กำเนิดไทย-อาร์.เอฟ.เอ็ม. เมื่อพิเชษฐ์ เหล่าเกษม กลับฟื้นขึ้นมาใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

คงจำกันได้ว่า เมื่อประมาณกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีการแถลงข่าวเปิดตัวบริษัทใหม่ "ไทย-อาร์.เอฟ.เอ็ม." ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปตระกูล "เนื้อ" ไม่ว่าจะทำจากเนื้อโค หรือเนื้อสุกร ภายใต้แบรนด์เนมระดับโลก "สวิฟท์ (SWIDFT)"

ไทย-อาร์.เอฟ.เอ็ม.เป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มอาร์.เอฟ.เอ็ม. (RFM REPUBLIC FLOUR MILLS) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำทางอุตสาหกรรมผลิตอาหารแห่งประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีประสบการณ์และความรู้ความสามารถในธุรกิจนี้ยาวนานกว่าสามสิบปีกับกลุ่มนักธุรกิจชาวไทยที่เรารู้จักกันดีอย่าง ณรงค์ วงศ์วรรณ มงคล ศิริสัมพันธ์ โดยมี สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ นั่งเป็นประธานกรรมบริษัทอยู่

ส่วน"สวิฟท์ (SWIDFT)" เป็นเครื่องหมายการค้าตัวเอ้ของสวิฟท์-เอ็กริช (SWIFT ECKRICH) แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นสาขาของบริษัทเบียทริส (BEATRICE CORP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปหลายชนิด

เป็นผู้ผลิตเนื้อไก่งวงและแฮมกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ด้วยยอดขายปีละกว่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (42,500 ล้านบาท) มีโรงงานกว่า 100 แห่งในอเมริกา และมีชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิตอาหารประเภทเนื้อสัตว์สำเร็จรูปรายใหญ่ติดอันดับหนึ่งสามของโลก

ดูๆ แล้วก็น่าเกรงขามดี แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แท้ที่จริงแล้วบริษัทที่เรากำลังพูดถึงนี้ ไม่ใช่บริษัทใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างที่ใครๆ เข้าใจกัน และแน่นอนที่สุดตำนานของการต่อสู้ ความล้มเหลว จนกระทั่งสามารถยืนหยัดขึ้นมาอีกครั้งอย่างทระนงก็เป็นเรื่องต้องพึงให้ความสนใจกันอย่างมากด้วย

ไทย-อาร์.เอฟ.เอ็ม.เปลี่ยนชื่อมาจาก "มาบุญครอง อาร์.เอฟ.เอ็ม." เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2530 และเพิ่มทุนบริษัทจากเดิม 125 ล้านบาท เป็น 162.5 ล้านบาท พร้อมกับการเข้ามาของกรรมการบริษัทหน้าใหม่ อันประกอบด้วยสังวลาย์ วงศ์วรรณ ลูกชายของณรงค์ วงศ์วรรณ กับอโนทัย เตชะมนตรีกุล

มาบุญครองอาร์.เอฟ.เอ็ม.ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าต้องมีความเกี่ยวข้องกับศิริชัย บูลกุล อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่มาบุญครองเซ็นเตอร์ และบริษัทมาบุญครองเซ็นเตอร์ และบริษัทในเครือมาบุญครองอยู่บ้าง

แต่ที่จริงแล้วเรื่องที่เรากำลังจะพูดถึงเป็นเรื่องราวของคนที่ชื่อ "พิเชษฐ์ เหล่าเกษม" เสียมากกว่า เพราะพิเชษฐ์เป็นคนที่เริ่มตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา

"พิเชษฐ์ เหล่าเกษม" เป็นเจ้าของโครงการดัง "วังน้ำฝน" ที่ทำให้ธนาคารกรุงเทพของเจ้าสัวชาตรี ปวดขมับตุบตับอยู่ช่วงเวลาหนึ่งกับสินเชื่อกว่า 400 ล้านบาทที่ปล่อยไปแล้วมีท่าทีจะสูญ

คนที่รู้เรื่องดีเล่าให้ฟังว่าช่วงปี 26-27 เป็นช่วงที่ราคารหมูในตลาดดิ่งลงเหว คือ ราคาไม่สูงอย่างที่ใครๆ ได้คาดหวัง โดยเฉพาะหากเหตุการณ์ยังคงเป็นอย่างที่ว่านั้นต่อไป โครงการมูลค่าเกือบครึ่งพันล้านของพิเชษฐ์คงจะต้องพังภินท์ลงต่อหน้าต่อตาเป็นแน่แท้

หมูจะขายได้อย่างน้อยก็ต้องมีโรงฆ่าเป็นตัวรองรับ เพราะพอจะทำให้อุ่นใจได้ว่ายังไงๆ หมูที่ "ขุน" มานับพันนับหมื่นตัวก็พอจะมีที่ขายออกไปได้

พิเชษฐ์ก็ไปชวนศิริชัย บูลกุล ประพันธ์ คงคาทอง สมภพ ฟูศิริ มา ชาน ลี เข้าร่วมหุ้นตั้งบริษัทมาบุญครอง อาร์.เอฟ.เอ็ม. ขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเพียงหนึ่งล้านบาท

