|
HSBC The First comer's Experience
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ภายใต้บริบทของความเป็นธนาคารระดับโลกที่เชี่ยวชาญเรื่องท้องถิ่น ประสบการณ์ 120 ปี ของ HSBC ในประเทศไทยได้บ่งบอกถึงความเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์สำคัญของธนาคารสัญชาติอังกฤษแห่งนี้นับแต่เริ่มเข้ามาเปิดกิจการธนาคารพาณิชย์เป็นรายแรก ซึ่งมีวิธีคิดที่แตกต่างจากธนาคารท้องถิ่นไม่น้อย
ปีนี้กฤษณา ปาละกูล จะมีอายุงานในธนาคารเอชเอสบีซี ครบ 25 ปีเต็ม เธอยังจำความรู้สึกในวันแรกที่เธอก้าวเข้ามาทำงานในธนาคารแห่งนี้ได้เป็นอย่างดีว่า เธอดีใจและตื่นเต้นขนาดไหน
ทุกวันนี้กฤษณาในวัย 47 ปี ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์บริการลูกค้าเอชเอสบีซี พรีเมียร์ (Vice President Branch Support) ที่ธนาคารเอชเอสบีซีเพิ่งเปิดตัวพร้อมกัน 250 แห่งใน 35 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมปีที่แล้ว และตั้งความ หวังไว้อย่างสูงว่าจะเป็นบริการเรือธงในการรุกตลาดลูกค้ารายย่อย
เอชเอสบีซี พรีเมียร์ เป็นรูปแบบบริการทางการเงินส่วน บุคคลในลักษณะ private banking และ wealth management สำหรับลูกค้าระดับบน โดยสร้างความรู้สึกว่าลูกค้าคือคนพิเศษ เพราะลูกค้าแต่ละรายจะมีผู้จัดการการเงินส่วนบุคคล (relation-ship manager : RM) คอยดูแลและนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่มีอยู่ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่สุด
ลูกค้าที่จะใช้บริการนี้ได้ต้องมีเงินฝากหรือมีการลงทุนซื้อ หน่วยลงทุน หุ้นกู้ หรือพันธบัตรจากเอชเอสบีซีไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท
ลูกค้าเอชเอสบีซี พรีเมียร์ที่กฤษณาต้องดูแล ปัจจุบันมีเกือบ 3,000 คน จากที่คาดหมายในวันเปิดตัวว่าในประเทศไทย มีคนที่อยู่ในข่ายสามารถใช้บริการนี้ได้ประมาณ 160,000 คน
เธอมีหน้าที่กำกับการทำงานของทีม RM จำนวน 50 คน ที่ต้องพยายามหาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินประเภทต่างๆ และให้คำปรึกษา หรือแนะนำกับลูกค้าได้ว่าในแต่ละช่วงเวลา ที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน เงินออมที่ลูกค้าแต่ละคน มีอยู่นั้นน่าจะนำไปลงทุนกับผลิตภัณฑ์ใดจึงจะได้รับผลตอบแทน ดีที่สุด
จุดเด่นของบริการนี้คือการที่เอชเอสบีซีมีเครือข่ายสาขาอยู่ทั่วโลก ดังนั้นจึงน่าจะมีผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า
วิลลี แทม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี สาขาประเทศไทย ที่เพิ่งย้ายมารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาได้กล่าวไว้ในวันแถลงข่าวเปิดตัวเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ว่าเอชเอสบีซีมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนลูกค้าเอชเอสบีซี พรีเมียร์ ในไทยขึ้นอีก 250% ในอีก 4 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีลูกค้ามาใช้บริการนี้แล้ว 2 ล้านคนทั่วโลก หลังจากเปิดตัวบริการมาได้ 10 เดือน
วิลลี แทมประมาณจากเป้าหมายดังกล่าวในอีก 4 ปีข้าง หน้าจะต้องมีลูกค้าเอชเอสบีซี พรีเมียร์ทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน
สำหรับประเทศไทยจากเป้าหมายการเติบโตดังกล่าว ตัวเลขลูกค้า ที่กฤษณาต้องดูแลจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ในปี 2554 ดังนั้น ลูกค้าที่จะไว้ใจเข้ามาใช้บริการเอชเอสบีซี พรีเมียร์ จึงต้องมีทั้งความเชื่อมั่นในทีมงาน RM ตัวผู้บริหาร รวมถึงแบรนด์ของธนาคารเอชเอสบีซีอย่างหนักแน่น
กฤษณาเชื่อว่าการที่ผู้ใหญ่ในธนาคารตัดสินใจเลือกเธอเข้ามารับตำแหน่งนี้ นอกเหนือจากการที่เธอเป็นคนที่มีใจรักงานบริการและรู้จักผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เป็นอย่างดีแล้ว
ส่วนหนึ่งอาจเป็นด้วย profile ของเธอที่เกี่ยวพันกับธนาคารสัญชาติอังกฤษแห่งนี้ซึ่งเป็นผู้เข้ามาบุกเบิกกิจการธนาคารพาณิชย์เป็นรายแรกในประเทศไทย
เพราะว่าไปแล้วในธนาคารเอชเอสบีซี สาขาประเทศไทย ซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 120 ปีเต็ม ในปีนี้คงไม่เหลือคนที่สามารถบอกเล่า เรื่องราวในอดีตของธนาคารแห่งนี้จนทำให้ผู้ฟังสามารถมองเห็นถึงพัฒนาการในการทำธุรกิจในยุคที่ผ่านมาได้อย่างต่อเนื่อง
แต่สำหรับกฤษณาแล้วเธออาจทำได้!!!
