"สนธิ ลิ้มทองกุล" เจ้านายของทุกคนในเครือผู้จัดการหรือ MANAGER
MEDIA GROUP เคยพูดอยู่ครั้งหนึ่งว่า คนที่เป็นหัวหน้าคนนั้นเวลามีภัยมาต้องแอ่นอกรับ
แต่หากมีความดีความชอบควรยกให้ลูกน้อง แต่คำพูดนี้คงใช้ไม่ได้กับแบงก์ชาติในปัจจุบันเพราะคนบางคนเงยหน้าก็อายฟ้าก้มหน้าก็อายดิน
รู้จักเอกกมล คีรีวัฒน์มาเกินสิบปี ก็เหมือนเพื่อนนักข่าวฉบับอื่นๆ ที่รู้ว่าเป็นคนที่พูดโผงผาง
พูดไปพอรอบเครื่องติดท่อไอดีก็จะกระจายน้ำลายออกมา เรียกว่านักข่าวที่รอบคอบหน่อย
เวลาสัมภาษณ์เดี่ยวจะต้องใส่เสื้อฝนไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามพวกเราก็รู้ว่าเอกกมล
คีรีวัฒน์เป็นคนจริงใจไม่ใช่จิงโจ้
ข้อหาของเอกกมลที่บอกว่าเผยความลับของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดูฟังไม่ขึ้นเลย
เมื่อตำแหน่งเก่าในธนาคารแห่งประเทศไทยเคยเป็นทั้งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์
และเมื่อเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติก็ดูแลสายงานเดิมหากมีจิตใจในทางทุจริตก็คงไม่รอถึงไปเป็นเลขาธิการก.ล.ต.หรอก
ความจริงแล้วนักข่าวสายตลาดเงินตลาดทุนไม่ได้แปลกใจเลยที่เอกกมล คีรีวัฒน์ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการก.ล.ต.
ที่แปลกใจทั้งนักข่าวและเจ้าตัวเองก็คือคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยอ้างว่ากระทำผิดตามพ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ ถือว่าเป็นรองผู้ว่าแบงก์ชาติคนแรกที่ถูกปลดกลางอากาศอย่างนี้
ในอดีตนั้นจะมีแต่ตัวผู้ว่าการลาออกเพื่อประท้วงรัฐบาลอย่างอาจารย์ป๋วย
อิ๊งภากรณ์หรือถูกปลด เพราะรัฐบาลไม่ชอบหน้าอย่างนุกูล ประจวบเหมาะหรือกำจร
สถิรกุล แต่ไม่เคยลามปามถึงรองผู้ว่าฯ แม้จะเป็นตำแหน่งทางการเมืองเหมือนกัน(ในธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น
ตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการประจำคือผู้ช่วยผู้ว่าการฯ)
ที่น่าแปลกใจอีกอย่างคิอผู้ว่าการวิจิตร สุพินิจออกมาแถลงข่าวว่าเอกกมล
คีรีวัฒน์ผิดจริง หากทว่าเปิดเผยหลักฐานไม่ได้เนื่องจากเป็นความลับของราชการแต่เอกกมล
คีรีวัฒน์ก็จะได้ทั้ง
บำเหน็จบำนาญทุกประการ เพื่อนนักข่าวฟังแล้วก็ร้องอ้าวเป็นเสียงเดียวกัน
เพราะถ้าผิดจริงก็ไม่ต้องให้บำเหน็จบำนาญ แถมต้องฟ้องร้องให้ติดตะรางไปเลย
หรือถ้าไม่ผิดก็ไม่น่าจะได้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯต่อไป
ว่ากันว่านอกเหนือจากการไม่ชอบขี้หน้าเป็นการส่วนตัวระหว่างผู้ว่าฯกับรองคนนี้
เอกกมล คีรีวัฒน์ยังเป็นคนที่ชอบพูดเล่นกับเพื่อนพ้องน้องพี่ และไม่ใช่ไม่รู้ว่าโทรศัพท์ที่ก.ล.ต.ถูกดักฟังเพียงแต่เป็นคนที่คิดว่าตัวเองบริสุทธิ์ใจ
