คงยังจำได้สำหรับเหตุการณ์วันเซ็นสัญญาก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย
กับบริษัทอิตัลไทยของหมอชัยยุทธ กรรณสูต เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมปีที่แล้วกว่าจะลงเอยจรดปากกาลงนามในสัญญากันได้
เวลาก็ล่วงเลยไปจากกำหนดการเดิมถึง 9 ชั่วโมง
เป็นการเซ็นสัญญาที่ยึดเยื้อยาวนานสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยปัญหาทางเทคนิคที่ไม่ใช่เทคนิคทางการก่อสร้าง
แต่เป็นความติดขัดในเรื่องส่วนได้ส่วนเสียของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง
ผู้ที่จดจำเรื่องนี้ด้วยความเจ็บใจได้ดีที่สุดคงจะไม่พ้น ฮุนไดเอจิเนียริ่ง
แอนด์ คอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด แต่กลับมาถูกผู้เสนอราคาอันดับสองอย่างอิตัลไทยแซงโค้งไปอย่างหวุดหวิดและอย่างน่ากังขา
ความเจ็บใจที่ตกเป็นผู้แพ้คงจะไม่เท่าไร เพราะฮุนไดเองก็ทำใจได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ
"POLITICAL MATTERS" แต่เหตุผลของการท่าเรือ ที่ไม่เลือกฮุนไดโดยอ้างว่าไม่มั่นใจในเทคนิคการก่อสร้างตอม่อของฮุนไดว่าจะทำได้นี่สิที่ถือว่าเป็นการดูแคลนฝีมือกันอย่างชัด!!
เพราะฮุนไดนั้นเป็นบริษัทก่อสร้างหนึ่งในสิบยักษ์ใหญ่ของโลก ผ่านงานสร้างท่าเรือระดับพันล้านเหรียญสหรัฐมาแล้วในตะวันออกกลาง
และงานก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ ในหลายๆ ประเทศ มีความรู้และประสบการณ์อย่างโชกโชนกับงานสร้างท่าเรือแหลมฉบังไม่ถึง
100 ล้านเหรียญก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรยุ่งยาก
แต่เมื่อคณะกรรมการการท่าเรือเห็นว่ามีปัญหาแน่ๆ ฮุไดก็ทำได้แค่ยื่นหนังสือประท้วงขอความเป็นธรรม
พร้อมๆ กับความเจ็บใจที่ตรึงอยู่ในอก
ธุรกิจก่อสร้างนั้นเป็นรากฐานแรกเริ่มที่มั่นคงในการขยายตัวเข้าไปยังอตสาหกรรมแขนงอื่นของกลุ่มฮุนได
แห่งเกาหลีใต้จนกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งมีบริษัทในเครือ
27 แห่ง ดำเนินธุรกิจตั้งแต่การต่อเรือ การก่อสร้าง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
อุตสาหกรรมเหล็ก การผลิตเครื่องจักรและรถยนต์ รวมไปถึงการเดินเรือ และกกิจการประกันภัย
ยอดขายรวมของกลุ่มฮุนไดในแต่ละปี ไม่ต่ำกว่าสองหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ!!