ในช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมาครอบครัว ของกฤษณาน่าจะเป็นครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธนาคารเอชเอสบีซีมากที่สุด
หากนับเป็น generation กฤษณาถือเป็น generation ที่ 3 ของครอบครัวของเธอแล้วที่ได้ทำงานในธนาคารแห่งนี้
"20 กว่าปีที่ทำงานที่นี่ ผ่าน CEO มา แล้วไม่ต่ำกว่า 5 คน เกือบทุกคนพอได้เห็น profile ของเราแล้ว ต้องขอดูตัวว่ามีแบบนี้ด้วย หรือ" เธอบอกกับ "ผู้จัดการ"
ทั้งตาและพ่อของกฤษณาเป็นพนักงาน ของธนาคารเอชเอสบีซี ทั้ง 2 คนต่างมีอายุงานที่ยาวนาน จนได้รับความไว้วางใจจากเอชเอสบีซีถึงขนาดต้องขอให้อยู่ช่วยงานธนาคารต่อมาอีกหลายปี แม้ทั้งคู่ได้ผ่านพ้นการเกษียณอายุงาน เมื่อมีอายุครบ 55 ปีไปแล้ว
"คุณตาอยู่กับเอชเอสบีซีจนอายุเกือบ 70 ส่วนคุณพ่อก็ทำงานให้เอชเอสบีซีจนอายุได้ 60 กว่า จนตอนหลังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะท่านเป็นเบาหวาน จึงต้องขอหยุด"
กฤษณาเป็นพนักงานธนาคารเอชเอส บีซีที่ไม่ได้เรียนจบทางด้านการเงินการธนาคาร มาโดยตรง หน้าที่การงานของเธอไต่เต้าจาก พนักงานธรรมดาในแผนกเงินโอน จนสามารถ ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับ vice president ได้ในระยะเวลา 20 ปี
เธอจบจากคณะอักษรศาสตร์ มหา วิทยาลัยศิลปากร และเริ่มงานกับธนาคารแห่งนี้ทันทีที่เรียนจบ เมื่อปี 2526
แต่ก่อนหน้านั้นหลายปีตั้งแต่เธอยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม เธอได้ตัดสินใจและตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะเลือกเข้าทำงานกับธนาคารเอชเอสบีซี หลังเรียนจบปริญญาตรี
การเลือกสอบเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า
"ตอนนั้นเราเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ เลย แต่ก็อยากจะทำงานที่นี่ ก็ปรึกษากับคุณพ่อ ท่านก็บอกว่างานในธนาคารยังมีอีกหลายอย่างให้ทำ แต่ที่สำคัญต้องรู้เรื่อง ภาษา ก็เลยคิดว่าถ้าเรียนมาทางนี้ ก็น่าจะมาได้ ก็เลยเลือกเรียนทางด้านภาษา"
ทำไมเธอจึงมีความมุ่งมั่นเช่นนั้น?
ชด ช้อยสุจริต ตาของกฤษณา อาจไม่ใช่พนักงานยุคบุกเบิกของเอชเอสบีซีในประเทศ ไทย แต่ก็ถือว่าเป็นพนักงานในยุคต้นๆ ของการทำธุรกิจธนาคารในไทย ที่ยังไม่มีความซับซ้อน มากเหมือนเช่นในปัจจุบัน
กฤษณาไม่ทราบว่าตำแหน่งหน้าที่ของตาของเธอในธนาคารเอชเอสบีซีคืออะไร แต่ทราบว่าตาของเธอมีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นเหมือนที่ปรึกษาของธนาคาร รวมทั้งคอยประสาน งานให้กับผู้บริหารของธนาคารที่ต้องการติดต่อกับหน่วยงานราชการต่างๆ ของไทย เพื่อให้ การดำเนินงานด้านต่างๆ ของธนาคารเอชเอสบีซีในไทย เป็นไปอย่างราบรื่น
"ท่านเป็นคนที่แบงก์ต้องการ เป็นคนรู้จักระเบียบราชการ รู้จักผู้ใหญ่ตามหน่วยงานราชการและคนต่างชาติที่มาทำงานในเมืองไทย ก็ต้องการคนประสานหน่วยงานราชการ พอดีคุณตารู้จักคนค่อนข้างเยอะ ก็ได้ช่วยธนาคารในการประสานงาน ความสะดวกต่างๆ ใน การขอวีซ่า ขออะไรต่างๆ แต่ไม่ทราบว่าท่านทำอะไรในส่วนที่เป็นแบงกิ้งจริงๆ"
ภาพความทรงจำของกฤษณาที่มีต่อตาของเธอ ซึ่งเธอได้สัมผัสมาตั้งแต่ยังเด็ก คือความจงรักภักดีต่อองค์กรและความภาคภูมิใจในการเป็นพนักงานของธนาคารเอชเอสบีซี
เธอจำได้ดีว่าทุกครั้งที่จะออกจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อหน้าที่การงานหรือเพื่อการสังคม ตาของเธอจะต้องกลัดเข็มกลัดรูปสิงโต ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของเอชเอสบีซียุคนั้นติดหน้าอก เสื้อไว้ทุกครั้ง และเมื่อธนาคารเริ่มนำสมุดบัญชีเงินฝากรูปแบบใหม่มาใช้ ตาของเธอจะเก็บสมุดบัญชีเงินฝากทุกเล่มเอาไว้ ซึ่งทุกวันนี้สมุดบัญชีเหล่านั้นก็ยังอยู่
