"สมิหลา" ห้องรับแขกของภาคใต้

โดย ปิยะโชติ อินทรนิวาส
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ความต้องการที่จะแต้มแต่งเติมสีสัน "หาดสมิหลา" แหล่งท่องเที่ยวที่เคยมีมนต์เสน่ห์มานานนับศตวรรษเคียงคู่หัวหินและบางแสน แต่ช่วงหลังได้เสื่อมมนต์ขลังลงไปมากนั้น ไม่เพียงเพื่อให้พลิกฟื้นคืนชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ แต่ยังต้องการยกขึ้นเป็นเหมือน "ห้องรับแขก" ของภาคใต้เลยด้วย สิ่งเหล่านี้ปรากฏให้เห็นด้วยความคึกคักต่อเนื่องมากว่าครึ่งทศวรรษแล้ว

ครื้นครื้นคลื่นคึกอยู่ครึกครื้น
ลมระรื่นระริกริ้วลู่ทิวสน
เข้มครามเคลื่อนคาดฟ้านภาดล
มรกตแปรเก็จข้นคุ้งทะเล
คึกคึกคลื่นคนก็ครึกครื้น
ร่วมปลุกหาดระรื่นเหมือนคลื่นเห่
แต้มสีสันสุขสราญ ณ ลานชเล
เติมเสน่ห์ "สมิหลา" ให้เรืองรอง

เป็นมุมมองของกวีที่ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมเติมมนต์ เสน่ห์ให้กับหาดสมิหลา ซึ่งเพิ่งจัดขึ้นไปเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม 2551 ที่ผ่านมา โดยมีการนำศิลปินหลายแขนงหลากสาขาทั้งในระดับนานาชาติ ระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมถึงเยาวชนผู้มีหัวใจรักในงานศิลป์นับพันคนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วทั้ง 14 จังหวัดของภาคใต้เข้าค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบของสัมมนาเชิงปฏิบัติการหรือ Work Shop พร้อมทั้งร่วมผลิตงานศิลปะไว้แต้มแต่งสีสันให้กับแหล่งท่องเที่ยวคู่เมืองปักษ์ใต้แห่งนี้

กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้โครงการศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ 2551 สงขลา (PROJECT : INTERNATIONAL CONTEMPORARY ART 2008 SONGKHLA, THAILAND) เจ้าภาพหลักคือเทศบาลนครสงขลาและมีองค์กร ร่วมจัดคือสภาศิลปกรรมไทย-สหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัย ทักษิณ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม 2551 ณ บริเวณลานแคมปิ้ง ชายหาดสมิหลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

สำหรับศิลปินที่เชิญเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ประกอบด้วยศิลปินนานาชาติ 15 คน อาทิ Joan Vaupen, Marla Fields, Peter Zaleski, Robert Walker, Mark Griffin, George Kalmar, John E. Kneifl, Joel King จากสหรัฐ อเมริกา Saberia Lee, Young Sun Bai, Yunsun Lee, Jae Hwa Yoo จากเกาหลีใต้ เป็นต้น

ศิลปินแห่งชาติของไทย 8 คน ได้แก่ ประหยัด พงษ์ดำ ถวัลย์ ดัชนี กมล ทัศนาญชลี นนทธิวรรธน์ จันทนะผะลิน ชาลี อินทรวิจิตร สุเทพ วงศ์กำแหง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และสถาพร ศรีสัจจัง

ศิลปินรับเชิญ 9 คน ได้แก่ ชวน หลีกภัย อารีย์ สุทธิพันธุ์ เดชา วราชุน วิโชค มุกดามณี ศราวุธ ดวงจำปา อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ มนตรี สังข์มุสิกานนท์ วัฒนโชติ ตุงคะเตชะ และนภดล โชตะศิริ

ศิลปินท้องถิ่น 24 คนจากหลากหลายสถาบันการศึกษาในภาคใต้ ได้แก่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลศรีวิชัย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ยะลา วิทยาลัยช่างศิลป์ นครศรีธรรมราช และศิลปินดีเด่นจังหวัดสงขลาคือ นายจตุพร รามสูตร