ฮุนได เอนจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น เป็นบริษัทแรกของกลุ่มฮุนไดที่ตั้งขึ้นในปี
พ.ศ. 2490 และเติบใหญ่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลังสงครมเกาหลี (2493-2496)
ซึ่งมีการก่อสร้างถนนหนทาง อาคารและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม
ปี 2505 รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปีฉบับแรก เพื่อสร้างประเทศให้เป็นชาติอุตสาหกรรมที่ทันสมัยฮุนไดก้าวกระโดครั้งใหญ่จากสถานการณ์นี้
เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลหลายๆ โครงการ
ปี 2508 ฮุนไดขยายตัวออกไปยังต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยเข้าประมูลงานก่อสร้างในเวียดนามใต้และประเทศไทย
"เราเข้ามาเมืองไทยครั้งนั้นเพื่อสร้างถนนทางหลวงหกโครงการด้วยกัน"
ซี เค คิม ผู้บริหารของ ฮุนได เอนจิเนียริ่งฯในไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ถนนหกสายที่ฮุนไดชนะประมูลได้เป็นผู้สร้างในครั้งนั้นคือ สายระหว่างปัตตานี-นราธิวาส
ธนบุรี-ปากท่อ สุราษฎร์ธานี ชัยนาท สระบุรีบางช่วงและอีกสายหนึ่งใกล้ๆ จังหวัดลำปาง
แต่สร้างได้เพียงสี่สายเท่านั้น ฮุนไดก็ต้องขนของกลับบ้าน เมื่อเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันปี
2517 ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้นอย่างฮวบฮาบ ถ้าขืนสร้างต่อไปตามสัญญาว่าจ้างเดิม
มีแต่เจ๊งลูกเดียว
"รัฐบาลไทยยอมให้เรายกเลิกสัญญา เพราะเป็นปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อน
และไม่ใช่เพราะฮุนไดเท่านั้น บริษัทต่างประเทศอื่นๆ ก็ได้รับความยินยอมในการเลิกสัญญา"
คิมย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อ 14 ปีที่แล้ว
วิกฤติการณ์น้ำมันในปี 2517 ซึ่งทำให้ฮุนไดต้องล่าถอยไปจากประเทศไทย กลับเป็นปัจจัยในการเปิดตลาดใหม่ให้ฮุนไดในตะวันออกกลาง
เมื่อชาติอาหรับเจ้าของบ่อน้ำมันที่ร่ำรวยขึ้นจากวิกฤติการณ์นี้ดำเนินโครงการเริ่มต้นพัฒนาประเทศ
ฮุนไดเข้าสู่ตะวันออกกลางครั้งแรกใน พ.ศ. 2517 ด้วยการสร้างอู่ต่อเรือให้กับประเทศอิรัก
หลังจากนั้นตะวันออกกลางก็กลายเป็นขุมทองที่ทำรายได้อันมหาศาลให้กับฮุนได
จนกลายเป็นบริษัทก่อสร้างที่มีงานมากที่สุดในตะวันออกกลาง และเป็นบริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้
งานก่อสร้างของฮุนไดนั้นมีทุกประเภทตั้งแต่การสร้างอาคาร สะพาน อู่ต่อเรือ
โรงไฟฟ้า เขื่อน แท่นขุดเจาะน้ำมันโรงงานปิดตรเคมีคัล ถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ
รวมมูลค่างานที่ผ่านมือฮุนไดตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันแล้วสูงถึงสองหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
75 เปอร์เซนต์เป็นมูลค่างานในตะวันออกกลาง ที่เหลือเป็นงานก่อสร้างภายในประเทศและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
ฮุนไดกลับมาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี 2529 ห่างจากการมาครั้งแรกถึง
21 ปี!