ส่วนประยูร ปาละกูล พ่อของกฤษณา ผ่านตำแหน่งงานในเอชเอสบีซีมาแล้วหลายตำแหน่ง ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุงาน คือเป็นผู้จัดการส่วนบัญชี แต่ด้วยความที่ทำงาน อยู่กับธนาคารมานาน เอชเอสบีซีได้ว่าจ้างให้ประยูรทำงานต่อในฐานะผู้ดูแลทรัพย์สินของ ธนาคารเอชเอสบีซีในประเทศไทย
"บุคลิกของคุณพ่อ มักเป็นแกนนำในกิจกรรมต่างๆ ของ พนักงานเอชเอสบีซีอย่างเป็นหัวหน้าทีมฟุตบอล เป็นแกนนำในการพาพนักงานไปเที่ยว ตอนยังเล็กๆ อยู่ จำได้ว่าทุกๆ ปีเอชเอสบีซีมีประเพณีที่ต้องเดินทางนำพวงหรีดไปวางไว้ยังหลุมศพของอดีตพนักงานที่มาเสียชีวิตในไทยในช่วงสงคราม โลกครั้งที่ 2 ที่กาญจนบุรี คุณพ่อจะเป็นตัวแทนธนาคารในการนำพวงหรีดไปวาง ซึ่งเราก็ได้มีโอกาสติดตามไปด้วยก็เริ่ม รู้สึกว่าธนาคารนี่ดีนะ ดูแลคนตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่จนตายไปแล้วก็ยังดูแลต่ออีก"
ประยูรมีความเหมือนกับชดอยู่อย่างหนึ่ง คือเป็นคนที่จงรักภักดีต่อองค์กรเป็นอย่างยิ่ง
กฤษณาเล่าว่าตั้งแต่เด็ก เธอจะเห็นพ่อผูกเนกไทที่มีตราสัญลักษณ์ของธนาคารเอชเอสบีซีอยู่ตลอดเวลาออกไปทำงาน เนกไทดังกล่าวธนาคารเป็นผู้สั่งทำให้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นพนักงาน แม้ว่าระยะหลังธนาคารไม่ได้มีการบังคับให้พนักงาน ต้องผูกเนกไทดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่พ่อของเธอก็ยังผูกไปทำงานอยู่ แม้ว่าเนกไทเส้นนั้น จะเก่าเพียงใดก็ตาม
เรื่องราวต่างๆ ที่กฤษณาได้รับรู้มาเกี่ยวกับเอชเอสบีซีจากตาและพ่อของเธอ จึง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เธอตัดสินใจเลือกวางอนาคต ของเธอไว้กับธนาคารแห่งนี้ตั้งแต่ยังเด็ก
"ชื่อเอชเอสบีซี มันอยู่กับในสมองเราตั้งแต่ยังเตาะแตะ เพราะมันสร้างครอบครัวของเราขึ้นมา ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคุณตาคุณพ่อที่เขาเลี้ยงดูเรามา ทำให้เรามีอะไรหลายๆ อย่างในวันนี้ได้ ก็เพราะที่นี่ เราจึงคิดว่าเอชเอสบีซีจะต้องมีอะไรดี ไม่งั้น ทั้งคุณพ่อ คุณตา จะอยู่ได้อย่างไร มากกว่า 30 ปีในชีวิตการทำงานที่นี่"
กฤษณาไม่มีลูก ดังนั้นในสายตรงของเธอจึงไม่อาจสร้าง generation ที่ 4 ที่จะเข้ามาเป็นพนักงานธนาคารเอชเอสบีซีในอนาคต
แต่คนที่ 4 นั้น ปัจจุบันมีแล้ว...!!
เมื่อปี 2546 พิมพิณ สิงหเสมานนท์ ลูกของน้า ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของกฤษณา หลานตาของชด ช้อยสุจริตอีกคนหนึ่งก็ได้เข้ามาเป็นพนักงานในฝ่ายสินเชื่อบุคคลของเอชเอสบีซี
ปัจจุบันพิมพิณอายุ 29 ปี เธอจบการ ศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก่อนหน้าที่จะสมัครเข้ามาทำงานที่เอชเอสบีซี เธอเคยทำงานอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวมาก่อน
"เหตุผลที่มาทำงานที่เอชเอสบีซี เพราะดูแล้วมีความมั่นคงและคุณตาคุณลุงก็ เคยทำงานที่นี่มาก่อน" เธอบอกกับ "ผู้จัดการ"
พิมพิณเล่าว่าทุกวันนี้กฤษณาเริ่มเล่าเรื่องราวชีวิตการทำงานในธนาคารเอชเอสบีซี ให้หลานสาว ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ได้รับรู้บ้างแล้ว
ต้องรอดูกันว่าอีก 7 ปีข้างหน้า ธนาคารเอชเอสบีซี สาขาประเทศไทย จะมี โอกาสเปิดรับ generation ที่ 4 ของครอบครัว กฤษณาและพิมพิณเข้ามาร่วมงานเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่...?
