ธวัช อังสุวรังษี ผู้ชนะที่น่าหมั่นไส้แห่งปี


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

เพียงชื่อธวัช อังสุวรังษีก็ทำให้หลายคนในสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมหนาว เพราะผู้บริหารหนุ่มสมองร้อนอย่างธวัชเชื่อมั่นในตัวเองสูงจนคนหมั่นไส้ และกล้าทำสิ่งที่แตกต่างกว่าจนคนลือทั้งยุทธจักร เช่น เป็นคนแรกที่จัดตั้ง"กองทุนเปิด"บัวหลวง โดยปรัชญาบริหารแบบคนรุ่นใหม่ที่ชอบการแข่งขันแบบแฟร์เกม เร้าใจด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เช่น จุดขายหน่วยกองทุนผ่านเอทีเอ็มคนแรกและคนเดียวซึ่งธวัชภูมิใจที่ทุกวันนี้ยังไม่มีคู่แข่งขันรายใดจะไล่ตามทัน

"กองทุนเปิดบัวแก้ว" เป็นความแปลกแยกที่แตกต่าง ณ จุดเริ่มต้นขณะที่บลจ.คู่แข่ง 7 รายล้วนแล้วแต่ทำกองทุนปิดแต่ในที่สุดกองทุนเปิดเป็นที่นิยม เพราะซื้อง่ายขายคล่องและให้กำไรจากส่วนต่างของราคา ขณะที่กองทุนปิดต้องครบตามกำหนด 3-5 ปี แล้วรอรับเงินปันผล นอกจากนี้บลจ.บัวหลวงไม่เก็บค่าธรรมเนียมขาย ขณะที่คู่แข่งหักค่าธรรมเนียมขาย ยิ่งกองทุนปิด ลูกค้าจะต้องถูกหัก 0.3% ทีเดียว ในที่สุดคู่แข่งทุกคนก็ต้องกลายพันธุ์ผสมหรือเปลี่ยนทิศทางตลาดหรือเปลี่ยนทิศสู่กองทุนเปิดกันเป็นแถว ถึงเวลานี้ธวัชก็ยิ้มในฐานะแชมป์บริหารกองทุนรวมแห่งปี

10 กองทุนรวมที่บลจ.บัวหลวงตั้งระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2536 สองกองทุนที่ให้ผลตอบแทนรวมเพิ่มขึ้น ได้แก่กองทุนเปิดบัวแก้วให้มากที่สุดถึง 29% และบัวขวัญให้ 20.74% ขณะที่กองทุนปิดของคู่แข่งต่างมีผลตอบแทนขาดทุนกำไรขาดทุนมากหรือน้อยทั้งนี้เพราะกองทุนต่างๆ ติดหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หนัก ขณะที่บางกองทุนถือหุ้นทีพีไอโพลีนซึ่งราคาปรับตัวลงมากก็ทำให้พอร์ตบางกองทุนขาดทุนหนัก

ใช่ว่าธวัชจะไม่มีกองทุนขาดทุนกองทุนที่ขาดทุนมากที่สุดในกลุ่มกองทุนรวมของทุกแห่งที่จัดตั้งระหว่าง สิงหาคม-ธันวาคม 2537 ก็คือกองทุนบัวหลวงธนคมนั่นเอง ขาดทุน ประมาณ 11.21% ขณะที่กองทุนบัวหลวงโครงสร้างขาดทุน 4.83% เหตุผลขาดทุนย่อมอ้างภาวะตกต่ำของตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลง 12% แต่งานนี้ลูกค้าที่ถือหน่วยลงทุนก็กล้ำกลืนรอจังหวะ

พยัคฆ์หนุ่มลำพองอย่างธวัชที่มีความรู้ระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยม CALTECH (CALIFORNIA INSTITUTE OF TECHNOLOGY) แต่มาประสบความสำเร็จในฐานะ THE BEST FUND MANAGER OF THE YEAR มืออาชีพที่บริหารกองทุนรวมบัวหลวงมูลค่าสองหมื่นล้านบาท รักการอ่านหนังสือมากที่สุด ชอบเล่นกอล์ฟ สะสมภาพเขียนและมีจิตวิญญาณของนักวิชาการอยู่สูงในมาดผู้บริหารกองทุนผู้ปราดเปรื่องที่พูดเร็วและคิดเร็ว

"ผมไม่ใช่นักธุรกิจแต่คล้ายๆ นักวิชาการมากกว่า ผมอยากให้เข้าใจว่า ผมไม่มีแรงทะเยอทะยานอยากจะไปบริหารสมาคม แต่ผมก็ไม่ต้องการให้เขาเอาสมาคมมาปิดปากผม ไม่ว่าจะเรื่องประเมินผลหรือการให้ข่าวที่ต้องผ่านสมาคมอย่างเดียว หรือการตัดสินใจแบบพวกมากลากไปไม่เข้ามาตรฐานโลกก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้อง ระยะหลังๆ นี้ผมเบื่อความไม่จริงใจ" นี่คือความอึดอัดใจของธวัช

ถึงกระนั้น สามปีที่บริหารกองทุนรวมบัวหลวงธวัชสร้างผลงานชิ้นโบวแดงที่เข้าตากรรมการ โดยเฉพาะบิ๊กบอส "โทนี่" ชาติศิริ โสภณพนิชที่สนับสนุนดาวรุ่งมาแรงคนนี้เต็มที่ โทนี่เคยบอกว่า "เรื่องอายุมากหรือน้อย ผมไม่มอง แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม การตัดสินใจ ประสบการณ์ความรอบคอบ เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญกว่า"