"ในระยะหลังการก่อสร้างในตะวันออกกลางเริ่มถึงจุดอิ่มตัวแล้ว เราต้องหาตลาดใหม่
การก่อสร้างในไทยกำลังขยายตัวเพราะรัฐบาลมีโครงการขนาดใหญ่อยู่หลายโครงการ"
คิม เปิดเผยถึงเหตุผลในการเข้ามาของฮุนไดอีกครั้งหนึ่ง
ระยะเวลาที่ห่างกันถึงยี่สิบปีระหว่างการเข้า มาในครั้งแรกกับการมาในครั้งนี้
ทำให้ฮุนไดกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับวงการก่อสร้างในประเทศไทยไป ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการหนึ่งที่คิม
คิดว่าเป็นปัญหาสำหรับฮุนไดคือ โครงการก่อสร้างใหญ่ๆ นั้นกำหนดเงื่อนไขที่ผู้เข้าประมูลต้องหาแหล่งเงินทุนมาสนับสนุนโครงการเองด้วย
"เรายังไม่มีความสามารถพอในจุดนี้ โดยเฉพาะกับโครงการที่ใหญ่ต้องใช้เงินทุนมากๆ"
ทางออกของฮุนไดในเรื่องนี้ก็คือ ความช่วยเหลือจากรัฐบาลเกาหลีใต้ "รัฐบาลของเราได้จัดตั้งกองทุนเรียกว่า
ECONOMIC DEVELOPMENT CORPORATION FUND (EDCF) เพื่อให้ความช่วยเหลือในโครงการที่เราต้องทำไฟแนนซ์ด้วย"
คิม เปิดเผยกองทุนนี้เพิ่งตั้งได้เพียงวสามปีเท่านั้น
ฮุนไดเองยังมีความหวังว่ากองทุน EDCF นี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งกับบริษัทก่อสร้างของญี่ปุ่น
"ญี่ปุ่นในด้านเทคนิคแล้ว ไม่ดีไปกว่าเราหรอก แต่เขาได้เปรียบเพราะมี
OECF ซึ่งทำให้การสนับสนุนโครงการหลายๆ แห่งในประเทศไทย ซึ่ง OECF มักจะกำหนดเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับบริษัทก่อสร้างของญี่ปุ่น"
ความหวังของฮุนไดก็คือ EDCF จะสามารถเข้ามามีบทบาทกำหนดเงื่อนไขของผู้เข้าประมูลได้เช่นเดียวกับ
OECF ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ฮุนไดมีโอกาสมากขึ้น
งานชิ้นแรกของฮุนไดสำหรับการกลับมาใหม่คือการก่อสร้างโรงกรองน้ำบางเขนซ฿งเริ่มมาตั้งแต่เดือนกันยายน
2529 มูลค่า 360 ล้านบาท เป็นโครงการขยายกำลังผลิตระยะที่ 3 ของการประปานครหลวง
และอีกโครงการหนึ่งที่ฮุนไดกำลังเฝ้าดูอย่างใจจดใจจ่อหลังจากผิดหวังจากโครงการแหลมฉบังมาแล้วก็คือ
การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุฒของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ฮุนไดเสนอราคาต่ำสุด คือ 1,667 ล้านบาท คู่แข่งอันดับสองที่ตามมาไม่ใช่ใครที่ไหนคืออิตัลไทยที่ฝากรอยแค้นไว้ให้เมื่อคราวที่แล้วนี่เอง
อิตัลไทยเสนอราคา 1,800 ล้านบาท
"เรามั่นใจว่า ฮุนไดจะชนะ" คิมตอบสั้นๆ ถึงโอกาสที่จะได้งานสร้างท่าเรือมาบตาพุด
เหตุผลที่ทำให้คิมมั่นอกมั่นใจก็คือ ราคาของฮุนไดกับอิตัลไทยที่เสนอในครั้งนี้แตกต่างกันมากกว่าเมื่อครั้งประมูลโครงการแหลมฉบัง
ในครั้งนั้นฮุนไดเสนอราคาต่ำกว่าอิตัลไทย 1.6 ล้านเหรียญ ครั้งนี้ฮุนไดต่ำกว่า
5 ล้านเหรียญ
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ความมั่นใจว่าเทคนิคของฮุนไดเหนือกว่า "ใครบ้างละที่จะมีประสบการณ์มากไปกว่าฮุนได
ไม่มีบริษัทใดที่เข้าประมูลในโครงการแหลมฉบังและมาบตาพุดที่จะมีประสบการณ์มากไปกว่าเรา"
คิมโอ่
แต่ถ้าคิมนึกย้อนไปถึงเมื่อคราวประมูลท่าเรือแหลมฉบังอีกครั้งหนึ่ง เหตุผลที่เขาคิดว่าเป็นข้อได้เปรียบของฮุนไดในครั้งนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากครั้งกระโน้นกี่มากน้อยเลย
ป่านฉะรี้ ก็คงรู้กันแล้วว่าความเจ็บใจของฮุนไดเมื่อคราวก่อนจะถูกตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งหรือไม่?