งัดแผน"ตรวจตัดตอน" สตง.เลิก"เทิร์นคีย์-วิธีพิเศษ"ปรามเงินรั่ว


ผู้จัดการรายวัน(2 มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ว่าการส.ต.ง.เปิดยุทธศาสตร์เชิงรุกฟาดฟัน ทุจริตคอร์รัปชัน ลั่นโครงการใหญ่หมดสิทธิ์ใช้วิธีพิเศษ-เทิร์นคีย์ พร้อมเข้าแทรกแซงการประมูลจัดซื้อจัดจ้างตามแผน "ตรวจตัดตอน" แทนการวิ่งไล่แก้ไขปัญหาภายหลัง ขณะเดียวกัน ยังตีกรอบป้องปรามเงินรั่วไหล โดยเฉพาะในส่วนของท้องถิ่น เตรียมประชาพิจารณ์ 6 มาตรการคุมเงินอบต.

การเปิดยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อป้องปรามคอร์รัปชัน ของหน่วยงานอิสระอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.) ภายใต้การนำของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการฯ กำลังเป็นไปอย่างเข้มข้ม ท่ามกลางกระแสสงครามปราบทุจริตคอร์รัปชัน ของรัฐบาล ที่กำลังระเบิดขึ้น

ที่ผ่านมา ส.ต.ง. ได้โชว์ผลงานชิ้นโบว์แดงที่สั่นสะเทือนวงการหลาย ต่อหลายเรื่อง เช่น การตรวจสอบโครงการนมโรงเรียน ที่พบว่า อ.ค.ส. ไม่มีใบเสร็จรับเงิน สูงถึง 1,269 ล้านบาท โครงการก่อสร้างวงแหวนใต้ มูลค่า 16,000 ล้านบาท ที่ตรวจสอบพบความไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ ให้เอกชน จนกระทั่งนำไปสู่การล้มเทิร์นคีย์ในที่สุด รวมทั้งการสอบทุจริตมอเตอร์เวย์ เป็นต้น (อ่านล้อมกรอบ "ผลงานเด่นมือปราบ ส.ต.ง.)

คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงิน แผ่นดิน (ส.ต.ง.) เปิดเผยว่า ส.ต.ง.ยุคนี้มุ่งเน้นการทำงานในเชิงรุกโดยลุยลงไปถึงสนามจริงไม่รอเพียงการ "ตรวจกระดาษ" ซึ่งเป้าหมาย ในปีนี้จะทุ่มกำลังคนถึง 40% ลงไปตรวจการจัดซื้อจัดจ้างเป็นพิเศษ เพราะที่ผ่านมา มีปัญหาเกิดขึ้นมาก และเปิดช่องให้เกิดการรั่วไหลเงินของแผ่นดินมหาศาล โดยประมาณการรวมทั้งการทุจริตคอร์รัปชัน การบริหารงาน และบริหารงบที่ไม่มีประสิทธิภาพ คิดเป็นเม็ดเงินไม่น่าจะต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท หรือไม่ต่ำกว่า 30% ของเม็ดเงินงบประมาณในแต่ละปี

สำหรับโครงการที่เป็นเป้าหมายจะเป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูง มีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก มีโอกาสรั่วไหลได้ง่าย และเป็นโครงการที่อยู่ในความสนใจของและส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยสตง.จะเข้าไปร่วมตรวจสอบในรายละเอียดทั้งหมดตั้งแต่ต้น เริ่มจากขั้นตอนการเตรียมโครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง ไปจนถึงการจัดทำบัญชี ซึ่งเป็นวิธีการ "ตรวจตัดตอน" คือ จัดการตั้งแต่ต้น หากเห็นว่ามีปัญหาก็จะทำเรื่องเสนอให้ยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไข

คุณหญิงจารุวรรณ กล่าวต่อว่า เวลานี้ สตง. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการเปิดประมูลโครงการต่างๆ ที่อยู่ในข่ายข้างต้น หากพบสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ฮั้วประมูล ก็จะทำเรื่องแจ้งไปยังหน่วยงานเจ้าของโครงการ หรือ ผู้บังคับบัญชาที่อยู่ในลำดับสูงขึ้นไปให้เข้ามา สอบสวนทันที