"เราใช้งบประมาณจัดกิจกรรมครั้งนี้กว่า 10 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นเงินของเทศบาลนครสงขลาในฐานะเจ้าภาพหลักและเป็นเจ้าของพื้นที่ 7 ล้านบาทที่เหลือมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนช่วยกันลงขัน ซึ่งในทัศนะผมคิดว่าเป็นการลงทุนคุ้มค่ามาก" อุทิศ ชูช่วย นายกเทศมนตรี นครสงขลา บอกเล่ากับ "ผู้จัดการ"

เขาชี้ถึงเหตุผลให้ฟังว่าโครงการศิลปกรรมร่วมสมัย นานาชาติ 2551 สงขลา เกิดขึ้นภายใต้ฐานคิดทางด้านการบริหารจัดการแบบใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยึดเอาความสุขมวลรวมของประชาชนเป็นตัวชี้วัดมากกว่าที่จะมุ่งตัวเลขของอัตราการเจริญเติบโตทางวัตถุแบบที่นิยมทำกัน

อุทิศกล่าวด้วยว่า แท้จริงแล้วแม้จะได้ชื่อว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลนคร ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มาก เป็น 1 จากที่มีอยู่เพียง 21 แห่งทั่วประเทศ แต่สำหรับนครสงขลาก็มีงบประมาณเฉลี่ยแค่ปีละประมาณ 290 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับบรรดาเทศบาลนครด้วยกันต้องนับว่าอยู่รั้งท้ายสุด

"แต่เราก็ภูมิใจที่ใช้เม็ดเงินที่มีอยู่พัฒนาได้อย่างรอบด้านและเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ละปีสามารถพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งทำโครงการยกระดับจิตใจและเพิ่มความสุขได้อย่างเป็นที่ยอมรับของชาวนครสงขลา"

ทั้งนี้ ผลจากการจัดกิจกรรมยังมีงานศิลปะมากค่าที่เกิดขึ้นจากพลังความคิดและฝีไม้ลายมือของศิลปินที่เข้าร่วม ซึ่งได้มอบให้ไว้สำหรับประดับแต่งแต้มเติมสีสันให้กับหาดสมิหลาจำนวนมาก มีทั้งประติมากรรมที่ติดตั้งไปแล้ว ประติมากรรมอันเป็นโมเดลสำหรับสร้างงานจริงในอนาคต แต่ที่นับได้เป็นร้อยๆ ชิ้นงานก็คือ ภาพจิตรกรรม

ในจำนวนนี้มี 3 ชิ้นงานประติมากรรมที่ติดตั้งอย่าง โดดเด่นเป็นสง่าแก่หาดสมิหลาไปแล้วในระหว่างการจัดงาน ได้แก่ผลงานที่มีชื่อว่า "เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9" ของกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ติดตั้งอยู่กลางสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผลงานที่มีชื่อว่า "มีดมางฟ้า" ของถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ติดตั้งอยู่บริเวณ สวนญี่ปุ่นและผลงานที่มีชื่อว่า "สามหลักผสมเป็นเกลียวเป็นหนึ่งเดียวในบ่อยาง" ของสมหมาย มาอ่อน ศิลปินไทยที่ไปปักหลักอยู่ที่ลาสเวกัสของสหรัฐอเมริกา ติดตั้ง ณ ลานคนเมือง ซึ่งทุกแห่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของหาดสมิหลา

"ชื่องานประติมากรรมของผมบอกอย่างตรงไปตรงมาถึงความคิดแล้วว่า ผมทำงานชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ อะไร" กมลให้ภาพอันเป็นแนวคิดของการสร้างผลงานและเพิ่มเติมว่า

