วิจิตร สุพินิจ

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ว่าวิจิตรกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก ในสายตาคนภายนอก เขาและแบงก์ชาติกำลังประสบกับ "วิกฤตศรัทธา" ขณะที่จากคนภายในเองก็อยู่ในภาวะระแวงอันเนื่องมาจากการที่ผู้ว่าวิจิตรดึงการเมืองเข้ามามีบทบาทในแบงก์ชาติมากเกินไป

อย่างไรก็ตามด้วยบุคลิกภาพอันสุขุมลุ่มลึกผสานกับท่าทีนุ่มนวลน้อมตัวเข้าหาทุกรัฐมนตรีคลัง ตามจารีตประเพณีที่วิจิตรต้องทำ เป็นสิ่งที่วิจิตรเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ 50 ปีของแบงก์ชาติว่า นี่คือยุทธวิธีหนึ่งของการรักษาระยะความสัมพันธ์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรูปของการทำงานร่วมกันในฐานะเท่าเทียมมิให้อีกฝ่ายหนึ่งครอบงำได้ในระบบการเมืองที่เปิด และสามารถรักษาจุดยืนด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจและเก้าอี้ตำแหน่งของตนเองได้ในระยะยาว

"หน้าที่ของเราต้องทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล ซึ่งผมก็ทำมาโดยตลอด ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล ผมก็จะนัดพบรัฐมนตรีคลังเป็นงานแรก เป็นธรรมเนียมที่ว่ารัฐมนตรีคลังมาใหม่เราก็จะนัดไปทันที จะเห็นว่าเวลาที่รัฐมนตรีคลังนัดหน่วยงานของกระทรวงการคลังคุยกันจะไม่มีแบงก์ชาติเราจะแยกต่างหาก คุยกันสองต่อสองสำหรับทุกรัฐมนตรีคลัง ผมไปด้วยตัวเองตลอด พอวันที่ท่านรับตำแหน่งวันแรกผมก็นัดเลย ไปพบและนำเรื่องไปเล่าให้ฟังว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เรื่องต่างๆไปถึงไหนบ้างเพื่อให้ท่านทราบ"

วิจิตร สุพินิจ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเล่าให้ "ผู้จัดการรายวัน" ฟังเมื่อ 5 ก.พ.2538 ถึงเบื้องหลังบทบาทของแบงก์ชาติที่สามารถผลักดันนโยบายการเงินได้ราบรื่น ตั้งแต่

เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติในเดือน พฤศจิกายน 2533 ในทุกสถานการณ์การเมืองที่วิจิตรสามารถเอาตัวรอดผ่านมาแล้วใน 7 รัฐบาลและ 6 รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังนับตั้งแต่ดร.วีรพงษ์ รามางกูร สุธี สิงห์ เสน่ห์ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ และล่าสุด ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

วิจิตรเรียนรู้ว่า ยิ่งความไม่แน่ใจว่าช่วงเวลาในตำแหน่งของนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั้นเท่าใด ก็ยิ่งพบความจริงว่าแบงก์ชาติกลับจะถูกนักการเมืองล่วงละเมิดนโยบายอนุรักษ์นิยมทางการเงินมากขึ้นเท่านั้น โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐบาลให้มากขึ้น เพื่อขยายฐานเลือกตั้งของตนเอง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่โยงใยสัมพันธ์กับธุรกิจบริษัทที่กำลังขยายตัว ก็จะมีผลให้แบงก์ชาติถูกบีบคั้นจากกระทรวงการคลังมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในรัฐบาลบรรหาร 1 ที่ขอเพิ่มงบประมาณอีก 1 หมื่นล้านบาทหลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นานนักงานนี้แบงก์ชาติเฉยไม่ค้ดค้านแม้จะมีเสียงวิพากษ์ว่าจะทำให้เงินเฟ้อมากขึ้น

บทบาทของผู้ว่าวิจิตรโดดเด่นมากในสมัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง"สุรเกียรต์ เสถียรไทย"