เรื่องราวของกฤษณา พิมพิณ และครอบครัวของพวกเธอ เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของการทำธุรกิจของธนาคารเอชเอสบีซีในประเทศไทย
เอชเอสบีซีเริ่มเข้ามาตั้งสำนักงานอย่างเป็นทางการในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี 2431 โดยใช้ชื่อว่าฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
ก่อนจะเข้ามาตั้งสำนักงานอย่างเป็นทางการ เอชเอสบีซีได้มีตัวแทนในประเทศไทยอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2408 โดยตัวแทนแห่งแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นบริษัทการค้าจากเยอรมนี ชื่อ Pickenpack, Thies and Co. ส่วนตัวแทนรายสุดท้ายก่อนเอชเอสบีซีจะเข้ามาตั้งสำนักงานอย่างเป็นทางการ คือบริษัทการค้าสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ชื่อ Jucker, Sigg & Co. ซึ่งต่อมาหุ้นส่วนสำคัญของบริษัทนี้ผู้หนึ่งคือ อัลเบิร์ต ยุคเกอร์ ได้ดึงอัลเบิร์ต เบอร์ลี่ เข้ามาร่วมทุนด้วย และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
หลังเปิดสำนักงานในประเทศไทยได้ไม่ถึง 1 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารเอชเอสบีซีไว้เป็นวงเงิน 960,000 เม็กซิกันดอลลาร์ ภายใต้ชื่อบัญชีว่า HIS MAJESTY SOMDETCH PHRA PARAMINDR MAHA CHULALONKORN "Private Account"
ต้องยอมรับความจริงว่าเอชเอสบีซี คือองค์กรที่นำเอานวัตกรรมทางการเงินยุคใหม่ เข้าสู่ประเทศไทยในยุคที่ต้องเปิดประเทศเพื่อต่อกรกับลัทธิล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตก
"ประเทศไทยเริ่มใช้เงินกระดาษอย่างจริงจังเมื่อปี 2432 เมื่อธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ที่เข้ามาเปิดสาขาในไทย คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ (The Hongkong and Shanghai Banking Corporation) ได้ขออนุมัติให้รัฐบาลรับบัตรธนาคารที่ธนาคารพาณิชย์นั้นออก ซึ่งรัฐบาลก็อนุมัติให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2432..."
"ในปี 2433 รัฐบาลพิจารณาเห็นว่า บัตรธนาคารที่ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในไทย ออกใช้มีลักษณะเป็นเงินตรา ซึ่งรัฐบาลควรเป็นผู้จัดทำ จึงเตรียมดำเนินการออกเงินกระดาษ เรียกว่าเงินกระดาษหลวง โดยติดต่อสั่งทำกับบริษัทในประเทศเยอรมนี เงินกระดาษหลวงนี้สั่งพิมพ์ทั้งหมด 8 ชนิดราคา คือ 1 บาท 5 บาท 10 บาท 40 บาท 80 บาท 100 บาท 400 บาท และ 800 บาท พิมพ์สอดสีทั้งสองหน้า แต่ด้วยเหตุผลที่ไม่ทราบแน่ชัด เงินกระดาษ หลวงนี้เมื่อได้รับมาจากเยอรมนีแล้วก็มิได้นำออกใช้ จนถึงปี 2442 มีการตั้งกรมธนบัตรขึ้นใน กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อดูแลการออกธนบัตรของรัฐบาลไทย จึงพิจารณาเห็นว่าควรให้ยกเลิกเงินกระดาษหลวงและออกธนบัตรใช้แทนตามพระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ.121..." เนื้อหาในหนังสือ "50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย 2485-2535" ระบุไว้
เอชเอสบีซียังเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่มีส่วนทำหน้าที่ระดมเงินทุนจากต่างประเทศ ให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งถือเป็นการก่อหนี้สาธารณะเป็นครั้งแรก โดยในปลายปี 2445 พระยาสุริยานุวัตร เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส ได้ดำเนินการกู้ยืมเงิน โดยมอบหมายให้เอชเอสบีซี และธนาคารแห่งอินโดจีนเป็นผู้จัดการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลไทย วงเงิน 1 ล้าน ปอนด์สเตอลิงก์ ในตลาดเงินลอนดอนและปารีส เพื่อนำเงินมาสร้างทางรถไฟสายลพบุรีไปยังอุตรดิตถ์และสาธารณูปโภคอื่นๆ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เอชเอสบีซีได้หยุดกิจการในประเทศไทยลงชั่วคราว เนื่อง จากเป็นธนาคารสัญชาติอังกฤษ สำนักงานใหญ่ของธนาคารที่ตั้งอยู่ริมท่าน้ำสี่พระยาในขณะนั้น ถูกกองทัพญี่ปุ่นครอบครอง แต่หลังจากสงครามสิ้นสุดลงในปี 2489 ธนาคารก็เริ่มกลับมาดำเนินกิจการในประเทศไทยต่ออีกครั้งจนถึง ปัจจุบัน
การเลือกทำเลที่ตั้งสำนักงานใหญ่ย่านสี่พระยาเมื่อกว่า 100 ปีก่อน บ่งบอกภาพการทำธุรกิจของธนาคารในยุคนั้นได้เป็น อย่างดี เพราะบทบาทสำคัญของธนาคารพาณิชย์ยุคนั้นคือการเป็นสถาบันการเงินที่สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ โดยในย่านสี่พระยาถือเป็นท่าเรือพาณิชย์ที่มีการส่งออกข้าว และสินค้าเกษตรจากประเทศไทยไปยัง ประเทศต่างๆ รวมถึงเป็นท่าเรือที่รับเรือที่นำ สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทย
ธุรกรรมของธนาคารส่วนใหญ่ในยุคนั้น คือสินเชื่อเพื่อการค้า (trade financing) ซึ่ง เป็นองค์ประกอบสำคัญของการค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ในสมัยนั้นที่ต้องใช้เงินเป็นตัวกลางในการซื้อขายแทนการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกันอย่างเช่นในอดีต
