|
คลังชงขาดดุล 5 ปีกระตุ้น ศก. สภาพัฒน์ชู'ลงทุน-บริโภค'
ผู้จัดการรายวัน(28 มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
กระทรวงการคลังจัดทำร่างหนี้สาธารณะต่อจีดีพีและภาระหนี้ต่องบประมาณปี 51-55 เตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ประกอบการตัดสินใจทำกรอบงบประมาณปี 52 โดยเสนอให้พิจารณา 2 รูปแบบทั้งขาดดุลตามความจำเป็นและให้เต็มเพดาน 2.5% ของจีดีพี โดยออกพันธบัตรระยะยาวเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ด้านสภาพัฒน์เตรียมชงยุทธศาสตร์ส่งเสริมลงทุนและเน้นภาคบริโภคให้รัฐบาลใหม่ เตือนอย่าทำนโยบายเศรษฐกิจบิดเบือนกลไกตลาดโลก
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้จัดทำประมาณการหนี้สาธารณะต่อจีดีพี และภาระหนี้ต่องบประมาณในปีงบประมาณ 2551-2555 เพื่อนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อใช้ในการประการตัดสินใจในการจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมในปี 2551 และการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณปี 2552 ที่จะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ตามปฏิทินของปีงบประมาณ รวมถึงประกอบแผนทางการเงินในการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลด้วย
ประมาณการดังกล่าวจะอยู่บนสมมติฐานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2550 เท่ากับ 8.386 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวในปี 2551-2555 เท่ากับ 4.5% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 3.5% ประมาณการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551-2555 มีการเจริญเติบโตเท่ากับ 6% หนี้ในประเทศของรัฐบาลที่ครบกำหนดจะต่ออายุทั้งหมด ยกเว้นหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่คาดว่าจะมีกำไรนำส่งจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณ 10,000 ล้านบาทภายในปี 2555 และการก่อหนี้ใหม่ในประเทศของรัฐวิสาหกิจเพื่อการลงทุนในโครงการเพิ่มขึ้น ในปี 2551-255 ในอัตรา 10%
แหล่งข่าวกล่าวว่า คณะทำงานได้ลองนำสมมติฐานดังกล่าวมาใส่ในแบบจำลองพบว่า รัฐบาลยังสามารถที่จะดำเนินนโยบายขาดดุลได้ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551-2555 ซึ่งสามารถดำเนินการได้ใน 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรก จะมีความอนุรักษ์นิยม ด้วยวิธีการขาดดุลงบประมารตามความจำเป็น เริ่มต้นจากปี 2551 ขาดดุลงบประมาณ 165,000 ล้านบาท ปี 2552 ขาดดุลงบประมาณลดลงเป็น 152,500 ล้านบาท ปี 2553 ขาดดุลงบประมาณ 137,000 ล้านบาท ปี 2554 ขาดดุลงบประมาณ 119,900 ล้านบาท และในปี 2555 ขาดดุล 99,200 ล้านบาท
สำหรับวิธีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลตามแนวทางนี้จะเสนอให้รัฐบาลใช้วิธีการออกเป็นพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปีในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งหากมีการขาดดุลในอัตราดังกล่าวแล้วจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศ อยู่ที่ระดับไม่เกิน 40% ต่อจีดีพี และภาระหนี้ต่องบประมาณ จะอยู่ที่ระดับ 10-13% เท่านั้น
ในขณะที่รูปแบบที่สอง จะเป็นการเพิ่มวงเงินการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปีให้มีสัดส่วนเต็มเพดาน คือ ประมาณ 2.5% ของจีดีพี ในทุกปีตั้งแต่ปี 2551-2555 ซึ่งกรณีนี้จะใช้สำหรับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศต้องการการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นอย่างรุนแรง มีการเร่งรัดลงทุนขนาดใหญ่เต็มพิกัด พบว่า สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณในแต่ปีจะเพิ่มในสัดส่วนดังนี้
ในปี 2551 ขาดดุล 226,430 ล้านบาท ปี 2552 ขาดดุล 244,545 ล้านบาท ปี 2553 ขาดดุล 264,108 ล้านบาท ปี 2554 ขาดดุล 285,237 ล้านบาท และปี 2555 ขาดดุล 308,056 ล้านบาท ซึ่งวิธีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลสามารดำเนินการได้โดย ออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี ในสัดส่วน 80% ออกพันธบัตรออมทรัพย์ อายุ 3 ปี ในสัดส่วน 5% และตราสารหนี้อื่น ของรัฐ เช่นตั๋วแลกเงิน ตั๋วเงินคลัง ในสัดส่วน 15%
แหล่งข่าวกล่าวว่า กระทรวงการคลังได้มีการเตรียมการข้อมูลในสมมติฐานต่างๆ ไว้ทั้งหมด เพื่อให้รัฐบาลใหม่ที่ต้องการข้อมูล มาใช้ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้รับทราบถึงแนวทางที่เป็นไปได้ และปัญหาอุปสรรค และข้อจำกัดต่าง ๆ ซึ่งก็แล้วแต่ว่ารัฐบาลจะเลือกพิจารณา โดยแนวทางแรกนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังน้อยกว่า แต่หากมองในแง่เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าไปในเศรษฐกิจก็จะไม่มากนัก แต่สำหรับแนวทางที่สองเป็นแนวทางที่ศึกษาแบบกรณีสูงสุด หรือเต็มเพดานการกู้เงินแล้ว โดยหากเกินกว่าระดับดังกล่าวก็ถือว่าอันตราย ดังนั้นรัฐบาลคงต้องชั่งน้ำหนักว่าจะเลือกแนวทางใด
สภาพัฒน์คึกชงยุทธศาสตร์บริโภค
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในปี 2551 สศช. ได้เสนอยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมลงทุนและภาคบริโภคเพื่อเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งต่างกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ภาคส่งออกเป็นแกนหลักในการผลักดัน ดังนั้นเชื่อว่าโครงการลงทุนลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐและเอกชนจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการจ้างงานแก่ภาคประชาชนได้
ทั้งนี้ ปี 2551 ปัญหาความผันผวนเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรใช้นโยบายเศรษฐกิจบิดเบือนกลไกตลาดโลกในการบริหารงานมากนัก เพื่อช่วยเหลือช่วยเดือดร้อนภาคธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง เนื่องจากจะเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยถึงขั้นวิกฤตในระยะยาวได้ เพราะกองทุนระดับโลก หรือผู้ที่มีเงินมหาศาลจะถือโอกาสในการเก็งกำไร
“ปัญหาของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้เกิดผลกระทบชัดเจนต่อตลาดหุ้นไทย เพราะอ่อนไหวได้ง่าย แต่เรื่องนี้คงกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของไทยไม่มาก เพราะไทยมีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างเล็ก ส่วนมาตรการบิดเบือนตลาดเงิน ตลาดทุน และสินค้าทำได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ควรมากเกินไป เพราะนักลงทุนจะรู้ จนเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีเงินมหาศาลเก็งกำไรได้ง่าย โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ปัจจุบันทำได้รวดเร็ว” นายอำพนกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|