นอกจากนั้นแล้ว สตง. ยังจับตาการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ชอบอ้างว่าต้องใช้วิธีพิเศษ เป็นกรณีพิเศษ รวมถึงกรณีการประมูลด้วยวิธีจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (เทิร์นคีย์) ซึ่งสตง.เห็นว่ามีการรั่วไหลมากแล้วยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ง่าย

"ทั้งวิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ และแบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ คงจะหมดสิทธิ์เกิด หรือ เกิดก็ยาก เพราะ สตง.จะเข้มงวดมากว่าจริงๆ แล้วจำเป็นหรือไม่ เร่งด่วนจริงหรือเปล่า"

ภายใต้นโยบายเชิงรุกนี้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่น ได้ออกประกาศเรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2546 เพื่อตรวจสอบและติดตามแผนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานต่างๆ ครอบคลุมหมดทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ ฯลฯ

"สตง.จะดูแต่ต้นเลยว่าคุณใช้วิธีประมูลแบบไหน การเบิกจ่าย เป็นอย่างไร แผนปฏิบัติการเป็นไปตามแผนหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามแผนให้จัดทำรายละเอียดชี้แจงถึงสาเหตุ ผลกระทบ และวิธีการแก้ไข แล้วต้องรายงานให้ทราบทุกระยะ"

ที่ผ่านมา สตง.ได้ส่งผลการสอบสวน การทุจริต ไปยัง ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดตามกฎหมาย เป็นระยะ ซึ่งถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริง แล้ว เอกสารหลักฐานที่สตง. ส่งให้ ป.ป.ช. นั้น ครบถ้วนสมบูรณ์เกือบทั้งหมด เพียงแต่ ป.ป.ช.ไปพิจารณาต่อยอดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ปรากฏว่า มีเรื่องยังคงค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ สตง. กล่าวถึงการทุจริตคอร์รัปชันในขณะนี้ว่า เปลี่ยนแปลงไปเป็นการคอร์รัปชันในเชิงนโยบายมากขึ้น หรือเรียกว่าโกงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ อย่างกรณีโครงการวงแหวนใต้ (โครงการก่อสร้างทางหลวงวงแหวน กาญจนาภิเษกด้านใต้ ช่วงสุขสวัสดิ์-บางพลี มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท) ซึ่งใช้วิธีจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ และมีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมา

นอกจาก สตง. จะเล่นบท "ตรวจตัดตอน" โครงการใหญ่แล้ว ในส่วนโครงการเล็ก ซึ่งบางครั้งเป็นการ "ซอยงาน" เพื่อให้อยู่ในอำนาจของหน่วยงานรับผิดชอบ หลบเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง สตง.กำลังจัดทำมาตรฐานและมาตรการเพื่อควบคุมและตรวจสอบเช่นกัน โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็กที่กระจายไปยังท้องถิ่น โดยขณะนี้ สตง. กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างมาตรฐาน/มาตรการ และจะเปิดรับฟังความเห็นจากอบต.ทั่วประเทศ

สำหรับมาตรฐาน/มาตรการ ที่สตง.จะคลอดออกมา รวมทั้งหมด 6 มาตรการ ได้แก่ มาตรการด้านการเงินและการคลังของอบต., มาตรการด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของอบต., มาตรการด้านการดำเนินงานตามแผนงาน งาน และโครงการของอบต., มาตรการป้องกันหรือควบคุมความเสียหายให้หน่วยรับตรวจ, มาตรการการบริหารและควบคุมทางการเงินของหน่วยรับตรวจขนาดเล็ก และมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดทำและแบบรายงานที่จำเป็นสำหรับการตรวจเงินแผ่นดิน ที่หน่วยรับตรวจต้องจัดส่งให้แก่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นประจำ

"ราเป็นห่วง อบต. โดยเนื้อแท้ก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะโกงอะไร แต่เขาไม่ค่อยรู้เรื่องมากกว่า ว่าบางอย่างระเบียบข้อบังคับมันทำไม่ได้" ผู้ว่าการ สตง. กล่าวในที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.