|
“โลว์คอส”เอเชีย 51...ฝุ่นตลบ ต่างชาติรุกไทยขยายอาณาจักร
ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ตัวเลขข้อมูลจากศูนย์กลางการบินเอเชีย-แปซิฟิก (คาปา) องค์กรที่ปรึกษาการบินระดับภูมิภาคระบุว่า ปริมาณการสั่งซื้อจำนวนเครื่องบินของสายการบินทุนต่ำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 300 ลำ ซึ่งมีที่นั่งโดยสาร 45,000 ที่นั่ง ไปเป็น 870 ลำพร้อมที่นั่งโดยสาร 170,000 ที่นั่งภายในปี 2555บ่งบอกได้ว่าจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมการบินต้นทุนต่ำจะครองส่วนแบ่งตลาด 25% ในภูมิภาคนี้อีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเพิ่มจากปัจจุบันถึงสองเท่าทีเดียว ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำพร้อมเดินหน้าแข่งขันกับบรรดาคู่แข่งให้บริการเต็มรูปแบบ ซึ่งเชื่อได้ว่าจะเป็นการแข่งขันทั้งในตลาดการบินระยะใกล้และระยะไกลที่ดุเดือด
สอดคล้องกับงานปารีส แอร์โชว์ งานแสดงอากาศยานครั้งใหญ่ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ที่ผ่านมา มีสายการบินต้นทุนต่ำหลายแห่งประกาศคำสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ อาทิ ไทเกอร์ แอร์เวย์ส ของสิงคโปร์ ที่สั่งซื้อเครื่องบินรุ่น เอ 320 จำนวน 50 ลำจากแอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของยุโรป และแมนดาลา แอร์ไลน์ส ของอินโดนีเซีย สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นเดียวกัน จำนวน 25 ลำ มูลค่า 1,900 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ไม่นับรวมยอดสั่งจองเครื่องบินจำนวนมากของไลออน แอร์ สายการบินของอินโดนีเซีย และฮ่องกง แอร์เวย์ส ของฮ่องกง อีกด้วย
การรุกตลาดเปิดให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำจากต่างแดน เริ่มมีเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ล่าสุด ไลออนแอร์ แบรนด์ดังจากอินโดนีเซีย ลั่นร่วมทุนท้องถิ่นตั้งโลว์คอสต์แอร์ไลน์ หลังสั่งซื้อโบอิ้งลอตใหญ่ B737-900ER พร้อมดิ้นขยายจุดบินไล่บี้กลุ่มแอร์เอเชีย จากมาเลยเซีย ส่วนสถานการณ์ปี 51 ตลาด ผู้โดยสารเที่ยวบินราคาต่ำในไทยลุกเป็นไฟแน่ ทั้งไทย แอร์เอเชีย-นกแอร์-วัน-ทู-โก เนื่องจากมีเที่ยวบินล้นถึงกว่า 100 เที่ยว/วัน สวนทางกำลังซื้อตลอดปีที่มีไม่เกิน 14 ล้านคน
ว่ากันว่าแผนการลงทุนขยายเครือข่ายสายการบินต้นทุนต่ำ (low cost airlines) ของไลออนแอร์ในประเทศไทย จะสามารถเข้ามาให้บริการในช่วงตารางบินฤดูร้อนของเดือนเมษายนศกนี้ โดยได้รับการยืนยันจากมร.รูสดี้ คิรานา ประธานอำนวยการบริหาร ไลออนแอร์ (lion Air) อินโดนีเซีย ว่าจะเริ่มทยอยนำเครื่องบินใหม่โบอิ้ง 737-900ER ขนาด 215 ที่นั่ง มาเปิดบินให้บริการแข่งขันกับโลว์คอสต์รายอื่นๆและสั่งจองฝูงบินจำนวนมากสุดถึง 122 ลำ เพื่อพัฒนาเครือข่ายการบินในประเทศและระหว่างประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมืองไทยปริมาณจราจรการเดินทางที่เติบโตสูงกว่าประเทศอื่นในเอเชีย
ขณะเดียวกันหลังจากเปิดเสรีทางการบินของไทย ส่งผลให้การออกใบอนุญาตทำธุรกิจการบินจากกรมการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคมได้ง่ายขึ้น สังเกตได้จากปัจจุบันมีผู้ประกอบการในไทยจดทะเบียนและถือใบอนุญาตจัดตั้งสายการบิน แต่ยังไม่ได้เปิดดำเนินการอีกกว่า 30 สายการบินทีเดียว
ที่สำคัญการร่วมเป็นพันธมิตรกับสายการบินที่เปิดให้บริการอยู่แล้วในประเทศไทยกลายเป็นกลยุทธ์ที่ถูกหยิบนำมาใช้ซึ่งเชื่อได้ว่าจะช่วยให้ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำมีทางเลือกเพิ่มขึ้น
สอดคล้องกับที่มีกระแสข่าวออกมาว่าสายการบิน วัน-ทู-โก และโอเรียนท์ไทย ได้ตอบตกลงจะเป็นพันธมิตรกับไลออน แอร์ฯโดยมีข้อเสนอถึง 2 ทางเลือก คือขอร่วมทุนกับวัน-ทู-โก เพื่อเปิดไลออนแอร์ไทย ขณะที่การเข้ามาลงทุนเองกับนักธุรกิจไทยที่มีใบอนุญาตตั้งสายการบินยังอยู่ในการพิจารณาเช่นกัน
ด้วยจำนวนเพิ่มขึ้นของเครื่องบินที่เปิดให้บริการหากเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ จากนี้ไปไลออนแอร์ อินโดนีเซีย ต้องเร่งหาจุดบินเพิ่มอย่างรวดเร็ว เพื่อระบายฝูงบินที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจมาก
แหล่งข่าวในวงธุรกิจการบินต่างวิเคราะห์ว่าปี 2551 แนวโน้มผู้โดยสารเดินทางโดยเที่ยวบินภายในประเทศจะไม่มีเกิน 14 ล้านคน สวนทางกับโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีเที่ยวบินประจำกว่า 100 เที่ยว/วัน แบ่งเป็นไทยแอร์เอเชีย 60 เที่ยว/วัน นกแอร์ 40 เที่ยว/วัน และวัน-ทู-โก 36 เที่ยว/วัน
การมีเที่ยวบินล้นเกินความต้องการของผู้โดยสารอาจส่งผลให้กลยุทธ์หลักที่เคยขายตั๋วโปรโมชั่นรายวันราคาเริ่มต้น 0 บาท/เที่ยว บวกค่าธรรมเนียมการบินขั้นต่ำ 800 บาท/เที่ยว จะเริ่มใช้ไม่ได้ผลเนื่องจากผู้โดยสารเริ่มเรียนรู้ข้อดีและข้อเสียต่อไปจะมีกลยุทธ์แปลกๆ ซึ่งผู้ใช้บริการจะมีทางเลือกหลากหลายและสามารถต่อรองได้มากขึ้น
ขณะที่สายการบินที่นำยุทธศาสตร์ประกาศสั่งซื้อฝูงบินครั้งละ 100-200 ลำ เพื่อเล่นกับระบบไฟแนนซ์นำเงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งพร้อมปล่อยกู้ไปซื้อเครื่องบินมาใช้ล่วงหน้าโดยทำโปรโมชั่น กระตุ้นการซื้อตั๋วหวังนำเงินก้อนใหญ่จากผู้โดยสารไปหมุนภายหลังนั้น ต่อไปการลงทุนลักษณะเช่นนี้จะมีปัญหาพันกันเป็นลูกโซ่
เส้นทางสู่ฝันของ “โลว์คอสแอร์”ต่างชาติ
การเข้ามารุกตลาดของสายการบิน ไลออนแอร์ อินโดนีเซีย ที่พร้อมจะตั้งเป้าให้เป็นคู่แข่งกับกลุ่มแอร์เอเชีย มาเลเซีย เป็นหลัก เริ่มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2551 ไลออนแอร์ อินโดนีเซีย วางยุทธศาสตร์ขยายเครือข่ายจุดบินและเปิดสายการบินในแต่ละประเทศทับเส้นทางกับกลุ่มแอร์เอเชีย
ล่าสุดเมื่อต้นปี 51 ที่ผ่านมาการ เปิดแผนการลงทุนตั้งสายการบินไลออนแอร์ ออสเตรเลีย ร่วมกับสกายแอร์เวิลด์ ผู้ให้บริการเครื่องบินเช่าเหมารายย่อย ตั้งเป้าหมายยกระดับเป็นสายการบินระหว่างประเทศ โดยมีเส้นทางเรือธงหลัก ระหว่างอินโดนีเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนาคตมีความเป็นไปได้ ไลออนแอร์ จะชิงส่วนแบ่งการตลาดเส้นทางภายในประเทศออสเตรเลีย กับสายการบินเจ้าถิ่น แควนตัส และเวอร์จิ้น บลู ซึ่งทำรายได้จากตลาดนี้รวมกันกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 33,155 ล้านบาท)
นอกจากนี้ ไลออนแอร์ หรือพีที ไลออน เมนทารี แอร์ไลน์ส เป็นสายการบินต้นทุนต่ำรายใหญ่ที่มีฐานอยู่ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ให้บริการ เส้นทางภายในประเทศ และบินระหว่างประเทศไปยังสิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ส่วนบริษัทเดิมของไลออนแอร์ ออสเตรเลีย มีที่มาจากบริษัทสกายแอร์ เวิลด์ และได้นายริค โฮเวลล์ ที่เคยอยู่กับเอมิเรตส์ แอร์ไลน์ ดูไบย้ายมาเป็นหัวหน้าฝ่าย flight operations พร้อมทั้งดึงเจ้าหน้าที่ทีมบริหารหลายคนที่เคยมีประสบการณ์ยาวนานจากสายการบินตะวันออกกลาง
ปัจจุบัน สกายแอร์ เวิลด์ เป็นผู้ให้บริการด้วยเครื่องบินเจ็ต Embraer-170 แบบเดียวกับเวอร์จิ้น บลู จะเปิดตัวภายในปี 2551 นี้ และคาดว่าการเข้ามาของไลออนแอร์ จะใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจการบินพาณิชย์ของสกายแอร์ เวิลด์ เพื่อพัฒนาตลาดง่ายขึ้นนั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|