|
ไทยพาณิชย์เตรียมขึ้นแท่นอันดับ 2 บี้เพิ่มค่าต๋ง - รีดพนักงานเครียด
ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ไทยพาณิชย์จ่อติดแบงก์อันดับ 2 อย่างกรุงไทย หลังทิ้งกสิกรไทย อวดกำไรงาม 5 ปีติดต่อ แต่พนักงานกลับประท้วงเรียกร้องสวัสดิการ สหภาพเผยโดนกดดันใครทนไม่ไหวก็ออกไป มีเด็กใหม่รอเสียบ ไม่ต้องจบบัญชี-การเงิน ขอให้ขายสินค้าของแบงก์ให้ได้เป็นพอ
ผลประกอบการงวด 1 ปีของธนาคารพาณิชย์ที่เริ่มทยอยประกาศออกมา พบว่าธนาคารพาณิชย์ 4 อันดับแรกมีเพียงธนาคารกรุงไทยเท่านั้นที่ผลการดำเนินงานในปี 2550 มีกำไรสุทธิต่ำกว่าหมื่นล้านบาท โดยแบงก์กรุงเทพธนาคารอันดับหนึ่งมีกำไรสุทธิสุงสุดคือ 1.9 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยไทยพาณิชย์ที่มีกำไรแซงแบงก์อันดับ 2 อย่างกรุงไทยด้วยกำไรสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาท
แต่ที่น่าสนใจคือการยึดอันดับ 3 อย่างถาวรของธนาคารไทยพาณิชย์ที่แซงธนาคารกสิกรไทยได้ทุกด้านไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.11 ล้านล้านบาทและกำลังจะแซงแบงก์อันดับ 2 อย่างธนาคารกรุงไทยในอีกไม่นานนี้
ความโดดเด่นของธนาคารไทยพาณิชย์นั่นคือโฆษณาสุดประทับใจที่เชิญชวนให้ใครผู้ชมมาใช้บริการที่ธนาคารแห่งนี้ ช่วยให้ธนาคารแห่งนี้มีกำไรเพิ่มขึ้นจากปี 2549 มาอยู่ที่ 17,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,070 บาทหรือเพิ่มขึ้น 31% กำไรสุทธิที่เพิ่มมานั้นมาจากรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้น 20.3% รายได้ค่าธรรมเนียมจากการบริการต่าง ๆ สูงขึ้น 15.2% และบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพเหลือ 6.1%
วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร กล่าวถึงผลการดำเนินงานที่ออกมาว่า กำไรที่ดียั่งยืนต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และในปี 2550 ไทยพาณิชย์มีมูลค่าตลาดรวมสูงเป็นอันดับหนึ่ง มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 3 รากฐานแข็งแกร่งที่ถูกสร้างอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมาและพร้อมในการแข่งขันและขยายธุรกิจในปี 2551 และต่อ ๆ ไปด้วยความสำเร็จที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
กำไรงาม-พนักงานประท้วง
อย่างไรก็ตามแม้ธนาคารไทยพาณิชย์จะสามารถสร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมาสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ได้ออกมาเรียกร้องสวัสดิการเพิ่ม หลังจากที่ได้เรียกร้องมาก่อนหน้านี้
“พนักงานไทยพาณิชย์ได้ร่วมฝ่าฟันจนธนาคารกลับมามีกำไร แม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการทำงาน ทำให้พนักงานต้องทำงานหนักมากขึ้นก็ตาม แต่ในเรื่องของสวัสดิการและผลตอบแทนก็ควรได้รับในอัตราที่เป็นธรรมด้วยเช่นกัน” หนึ่งในแกนนำสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์กล่าว
หลังจากที่ไทยพาณิชย์เปลี่ยนนโยบายในการทำงานด้วยการหันมาเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการให้มากขึ้นนั้น ย่อมกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของพนักงานแต่ละคนมากขึ้น ทุกคนถูกกำหนดเป้าให้ต้องขายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของธนาคาร เช่น บัตรเครดิต กองทุนรวม ประกันชีวิต หรือแม้กระทั่งเร่งหาเงินฝาก
ทางสำนักงานใหญ่จะกำหนดเป้าหมายโดยแบ่งเป็นเขต แล้วแต่ละเขตก็จะกระจายเป้ามายังแต่ละสาขา ถ้าสาขานั้นมีพนักงาน 10 คนก็เฉลี่ยกันไป โดยแต่ละสาขาก็จะได้รับเป้าหมายในการขายสินค้าของธนาคารแตกต่างกันไป เช่น สาขาที่อยู่ในพื้นที่ธุรกิจเช่น พื้นที่ชิดลมและสีลม อาจได้รับมอบหมายให้เพิ่มยอดบัตรเครดิตหรือบัตรประเภทอื่น ๆ ให้มากขึ้น หรืออาจจะเป็นเรื่องของการนำเสนอกองทุนรวม ส่วนสาขารอบนอกอาจมุ่งเน้นที่ประกันชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ
ที่ผ่านมาผลตอบแทนที่พนักงานได้รับจากการนำเสนอสินค้าของธนาคารให้กับลูกค้านั้นค่อนข้างน้อย เช่น ถ้าลูกค้าทำบัตรเครดิต 1 ใบก็จะได้ผลตอบแทนเพียง 50 บาทต่อ 1 บัตร ขณะที่ตัวแทนอื่นจะได้รับค่าตอบแทนราว 500 บาทต่อ 1 ใบเป็นต้น หรือการหาเงินฝาก 1 ล้านบาทพนักงานก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มเพียง 50 บาท และผลตอบแทนนี้พนักงานจะได้รับก็ต้องรอไปอีก 3 เดือน ถ้าลาออกก่อนก็จะไม่ได้รับ
ทำไม่ได้ออกไป
ตัวแทนสหภาพแรงงานกล่าวต่อไปว่า พนักงานทุกคนทราบดีว่ารูปแบบการทำงานในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่จะต้องเป็นไปในทุกธนาคาร แต่เป้าในการขายสินค้าให้กับธนาคารของเราเมื่อเทียบกับของธนาคารอื่นแล้ว แบงก์เรากำหนดเป้าหมายไว้สูงมากกว่าธนาคารอื่น มากกว่าของกสิกรไทยหรือของกรุงไทย ในส่วนของกรุงไทยนั้นก็จะมีทีมงานเฉพาะเข้ามารับหน้าที่แทนไม่ได้ใช้พนักงานของธนาคารเป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์ของธนาคาร
ในแต่ละสาขานอกจากจะต้องทำให้ได้ตามเป้าที่กำหนดมาให้แล้ว ยังต้องแข่งขันกับสาขาอื่น ๆ ด้วยว่าสาขาใดยอดได้มากกว่ากัน ไม่แตกต่างจากพนัน ในบางจังหวัดถ้าสาขาใดทำยอดได้ชนะสาขาอื่น ก็ต้องนำเงินส่วนตัวของพนักงานในสาขาที่แพ้มาเลี้ยงให้กับธนาคารที่ชนะ
แน่นอนว่าในส่วนของพนักงานไทยพาณิชย์ต้องยอมรับว่าได้รับแรงกดดันจากการทำงานมากกว่าธนาคารอื่น คนที่ทำไม่ได้ตามเป้าที่กำหนดก็จะมีผลต่อการพิจารณาเงินเดือนหรือการเลื่อนขั้น คนที่รับกับสภาพนี้ไม่ได้ก็ต้องลาออกไปอยู่แบงก์อื่นที่กดดันน้อยกว่าที่นี่
ตรงนี้ในส่วนของผู้บริหารอาจมองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ถ้าใครทำไม่ได้ก็ออกไปแล้วหาคนอื่นเข้ามาแทน แต่จากการประเมินคนของไทยพาณิชย์ที่ลาออกไปพบว่าส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่มีอายุงานราว 3-6 เดือนมากที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้เพิ่งจบการศึกษา เข้ามาทำงานเพียงเพื่อหาประสบการณ์ ส่วนคนที่มีอายุงานนาน ๆ จำเป็นต้องทำงานต่อไปเนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นภาระผ่อนบ้านหรือผ่อนรถยนต์
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือพนักงานของธนาคารที่เข้ามาใหม่ จะมีความรักองค์กรน้อยกว่าพนักงานเดิม ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดการทุจริตนั้นก็มีความเป็นไปได้สูง
วันนี้คนที่ทำงานธนาคารไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเหมือนในอดีต ที่ต้องจบด้านบัญชีหรือการเงินมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่รองมาจากพวกที่จบแพทย์หรือวิศวะ แต่วันนี้จบอะไรมากก็ได้ไม่จำเป็นต้องจบบัญชีหรือการเงิน แต่ขอให้มีคุณสมบัติที่ขายสินค้าของธนาคารให้ได้มากที่สุดเป็นพอ ดังนั้นยอดของพนักงานของไทยพาณิชย์ในเวลานี้จะพุ่งขึ้นเป็น 1.5-1.6 หมื่นคน
เขากล่าวต่อไปว่านโยบายในการทำงานที่เปลี่ยนไปนี้มาจากแนวทางของดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ยิ่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ที่มาจากยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง รวมถึงรองและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการคนใหม่ ที่เป็นมือขายมาก่อน พนักงานไทยพาณิชย์จึงต้องเปลี่ยนจากพนักงานแบงก์มาเป็นพนักงานขาย
เชื่อว่าพนักงานทุกคนยอมรับกับแนวทางในการทำธุรกิจธนาคารในยุคนี้ได้ แต่ต้องไม่กดดันมากเกินไป และต้องมีความเป็นธรรมในการพิจารณาผลตอบแทน รวมถึงต้องให้ระยะเวลาในการปฏิบัติงานด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|