|
ออฟฟิศเมท ผุดไลน์ธุรกิจสิ่งพิมพ์เพิ่มความถี่ลูกค้าเก่า ขยายฐานลูกค้าใหม่
ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ออฟฟิศเมท พลิกวิกฤตน้ำมันราคาแพงให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ ทุ่มงบ 30 ล้านบาท โหมอีเวนต์ดึงดูดลูกค้าสั่งซื้อสินค้าเครื่องใช้สำนักงานผ่านแคตตาลอกและระบบออนไลน์ พร้อมโรดโชว์ตามสำนักงานขยายฐานลูกค้าใหม่ พร้อมเสริมไลน์ธุรกิจสิ่งพิมพ์ และการทำแคมเปญการตลาดร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มออเดอร์จากลูกค้าเก่า
ออฟฟิศเมท ทุ่มงบ 30 ล้านบาทผนึกเวอร์จิ้นเรดิโอ จัดกิจกรรมโรดโชว์ตามอาคารสำนักงาน พร้อมขนทีม เวอร์จิ้น เรด รันเนอร์ ปูพรมขยายฐานลูกค้าใหม่ด้วยการตระเวนแจกแคตตาลอกสินค้าของออฟฟิศเมทให้สำนักงานต่างๆรวมกว่า 200,000 เล่ม พร้อมจัดโปรแกรม ออฟฟิศเมท เมมเบอร์ รีวอร์ด โดยยอดสั่งซื้อทุกๆ 100 บาทจะมีแต้ม 5 แต้มเพื่อแลกของรางวัลกว่า 400 รายการ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่า เนื่องจากตลาดองค์กรไม่มีแบรนด์ลอยัลตี้มากนัก หากขายสินค้าแพงลูกค้าก็จะหนีไปหาคู่แข่ง
ทั้งนี้ปัจจุบันออฟฟิศเมทมีฐานลูกค้าองค์กรกว่า 60,000 ราย และคาดว่าจะสามารถเพิ่มเป็น 80,000 รายในปีนี้ โดยยอดการสั่งซื้อต่อครั้งในปีที่ผ่านมาลดลงจาก 4,200 บาทในปี 2549 มาเป็น 3,800 บาท เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีส่งผลให้กำลังซื้อของลูกค้าแต่ละรายลดลง ดังนั้นจึงต้องเร่งขยายฐานลูกค้าใหม่เพื่อชดเชยยอดขายที่ลดลงของลูกค้าเดิม
อย่างไรก็ดีบริษัทได้ขยายไลน์ธุรกิจใหม่เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์เพื่อตอบสนองลูกค้าเก่าเนื่องจากสำนักงานแต่ละแห่งมีความจำเป็นต้องใช้บริการด้านงานพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นโบร์ชัว การ์ด นามบัตร ตลอดจนพอกเกตบุ๊ค เนื่องจากระบบการจัดพิมพ์ที่เป็นดิจิตัลของออฟฟิศเมทมีความคล่องตัว ลูกค้าสามารถส่งงานผ่านอินเทอร์เน็ตได้ และมีความคุ้มค่ากว่าหากพิมพ์งานจำนวนน้อย อย่างพอกเกตบุ๊คไม่เกิน 1,000 เล่ม ถ้าพิมพ์ระบบดิจิตัลจะถูกกว่าเนื่องจากไม่มีค่าเพลตเหมือนโรงพิมพ์แบบเก่า ทั้งนี้บริษัทคาดว่าการขยายฐานธุรกิจใหม่นี้จะสามารถสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 10% หรือ 100 ล้านบาท จากเป้ายอดขายที่ตั้งไว้ในปีนี้ 1,100 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มเครื่องเขียน 65% เครื่องใช้สำนักงานอัตโนมัติและไอที 31% และเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศ 4%
โดยในปีนี้คาดว่ายอดการสั่งซื้อต่อครั้งยังคงค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,800 ล้านบาท แต่บริษัทจะสามารถสร้างยอดขายเพิ่มได้จากฐานลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากธุรกิจสิ่งพิมพ์ ตลอดจนการทำแคมเปญการตลาดร่วมกับพันธมิตร เนื่องจากออฟฟิศเมทมีฐานลูกค้าองค์กรอยู่มาก ธุรกิจอื่นๆที่ต้องการเจาะตลาดองค์กรจึงต้องการฐานข้อมูล รวมถึงระบบลอจิสติกที่ได้รับการพัฒนาจนสามารถจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็วจากเดิมที่ส่งให้วันรุ่งขึ้นก็จะมีการปรับเวลาในบางพื้นที่ที่มีฐานลูกค้าอยู่หนาแน่นซึ่งจะทำให้ลูกค้าที่สั่งสินค้าตอนเช้าได้รับสินค้าตอนเย็น หรือสั่งตอนเย็นก็จะได้รับสินค้าเช้าวันรุ่งขึ้น
