"สังศิต" แฉขบวนการคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ สั่งบล็อกผันเงินตั้งแต่สำนักงบประมาณ
ส่งผลให้พ.ร.บ.ป้องกัน การ "ฮั้ว"ไร้ผล เผยนโยบายปราบอิทธิพลทำให้รัฐไทยตกอยู่ภายใต้องค์กรตำรวจที่ทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุด
ขณะที่ส.ต.ง. ให้นิยามฉ้อฉลสุดแสบว่าเป็นฝีมือพวก "ดิเอ็กซ์ เมน" ด้าน
"วีระ ต่อตระกูล" ชี้มาตรการกฎหมายไม่เพียงพอ ต้องใช้มาตรการ สังคม รับไม่ได้
ไหว้ไม่ลง เป็นตัวขจัด
วานนี้ (1 มิ.ย.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) ได้จัดการสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง"การมีส่วนร่วมของประชาชน
กับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ" โดยระหว่างการเปิดการสัมมนา
นายสังศิต พิริยะสังสรรค์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ ระบุว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยกำลังถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ
และมีการความพยายามควบคุมไม่ให้มีการตรวจสอบจากฝ่ายการเมือง แต่แนวโน้มเริ่มดีขึ้นเห็นได้จากการทำงานของ
ป.ป.ช. สิ่งสำคัญคือ องค์กรภาคประชาชนต้องมีบทบาทมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลที่ได้รับจากการลงพื้นที่
และการรับฟังข้อมูลจากตัวแทนองค์กรประชาชนทั่วประเทศ พบว่า ต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันมากที่สุด
คือพวกนักการเมือง โดยพบว่า ส.ส.ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากการเป็นนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
โดยมีพัฒนาการไต่เต้าตามขั้นตอน เริ่มจากการลงเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นตั้งแต่เทศบาล
สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสุดท้ายมาเป็นรัฐมนตรี
"ข้อมูลที่ผมได้รับคือปัจจุบันมีการบล็อกเงินงบประมาณแผ่นดิน โดยเริ่มไปบล็อกกันที่สำนักงบประมาณกันแล้ว
ทำให้กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการฮั้วใช้ไม่ได้ผล เพราะเรื่องฮั้วเป็นเรื่องปลายทาง
ทำอะไม่ได้ในเมื่อไปบล็อกกันไว้แล้วที่สำนักงบประมาณเพื่อจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดิน
และข้อมูลที่ได้รับพบว่า องค์กรหน่วยงานที่คอร์รัปชันมากที่สุด คือ ตำรวจ ที่มีทั้งการรีดไถ
การทำผิดและควบคุมธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่มีธุรกิจผิดกฎหมายใดที่ทำอยู่โดยไม่มีตำรวจเกี่ยวข้อง
ทำให้ปัจจุบันตำรวจ ครอบงำองค์กรทั้งสังคม ตำรวจนั่งอยู่เฉยๆ ก็มีเงินไหลมา พวก
ส.ส.และวุฒิสมาชิกยิ่งออกกฎหมายมามาก ก็ทำให้ตำรวจมีหน้าที่มากขึ้น ก็ไปเพิ่มอำนาจให้ตำรวจไม่มีที่สิ้นสุด
และยิ่งรัฐบาลมีนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล ตำรวจก็ยิ่งมีอำนาจมากในการพิจารณาว่าใครคือผู้มีอิทธิพล
ใครคือผู้ไม่เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล ผลที่เกิดขึ้นก็คือรัฐไทยกำลังตกอยู่ภายใต้องค์กรตำรวจ
ซึ่งเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชันมากที่สุด"
และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่สำคัญ อีกกระบวนการหนึ่งที่สำคัญก็คือ การจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานต่างๆ
เพราะเป็นขั้นตอนที่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มาก ใครคุมเงินจัดซื้อจัดจ้างก็เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้เยอะ
ดังนั้นรัฐบาลต้องเข้าไปควบคุมดูแลการจัดซื้อจัดจ้างด้วยตัวเองเพราะจะทำให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้หลายหมื่นล้านบาทในแต่
ละปี ไม่ใช่การไปจับแต่พวกที่คอรัปชั่นตัวเล็กๆ เรื่องนี้ถือเป็นภารกิจเร่งด่วน
ปัจจุบันเรื่องการปราบคอรัปชั่นเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น เห็นได้จากภาคธุรกิจทั้ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ก็เริ่มตื่นตัวในการต่อต้านคอรัปชั่นมากขึ้น
ซึ่งกระแสดังกล่าวจะเริ่มมีมากขึ้น จึงขอประกาศว่าโลกทั้งโลกจะไม่ยอมก้มหัวให้นักการเมืองและข้าราชการที่ฉ้อฉลอีกต่อไป
ด้านนายวินัย กลิ่นสุวรรณ อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช.ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีสำนักงานป.ป.ช.