ดังนั้นอยากพูดอะไรก็พูดโพล่งโดยไม่คิดจะเอาเป็นหลักฐานผูกมัดหาข้ออ้างให้ออกทั้งก.ล.ต.และธนาคารแห่งประเทศไทย
นักข่าวของ "ผู้จัดการ" คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งเอกกมล
คีรีวัฒน์คุยกับศิรินทร์
นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยในฐานะเพื่อน ก็เลยถามถึงธารินทร์
นิมมานเหมินท์ว่าทำมาหากินอะไรอยู่ ศิรินทร์ก็บอกว่าไปทำหมู่บ้านจัดสรรกับสนามกอล์ฟที่ลำลูกกา
เอกกมลก็เลยหยอกเล่นๆ ว่าดีแล้วตูจะไปอึ้บสักสองไร่..แค่เนียะ…เป็นเรื่อง
กล่าวหากันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต
เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ในความรู้สึกส่วนตัวยอมรับว่าผิดหวังมาก เพราะอาชีพนี้ที่ทำมาค่อนข้างไว้ใจคนธนาคารแห่งประเทศไทยมากกว่าธนาคารพาณิชย์
ไม่ใช่คนธนาคารพาณิชย์ไม่ดี
แต่มักจะคิดว่าคนแบงก์พาณิชย์มีผลประโยชน์มากกว่าคนแบงก์ชาติอีก อีกทั้งตั้งแต่ทำข่าวสายการเงินมา
ก็ได้รับการสั่งสอนจากคนแบงก์ชาติมาตลอด ทำให้รู้สึกเป็นหนี้ทางจิตใจอยู่เสมอ
จึงไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ว่าฯ วิจิตร สุพินิจถึงไม่ยอมปกป้องเอกกมล คีรีวัฒน์ตามประเพณี
ของผู้ว่าฯ ในอดีต เอาตัวอย่างใกล้ตัวหน่อย เมื่อครั้งที่รองผู้ว่าฯ เริงชัย
มะระกานนท์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน มีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ล้มกันเป็นว่าเล่น
ช่วงนั้นกำจร สถิรกุลเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมนิสต์ที่เกาะติดกรณีนี้มาตลอดก็คือ"ไต้ฝุ่น"แห่งไทยรัฐอันทรงอิทธิพลก็คือเริงชัย
มะระกานนท์ถึงกับปรารภกับนักข่าวที่ไว้เนื้อเชื่อใจว่า เห็นทีคราวนี้จะต้องลาออก
เมื่อความไปถึงกำจร สถิรกุล ท่านก็เชิญไต้ฝุ่นผ่านชูพงษ์ มณีน้อยเจ้าสำนักนักข่าวหัวเขียวมาพบ
พร้อมกับเริงชัย
มะระกานนท์มานั่งด้วย และผู้ว่ากำจรก็ถามตรงๆ ว่าพวกคุณอยากให้เริงชัยลาออกจากแบงก์ชาติ
เหรอ ซือเฮียทั้งสองท่านก็บอกว่าเปล่านา..เขียนติติงกันนิดหน่อย ไม่น่าใจน้อย
เรื่องราวก็เลยหมดคลื่นลมกันไป และเริงชัย มะระกานนท์ก็ได้ประจักษ์ผู้ว่ากำจร
สถิรกุล แม้จะไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขคนแบงก์ชาต ิเพราะมาจากสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมกระทรวงการคลังแต่สปิริตชาติของคนแบงก์ชาติมีเกินร้อย
มีคำถามอยู่ประโยคหนึ่งที่ถามคนธนาคารแห่งประเทศไทยว่ารู้สึกอย่างไรกับการปลดเอกกมล
คีรีวัฒน์ออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าฯ คำตอบที่ได้รับแม้จะเป็นคนนอกก็อดสะเทือนใจไม่ได้เพราะเขาตอบว่า…
แบงก์ชาติยุคนี้เป็นยุคมืด