ล่าสุดจัดแคมเปญร่วมกับเอไอเอสเพื่อเสนอแพกเกจค่าโทรให้กับลูกค้า SMEs โดยมีอัตราค่าโทรขั้นต่ำนาทีละ 25 สตางค์และยังมีพันธมิตรอื่นๆที่สนใจทำแคมเปญร่วมเนื่องจากออฟฟิศเมทมีฐานลูกค้าอยู่มาก ขณะเดียวกันออฟฟิศเมทก็สามารถนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ออฟฟิศเมทยังมีการสร้างแบรนด์ลอยัลตี้ไปสู่กลุ่มนักศึกษาซึ่งจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางธุรกิจในอนาคตภายใต้โครงการ OfficeMate Working Campus ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาฝึกงาน พร้อมกับมีรายได้ให้ระหว่างฝึกงาน ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้จะมีการพูดปากต่อปากไปสู่กลุ่มเพื่อน และจะทำให้ความเข้าใจในธุรกิจบนแคตตาลอกและการสั่งซื้ออินเทอร์เน็ตเป็นที่รู้จักของตลาดเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจในอนาคต
ปัจจุบันออฟฟิศเมทมีสัดส่วนรายได้จากแคตตาลอก 85% และจากคำสั่งซื้อออนไลน์อีก 15% ในขณะที่ระบบการสั่งซื้อในต่างประเทศกว่า 50% เป็นการสั่งซื้อออนไลน์ โดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งมีความเข้าใจและคุ้นเคยกับระบบดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่สำหรับตลาดเมืองไทยยังต้องมีการเอดดูเคตให้ลูกค้ารับรู้อีกมาก
อย่างไรก็ดีเนื่องจากตลาดเมืองไทยยังมีกลุ่มลุกค้าต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นรายเล็กรายใหญ่ ดังนั้นออฟฟิศเมทจึงมีการปรับปรุงเว็บไซต์ให้เป็นแบบ 2 ภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อรองรับลูกค้าต่างชาติที่มาทำธุรกิจในไทย ซึ่งถือว่ามีอยู่มาก ทว่ายังไม่มีรายใดโฟกัสไปสู่ตลาดดังกล่าวอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ปัจจุบันตลาดเครื่องเขียนเครื่องใช้สำนักงานมีผู้เล่นหลัก 3 รายคือออฟฟิศเมท, ออฟฟิศ ดีโป และออฟฟิศ เซ็นเตอร์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากแม็คโครออฟฟิศ โดย 2 รายหลังจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาหน้าร้านมากกว่า ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 รายมีจำนวนสาขาไล่เลี่ยกันคือประมาณ 20 สาขา ซึ่งนอกจากจะทำตลาดกับฝ่ายจัดซื้อแล้วยังมีการปรับหน้าร้านเพื่อเจาะตลาดขายปลีกไปสู่โฮมยูสและนักเรียน นักศึกษา
ทว่าการเจาะตลาดองค์กรของออฟฟิศเมทก็มีอุปสรรคหลายประการ นอกจากจะเป็นรูปแบบใหม่สำหรับตลาดเมืองไทยแม้ว่าจะทำตลาดมานาน 13 ปีแล้วก็ตาม อีกประการคือจะไม่ได้รับคำสั่งซื้อจากฝ่ายจัดซื้อที่ต้องการเงินใต้โต๊ะ เนื่องจากระบบการตลาดโดยตรงทำให้มีหลักฐานทุกขั้นตอน ฝ่ายจัดซื้อที่คิดทุจริตไม่สามารถหาช่องว่างได้
ดังนั้นเพื่อขจัดอุปสรรคดังกล่าว ออฟฟิศเมทจึงทุ่มงบกว่า 150 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาระบบไอทีบนอินเตอร์เน็ตเพื่อให้การจัดซื้อแบบ e-Procurement มีประสิทธิภาพ พร้อมกับการสื่อสารไปสู่ผู้บริหารองค์กรเพื่อให้งานสั่งซื้อเครื่องใช้สำนักงานเป็นระบบโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนทางเอกสารหรือเป็น paperless ซึ่งการสั่งซื้อทางแคตตาลอกหรือการสั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตล้วนทำให้ลูกค้าองค์กรประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเดินทางไปเจรจาสั่งซื้อสินค้า
นอกจากการบริหารช่องทางและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแล้ว ออฟฟิศเมทยังมีการโฟกัสสินค้าเฮาส์เนื่องจากเป็นสินค้าที่สามารถสร้างกำไรได้ดีกว่าสินค้าแบรนด์เนม 10-15% โดยปัจจุบันออฟฟิศเมทมีสินค้าเฮาส์แบรนด์กว่า 1,000 รายการ สร้างรายได้ให้บริษัทคิดเป็นสัดส่วน 10% โดยบริษัทจะเพิ่มเป็น 15% ในปีนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|