กล่าวว่า เขาเคยพูดคุยกับผู้ใหญ่ในหน่วยราชการถึงเรื่องทุจริตเรียกรับเงินของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้น
น่าตกใจที่มีการตอบกลับมาว่า เป็นเรื่องธรรมดาเพราะข้าราชการเงินเดือนน้อย สะท้อนให้เห็นแม้แต่ในหัวหน้าหน่วยราชการ
ก็มองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการจะปราบปรามให้การทุจริตหมดไปนั้นจะหวังพึ่งเพียงป.ป.ช.
เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ แต่ทุกส่วนของสังคมต้องช่วยกัน เวลานี้มีเรื่องร้องเรียนทุจริตไปถึง
ป.ป.ช. ถึง 5 พันกว่า เรื่อง และยังมีที่ทำผิด พ.ร.บ.ฮั้ว อีก 700 เรื่อง ซึ่งป.ป.ช.พยายามที่จะแก้ไขและป้องกันโดยจะเริ่มรณรงค์ในระดับรากหญ้าก่อน
ขณะที่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
กล่าวว่า จากการเข้าไปตรวจสอบของ สตง.พบว่า ปัจจุบันเงินงบประมาณแผ่นดินที่นอกเหนือจากงบประจำที่เป็นเงินเดือนข้าราชการ
แล้ว เงินที่อยู่ในรูปของงบพัฒนา งบลงทุน งบจัดซื้อจัดจ้าง มีการทุจริตอย่างมาก
และ รูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป เรียกว่าเป็นทุจริตแบบ กลายพันธุ์ ยิ่งกว่า The x-men
คือจะไม่ได้มีการทุจริตแบบปัญญาอ่อน เรียกรับเปอร์เซ็นต์เช่นในอดีต แต่จะกลายเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย
โดยผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐบาล ที่ไม่จำเป็นต้องออกมาประกาศทำสงครามต่อสู้กับการทุจริต
แต่แค่เพียงทำหน้าที่ในฐานะให้ครบถ้วน ไม่ปล่อยปละละเลยให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำทุจริตก็เพียงพอแล้ว
เพราะองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบ อย่างสตง. วันนี้เมื่อตรวจพบว่ามีการทุจริตแล้วไปแจ้งความ
ดำเนินคดีก็ยังถูกฟ้องกลับ ฐานหมิ่นประมาท
"ดังนั้น การจะให้ผู้ทุจริตเกรงกลัวต่อบาป ต่อกฎหมาย ที่มีอยู่จึงเป็นไปไม่ได้
แต่เวลานี้การต่อสู้การทุจริตของภาคประชาชนก็ยังคงเป็น ลักษณะถูกโดดเดี่ยว ความจริงแล้วควรจะต้องทำเป็นเครือข่าย
เพราะไม่เช่นนั้นไม่มีทางที่จะสู้กับการทุจริตที่กลายพันธุ์ เป็นพวก เอ็กซ์เมน
เมทริกซ์ ซึ่งมาในคราบของการจับมือระหว่างนักการเมือง นายทุน และข้าราชการได้ และเมื่อมีการจับได้ก็ไปจ้างทนายมือหนึ่งของประเทศมาว่าความให"
นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชน ต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า การต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะแม้แต่หมู่ผู้ที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ก็ยังมีการคอร์รัปชัน เพราะเมื่อถูกคุกคามข่มขู่เข้ามากๆ
ก็จะเลือกเอาผลประโยชน์ เอาชีวิตของตัวเองไว้ก่อน อีกครั้งคนที่ต่อสู้ยังเสี่ยงกับคุกตะราง
ดังนั้นมาตรการหนึ่งที่ได้ก็คือมาตรการทางสังคม
"อย่างกรณีคุณต่อตระกูล ยมนาค ที่เข้ามาทำเรื่องการคอร์รัปชัน ก็ยังถูกนักการเมืองรีดไถ
ซึ่งนักการเมืองเขาจะรีดไถกับทุกคน แต่วันนี้มาตรการทางสังคมหยุดเขาไปแล้ว นักการเมืองคนนี้เจอหน้า
สังคมต้องอย่าไปยอมรับอย่าไปรับไหว้ และต้องพยายามขจัดให้ออกไปจากสังคมให้ได"
นายวีระ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญในขณะนี้ก็ยากจะเป็นที่หวัง
อย่าง ป.ป.ช. เขาส่งเรื่องไปให้ ตรวจสอบนับสิบเรื่องมีเพียงเรื่อง เงินกู้ 45 ล้าน
ของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชิปัตย์ ที่เป็นผล การดักฟังทางโทรศัพท์ของเขา
ที่เอาผิดได้แค่เจ้าหน้าที่องค์กรโทรศัพท์ ซึ่ง ป.ป.ช. ยอมรับว่าที่จัดการกับ ตำรวจ
