|

แหล่งเที่ยวคู่เมืองหลวงใต้ตอนล่าง
โดย
ปิยะโชติ อินทรนิวาส
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
เม็ดทรายขาวเนียนที่ถูกคลื่นทะเลกวาดมารวมกันเป็นชายหาดทอดยาวสุดลูกหูลูกตามีทั้งที่ตรงเป็นแนว บางช่วงเว้าเป็นรูปอ่าว ตรงที่ผ่านปลายแหลมก็จะเป็นโขดหิน รวมระยะทางของชายหาดได้ความยาวกว่า 9 กิโลเมตร
แนวชายหาดเริ่มจากหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้านเก้าเส้ง แล้วเลาะเลียบโอบล้อมอ้อมแหลมสมิหลาที่มีประติมากรรมนางเงือกตั้งโดดเด่นเป็นสง่า ตามมาด้วยแหลมสนอ่อน ก่อนจะไปสิ้นสุดที่สวนสองทะเล ที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ บริเวณอันเป็นช่องแคบปากทางน้ำเชื่อมต่อระหว่างทะเลสาบสงขลากับทะเลอ่าวไทยและตลอดแนวชายหาดมีทิวสนเอนยอดไหวระรื่นล้อลมทะเลกางกั้นระหว่างผืนทรายกับแผ่นดิน
ในท้องทะเลหน้าหาดมีเกาะหนูและเกาะแมวทอดร่างหมอบนอนสงบนิ่งมองเห็นได้อย่างเด่นชัด ขณะที่ถัดจากชายหาดเข้าไปในผืน แผ่นดินมีขุนเขาเด่นตระหง่านคือ เขาตังกวนและเขาน้อย โดยบนยอดเขาตังกวนประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองและพระตำหนักสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนยอดเขาน้อยประดิษฐานอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์
ซึ่งทั้งหมดประกอบขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ตำนานเล่าขานและนิยายปรัมปราสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนเป็นส่วนสำคัญ ที่ช่วยแต้มแต่งมนต์เสน่ห์ให้กับชายหาดสมิหลาในยุคเก่า หรือเมื่อหลาย สิบปีมาแล้ว
หาดสมิหลาถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันเป็นส่วนสำคัญของตัวเมืองสงขลาเลยก็ว่าได้เพราะตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา
สำหรับจังหวัดสงขลามีเมืองขนาดใหญ่ที่เป็นคู่แฝดกัน 2 เมือง นอกจากเมืองสงขลาที่มีเทศบาลนครสงขลาเป็นศูนย์กลางความเจริญแล้ว อีกเมืองก็คือ เมืองหาดใหญ่ ซึ่งมีเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นศูนย์กลาง โดยทั้ง 2 เทศบาลนครนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายล้อมรอบๆ เพื่อประกอบรวมกันเป็นตัวเมืองขนาดใหญ่ล้วนเป็นระดับเทศบาลเมือง หมดแล้ว
แม้เมืองสงขลาจะมีประวัติศาสตร์ต่อเนื่องยาวนาน มีหลักฐานเป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ แต่การพัฒนาความเจริญกลับเป็นรองเมืองหาดใหญ่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นจากการมีเส้นทางรถไฟ เชื่อมมาถึงและได้เป็นชุมทางรถไฟที่สามารถเชื่อมต่อไปยังพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้กับอีกเส้นทางหนึ่งเป็นประตูสู่ประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาเกิดการขยายตัวในอัตราเร่งจากการที่ไทยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นับหลายสิบปีมาแล้วที่เมืองหาดใหญ่ได้รับการยอมรับให้เป็นเหมือนเหมืองหลวงของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของไทย โดยมีเมืองสงขลา เป็นเมืองฝาแฝด
เช่นนี้แล้ว หาดสมิหลาจึงได้ถูกพัฒนาให้หยัดยืนขึ้นในทำเนียบ แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลควบคู่กับเมืองหลวงของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมาหลายสิบปีแล้วเช่นกัน
"ในอดีตไทยเรามีแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลไม่มากนัก สมิหลาคือชายหาดแรกๆ ที่เป็นที่รู้จักของผู้คนควบคู่ไปกับหัวหินและบางแสน" อุทิศ ชูช่วย นายกเทศมนตรีนครสงขลา เล่าถึงอดีตความรุ่งเรืองในอดีต
