3 บลจ.เปิดกองท้าดวลเการลงทุนปีชวด มองทิศเศรษฐกิจเอเชียเข้าท่า คาดวิกฤติสหรัฐสะเทือนน้อย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 มกราคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ค่อนข้างจะชัดเจนแล้วว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยและอาจส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่ก็ใช่ว่าด้วยเหตุนี้จะทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวไปเสียหมด เพราะในวิกฤติก็ย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่...ถ้ามองเห็น

เพียงแค่เดือนแรกของปี 2551 ก็มีถึง 3 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)เรียงหน้าประกาศตัวออกกองทุนใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้แนวคิดที่ใกล้เคียงกันว่า ตลาดเอเชียจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดอเมริกาทำให้คาดว่าเงินจะไหลเข้าสู่ภูมิภาคนี้

ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.อยุธยา(AYF) กล่าวว่า AYFมีแผนออกกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุนใหม่ในปีนี้ 4 กอง ในจำนวนนี้ 2 กองจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ(FIF) ที่ลงทุนในภูมิภาคเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น(ASIA EX Japan) มีมูลค่ากองทุนเบื้องต้นกองละ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ

กองแรกคาดว่าจะสามารถเปิดขายได้ก่อนสิ้นเดือนมกราคม โดยจะเป็น FIF ลักษณะที่ไปลงทุนต่อในกองทุนอื่นๆนอกประเทศ (Fund of Funds) โดยกองทุนที่เข้าไปลงทุนนั้นจะคัดสรรหุ้น 1,600 ตัวที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆของทวีปเอเชียเหลือหุ้นที่มีคุณภาพเพียง 30 ตัวเท่านั้นที่จะเข้าไปลงทุน ส่วนกองที่สองคาดว่าจะเปิดขายได้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยกองนี้ก็เป็นลักษณะ Fund of Funds ที่ลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และกองทุนที่เข้าไปลงทุนต่อนั้นจะใช้ความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการคัดสรรหุ้นเอง

"แม้หุ้นเอเชียจะปรับตัวขึ้นไปมากแล้ว แต่ก็ยังมีจังหวะในการเข้าไปลงทุนได้ ดังนั้น AYF จึงเลือกลงทุนผ่านกองทุนของซิตี้กรุ๊ปในต่างประเทศ เป็น Active Fundที่นำรูปแบบการคัดสรรกองทุนเข้ามาในการพิจารณาเลือกหุ้น ไม่ได้เป็นแบบกองทุนที่ลงทุนตามดัชนี"

ด้าน บลจ.ยูโอบี (ไทย)(UOBAM) วนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ขณะนี้ตลาด ASIA EX Japan ถือได้ว่าเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจมากที่สุดเพราะคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจอเมริกาไม่มากประกอบกับรัฐบาลประเทศเหหล่านี้ก็มีฐานะการคลังที่ดีทำให้เกิดการลงทุนในสาธารณูประโภคพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง สำหรับปีนี้ UOBAM จะเน้นออก FIF ใหม่ 2 กองและกองทุนที่ลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง(Structured Notes)อีก 6 กอง

ล่าสุดได้เปิดตัวกองทุน ยูโอบี ซีเล็ค ทริปเปิ้ล เอท 1 ซึ่งจะให้ผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนี Income Asia 2.0 ที่ใช้กลยุทธ์ Carry Trade คำนวณทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนใน 8 ประเทศทั่วเอเชียอันประกอบไปด้วย จีน,ฮ่องกง,อินโดนีเซีย,อินเดีย, เกาหลีใต้, ฟิลิปินส์ ,ไต้หวัน และสิงคโปร์ โดยดัชนีจะสามารถเป็นบวกได้ก็ต่อเมื่อ มีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยและส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนในทิศทางเดียวกัน

กองทุนนี้มีอายุ 3 ปีซึ่งจะรับซื้อหน่วยลงทุนอัตโนมัติทุกๆปี ถ้าครบปีแรกดัชนี Income Asia 2.0 ปรับตัวขึ้นได้มากกว่า 5% ผู้ถือหน่วยก็จะได้รับผลตอบแทน 8% ส่วนปีที่2 ถ้าดัชนีขึ้นมากกว่า15%(จากวันตั้งกอง)ผู้ถือหน่วยก็จะได้อีก 8% และปีที่3 ถ้าดัชนีขึ้นมากกว่า20%(จากวันตั้งกอง)ผู้ถือหน่วยก็จะได้อีก 8% แต่หากดัชนีไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ตามเกณฑ์ผู้ถือหน่วยก็จะได้รับคืนเพียงเงินต้นในจำนวนเท่าเดิม

ส่วน กำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานธุรกิจกองทุนรวม บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ทาง บลจ. ก็ได้เปิดตัว FIF ใหม่ที่ลงทุนในภูมิภาคเอเชียเช่นกัน ในชื่อ "ไทยพาณิชย์เอเชียน อีเมอร์จิ้งมาร์เก็ตฟันด์" เป็นลักษณะ Feeder Fund ลงทุนในหน่วยลงทุนของ Templeton Asian Growth Fund ซึ่งจะนำเงินไปลงทุนหุ้นของประเทศ จีน,ฮ่องกง, อินเดีย, เกาหลี, สิงคโปร์ และไทย โดยจะกระจายไปในอุตสาหกรรมต่างๆเช่น พลังงาน, เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมด้านซอร์ฟแวร์เนื่องจากมองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง

กองทุนนี้เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้นและสามารถยอมรับความเสี่ยงจากการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้ เนื่องจากมีระดับความเสี่ยงอยู่ในระดับสุง เพราะเป็นการลงทุนประเภทหุ้นสามัญในต่างประเทศซึ่งอาจมีความผันผวนของมูลค่าหน่วยลงทุน อันนื่องจากมูลค่าหุ้นที่เปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจสังคม การเมือง หรือปัจจัยทางการเงินกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละสกุลเงินที่กองทุนไปลงทุน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.