คนในวงการการเงินการคลังวิเคราะห์ให้ฟังว่า การที่ผู้ว่าวิจิตรค่อนข้างจะโดดเด่นมากนั้นมาจากปัจจัย 3 ประการ

หนึ่ง- ความ "อ่อนหัด" ของรัฐมนตรีคลังคนใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องการเงินการคลัง

สอง- โดยบทบาทและหน้าที่ของผู้ว่าแบงก์ชาติ วิจิตรมีหน้าที่เสนอนโยบายและความเห็นด้านการเงิน และรัฐมนตรีอยู่ในฐานะ"จำเป็นที่จะต้องเลือก"นโยบายการเงินมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งเรื่องเงินเฟ้อที่ใช้เรื่องดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหลักในการแก้ไขปัญหา การควบคุมสินเชื่อเป็นต้น

หลายคนวิจารณ์ว่า เขาคือ "ผู้อยู่เบื้องหลัง" รัฐมนตรีคลังอย่างแท้จริงขณะที่บางคนให้ความชอบธรรมว่า เพราะผู้ว่าวิจิตรเป็นข้าราชการ เมื่อรัฐมนตรีคลังใช้ให้ทำอะไรก็ต้องทำ รวมไปถึงเรื่องการเสนอนโยบายต่างๆ ซึ่งแน่นอนที่แบงก์ชาติจะต้องเสนอนโยบายด้านการเงิน

บทบาทของผู้ว่าวิจิตรจึงโดดเด่นและกลายเป็น "ผู้อยู่เบื้องหลัง" อย่างช่วยไม่ได้

สาม- แม้ว่าโดยบุคลิกแล้ว ผู้ว่าวิจิตรจะมีลักษณะสุขุม นุ่มลึกและไม่ค่อยพูดมากแต่ในวงการยอมรับว่า เขาเป็นผู้ว่าที่เชื่อมั่นและภูมิใจใน "ความเป็นสถาบัน" มากๆ

ในยามวิกฤต เขาประกาศว่า แบงก์ชาติคือสถาบันที่มั่นคง และช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศพ้นความลำบากมาได้ซึ่งจากสถานการณ์หลายๆ ครั้งแบงก์ชาติก็ทำหน้าที่เช่นนั้นจริงๆ ขณะที่ผู้ว่าวิจิตรอาจจะมองว่า (และอาจเป็นเช่นนั้นจริงๆ)สถาบันอื่นๆ อ่อนล้าเกินกว่าที่จะช่วยพยุงได้

กล่าวกันว่านักการเมืองค่อนข้างพอใจบทบาทของผู้ว่าวิจิตรที่ไม่แข็งกร้าวเกินไป และเป็นผู้ที่เข้าใจสถานการณ์การเมืองดีกรณีดัชนีเงินเฟ้อ ซึ่งสับสนกันอย่างมากว่าเป็นเท่าไรกันแน่ แบงก์ชาติได้เสนอตัวเลขที่ค่อนข้างน่าพอใจต่อสถานการณ์ ขณะที่สถาบันการเงินอื่นโจมตีว่า หากเงินเฟ้อจะเป็นตัวเลขที่เลวร้ายก็น่าจะยอมรับความเป็นจริงออกมา

อย่างไรก็ตาม การอยู่เบื้องหลังของผู้ว่าวิจิตรบางครั้งก็ "ล้ำเส้น" เกินไป ดังเช่นกรณีกองทุนจำนำหุ้น 3 หมื่นล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งประสบความล้มเหลว และผู้ว่าวิจิตรก็เสนอ

"กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน"ซึ่งต่อมาก็พบว่าหากนำมาใช้จะผิดกฏหมาย ผู้ว่าวิจิตรก็เสนอให้ธนาคารกรุงไทยและออมสินมาช่วยอีก จนกลายเป็นความไม่พอใจและไม่เข้าใจในบทบาทของผู้ว่าการแบงก์ชาติ

ยิ่งกรณี "ปลดเอกกมล" ความหวาดระแวงและไม่เข้าใจในตัวผู้ว่าวิจิตรยิ่งมีมากขึ้นเป็นลำดับ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.