สอดรับกับนายแพทย์อนันต์ บุญโสภณ แกนนำกลุ่มศึกษาการใช้ ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สงขลา และวิทยาลัยวันศุกร์ ให้ข้อมูลกับ "ผู้จัดการ" ว่า ชื่อเสียงของหาดสมิหลาน่าจะเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมานานกว่าศตวรรษแล้ว
"ผมเกิดและโตในตัวเมืองสงขลา ตอนนี้อายุเกือบ 72 ปีแล้วรับรู้มาว่าหาดสมิหลาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ติดตลาดมาตั้งแต่ก่อนผมเกิดอีก ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นบุกไทยตอนนั้นชื่อเสียงก็เป็นที่รู้จักเช่นกัน"
เขาเล่าด้วยว่า สมัยก่อนใครที่มาเยือนเมืองสงขลาหรือหาดใหญ่ หากจะไปท่องเที่ยวสถานที่ที่เขาจะคิดอันดับหนึ่งคือ แหลมสมิหลา ส่วน ทะเลสาบสงขลานั้นเป็นอันดับรองๆ อย่างมาก ส่วนการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสบายน่าจะเริ่มในช่วงประมาณต้นทศวรรษ 2500
สำหรับโรงแรมสมิหลาเกิดขึ้นพร้อมๆ กับประติมากรรมนางเงือก หรือเงือกทองบนโขดหิน ณ ปลายแหลมสมิหลาประมาณปี 2500 โดยเทศบาลควักเงินสร้างราว 10 ล้านบาท ซึ่งในสมัยนั้นนับว่าหรูแล้วและ ถือเป็นแห่งแรกที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงทุนเอง
ต่อมาโรงแรมสมิหลาเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา จนประมาณปี 2538 ก็ได้มีการรื้อทิ้งแล้วเปิดประมูลหานักลงทุนสร้างขึ้นมาใหม่ได้กลุ่มบีพี โฮเต็ล ซึ่งกลายเป็นโรงแรมบีพี สมิหลา บีช แอนด์ รีสอร์ท สงขลา ขนาด 208 ห้องพักในปัจจุบัน
ในเวลาไล่เลี่ยกันราวปี 2537-2538 ก็ได้มีการสร้างถนนชลาทัศน์ อันเป็นสายที่เลาะเลียบชายหาดสมิหลาเป็นแนวยาว รวมถึงทำสนามกอล์ฟสมิหลาขึ้นด้วย จากนั้นช่วงไม่เกิน 8 ปีมานี้ก็ได้เกิดการพัฒนาชายหาดสมิหลาอย่างรวดเร็ว ซึ่งโรงแรมราชมังคลา พาวิลเลียน บีช รีสอร์ทในความดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ขนาด 60 ห้องก็เพิ่งแจ้งเกิดช่วง 3-4 ปีมานี้ และกำลังเร่งขยับขยายเป็น 100 ห้องในอีกไม่ช้านาน
ธรรมชาติของหาดทราย ทิวสน ท้องทะเล เกาะหนู เกาะแมว ประวัติศาสตร์และตำนาน สิ่งก่อสร้างที่มนุษย์พัฒนาขึ้นรวมถึงวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชนชาวสงขลา เคยประกอบกันเป็นมนต์เสน่ห์อันเย้ายวน ใจนักท่องเที่ยวให้ไปเยี่ยมเยือนหาดสมิหลาเมื่อราว 100 ปีมาแล้ว แต่เมื่อไม่กี่ปีสิบมานี้มนต์เสน่ห์ดังกล่าวกลับลดระดับความขลังลงไปมาก
"ต้องยอมรับว่าแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลที่มาทีหลังไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต สมุย พัทยา พวกนี้ได้รับการทุ่มเทการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว เพราะสามารถสร้างกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจ ให้ผลิตรายได้เข้าประเทศได้มากกว่า ขณะที่หาดสมิหลา หัวหินและบางแสนถูกปล่อยปละละเลย จนช่วงหลังๆ แทบไม่ค่อยเกิดการพัฒนา อะไร" อุทิศให้ทัศนะ
ดังนั้น การที่ช่วงกว่าครึ่งทศวรรษมานี้นครสงขลาได้ทุ่มเทสรรพ กำลังบูมหาดสมิหลาขึ้นมาใหม่ โดยมุ่งเน้นความเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้วยการทำกิจกรรมและนำเอาผลงานศิลปะของศิลปินเลื่อง ชื่อจากทั้งในและต่างประเทศมาแต่งเติมสีสันให้กับชายหาดแห่งนี้
จึงถือเป็นการพัฒนาหาดสมิหลาสู่ยุคใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นความโดดเด่นของการเป็นห้องรับแขก เสริมศักยภาพเดิมที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวคู่เคียงเมืองหลวงของภาคใต้ตอนล่างมาอย่างยาวนานนับศตวรรษ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|