อีกสองสามเดือนต่อมาก็มีการชักชวนกลุ่มอาร์.เอฟ.เอ็ม.ดีเวลลอปเม้นท์มาฮ่องกงเข้ามาร่วมทุนด้วย ซึ่งได้ส่งผู้บริหารหลายคนมาบริหารกิจการของมาบุญครองอาร์.เอฟ.เอ็ม.ไม่ว่าจะเป็นโฮเซ่ คอนเซฟชั่น จูเนียร์ (JOSE CONCEPCION JR.) แอนโตนีโอ คาซีชัน ดิง (ANTONIO CASISON DING) และออกุสโต ลูซิอาโน เดอ ลีออง (AUGUSTO LUCIANO DE LEON) ทั้งสามคนนี้เข้ามาดูแลทางด้านเทคนิค และการบริหารงานในหลายๆ ด้านให้กับบริษัทตลอดสามปีที่ผ่านมา

ศิริชัยอยู่กับมาบุญครองอาร์.เอฟ.เอ็ม.ไม่นานนัก พอปลายปี 27 นั้นเอง เขาก็ถอนตัวออกจากบริษัท เนื่องจากปัญหาทางการเงินของบริษัทในเครือมาบุญครองของเขาเองที่ยังแก้ไม่ตก ก็เป็นหน้าที่ของพิเชษฐ์อีกเช่นเดิมที่ต้องพยายามเกี้ยวเศรษฐีเงินหนากลุ่มอื่นเข้ามาร่วมงานนี้ให้ได้ เพื่อความอยู่รอดของตนเอง แต่ก็ไม่เป็นผล

ในห้วงเวลานั้น กับมาบุญครองอาร์.เอฟ.เอ็ม.ไม่เพียงแต่จะไม่ก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น โครงการหลายโครงการวางแผนไว้ก็เกือบจะเป็นหมันไปทั้งสิ้น จนกระทั่งต้นปี 2530 ต่อเนื่องมาจนถุงกลางปี 2531 ที่พิเชษฐ์ชักชวนคนสำคัญหลายคนเข้ามาร่วมลงทุนกับเขาได้

"คนสำคัญ" ที่ว่าก็มีสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ณรงค์ วงศ์วรรณ คณิต ยงสกุล เจ้าพ่อเหมืองแร่ เศรษฐีใหญ่ของภูเก็ต จิระ ศิริสัมพันธ์ เป็นต้น

กอปรกับอาร์.เอฟ.เอ็ม.กรุ๊ปที่เข้ามาติดต่อกันตั้งแต่แรกเห็นช่องทางว่าธุรกิจนี้ในเมืองไทยน่าจะโตเสียที พร้อมกับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน การลงทุนทั้งในและต่างประเทศหลายแห่ง

เริ่มจากไฟเขียวจากบีโอไอ การให้เงินกู้สำหรับการลงทุนรวม 534.7 ล้านบาท จากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 257.7 ล้านบาท จากยูเสด (USAID) 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ การร่วมหุ้นของ NEDERLANDS FINANCE COMPANY OF DEVELOPING COUNTRY และ PACIFIC BASIN DEVELOPMENT CORPORATION ทำให้ไทย-อาร์.เอฟ.เอ็ม.ดูแน่นหนาปึ้กปั้กไม่ใช่น้อย พร้อมกับความฝันของพิเชษฐ์ที่ยังคงเป็นกรรมการบริษัทอยู่ด้วยเฉิดฉานขึ้นมาด้วยทันที

"เราหวังว่าเราจะได้นำสินค้าที่มีคุณภาพเข้ามาจำหน่ายและทำให้ชาวไทยได้รู้จัก สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราตระหนักอย่างยิ่งก็คือ พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค และเกษตรกรที่ร่วมโครงการกับเรา" เจอราโด โบโรมิโอ กรรมการผู้จัดการหนุ่มของไทย-อาร์.เอฟ.เอ็ม.กล่าวขึ้นตอนหนึ่ง

เมื่อรวมกับยอดฝีมืออย่างเร็กซ์ อี.อาการาโด รั้งตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิชาการและเทคนิค และความกระตือรือร้นของสองผู้บริหารชาวไทย อารยา เตชานันท์ อดีตผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ยูนิฟู้ดส์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดชีสเบรอพอนด์ส (ประเทศไทย) และผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค เบอร์ลี่ยุคเกอร์ และธีคงค์ ชั้นประเสริฐ ผู้เคยทำงานมากับทั้ง ยู.เอฟ.เอ็ม. และเอส.แอนด์.พี.กรุ๊ป.แล้วก็น่าเชื่อได้ว่าไทย-อาร์.เอฟ.เอ็ม.ยุคใหม่จะไปได้ดี รั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ทีเดียวแหละ

จะบอกว่าก็ต้องคอยดูต่อไปว่าเป็นอย่างไรก็ออกจะเชยไปสักหน่อย เพราะไหนๆ ก็โดดลงมสในสนามที่มีคู่แข่งขันระดับ "หิน" มากมายทั้ง ซี.พี.บางกอกแฮม ที่เข้ามานานจนเขี้ยวลากดินแล้ว

โชคดีเถอะนะ...ไทย-อาร์.เอฟ.เอ็ม. ความรุ่งโรจน์ อนาคตอันสดใสคงกำลังรออยู่ข้างหน้า?!?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.