ขนาดของโครงสร้างสูงจากพื้น 9 เมตร หมายถึงรัชกาลที่ 9 ลูกนิมิตบนฐานที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางแทนพระองค์ท่าน รอบๆ มีดวงดาวกับดวงเดือนรวมกันแล้ว 80 ดวง หมายถึงปีนี้พระองค์ทรงมีพระชนมายุ 80 พรรษา แสงเงาที่ตกทอดลงพื้นมีรูปร่างแตกต่างกันไปในเวลาและทิศทาง ต่างๆ เป็นการบ่งบอกถึงอนาคตชาติ

ขณะที่ประติมากรรมมีดมางฟ้าของถวัลย์นั้น ศิลปินได้ใช้รูปลักษณ์ของมีดจักตอกผสมผสานเข้ากับกริช เพื่อต้องการแสดงออกถึงตัวตนของชาวปักษ์ใต้โดยรวมว่า เป็นผู้มีความแหลมคมทางความคิด มีการตัดสินใจที่เฉียบขาด

ด้านสมหมายอรรถาธิบายผลงานประติมากรรมของตนเองว่าเป็นแนวความคิดที่มีรากฐานมาจากได้เห็นวิถีของชุมชนชาวสงขลาที่ประกอบขึ้นจาก 3 วัฒนธรรมคือ พุทธ มุสลิมและจีน ซึ่งสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความหวัง และมีความภาคภูมิใจที่ได้อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยด้วยกัน ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ตลอดการจัดกิจกรรม แม้บรรยากาศจะอบอวลไปด้วย ความกระตือรือร้นของบรรดาศิลปินในการรังสรรค์ผลงาน บ่อยครั้งที่คำถามและคำแนะนำจะเอ็ดอึงแข่งกับเสียงทะเล ลมพัดยอดสนแต่ความอบอุ่นในฐานะครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์ลูกหาหรือระหว่างพี่น้องผองเพื่อนก็ช่วยทำให้ทั้งลานแคมปิ้งริมหาดสมิหลาดูคึกคักแบบผ่อนคลาย

ศิลปินบางคนไปแอบซุ่มผลิตงานศิลปะตามห้องหับต่างๆ ภายในอาคารแคมปิ้ง บางส่วนปลีกวิเวกกระจายไปตามร่มเงาของทิวสน บ้างจับกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบรรดาเยาวชนจากสถานศึกษาต่างๆ ที่สับเปลี่ยนหมุนเวียน เข้าร่วมกันอย่างไม่ขาดสาย

แต่ที่นับว่าสร้างสีสันได้ในแทบจะทุกกิจกรรมก็คือชาลี อินทรวิจิตร กับสุเทพ วงศ์กำแหง 2 ศิลปินแห่งชาติอาวุโสที่จับคู่ดูโอเป็นแฝดคนละฝาเกือบตลอดเวลา ซึ่งพร้อมที่จะจับไมค์ร้องเพลงทั้งแบบร้องเดี่ยวและคลอคู่ หรือไม่ก็เล่าเรื่องอันเป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศิลปินในวงการเพลงเสมอๆ ไม่เฉพาะต้องเป็นงานเลี้ยงเท่านั้น ขนาดช่วงเวิร์กชอปมักจะล้อมวงกับบรรดาศิลปินด้วยกัน รวมถึงเยาวชน หรือผู้มาเยือนแล้วเล่าเรื่องสลับกับร้องเพลงสดที่ไม่ต้องมีไมค์และดนตรี

สำหรับบรมครูนักแต่งเพลงอย่างชาลีนั้น เขาได้ฝากผลงานการประพันธ์เพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2551 ในชื่อเพลงว่า "สงขลา" ซึ่งก็มีเนื้อหากล่าวความรักของชายหนุ่ม-หญิงสาว และไม่ลืมที่จะกล่าวถึงฝั่งสงขลา หาดสมิหลา รวมทั้งเกาะหนูและเกาะแมวไว้ในเนื้อร้องด้วย

"ผมเขียนเพลงนี้ช่วงบ่ายของวันที่ 13 มกราคม 2551 บริเวณริมหาดสมิหลาใกล้ๆ ประติมากรรมนางเงือก ผมไปกับสุเทพ ผมนั่งแต่งเพลง ส่วนเขานั่งวาดรูป สุเทพเป็นศิลปิน วาดภาพมาก่อนที่จะเป็นนักร้องนะ จบจากช่างศิลป์ที่เดียวกับผมนี่แหละ ผมเขียนเพลงได้วันเดียวเสร็จนี่ก็นับว่าดีมากแล้ว" ชาลีเล่าให้ฟัง

