลยนอกจาก การเป็นชื่อของนางเอก อย่างไรก็ตาม ในทัศนะ ของผมแล้ว สำหรับคำว่า "ผิงกั่ว" หรือ "แอปเปิล" นั้นก็คือชื่อของบริษัท Apple เจ้าของสินค้ายอดนิยมอย่าง iPhone, iPod, iMac ฯลฯ สำหรับคนจีนแล้วสินค้าของบริษัท Apple ถือได้ว่าเป็นสินค้าราคาแพง แต่ก็เป็นเครื่องประดับ-ของใช้ที่สามารถบ่งบอกมาตรฐาน ของการเป็นชนชั้นกลางได้ (ซึ่งคล้ายกับเมืองไทยและอีกหลายๆ ประเทศ แต่ในกรณีนี้ผมอาจจะตีความผิดก็ได้นะครับ!)

ต่อมาก็คือ การสอดแทรกภาพต่างๆ ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกเข้าไปในภาพยนตร์ เช่น ภาพของ "กำแพงเก้ามังกร" จำลองที่ตั้งอยู่ในบริเวณสวนของอพาร์ตเมนต์สุดหรูของหลิน ตง เจ้าของร้านนวด ทั้งๆ ที่แต่ไหน แต่ไรมากำแพงเก้ามังกรนั้นเป็นสัญลักษณ์ของฮ่องเต้และจะมีอยู่แต่เฉพาะในพระราชวังของฮ่องเต้จีนในยุคโบราณเท่านั้น เช่น พระราชวังต้องห้าม หรือสวนเป๋ยไห่ (เดิมทีเป็นสวนส่วนพระองค์ของฮ่องเต้ในสมัยโบราณ) แต่ในยุคปัจจุบันคนจีน ซึ่งถูกปกครองโดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปฏิเสธระบอบฮ่องเต้-ระบอบกษัตริย์โดยสิ้นเชิง กลับหยิบเอากำแพงเก้ามังกรดังกล่าวมาประดับในบริเวณบ้านตัวเองได้อย่างไม่เคอะเขิน

นอกจากนี้การเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ยังทำได้ค่อนข้างแนบเนียนและสามารถสอดแทรกการกระทำ และคำพูดต่างๆ ที่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมจีนให้คนดูได้เห็นอย่างแจ่มชัด ตัวอย่างเช่น คนจีนในยุคนี้นิยมทำธุรกรรมทุกอย่างในรูปแบบ "สัญญา" แม้กระทั่งเรื่องส่วนตัว อย่างเช่น การทำสัญญาเพื่อซื้อขายเด็กทารกที่เกิดมา, การทำสัญญาข้อตกลงระหว่างสามีภรรยา เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สิน ฯลฯ ซึ่งการกระทำเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนจีนปัจจุบันพยายามลอกเลียนมาตรฐานของสังคมตะวันตกมาแบบ ผิดๆ ทั้งยังเป็นแนวคิดที่สุดขั้ว สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่าในปัจจุบันสังคมจีนกำลังประสบกับวิกฤติการณ์ของการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่ความไว้เนื้อเชื่อใจ-ความซื่อสัตย์นั้นเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานที่คนจีนยึดถือมาตั้งแต่อดีตกาล อย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยของขงจื๊อเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ทั้งยังบ่งชี้ให้เห็นถึงสภาวะของการขาดมโนธรรมสำนึกทางด้านคุณธรรม-จริยธรรมอย่างรุนแรง ซึ่งการขาดคุณธรรมดังกล่าวนั้นก็นำมาสู่ปัญหาของการค้าประเวณี การทำแท้ง การทำผิดจริยธรรมทางวิชาชีพ สังคมเงินเป็นใหญ่ สังคมที่ตีมูลค่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นตัวเงิน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างครบถ้วนในภาพยนตร์เรื่องนี้