และนักการเมืองไม่ได้เพราะมีการตัดตอนตั้งแต่ในชั้นการทำสำนวนของตำรวจ นอกนั้นลงตะกร้าทั้งหมด
และอีกหลายเรื่องส่งไปตั้งแต่ปี 41 ยังไม่เคยเรียกเขาไปสอบเลย
"เรื่องที่ส่งไปยังคณะกรรมการติดตามและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันตามมติคณะรัฐมนตรี
(ปท.) หรือส่งไปที่นายกรัฐมนตรี ไม่มีผลสำเร็จ ไม่มีคำตอบเลย ถามว่าแล้วจะหวังอะไรกับองค์กรเหล่านี้
แต่องค์กรภาคประชาชนเราไม่ต้องอาศัยกฎหมาย แต่ใช้มาตรการสังคมซึ่งมันหยุดได้"
ส่วนนายต่อตระกูล ยมนาค ประธานคณะทำงานติดตาม และศึกษาการทุจริต และประพฤติมิชอบ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การต่อสู้ทุจริตคอร์รัปชัน ต้องอาศัยคนเข้ามามีส่วนร่วมมากๆ
เวลานี้เราอาจจะรู้สึกประชาธิปไตยดีขึ้น แต่ยืนยันเราจะถูกกดขี่อยู่เพียงแต่ในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น
ซึ่งถ้าไม่มีการแก้ไข จะมั่นใจได้อย่างไรว่า เราจะไม่เหมือนอาร์เจนติน่า ที่คนที่มีความสุข
อยู่ชั่วคราวเพราะรัฐบาลเอาเงินมาให้ใช้ การที่ออกมาเปิดโปงเรื่องทุจริตไม่ใช่
เพราะเสียประโยชน์หรืออยากดัง แต่ต้องการให้สังคมตระหนักว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน
เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม ซึ่งวันนี้ดีใจที่พูดไปแล้วมีประโยชน์เกิดการตื่นตัวขององค์กรต่างๆ
ที่เมื่อก่อนไม่เคยคิดเรื่องนี้ วันนี้ก็เริ่มรู้สึกว่าการทุจริต คอร์รัปชันมัน
เป็นอันตรายต่อบ้านเมือง
"จากการรับฟังความเห็นประชาชนจากภาคต่างๆ แม้ผู้นำชุมชน ประชาชนจะตื่นตัวในการร่วมคิด
ร่วมป้องกัน แต่ที่ยังเหมือนกันคือ ต่างยังกลัวอิทธิพลทั้งนอกรูปแบบและจากรัฐบาล
รวมถึง กทม. ก็ยังพูดเรื่องของความไม่ปลอดภัย เพราะผลประโยชน์มันมหาศาล แต่ในช่วงปลายนี้สภาที่ปรึกษาก็จะทำการสรุปแนวทางการป้องกันพร้อมข้อเสนอแนะ
เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และโดยส่วนตัวเห็นว่า เราจะนำข้อสรุปของ นายไมเคิล อีพอร์ตเตอร์
ที่รัฐบาล จ้างให้วิจัย ซึ่งระบุว่าการทุจริตคอร์รัปชันใน วงราชการเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนา
และผลการวิจับของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยหอการค้า ทีให้ข้อมูลว่าการทุจริตทำให้ประเทศสูญเสียผลประโยชน์ถึง
5 แสนล้าน ต่อปี ประกอบกับข้อเสนอของ สภาพัฒน์ที่ระบุว่าต้องให้ประชาชนเจ้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มคิดโครงการจนกระทั่งเสร็จสิ้น
และร่วมติดตามตรวจสอบว่าผลการดำเนินโครงการเกิดผลต่อประชาชนจริงหรือไม่ เพราะรัฐบาลจะไม่มีสิทธิ์โต้แย้งในข้อเสนอเหล่านี้เลย
เพราะล้วนแต่เป็นข้อเสนอของรัฐบาลเองทั้งสิ้น"
แม้การตื่นตัวต่อการทุจริตคอร์รัปชัน ของประชาชนจะสูงในขณะนี้แต่ในอนาคตพัฒนาการของการคอร์รัปชันก็จะสูงขึ้นและ
ซับซ้อนเข้าใจยาก โดยเป็นการคอร์รัปชัน โดยถูกกฎหมาย อย่างเช่นในกิจการโทรคมนาคม
หรือกรณีค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีเพราะมีการทุจริตตั้งแต่ขั้นการ
ทำสัญญา ดังนั้นไม่ว่าจะต่อสู้เรื่องการจ่ายชดใช้อย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะไม่ต้องจ่าย
อย่างน้อย ก็ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้าน
"ผมก็มองว่าการใช้มาตรการทางสังคมลงโทษเป็นเรื่องที่มีผลมากเราต้องแสดงว่ารับ
ไม่ได้ ไห้วไม่ลงกับคนที่โกงจะเห็นได้ว่าแม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมีรัฐมนตรีจะได้รับการโหวตยกมือให้ผ่าน
แต่ประชาชนก็ยังเคลือบแคลงใจ นายกฯเองก็รู้จึงสั่งให้ต้องมาเคลียร์กับสังคม"