พร้อมกันนั้นเขาได้ยื่นต้นฉบับเนื้อเพลงสงขลาที่เป็นลายมือจากการคัดลอกโดยสุเทพให้ดูด้วย ระบุไว้ว่าผู้แต่ง คำร้องคือ ชาลี อินทรวิจิตร ทำนอง จีรวุฒิ กาญจนะผลิน และขับร้อง สุเทพ วงศ์กำแหง

ด้านเสียงสะท้อนต่อโครงการศิลปกรรมร่วมสมัยนานา ชาติ 2551 สงขลา ในครั้งนี้ที่ต้องนับเป็นความภาคภูมิใจยิ่ง ของผู้จัดก็คือ สารจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษที่ระบุว่า ขอแสดงความยินดีในความร่วมมือของเทศบาลนครสงขลา ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินนานาชาติและศิลปินท้องถิ่นที่ได้ร่วมแรงร่วมใจสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมให้กับเมืองสงขลา

"ผลงานศิลปกรรมร่วมสมัยจะเป็นสิ่งบ่งบอกให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการสั่งสม สืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้แก่เยาวชน สังคมและประเทศชาติ อันนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวสงขลาที่ได้มีผลงานศิลปกรรมร่วมสมัยที่มีคุณค่ากับบ้านเมือง" ส่วนหนึ่งของเนื้อหาในสารจาก พล.อ.เปรม

ขณะที่กมลในฐานะผู้ประสานงานนำศิลปินจากต่างประเทศเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้กล่าวอย่างยอมรับว่า สงขลาเป็นจังหวัดเดียวที่กล้าในการทำงานแบบนี้ซึ่งตนประทับใจและยอมรับในบทบาทของอุทิศ ชูช่วย นายกเทศมนตรีนครสงขลาอย่างมากเพราะเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้

ความจริงแล้วการดึงกลุ่มศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับชาติและนานาชาติมาร่วมบูมชายหาดสมิหลานั้น กิจกรรมเมื่อเดือนมกราคม 2551 ที่ผ่านมาไม่ใช่ครั้งแรกและแน่นอนก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เนื่องจากโครงการศิลปกรรม ร่วมสมัยนานาชาติ 2551 สงขลา ได้ใช้คำพ่วงท้ายว่า ครั้งที่ 1 แสดงว่ายังจะมีการจัดครั้งต่อๆ ไป

ก่อนหน้านี้เทศบาลนครสงขลาเคยจัดทำโครงการสร้างสรรค์ประติมากรรมกับสิ่งแวดล้อมนานาชาติ หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 50 พรรษา อย่างยิ่งใหญ่ในทำนองเดียวกันมาแล้วในปี 2548 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาคมประติมากรไทย และสมาคมประติมากรกับสิ่งแวดล้อมนานาชาติ (International Association for Monumental Sculptures Events : A.I.E.S.M.) รวมถึงองค์กรภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี

ในครั้งนั้นมีประติมากรจากนานาชาติเข้าร่วม ประกอบด้วยจากประเทศอิตาลี แคนาดา คอสตาริกา ลักเซมเบิร์ก เม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา ส่วนประติมากรไทยก็มีทั้งที่เป็นศิลปินแห่งชาติและศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับชาติ ซึ่งได้ร่วมกันรังสรรค์ประติมากรรมประดับชายหาดสมิหลาไว้แล้วถึง 14 ชิ้นงาน