ในส่วนของบทพูด ภาพยนตร์เรื่องนี้แทรกคำพูดเด็ดๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมในสังคมจีน ยุคปัจจุบันมากมาย เช่น ค่าชดเชยความเสียหายทางจิตใจ, แล้วไปเจอกันที่ศาล, ลักพาตัว, ตกแต่งบ้าน ฯลฯ

กลับมาถึงเรื่องผลกระทบ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ในด้านอื่นๆ กันบ้าง นอกจากเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ถูกใจ พรรคคอมมิวนิสต์จีนดังที่กล่าวไปแล้ว ผลกระทบจากการลงโทษผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นได้ถูกขยายวงออกไป เนื่องจากทางการจีนได้ถือโอกาสนี้ดำเนินการจัดระเบียบธุรกิจบริการดูหนัง ดูคลิปวิดีโอทำนอง เดียวกับยูทิวบ์ (Youtube) ที่เป็นเว็บไซต์สัญชาติจีนเลยเสีย ทีเดียว โดยล่าสุดกระทรวงข้อมูลข่าวสารและกรมวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีนได้ประกาศระเบียบใหม่ที่มีสาระว่าเว็บไซต์ใดที่ต้องการให้บริการภาพวิดีโอบนอินเทอร์เน็ตจะต้องเป็นหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตและเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเป็นหน่วยงานที่ถูกควบคุมโดยรัฐ ทั้งนี้ให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 31 มกราคม 2551 ระเบียบดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ก็คือ ณ ปัจจุบันบริษัทที่ให้บริการวิดีโอบนอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนเกือบทั้งหมดเป็นบริษัทเอกชน ดังนั้นระเบียบใหม่ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบธุรกิจอินเทอร์เน็ตจีนเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน...

ในส่วนของประเทศไทย Lost in Beijing ถูกนำมาฉายเป็นครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์ Bangkok Film Festival เมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา โดยสามารถคว้ารางวัล Special Jury Prize ไปได้ ด้วย ขณะที่ในประเทศจีน Lost in Beijing ได้รับอนุญาตให้ฉายตามโรงภาพยนตร์ที่เกาะฮ่องกงในเดือนพฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมาโดยถูกจัดเรตให้เป็นภาพยนตร์สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เนื่องจากระบบเซ็นเซอร์ที่ฮ่องกงนั้นเป็นคนละระบบกับจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่นั้นกว่าที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะฉายได้บนผืนดินเกิดก็ถูกตัดฉากต่างๆ ที่ กบว. และพรรคคอมมิวนิสต์จีน "ไม่ปลื้ม" ไปเสียเหี้ยน ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไปในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 แต่ในท้ายที่สุดหลังจากที่เข้าโรงไปได้ระยะหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถูกแบนในข้อหาว่า มีการนำเวอร์ชัน Uncut ที่ไม่ผ่านการเซ็นเซอร์จากทางการไปเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตเสียทั่ว

แม้รัฐบาลปักกิ่งจะสามารถแบนภาพยนตร์เรื่องนี้ออกจากจอภาพยนตร์ในประเทศได้ แต่ทว่าจอในโรงภาพยนตร์กลับเป็นช่องทางเล็กๆ ของการแสดงออกและถ่ายทอด ซึ่งทัศนะของคนจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้การออกมาดำเนินการดังกล่าวของทางการ จีนกลับยิ่งปลุกกระแสความอยากรู้อยากเห็นของคนจีนและชาวโลกให้เพิ่มมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ พิสูจน์ได้จากการที่มีแผ่นดีวีดีเถื่อนของ Lost in Beijing วางขายกันเกลื่อนกลาดในประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีการกระจายไฟล์ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้คนทั่วโลกสามารถดาวน์โหลดได้ทั่วไปบนอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารกำลังท่วมทับโลก ใบนี้จากทางด่วนไซเบอร์ ฤา ... Lost in Beijing จะพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลปักกิ่งคงจะ Lost on the internet เสียแล้ว?


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.