|

จากกระดาษกลายเป็นถ้วย
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
"คุณซื้อโค้กแก้วหนึ่ง คุณถือแก้วนั้นไม่เกิน 5 นาที ขณะที่ผมเป็นคนผลิตต้องควบคุมว่าถ้วยต้องไม่รั่ว ไม่ซึม ต้องควบคุมคุณภาพของแก้วหรือถ้วยกระดาษต้องไม่สัมผัสมือของคนทำงาน ต้องสะอาด และควบคุมหมึกว่าต้องเป็น food grade นี่คือหัวใจของการผลิตถ้วยกระดาษ" พศิน กมลสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เค.เอ็ม. แพ็กเก็จจิ้ง ที่มีศักดิ์เป็นลูกชายเจ้าของกิจการผลิตถ้วยกระดาษที่ลือกันว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จากผู้ผลิตถ้วยกระดาษอีก 4-5 รายในปัจจุบัน
ปัจจุบันกระบวนการผลิตถ้วยกระดาษไม่ซับซ้อนมากนัก เพราะเทคโนโลยีและเครื่องจักรนั้นทันสมัยขึ้นมาก แต่ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ปลายทางที่ได้จากแต่ละโรงงาน กลับอยู่ที่รายละเอียดของเทคนิคในการผลิตบางขั้นตอน อาทิ การฉีดสีลงบนกระดาษ ซึ่งจะได้สีของลวดลายที่ลอกเลียนแบบกันได้ยาก หากไม่สั่งสมประสบ การณ์เอาไว้เสียก่อน
เหนือสิ่งอื่นใดคือการควบคุมคุณภาพให้ถ้วยกระดาษนั้นสะอาด ในระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหาร โดยทุกขั้นตอนไม่เพียงพนักงาน ของโรงงานจะตรวจสอบแค่ว่าถ้วยกระดาษนั้นรั่วหรือไม่เท่านั้น แต่ยังควบคุมการทำงานของฝ่ายผลิตว่าต้องไม่สัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งที่ก่อเชื้อโรคด้วย
หลังจากกระดาษเคลือบโพลีเอทิลีนที่ใช้สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารม้วนใหญ่ขนาดเท่าคนหนึ่งคนโอบไม่รอบถูกลำเลียงเข้ามาในตัวโรงงาน
พนักงานส่วนหนึ่งจะทำการตัดกระดาษให้ได้ขนาดสำหรับแท่นพิมพ์ที่จะใช้พิมพ์ลวดลายลงบนกระดาษ ซึ่งถือเป็นขั้นตอน แรกสุดของกระบวนการผลิตถ้วยกระดาษ
ลวดลายของแก้วกาแฟ แก้วน้ำอัดลม ถ้วยไอศกรีม หรือถังข้าวโพด ทั้งที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ออกแบบเอง หรือให้ เค.เอ็ม.แพ็กเก็จจิ้งเป็นคนออกแบบในราคาต่อแบบที่ขั้นต่ำ 3 พันบาท จะถูกพิมพ์ลงบนกระดาษพีอีที่ว่า
บางลวดลายต้องวางทิ้งไว้ให้สีแห้งติดกระดาษนานเกิน 3-5 วัน ก่อนจะถูกลำเลียงไปยังแท่นไดคัต เพื่อทำฉลุตามแบบของ ถ้วยกระดาษทั้งหมด พนักงานส่วนหนึ่งจะดึงแบบถ้วยออกจากแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ที่ผ่านเครื่องไดคัตมาแล้ว
กระดาษที่ถูกพิมพ์ลายและตัดเป็นชิ้นขนาดเท่าแก้วที่ต้องการ ถูกส่งเข้าเครื่องจักรอัตโนมัติ ทำการขึ้นรูปเป็นถ้วย โดยเครื่องจักรจะม้วนกระดาษและผ่านความร้อนละลายกระดาษเคลือบพีอีให้ติดกันกลายเป็นรูปทรงถ้วย ติดก้นถ้วย ม้วนปากแก้ว ลมจะดูดแก้วที่ม้วนปากแล้วไปตามท่อใสๆ ขนาดใหญ่กว่าตัวถ้วย และไปรวมกันตรงปลายทาง เพื่อให้พนักงานทำการนับและบรรจุลงกล่อง หรือถ้วยที่ต้องติดหูบางส่วนจะถูกลำเลียงไปติดหูที่เครื่องติดหูถ้วย หรือเครื่องติด double wall สำหรับกรณีเป็นถ้วยที่ป้องกันความร้อนแบบ ไม่ติดหู
โดยทุกกระบวนการพนักงานฝ่ายตรวจสอบจะทำการสุ่มตรวจถ้วยกระดาษทั้งตรวจความสามารถในการอุ้มน้ำร้อน น้ำเย็น สุ่มตรวจเชื้อโรค ขณะที่เครื่องจักรใหม่ๆ บางเครื่องจะติดตั้งกล้องขนาดจิ๋วทำการถ่ายภาพสิ่งปนเปื้อนในถ้วยกระดาษในระหว่างกระบวนการผลิตถ้วยด้วย
หลังจากที่ผ่านพ้นทุกกระบวนการผลิต ถ้วยกระดาษ พนักงานจะทำการแพ็กถ้วยทั้งหมดลงกล่อง ติดรูปพร้อมระบุขนาดของถ้วยและจัดส่งให้กับร้านค้าเป็นลำดับต่อไป
กว่าจะได้ถ้วยกระดาษหนึ่งใบต้องใช้เวลานานหลายวัน แม้ผู้บริโภคจะถืออยู่ในมือเพียงไม่กี่นาที แต่ทุกพิถีพิถันล้วนแต่ส่งผล กับทั้งภาคธุรกิจที่ใช้ถ้วยกระดาษ ร่างกายของผู้บริโภคที่ถือถ้วยกระดาษหรือแม้แต่กับสิ่งแวดล้อมด้วยในเวลาเดียวกัน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|