ผลงานประติมากรรมของศิลปินไทย ได้แก่ 1. ผลงาน ชื่อ "ท่วงทำนองแห่งมิตรภาพ" ของชำเรือง วิเชียรเขตต์ ศิลปินแห่งชาติ 2. ผลงานชื่อ "กลองสะบัดชัย" ของอินสนธ์ วงศ์สาม ศิลปินแห่งชาติ 3. ผลงานชื่อ "พลังจักรวาล" ของนนทธิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ 4. ผลงาน ชื่อ "ข้างขึ้นข้างแรม" ของวิชัย สิทธิรัตน์ 5. ผลงานชื่อ "เท่งชมดาว" ของเข็มรัตน์ กองสุข 6. ผลงานชื่อ "สัมพันธ- ภาพ" ของศราวุธ ดวงจำปา 7. ผลงานชื่อ "พืชพรรณ : สัญลักษณ์แห่งชีวิต" ของวิโชค มุกดามณี 8. ผลงานชื่อ "กอและ" ของ มนตรี สังข์มุสิกานนท์

ผลงานประติมากรรมของศิลปินนานาชาติ ได้แก่ 9. ผลงานชื่อ "King of Sky" ของ Denis St-Pierre จากแคนาดา 10. ผลงานชื่อ "พลังสำคัญกับการสร้างสรรค์เทคโนโลยี" ของ Edgar Zuniga จากคอสตาริกา 11. ผลงานชื่อ "จากพื้นดินสู่ท้องฟ้า" ของ Bettino Francini & Diana Manni จากอิตาลี 12. ผลงานชื่อ "การเปิดรับ" ของ Florence Hoffam จากลักเซมเบิร์ก 13. ผลงานชื่อ "The Origin" ของ Miguel Hermandez Urban จากเม็กซิโก และ 14. ผลงานชื่อ "ORCHID" ของ Jon Barlow Hudson จากสหรัฐอเมริกา

เมื่อนำประติมากรรมที่ติดตั้งตระหง่านกระจายไปประดับประดาหาดสมิหลา ผลงานของประติมากรกระฉ่อนชื่อทั้งชาวไทยและต่างชาติมารวมกันแล้วในเวลานี้จะมีถึง 17 ชิ้นงาน ซึ่งยังไม่นับรวมชิ้นงานประติมากรรมที่มีการสร้างสรรค์จากศิลปินชื่อก้องโลกและท้องถิ่นไว้แล้วอีกมาก โดยส่วนที่น่าสนใจประกอบไปด้วย

ประติมากรรมนางเงือก หรือเงือกทอง ติดตั้งอยู่บนโขดหินปลายแหลมสมิหลา ถือเป็นประติมากรรมชิ้นแรกและ กลายเป็นสัญลักษณ์ของหาดสมิหลาต่อเนื่องมากว่า 50 ปีแล้วโดยเกิดจากชาญ กาญจนกะพันธ์ อดีตนายกเมืองสงขลา มอบหมายให้วิจิตต์ บัวบุตร ออกแบบและปั้นหล่อ เพื่อบอก เล่าเรื่องราวของนิยายปรัมปราที่ชาวบ้านเล่าขานสืบต่อกันมาเกี่ยวกับหาดสมิหลา

ประติมากรรมหนูและแมวกับลูกแก้ววิเศษ ติดตั้งอยู่ใกล้ปลายแหลมสมิหลาถัดจากประติมากรรมนางเงือกเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการบอกเล่าเรื่องราวนิยายปรัมปราของคนสงขลาเช่นกัน เนื้อหาเกี่ยวกับเกาะหนู เกาะแมว ที่ตระหง่านอยู่ในทะเลด้านหน้าชายหาดสมิหลา ส่วนลูกแก้วเป็นตัวแทนของหาดทรายแก้ว หาดทรายบนชายฝั่งอำเภอสิงหนครที่อยู่ตรงข้ามกับหาดสมิหลา

ประติมากรรมประตูเมืองสงขลา ติดตั้งอยู่ใกล้ปลายแหลมสมิหลาเช่นกัน ซึ่งเป็นการจำลองประตูเมืองเก่าของเมืองสงขลาที่มีสถาปัตยกรรมงดงามจากในย่านกลางเมืองมาแสดงไว้ที่ชายหาด