ธวัชจึงเป็น "มนุษย์ทองคำ" รุ่นใหม่ที่มีค่าท่ามกลางคนรุ่นเก่าผู้สร้างฐานธุรกิจ แต่ความเด่นบางทีก็เป็นภัยหากไม่รู้จักรักษาระยะใกล้ไกลกับอำนาจ ธวัชจึงเก็บตัวเงียบๆแบบโลว์โปร์ไฟล์ เว้นแต่ถูกรุกรานจึงตอบโต้แบบป้องกันตัวเองที่วัดกันด้วยกึ๋น

ความที่ธวัชเป็น"คนหัวแข็ง"ซึ่งเป็นฉายาที่คนในสมาคม บลจ.ตั้งให้ เพราะเหตุไม่ซูฮกนายกสมาคม ก็ทำให้เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างก็เบื่อเอือมระอาด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายธวัชก็ยืนยันอย่างเชื่อมั่นในตัวเองว่า ที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าตนเองเดินมาถูกทางและกวาดหน้าบ้านตนเองสะอาด

"ผมเป็นคนอย่างนี้มานานแล้วสมัยเรียนมศ.2 ที่สวนกุหลาบ ผมอ่านแคลคลูลัสและชอบนั่งทำ โจทย์ฟิสิกส์ อาจารย์เห็นเข้าก็หมั่นไส้เพราะผมไม่ซูฮก จับผิดผมในห้องบ้าง พอเขาตั้งคำถามยากๆ ผมก็ตอบได้เลยผมทอปวิชาคณิตศาสตร์ ในรุ่นผมไม่มีใครกินผม ผมสอบเทียบเอนทรานซ์เข้าหมอได้ตอนมศ.4 และจบมศ.5 ได้ที่ 1 ของประเทศไทย แต่ผมไม่เรียนหมอแม้จะสอบเข้าได้ เพราะมันง่ายที่จะเดินตามคนอื่น แต่ผมชอบทำสิ่งที่แตกต่างแม้จะยากลำบากกว่าแต่ให้ผลเกินคุ้มแบบ EXTRA RETURN ในบั้นปลาย เหมือนทำกองทุนเปิด เราคิดไปอีกด้านหนึ่ง" ธวัชเล่าให้ฟังถึงอุปนิสัยขบถที่เชื่อมั่นตัวเอง

ตั้งแต่ยังแค่ตัวเล็กๆ ในฐานะMANAGEMENT TRAINEE ของปูนซิเมนต์ไทย ธวัชกล้าแย้งกับชุมพลในเรื่องสร้างระบบขนหินสู่โรงงานท่าหลวง แต่ธวัชอยู่ที่นี่ได้เพียงสิบอาทิตย์ก็ลาออก ทั้งๆ ที่พารณจะเตรียมส่งเขาไปเรียนฮาร์วาร์ด แต่ธวัชปฏิเสธ

หัวเลี้ยวหัวต่อชีวิตตรงนี้พิสูจน์ว่าเขาตัดสินใจถูกธวัชเข้าสู่แบงก์กรุงเทพ ที่ซึ่งเป็นดินแดนอุดมด้วย เงินๆ ทองๆ และตัวเลขก่อนธวัชมาบริหารอกงทุนรวม เขาเคยเป็น AVP ของฝ่ายธนบดีธนกิจ ซึ่งประสบการณ์ช่วงนี้เองที่เป็นคำตอบว่าทำไมธวัชไม่สนใจตื่นเต้นกับไพรเวตฟันต์ เพราะว่าประสบการณ์ตอนทำไพรเวตแบงกิ้งบอกเขาว่าไม่คุ้ม แต่เขาเตรียมลุยไปข้างหน้ากับงานที่รออนุมัติจากก.ล.ต.คือ SECTORAL FUND ที่เจาะเฉพาะกลุ่ม และ ALLOCATION FUND ที่ย้ายการลงทุนได้

แต่จุดอ่อนของคนที่คิดว่าตัวเองเก่งมักจะไม่อดทนขี้เบื่อและคิดว่าคนอื่นไม่เข้าท่าเลอะเทอะ ธวัชก็หนีไม่พ้นธรรมชาติข้อนี้ เพียงแต่ถ้าหากใครสักคนจะสามารถทำให้เขายอมรับนับถือได้ คนๆ นั้นก็น่าจะเป็นคนในตระกูลโสภณพนิช ดร.ประสาน ไตรรัตน์วรกุลและอีกคนคือบันเทิงตันติวิท ประธานกรรมการ บงล.ธนชาติ คนที่ธวัชพูดได้เต็มปาก เต็มคำว่า "VERY SMART GUY"

เหนือคนยังมีคน วันนี้ธวัชเป็นแชมป์บริหารกองทุนรวม แต่วันหน้าการแข่งขันที่มีผู้เล่นมากขึ้นอีก 6 บลจ.ใหม่ เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ 8 บริษัทที่แตกตัวออกกองทุนปัจจุบันทั้งสิ้น 125 กองทุน ใครคือผู้ช่วงชิงเค้กส่วนแบ่งตลาดมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทนี้ !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.