อินเตอร์เน็ตช็อก

โดย ภัทราวรรณ พูลทวีเกียรติ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ย่างเข้าสู่ปี 1996 โลกกำลังหมุนเข้าใกล้ปี 2000 เข้าไปอีกก้าวหนึ่งอันเป็นทศวรรษที่ใครๆทำนายไว้ว่า คลื่นแห่งยุคข่าวสารจะสำแดงพลังอำนาจของมันออกมาอย่างไร้ขอบเขต

ที่จริงไม่ต้องรออีก 4 ปี โลกก็เริ่มสัมผัสได้ถึงความรุนแรงแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้แล้ว

ปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือ อิทธิพลจากโลกใหม่ในชีวิตหลังจอคอมพิวเตอร์ บางคนเรียกว่า ไซเปอร์สเปซ "อินเตอร์เน็ต" เป็นเครือข่ายที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเวลานี้

โลกตกอยู่ในอาการ "อินเตอร์เน็ตช็อก" โดยมีอัตราเร่งเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา

แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ก็หนีไม่พ้น บิลเกทส์ตื่นขึ้นมาวันหนึ่งก็พบว่า ธุรกิจซอฟต์แวร์ที่ตัวเองทำเงินจนนำพาบริษัทไมโครซอฟท์ติดอันดับหนึ่ง ในอเมริกามาหลายปีซ้อน ทำท่ารั้งท้ายเอาง่ายๆ

เพราะจู่ๆ คู่แข่งที่ไมโครซอฟท์ทิ้งห่างเมื่อ 4-5 ปีก่อนอย่างซันและเนสเคปก็ลุกขึ้นมาสกัดดาวรุ่ง เข้าไปยึดหัวหาดในอินเตอร์เน็ต โดยแจกโปรแกรมภาษา "JAVASCRIPT" ฟรี ซึ่งใช้ได้ใน

operating system ทุกประเภท หักไมโครซอฟท์กลางลำเพราะยุคสวิสที่ผ่านมาบิลเกทส์ เคยแต่ตั้งด่านเก็บเงิน

เจอเข้ารูปนี้ เป็นใครก็ต้องมึนทั้งนั้น ไมโครซอฟท์เคยขึ้นชื่อเรื่องการกำจัดโปรแกรมผี ว่ากันว่ากลุ่มนี้มีอิทธิพลสูงสุดในการผลักดันกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จนผ่านรัฐสภาของสหรัฐฯมาแล้ว

เกมธุรกิจนี้ ไมโครซอฟท์บรรจงสร้างขึ้นมา และใช้เป็นยันต์ป้องกันเหล่าปีศาจสมองใสที่จ้องก๊อปปี้สติปัญญาของคนอื่นโดยไม่ต้องลงทุนอะไร

มาวันนี้กติกาที่เคยเอื้อประโยชน์ให้ไมโครซอฟท์ไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง เมื่ออินเตอร์เน็ตเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ที่กว้างใหญ่มหาศาล

พอฟื้นจากการช็อก บิลเกทส์ ก็ประกาศวิสัยทัศน์สำหรับกลุ่มไมโครซอฟท์ก่อนสิ้นปีที่แล้ว จัดลำดับความสำคัญของอินเตอร์เน็ตให้อยู่เป็นอันดับแรกในปี 1996 ที่บริษัทจะทุ่มเททรัพยากรลงไป

อินเตอร์เน็ตกำลังเปลี่ยนกฎเกณฑ์การแข่งขันอย่างถอนรากถอนโคน กฎที่ทำให้จุดแนวทางธุรกิจของไมโครซอฟท์กลายเป็นจุดอ่อนในเวลารวดเร็วได้ ชนิดตั้งตัวไม่ติด

ขณะเดียวกันก็เป็นดินแดนใหม่ ร่ำลือกันว่ามีขุมทรัพย์ที่พร้อมจะเปิดโอกาสให้นักขุดทองหน้าใหม่เข้าไปผจญภัย

อินเตอร์เน็ตยังเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาขนาดใหญ่ พอๆกับที่รวมขยะข้อมูลกองโต

อีกทั้งยังเป็นตัวเชื่อมโลกที่ไม่เคยเข้ากันได้ให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นระเบียบในโลกอินเตอร์เน็ต

จากปรัชญาดั่งเดิมที่เป็นเพียงเครือข่ายเชื่อมงานด้านวิจัยในโครงการ ARPA Net (Advanced Reserch Projects Agency) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯที่ค้นคว้าเพื่อรับมือกับความตึงเครียดทางการเมืองในยุคสงครามเย็น เมื่อปี 1969 อินเตอร์เน็ตกำลังผันเข้าสู่ปรัชญญาธุรกิจอย่างไม่เคอะเขิน

อัลเบิร์ต ไอสไตน์ คงไม่คิดว่าสมการอัจฉริยะ E = MC2 ของเขาถูกใช้ไปในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ในศตวรรษที่ 20

เมื่อ 27 ปีก่อน มหาวิทยาลัย UCLA หนึ่งในผู้เชื่อมระบบเข้ากับอีก 4 มหาวิทยาลัย ก็คงคิดไม่ถึงว่าในปี 1996 เครือข่ายที่ขยายตัวในอัตราเร่ง โดยไม่มีอะไรจะหยุดยั้งได้ และกำลังกลายพันธุ์ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าบทลงท้ายจะออกมาในรูปใด

สังคมไทยกำลังมีดีกรีของอาการช็อกสูงขึ้นเรื่อยๆ

การสื่อสารแห่งประเทศไทย เมื่อคิดอะไรไม่ทัน เล่นบทปลอดภัยไว้ก่อน อนุมัติเครือข่ายยากเข้าไว้ สร้างต้นทุนในการเข้ามาให้แพงขึ้น ประชาชนไทยก็เลยต้องจ่ายค่าเรียนรู้แพงกว่าชาวโลก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.