ประติมากรรมพญานาคที่ให้คนจินตนาการว่านาคได้เลื้อยอยู่ใต้ดินตลอดแนวชายหาดสมิหลา โดยส่วนหัวพ่นน้ำอยู่ริมทะเลบริเวณสวนสองทะเล ส่วนสะดือโผล่ขึ้นจากดินบริเวณสระบัว และส่วนหางโผล่อยู่บริเวณชายหาดสมิหลาด้านถนนชลาทัศน์

ประติมากรรมคนอ่านหนังสือ ซึ่งมีแผ่นจารึกข้อความ ไว้ว่า ความรู้สร้างคน...คนสร้างชาติ ความรู้คืออำนาจ...สร้างชาติต้องสร้างคน ติดตั้งอยู่กลางวงเวียนปลายแหลมสมิหลา ใกล้กับประติมากรรมนางเงือก เพื่อต้องการสื่อแสดงให้เห็นว่าสงขลาคือเมืองแห่งการเรียนรู้

ประติมากรรมวันชน กุ้งและยีราฟ ทำขึ้นจากเศษไม้ ที่ลอยน้ำมาติดชายหาดสมิหลา โดยเทศบาลนครสงขลาได้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าค่ายเวิร์กชอปช่วยกันรังสรรค์ ขึ้นมา รวมถึงประติมากรรมปูนปั้นการเล่นของเด็กหรืออื่นๆ

อุทิศกล่าวว่า การปลุกปั้นเติมแต้มสีสันต่างๆ ให้กับหาดสมิหลาในหลายๆ อย่างดังกล่าวเป็นไปตามสิ่งที่ตนวาด หวังไว้ตั้งแต่ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกเทศ มนตรี ในปี 2543 แล้วว่าจะต้องพัฒนาสงขลา ให้เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองน่าท่องเที่ยว โดย กำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวเป็นไปในเชิง อนุรักษ์

"ในส่วนของหาดสมิหลาผมประกาศเป็นพันธกิจไว้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่นั่งเป็นนายกฯ แล้วว่า เราจะต้องพัฒนายกระดับหาดสมิหลา ให้เป็นห้องรับแขกของภาคใต้ เพื่อจะได้ใช้เป็นพื้นที่สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ได้อย่างอบอุ่น ในส่วนของคนสงขลาเองเราก็จะได้มีห้องรับแขกไว้พักผ่อนเช่นเดียวกัน"

เขาอธิบายแนวคิดทำหาดสมิหลาให้เป็นห้องรับแขกว่า บ้านทุกบ้านไม่ว่าจะเป็นของคนรวยหรือยากดีมีจนแค่ไหนก็ตาม ทุกคนต่างก็พยายามจะทำห้องหรือกันพื้นที่ไว้สำหรับรับแขก ซึ่งบริเวณนี้จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษและอย่างดีที่สุด

"นับศตวรรษมาแล้วไทยเรามีแหล่งท่องเที่ยวชายทะเล ที่ขึ้นชื่ออยู่ไม่มากนัก สำหรับหาดสมิหลาของเราก็นับเป็นชายหาดแรกๆ ที่เป็นที่รู้จักของผู้คนทั้งในและนอก ร่วมสมัย กับชายหาดหัวหินและบางแสน ที่ผ่านมามนต์ขลังของสมิหลา อาจลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลา แต่ในวันนี้ผมพยายามจะเติมเต็มมนต์เสน่ห์ให้หาดสมิหลาได้สู่ยุคบูมเหมือนในอดีต"