เป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำสนธิสัญญาบาวริ่งในยุครัชกาลที่ 4 ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเปิดประเทศเพื่อค้าขายกับชาว ตะวันตกที่พยายามเข้ามามีอิทธิพลทางการค้าทดแทนพ่อค้าชาวจีนที่เคยผูกขาดอยู่
การอาศัยเครื่องมือทางการค้า อย่างเช่นการนำเงินตราเข้ามาใช้เป็นสื่อกลาง รวม ถึงการยอมให้เปิดกิจการธนาคาร จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งเรียนรู้
การดำเนินธุรกิจของธนาคารเอชเอส บีซีในประเทศไทยได้พัฒนามาเป็นลำดับ ตามสภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาการของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ของประเทศ
ซึ่งหากดูจากการเลือกสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคารเอชเอสบีซี ก็สามารถบ่งบอกถึงพัฒนาการดังกล่าวรวมถึงการเคลื่อนตัวของศูนย์กลางทางทางธุรกิจของไทยได้พอสมควร
หลังจากกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งเมื่อ สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ในปี 2489 ธนาคารเอชเอสบีซีได้ขยายกิจการโดยการเปิดสาขาขึ้นที่ถนนเสือป่า เพื่อให้บริการกับลูกค้าที่อยู่ในย่านป้อมปราบ สวนมะลิ และวรจักร แต่ต่อมาภายหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในประเทศไทย มีสำนักงานได้เพียงแห่งเดียว สาขาเสือป่าของเอชเอสบีซีจึงต้องปิดตัวลง
ซึ่งในย่านนี้เคยถูกใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ของไทย อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารศรีนคร และธนาคาร มหานคร มาก่อนด้วยเช่นกัน
ในปี 2520 หลังจากประเทศไทยเปิดตลาดหลักทรัพย์ได้เพียง 2 ปี เอชเอสบีซีได้ย้ายสำนักงานใหญ่จากสี่พระยา มายังศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นอาคาร เดียวกับที่ตั้งตลาดหลักทรัพย์
ส่วนอาคารสำนักงานใหญ่เดิมที่สี่พระยา ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่และถูกใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของเอชเอสบีซีมาถึง 89 ปี ได้ถูกรื้อทิ้งและก่อสร้างเป็นโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตันในปัจจุบัน
ในปี 2525 หลังจากตลาดหลัก ทรัพย์ต้องเผชิญกับความซบเซาจากปัญหาการปั่นหุ้น บริษัทราชาเงินทุนในปี 2521-2522 ธนาคารเอชเอสบีซีได้ย้ายสำนักงานใหญ่อีกครั้งมาอยู่ที่ถนน สีลม ซึ่งขณะนั้นมีธนาคารพาณิชย์ของไทยใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่แล้วอย่างน้อย 3 แห่ง คือธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยทนุ
จนเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 เมื่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มฟื้นตัว หลังต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติอย่างรุนแรงในช่วงลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 เอชเอสบีซีได้ย้ายมาเช่าอาคาร 12 ชั้น ทางทิศตะวันออกของอื้อจือเหลียงคอมเพล็กซ์ ถนนพระรามสี่ ตั้งชื่อเป็นอาคารเอชเอสบีซี และใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่จนถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้ธนาคารเอชเอสบีซี สาขาประเทศไทย ถือเป็นสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ที่ทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ครบวงจร ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ในลักษณะ corporate finance, trade service, investment banking และธุรกิจรายย่อยในลักษณะ consumer finance ทั้ง cradit card และ personal loan รวมถึง private banking ในนามของเอชเอสบีซี พรีเมียร์
โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย เอชเอสบีซีนับเป็นธนาคารพาณิชย์รายแรกๆ ที่เริ่มเข้ามาปลุกตลาดบริการการเงินประเภทนี้ให้มีความตื่นตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2538 โดยการเปิดตัวบัตรเครดิตเอชเอสบีซี วีซ่า ในช่วงกลางปี หลังจากปล่อยให้ซิตี้แบงก์จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาบุกเบิก ธุรกิจล่วงหน้าไปก่อนหน้าเพียงไม่นาน
ธุรกิจรายย่อยได้ถูกกำหนดเป้าหมายให้เป็นธุรกิจหลักอีกธุรกิจหนึ่งของการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไทยของเอชเอสบีซีนับแต่บัดนั้น
แต่ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ของไทยทุกแห่งยังสนุกสนานกับการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจรายใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
"เราคาดว่าสัดส่วนรายได้ของเราในปี 1997 นี้ น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ผ่านมา 90% มาจากธุรกิจ trade service, corporate banking, treasury, capital market และ custodian ขณะที่อีก 10% เป็นสัดส่วนของธุรกิจ personal banking โดยจะเปลี่ยนมาเป็น 50 : 50 คือมาจากธุรกิจ personal banking มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 50% และอีก 50% ก็จะมา จากธุรกิจที่แบงก์มีความเชี่ยวชาญและแข็งแกร่ง อย่าง trade service, corporate banking และ custodian" ริชาร์ด ครอมเวลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอชเอสบีซี สาขาประเทศไทยในขณะนั้นเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง ก็คือก่อนจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในปี 2540 ไม่กี่ปี ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยล้วนกำลังอาศัยช่องทางวิเทศธนกิจ ด้วยการ ระดมเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ให้กับนักธุรกิจของไทย เพื่อหารายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทตามมาในภายหลัง
แต่เอชเอสบีซีกลับอาศัยการระดมเงินทุนในประเทศเพื่อนำมาใช้ในการขยายธุรกิจแทน
กลางปี 2538 เอชเอสบีซีเป็นธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศรายแรกที่ได้รับอนุมัติจาก กระทรวงการคลังให้ออกพันธบัตรระยะเวลา 5 ปี มูลค่า 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 11%
"การที่เราออกบาทบอนด์ เพราะเรามีสาขาเพียงแห่งเดียวจึงเป็นเรื่องยากที่จะ run business และการที่เราเข้า ร่วมกับ ATM Pool ก็ทำให้เรา สามารถขยายธุรกิจได้สะดวกขึ้น การที่เราเข้ามาที่นี่ก็เพื่อสนับสนุนประเทศไทย บริษัทไทยและบรรษัทข้ามชาติทุกชาติ มีบริษัทเป็นจำนวนมากที่ต้อง การกู้ยืมเงินบาท ซึ่งเราจำเป็นจะต้องหาเงินบาทด้วยการกู้ยืม จากธนาคารไทย หรือในตลาด อินเตอร์แบงก์ ซึ่งค่อนข้างจำกัด สามารถกู้ได้เฉพาะข้ามคืน และอัตราดอกเบี้ยมีความผันผวนสูงมาก สามารถวิ่งขึ้น ลงในระยะเวลาอันสั้น มันจึงเป็นเรื่องยากสำหรับผมที่จะทำธุรกิจ เพราะเราไม่สามารถ ผลักภาระตรงนี้ไปให้ลูกค้าได้" เป็นอีกตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ของริชาร์ด ครอมเวลล์ คราวเดียวกัน
(รายละเอียดอ่านเรื่อง "จับตาฮ่องกงแบงก์...แบงก์ไทยระวังเจ็บตัว!" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนมีนาคม 2540 หรือใน www.gotomanager.com)
แผนธุรกิจของเอชเอสบีซีสะดุดไปเล็ก น้อยหลังประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540
แต่หลังจากย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่อาคารเอชเอสบีซี ถนนพระรามสี่ ในต้นปี 2544 เอชเอสบีซีก็เริ่มกลับมารุกธุรกิจอีกครั้ง โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อยด้วยการใช้บัตรเครดิต เป็นผลิตภัณฑ์หลัก ตามมาด้วยการให้บริการ สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อเคหะ
ซึ่งความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าเอชเอสบีซี ในจุดนี้ จะมีลักษณะเป็นแคมเปญที่ทำพร้อมกันทั่วโลก
ด้วยความที่เอชเอสบีซีมีเครือข่ายสาขา กระจายอยู่กว่า 10,000 แห่ง ใน 83 ประเทศ และเขตเศรษฐกิจทั่วโลก เอชเอสบีซีได้เน้นย้ำ จุดแข็งดังกล่าวขึ้นมาเป็นจุดขาย นั่นคือการที่เป็นธนาคารระดับโลก (global bank) ที่มีความชำนาญในเรื่องท้องถิ่น (local know-ledge) ด้วยวลีที่ว่า "the world's local bank"
กลางปี 2547 เอชเอสบีซีได้เช่าพื้นที่ทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารกับเครื่องบิน (aerobridge) ของสนามบินดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ ในประเทศไทย รวมถึงสนามบินฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และสนามบินซูการ์โน-ฮาตตา ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อติดตั้งสื่อโฆษณาของ เอชเอสบีซี ซึ่งกลยุทธ์นี้ยังคงใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและขยายออกไปยังอีกหลายๆสนามบินทั่วโลก
"เราเลือกใช้ aerobridge ซึ่งเป็นตัวเชื่อมการเดินทางของนักเดินทาง เป็นสื่อโฆษณาที่ถือว่ามีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเปรียบเสมือนสัญลักษณ์เชื่อมโยงความรู้ในระดับโลกเข้ากับความชำนาญในเรื่องท้องถิ่น" เดวิด เคนนีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร เอชเอสบีซี สาขาประเทศไทย ในช่วงนั้นได้บอกไว้ในการเปิดตัวสื่อโฆษณาดังกล่าวในประเทศไทย
(รายละเอียดอ่านเรื่อง "ยุทธศาสตร์ HSBC" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนกันยายน 2547 หรือใน www.gotomanager. com)
เป็นที่น่าสังเกตว่าเทอมของผู้บริหาร ที่จะมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอชเอส บีซีในประเทศไทยและในอีกหลายๆ ประเทศ จะกินเวลาเพียงช่วงสั้นๆ ประมาณ 2-3 ปี ซึ่งจุดนี้ถือเป็นข้อได้เปรียบที่เอชเอสบีซีสามารถนำมาใช้ในการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายทั่วโลก เพราะผู้บริหารแต่ละคนได้มีโอกาสศึกษาข้อมูล เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในสภาพการทำธุรกิจของแต่ละประเทศที่หลากหลายและสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ดังกล่าวระหว่างกันและกันได้โดยง่าย
ต่างจากวิธีคิดของธนาคารพาณิชย์ไทยในอดีตที่มีหลายแห่ง ได้อาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้บริหารกับลูกค้าที่รู้จัก และทำธุรกิจร่วมกันมาอย่างยาวนาน เป็นจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจ
โดยปล่อยให้ผู้บริหารนั่งอยู่ในตำแหน่งเดิมเป็นเวลานาน จนบางครั้งทำให้ขาดแรงกระตุ้น เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ
การเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมทั่วโลกนี้ นับเป็นจุดที่น่าสนใจของ เอชเอสบีซี โดยเฉพาะกับการทำธุรกิจในประเทศไทยที่ปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศต้องดำรงสถานะไว้อย่างเดียวคือการเป็นสาขาเท่านั้น ดังนั้นจึงสามารถ ตั้งสำนักงานได้เพียงแห่งเดียว ไม่สามารถขยายสาขาให้ครอบคลุมไปทั่วประเทศได้เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ของไทยที่เป็นคู่แข่ง
การกระโดดเข้ามาจับธุรกิจรายย่อยของเอชเอสบีซี จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ นำเสนอ
กรณีของบัตรเครดิต หรือบริการเอชเอสบีซี พรีเมียร์ เป็นตัวอย่าง
ปัจจุบันเวลาเอชเอสบีซีจะมีโปรโมชั่นอะไรก็ตามที่เป็นการให้สิทธิประโยชน์กับผู้ถือบัตรเครดิต จะเป็นแคมเปญที่ใช้เหมือนกันทั่วโลก ดังนั้นผู้ถือบัตรเครดิตของเอชเอสบีซีจึงมั่นใจ ได้ว่าเมื่อนำบัตรเครดิตไปใช้ไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม จะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกันหมด
ส่วนกรณีของเอชเอสบีซี พรีเมียร์ ที่โดยคอนเซ็ปต์แล้ว ลูกค้าของเอชเอสบีซีทั่วโลก สามารถเลือกหาผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินได้จากเครือข่ายเอชเอสบีซีทุกแห่งที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงที่สุด แต่สำหรับลูกค้าในไทยอาจต้องรอให้กฎหมายเปิดโอกาสให้กว้างขึ้นกว่าในปัจจุบันอีกสักระยะจึงสามารถนำเงินออมที่มีอยู่ออกไปลงทุนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่สำหรับลูกค้าขนาดใหญ่กว่านั้น อาทิ ลูกค้าที่เป็นองค์กรหรือบริษัท การมีเครือข่าย ทั่วโลกทำให้การทำธุรกิจของเอชเอสบีซีมีความได้เปรียบธนาคารพาณิชย์ของไทยโดยสิ้นเชิง
"เราเชื่อมต่อกันหมด ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าของผมที่นี่ต้องการจะขยายการส่งออกไปยังเม็กซิโก แล้วมาหาผม ถามว่ามาร์คัส ผมจะขยายธุรกิจไปที่เม็กซิโก แล้วผมจะบินไปที่นั่นพรุ่งนี้ คุณช่วยผมได้ไหม ผมตอบทันทีเลยว่าได้ เพราะเรามีคนอยู่ที่เม็กซิโก เมื่อคุณไปถึงที่แอร์พอร์ต คุณจะเห็นชื่อเอชเอสบีซีที่ aerobridge ของแอร์พอร์ต คุณจะรู้สึกสะดวกสบายที่รู้ว่าเราอยู่ที่นั่น เราสามารถให้ความช่วยเหลือในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับท้องถิ่นที่เหมาะสมกับกลยุทธ์ทางธุรกิจของคุณในประเทศนั้น" มาร์คัส เฮอร์รี่ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอชเอสบีซี สาขาประเทศไทย คนก่อนหน้าวิลลี แทม เคยคุยไว้กับ "ผู้จัดการ"
การเข้ามาใช้บริการของเอชเอสบีซีที่แม้จะอยู่ในประเทศไทย แต่ก็มีโอกาสที่จะได้ใช้เครือข่าย รวมถึงสามารถรับรู้ข้อมูลความเคลื่อนไหวทางด้านธุรกิจจากทั่วโลก จึงถือเป็นทรัพย์สินมีค่าที่เอชเอสบีซีได้สะสมเป็นระยะเวลายาวนาน
มาร์คัส เฮอร์รี่ ถือเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์การทำธุรกิจที่มีอายุยาว 120 ปี ของเอชเอสบีซีในประเทศไทย
ภายในห้องทำงานของเขามีภาพของสำนักงานใหญ่ของเอชเอสบีซีในไทย ตั้งแต่สมัยยังอยู่ท่าน้ำสี่พระยา สยามเซ็นเตอร์ และสีลม นอกจากนี้ยังมีสมุดบัญชีเงินฝากของลูกค้าตั้งแต่ ยุคโบราณ และสิ่งของสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ตั้งโชว์เอาไว้
เวลามีลูกค้าเข้ามาคุยธุรกิจ เขามักจะชวนลูกค้าคุยถึงเรื่องประวัติศาสตร์ของเอชเอสบีซี และชี้ให้ดูภาพ และข้าวของต่างๆ เหล่านั้น
"ถ้ามีพนักงานใหม่มาเริ่มงานกับเอชเอสบีซีประเทศไทย ผมต้องเชิญเขามาที่ออฟฟิศของผมแล้วก็จะคุยกันเกี่ยวกับธุรกิจของเอชเอสบีซีเมื่อ 120 ปีก่อน ซึ่งคงต้องมี CEO เหมือนผม ผมคิดว่าผมคงทำอย่างเดียวกับที่ CEO คนแรกทำ นั่นคือการต้อนรับและคุยกับพนักงานหนุ่มสาวที่เข้ามาร่วมงานใหม่ๆ ถึงวิธีการทำงานที่จะช่วยให้ธุรกิจของเอชเอสบีซีที่นี่เติบโต ผมคงต้องทำตามวัฒนธรรมของเอชเอสบีซีในไทย ที่ต้องการทำธุรกิจระยะยาวไม่ใช้เพียงแค่ช่วงสั้นๆ แม้ว่าวัฏจักรของธุรกิจจะมีทั้งขาขึ้นและลง" มาร์คัสบอกพร้อมย้ำอีกว่า
"ข้อมูลในอดีตบอกไว้ชัดแล้วว่าเราอยู่ที่นี่ตลอด ไม่เคยไปไหน แม้ในช่วงวิกฤติเมื่อปี 2540 อาจมีธนาคารต่างประเทศบางแห่งปิดสาขาในเมืองไทยไป แล้วก็กลับมาใหม่อีกครั้งเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แต่เราอยู่ตลอด"
ปัจจุบันมาร์คัสย้ายไปประจำสำนักงานใหญ่ของเอชเอสบีซี โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัท แม่ของธนาคารเอชเอสบีซีที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีวิลลี แทมเข้ามารับตำแหน่งแทน
การแต่งตั้งวิลลี แทมเข้ามาเป็นประธานเจ้าหน้าหน้าที่บริหาร เอชเอสบีซี สาขาประเทศไทย ถือเป็นความเคลื่อนไหวทาง ยุทธศาสตร์ที่สำคัญและน่าจับตา
วิลลี แทมเข้ามาประจำในประเทศไทย ในยุคที่กิจการของเอชเอสบีซีในไทยกำลังรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจรายใหญ่และรายย่อย
โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อยที่ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรเครดิตของเอชเอสบีซีในไทยมากกว่า 5 แสนใบถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของธนาคาร ผู้ออกบัตร (issuer) ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ
วิลลี แทมเปิดตัวกับสื่อมวลชนไทย เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2550 ด้วยการประกาศผลสำเร็จของเอชเอสบีซี สาขาประเทศไทย ในปี 2550 ที่ได้รับรางวัลธนาคารยอดเยี่ยมในประเทศไทยเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันจากการจัดอันดับของนิตยสารดิ แอส เซท โดยมีผลงานการเป็นผู้จัดการจำหน่ายพันธบัตรนอกประเทศ (ซามูไรบอนด์) เป็นครั้งแรกของบริษัท ปตท. มูลค่า 3,600 ล้านเยน การเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทโตโยต้าลิสซิ่ง (ประเทศไทย) มูลค่า 3,500 ล้านบาท และการจัดการขายดีลหุ้นกู้ยอดเยี่ยมของบริษัทธนารักษ์ มูลค่า 5,500 ล้านบาท
นอกจากนี้เอชเอสบีซี สาขาประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้ให้บริการรับฝากและดูแลหลักทรัพย์ (custodian) อันดับ 1 จากนิตยสารโกลบอล คัสโตเดียน ซึ่งเป็นรางวัลที่เอชเอสบีซี สาขาประเทศไทย ได้รับมาทุกปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2538
รวมถึงการได้รับการจัดอันดับให้เป็นเป็นอันดับ 1 ในการสำรวจการให้บริการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย โดยกรีนวิซ แอสโซซิเอดเต็ด
เป็นที่น่าสังเกตว่ากิจการที่รุดหน้าของ ธนาคารเอชเอสบีซี สาขาประเทศไทย เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เอชเอสบีซีมีสถานะเป็นเพียงสาขาและมีสำนักงานอยู่เพียงแห่งเดียว
ซึ่งตรงกันข้ามกับการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ของไทยที่ต่างพยายามกระโดดเข้าไปแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด เพื่อ หวังขึ้นเป็นอันดับ 1 ด้วยการทุ่มเทงบประมาณ ไปกับการขยายสาขาให้ครอบคลุมไปทุกจุดที่คาดว่าจะมีลูกค้า รวมถึงทุ่มเงินซื้อสื่อโฆษณาประเภทต่างๆ โดยใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล
วิลลี แทม ปัจจุบันอายุ 47 ปี เป็นคน มาเลเซีย จบการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรม โยธา เกียรตินิยมอันดับ 1 จากอิมพีเรียล คอลเลจ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
เขาร่วมงานกับเอชเอสบีซีตั้งแต่ปี 2528 มีประสบการณ์ทำงานทั้งทางด้านสินเชื่อ ธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย ด้านการค้าระหว่าง ประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงด้านการควบคุมความเสี่ยง เคยถูกส่งไปประจำยังเอชเอสบีซีทั่วโลกมาแล้วหลายแห่งทั้งในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง มาเก๊า กาตาร์
ในปี 2544 วิลลี แทมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการประจำเขตกัวลาลัมเปอร์ ในประเทศมาเลเซีย จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2547 ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นประธานเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติการของเอชเอสบีซี ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนจะเข้ามาเป็นประธานเจ้าหน้าที่ บริหารของเอชเอสบีซี สาขาประเทศไทย
เป็นการเข้ามารับตำแหน่งในไทยในช่วงที่นักธุรกิจไทยกำลังตื่นตัวและมีความเคลื่อน ไหวอย่างมีนัยสำคัญที่ต้องการจะขยายธุรกิจและความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก แทนที่สหรัฐอเมริกาในอนาคตอันใกล้นี้
การที่วิลลี แทม เคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของเอชเอสบีซี ประจำสาธารณรัฐ ประชาชนจีน อยู่ถึง 3 ปี จึงน่าจะทำให้เขามีบทบาทสำคัญสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างนักธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศที่เป็นลูกค้าของเอชเอสบีซีได้ไม่มากก็น้อย
"พนักงานเอชเอสบีซีมีความยินดีที่จะมอบบริการด้านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับพัฒนาการของตลาด รวมถึงกฎระเบียบที่เป็นปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ได้รับความสำเร็จในการทำธุรกิจในประเทศจีน" วิลลี แทมตอบคำถามเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการ"
120 ปีของเอชเอสบีซีในประเทศไทย จากที่ถือกำเนิดขึ้นเพราะความต้องการขยายอิทธิพลทางการค้าของพ่อค้าชาวยุโรปเข้ามามีบทบาทในการค้าขายในภูมิภาคนี้ เพื่อทดแทน หรือลดบทบาทที่พ่อค้าชาวจีนเคยครองตำแหน่งเป็นผู้เล่นหลักอยู่เมื่อครั้งในอดีต
ปัจจุบันเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นถนนทางการค้าทุกสายล้วนมุ่งเข้าไปสู่เมืองจีน
เอชเอสบีซีในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินซึ่งมีข้อมูลการค้าของจีนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยเฉพาะสาขาประเทศไทย ที่เพิ่งได้ CEO คนใหม่ที่เคยเป็น COO อยู่ในจีน จะฉกฉวย เอาโอกาสนี้สร้างขึ้นเป็นจุดแข็งใหม่ของตนเองขึ้นมาได้หรือไม่
เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|