สามารถฯงัดกลยุทธ์สู้ปีหนูไป-ตั้งเป้าโกย3หมื่นล.


ผู้จัดการรายวัน(28 มกราคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

‘วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์’ประกาศปี 51 กลุ่มสามารถจะทำรายได้ 3 หมื่นล้านบาทเติบโตกว่า 50% ย้ำทุกวิกฤตย่อมเกิดโอกาสสำหรับผู้ที่มีความพร้อมทางการเงินรู้จักเลือกธุรกิจและจังหวะในการลงทุนพร้อมชูกลยุทธ์ SMART นำธุรกิจกลุ่มสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่นกล่าวว่าในปี 2551 กลุ่มสามารถจะเน้นในเรื่อง Merging & Acquisition ในการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยทุกสายธุรกิจจะใช้กลยุทธ์หลักร่วมกันคือ SMART Strategy ประกอบด้วย Synergy สร้างทีม สร้างพันธมิตร, Merging & Acquisition ทางลัดสู่ธุรกิจใหม่ที่มีอนาคต, Regional สร้างชื่อและรายได้ระดับภูมิภาคและ Technology คือ การขยายธุรกิจสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ

รวมทั้งจะเน้นในการสร้างแบรนด์ไอ-โมบายในต่างประเทศ โดยเรียกปีนี้ว่าเป็น Year of Smart Growth โดยมุ่งขยายธุรกิจไปในตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตหรือเป็นตลาดเฉพาะแบบนิชมาร์เก็ตที่มีผลกำไรสูง (Blue Ocean)

“ใครจะบอกว่าปีที่แล้วเผาหลอกปีนี้เผาจริง แต่ผมมองว่าทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ ถึงแม้ปี 2550 รายได้กลุ่มสามารถจะพลาดเป้าไปบ้าง แต่ปีนี้ผลประกอบการของเราจะกลับมาเติบโตขึ้นกว่า 50%”

ท่ามกลางวิกฤตปี 2550 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาการเมือง งบประมาณล่าช้าและจำกัด หรือปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาแพง ภาวะเงินเฟ้อ กำลังซื้อผู้บริโภคต่ำ ค่าเงินบาทแข็งและผลกระทบกรณีซับไพร์มทำให้ตลาดเงินตลาดทุนเกิดปัญหา

แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกสำหรับกลุ่มสามารถอย่างโทรศัพท์มือถือยี่ห้อไอ-โมบายขายได้ 3.2 ล้านเครื่อง พฤติกรรมการใช้สื่อดิจิตอลมีแนวโน้มสูง การขยายตัวของบรอดแบนด์และไว-ไฟรวมทั้งการเติบโตของธุรกิจเอาต์ซอร์ส ซึ่งทำให้ปีที่ผ่านมาของกลุ่มสามารถฯมีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแซมเทล การพัฒนาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง การสร้างความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อรอโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจ และการเร่งสร้างแบรนด์ไอ-โมบายในระดับภูมิภาค รวมทั้งการสร้างผู้บริหารเลือดใหม่ (GEN S)

ปัจจัยที่ส่งผลบวกให้กลุ่มสามารถในปีนี้ประกอบด้วย1.ตลาดโทรศัพท์มือถือเติบโต 85-90% หรือจะมียอดขายรวม 10 ล้านเครื่องในประเทศ 2.การแข่งขันเฮ้าส์แบรนด์ลดลงอย่างมาก 3.ไอ-โมบายเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคและ4.ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐกับเอกชนที่จะส่งผลให้เกิดการตื่นตัวในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างทีโอทีกับเอไอเอสหรือกสทกับดีแทค

สำหรับปัจจัยที่จะสร้างให้เกิดความสำเร็จของกลุ่มสามารถประกอบด้วย 1.การเลือกตลาดให้ถูก ไม่ใช่มองแต่ตลาดที่มีการแข่งขันสูงแต่ต้องเลือกตลาดที่ให้กำไรสูง 2.ต้องเลือกโปรดักส์ให้ถูกอย่างโทรศัพท์มือถือต้องมีดีไซน์ใหม่ไฮเทค ต้องเลือกคอนเทนต์ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ 3.ต้องเลือกเวลาที่เหมาะสมเช่นการลงทุนแอปพลิเคชั่นด้านนิวเคลียร์และ4.ต้องเลือกบุคลากรที่เหมาะสม

นายวัฒน์ชัยกล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการคว้าโอกาสธุรกิจในอนาคต เช่น การเซ็นสัญญาความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติเพื่อศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีนิวเคลียร์,การพัฒนาคุณภาพบริการ Contact Center จนสามารถคว้ารางวัล Best Contact Center ในภูมิภาคเอเชียของบริษัท วันทูวัน, การดีไซน์มือถือไอ-โมบายให้มีความทันสมัยและHigh tech, การปรับโครงการสร้างธุรกิจ ICT ให้กระชับและมีประสิทธิภาพ, การขยายธุรกิจต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจมือถือ คอนเทนต์, ICT Outsourcing และอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 16.7%ในประเทศกัมพูชา ยังนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 15.6% คิดเป็นรายได้ 20.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับบริษัท แอร์ทราฟิก เซอร์วิสเซส ซึ่งในปีที่ผ่านมายังได้รับการต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 10 ปีรวมระยะเวลาสัมปทานที่เหลือทั้งสิ้นถึง 27 ปี