เขากล่าวอีกว่า เทศบาลนครสงขลาจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาหาดสมิหลาไปในแนวทางนี้ต่อไป ในอนาคตจะมีการเติมงานศิลปะอีกตามความเหมาะสมและสอดรับกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะงานศิลปะแขนงอื่นๆ ที่นอกจากประติมากรรมและจิตรกรรม ซึ่งจะต้องทำให้ปรากฏเป็นจริงให้คนเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายกเทศมนตรีนครสงขลายกตัวอย่างด้วยว่า ต่อไป ภาพจิตรกรรมจะนำไปแสดง ณ หอศิลป์นครสงขลาซึ่งกำลัง ก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ ส่วนบทกวีหรือบทเพลงต่างๆ ที่ศิลปินเขียนไว้ให้กับหาดสมิหลา อย่างบทกวี ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สถาพร ศรีสัจจัง หรือเพลงสงขลาที่ชาลี อินทรวิจิตร เพิ่งแต่งให้ งานเหล่านี้จะมีการนำไปเสนอในรูปแบบของงานปั้นหรืองานเหล็ก เพื่อให้คนเห็นได้อย่างโดดเด่นเป็น สง่า รวมถึงเสนอผ่านระบบมัลติมีเดียด้วยเพื่อให้คนสัมผัสและเข้าถึงได้ง่าย

ขณะที่กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมหรืออื่นๆ ก็จะยังคงผลักดันให้ดำเนินไปต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในส่วนของลาน ดนตรีและลานวัฒนธรรมชายหาดสมิหลา สถานที่ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีพื้นที่แสดง ออกอย่างถูกต้องและไม่มีพิษภัย โครงการห้องสมุดเคลื่อนที่บริเวณชายหาด หรือการพัฒนาบุคลากรที่จะรองรับในเรื่องนี้

ปัจจุบันชายหาดสมิหลาที่ทอดตัวเป็นแนวยาวกว่า 9 กิโลเมตร ในวันนี้มีโรงแรมเปิดให้บริการอยู่ติดชายหาดคือ โรงแรมบีพี สมิหลา บีช แอนด์ รีสอร์ท สงขลา ตั้งตระหง่านติดทะเลบริเวณปลายแหลมสมิหลา ขนาด 208 ห้องกับโรงแรมราชมังคลา พาวิลเลี่ยน บีช รีสอร์ท ในความดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ขนาด 60 ห้อง และกำลังมีโครงการขยายเป็น 100 ห้องในเร็วๆ นี้ ซึ่งทั้ง 2 แห่งเมื่อเทียบกับโรงแรมอื่นๆ ในสงขลาแล้วสามารถจัดอยู่ในระดับใกล้เคียง 5 ดาวได้อย่างไม่ขัดเขินนัก

นอกจากนี้สำหรับผู้นิยมวาดวงสวิงก็ยังมีสนามกอล์ฟ สมิหลาไว้รองรับอีกด้วย เป็นสนามขนาด 9 หลุม อยู่ริมชายหาดติดกับโรงแรมบีพี สมิหลา บีช แอนด์ รีสอร์ท สงขลา ด้านถนนชลาทัศน์ สามารถวาดวงสวิงไปพร้อมๆ กับสูดอากาศบริสุทธิ์และชื่นชมความงามของท้องทะเล

ดังนั้น ณ วันนี้หาดสมิหลาได้ถูกพัฒนาให้เป็นห้องรับแขกของภาคใต้ได้แล้วหรือไม่นั้น เสียงสะท้อนจากทั้งศิลปินชาวต่างชาติและศิลปินไทย ซึ่งได้มีโอกาสมาสัมผัสหาดสมิหลาในห้วงระยะเวลาเกือบสัปดาห์ช่วงกลางเดือนมกราคมที่แล้วน่าจะเป็นคำตอบได้พอสมควร

"หาดสมิหลามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมานานมาก ผมเคยได้มาเยือนเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว สำหรับการพัฒนาตอนนั้นกับตอนนี้ผิดกับไกลลิบ ตอนนั้นยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบนี้ ชายหาดมีร้านค้าเล็กๆ น้อยๆ ขายกันเกลื่อนกลาดไร้ระเบียบ แต่ตอนนี้บรรดาร้านค้าถูกจัดให้มีระเบียบเรียบร้อยดี ความสะดวกสบายในเรื่องอื่นๆ ก็นับว่าอยู่ในขั้นดีเอามากๆ"

นี่เป็นบทสรุปจากคำพูดของสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติที่ได้เดินทางมาสัมผัสชายหาดสมิหลาแล้วหลายครั้ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.