รวมทั้งบริษัท กัมปอต เพาเวอร์แพลนท์ ที่ได้ฤกษ์ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โรงงานกัมปอตซีเมนต์ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยมีอายุสัญญา 10 ปี

ในปี 2551 กลุ่มสามารถตั้งเป้ารายได้ที่ 3 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 40 – 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยแบ่งสัดส่วนรายได้แยกตามสายธุรกิจ ดังนี้

สาย Mobile Multi-media 21,000 ล้านบาท สาย ICT Solutions 5,000 ล้านบาท และสาย Technology Related 4,000 ล้านบาท ทั้งนี้ได้มีการตั้งเป้าหมายของกลุ่มสามารถในอีก 3 ปีข้างหน้าว่าจะต้องมีรายได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท และมีกำไรให้ได้ถึง 1,000 ล้านบาท โดยมือถือไอ-โมบายจะต้องเป็นที่หนึ่งของ ASEAN Phone ด้วยยอดขาย 10 ล้านเครื่อง และ ICT Solutions จะต้องสร้างรายให้ได้ 10,000 ล้านบาทในปี 2553 สำหรับธุรกิจปัจจุบันกลุ่มสามารถ ประกอบด้วย 3 สายธุรกิจหลัก คือ สายธุรกิจ Mobile-Multimedia นำโดย บริษัท สามารถ ไอ-โมบายตั้งเป้ารายได้ปี 2551 ที่ 21,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 40% มียอดขายโทรศัพท์มือถือรวม 5 ล้านเครื่อง แบ่งเป็น ตลาดในประเทศ 3 ล้านเครื่อง และตลาดต่างประเทศ 2 ล้านเครื่อง เน้นกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ไอ-โมบาย ทั้งในและต่างประเทศ

หลังจากที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย, เวียดนาม, บังคลาเทศ, ลาว, กัมพูชา และอินเดียแล้ว มาในปีนี้จะเริ่มเข้าไปเจาะในตลาดใหม่ๆ ในประเทศแถบตะวันออกกลาง, เอเชียกลางหรือกลุ่มประเทศ Soviet เดิม และประเทศออสเตรเลียเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ทำให้มั่นใจว่าไอ-โมบายจะขึ้นเป็น NO.1 ASEAN Phone ในตลาดต่างประเทศได้โดยมียอดจัดจำหน่ายถึง 10 ล้านเครื่องในอีก 3 ปีข้างหน้า หลังจากได้รับการจัดอันดับในประเทศไทยให้ติด 1 ใน 10 แบรนด์คนไทยที่อยู่ในใจผู้บริโภคมาแล้ว

โดยเตรียมค้นหา Brand Ambassador ในแต่ละประเทศภายใต้คาแร็กเตอร์เดียวกัน ที่เป็นทั้งดาราที่มีชื่อเสียง และมีความสามารถหลายด้าน (Multi Talent) เพื่อชูความเป็น Mobile Multimedia ร่วมกับการรุกเพิ่มช่องทางในการขยายเครือข่ายจุดจำหน่ายสินค้าและให้บริการที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยตั้งเป้าการมีช่องทางค้าปลีกทั่วภูมิภาคกว่า 620 จุด ภายในปีนี้

สาย ICT Solutions นำโดย บริษัท สามารถเทลคอม หรือแซมเทล ดำเนินธุรกิจครอบคลุมทางด้านไอทีและโทรคมนาคม ตั้งเป้ารายได้ปี 2551 ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตกว่าเท่าตัวเน้นตลาดภาคเอกชนมากขึ้น เพราะมีการขยายตัวถึง 8.9-9.0% มากกว่าภาครัฐที่มีเพียง 5.6-6.6%และมองธุรกิจที่มีสัญญาและสร้างรายได้ให้บริษัทในระยะยาว

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้ารายได้จาก 5 สายงานได้แก่ ด้านบริการเครือข่าย หรือ Network Services โดยคาดว่าจะมีรายได้ทั้งปี ประมาณ 2,400 ล้านบาท, บริการด้าน System Integration แก่โครงการภาครัฐ ซึ่งปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจ e-biz solutions , IT outsourcing และธุรกิจ IP อีกประมาณ 1,100 ล้านบาท

ปัจจุบันสายธุรกิจ ICT มีโครงการที่มีอยู่ในมือแล้วกว่า 3,500 ล้านบาท เช่น โครงการ เอเอ็มอาร์ โครงการ School Net Phase 2 โครงการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงระยะที่ 2 และยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างประมูลอีกกว่า 10,000 ล้านบาท

สายธุรกิจ Technology Related ตั้งเป้ารายได้ที่ 4,000 ล้านบาท จากบริษัท วันทูวันคอนแทคส์ บริษัท สามารถวิศวกรรม จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจด้านเสาอากาศ และจานดาวเทียม และบริษัท วิชั่นแอนด์ ซิเคียวริตี้ ซิสเต็ม รวมทั้งธุรกิจใหม่ล่าสุดที่กลุ่มสามารถร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รุกธุรกิจเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยมองความต้องการของตลาดเป็นหลัก โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมด้านอาหาร และอุตสาหกรรมด้านอัญมณี ตามลำดับ ซึ่งปีนี้จะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ และมีต่อมาคือปี 2552 จะเริ่มรับรู้รายได้ในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ก่อน ที่รายได้ประมาณ 200 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.