เศรษฐกิจปีชวดฝืด ควรเก็บออมมากกว่าใช้


ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 มกราคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลการสำรวจออนไลน์ของผู้บริโภคจำนวนกว่า 26,312 คนจาก 48 ประเทศทั้งในทวีปยุโรป เอเชียแปซิฟิค อเมริกาเหนือ และ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง ชิ้นล่าสุดของนีลเส็น ผู้นำด้านการวิจัยทางการตลาดและข้อมูลชั้นนำของโลก พบว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวไทยยังคงอยู่ที่ระดับเดิมจากการสำรวจ เมื่อเทียบจากผลสำรวจในรอบหกเดือนที่ผ่านมา พบผู้บริโภคชาวไทยมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ กว่าครึ่งยังคงรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจกับโอกาสในด้านการงาน และเกือบครึ่งวิตกกับสถานะทางการเงินของตนเองในปีหน้า ส่งผลให้ชาวไทยส่วนใหญ่ต้องการออมเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ขณะที่ค่าเฉลี่ยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกยังคงตกลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจากระดับ 99 โดยเฉพาะในรอบเดือนพฤศจิกายนในปี 2549 ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 97 ขณะที่ในเดือนพฤษภาคมปี 2550 กลับลดลงอีกครั้งไปที่ระดับ 94 และผลสำรวจครั้งล่าสุดในรอบเดือนพฤศจิกายนในปี 2550 ที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคทั่วโลกร้อยละ 28 คาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในปีนี้ ส่งผลให้ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคใน 21 ประเทศ จาก 48 ประเทศลดลง

ผู้บริโภคชาวไทยติดลำดับแรกของโลกด้วยจำนวนคน 51% คาดว่าว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในปีนี้ รองลงมาคือไต้หวัน 47% และอิตาลี 45% ตามลำดับ( ตารางที่1)ประเทศนอร์เวย์ติดอันดับแรกของโลกที่พบผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นสูงสุดด้วยคะแนน 135 รองลำดับสองได้แก่ อินเดีย 133 และลำดับสามได้แก่ เดนมาร์ก 124

นอกจากอินเดีย ประเทศในกลุ่มเอเชีย แปซิฟิค อาทิ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ฮ่องกง เวียดนาม นิวซีแลนด์และ สิงคโปร์ จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นติดในสิบลำดับแรกของโลก โดยพบระดับความเชื่อมั่นของอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ทวีปเอเชีย แปซิฟิคเป็นทวีปที่มีความเชื่อมั่นสูงสุดในโลก

“ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐฯที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2549 ภายใต้ปัจจัยที่บ่งขี้ในทางลบเกี่ยวกับเศรษฐกิจหลายประการ เช่น การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ค่าเงินดอลล่าร์ที่อ่อนตัว ราคาน้ำมันขึ้น และภาวะวิกฤตในตลาดสินเชื่อซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้นนั้น ในฐานะผู้นำเศรษฐกิจของโลกของสหรัฐฯ สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่ไม่ดีนี้ได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในส่วนต่างๆของโลกและมีผลต่อความรู้สึกในเชิงลบของผู้บริโภคทุกๆแห่ง รวมทั้งประเทศไทย” จันทิรา ลือสกุล กรรมการผู้จัดการ นีลเส็น กล่าว

คนไทยกว่าครึ่งกังวลเรื่อง “งานกับเงิน”

เมื่อสอบถามความคิดเห็นและความรู้สึกของผู้บริโภคชาวไทยเกี่ยวกับโอกาสในด้านการงาน และสถานะทางการเงินของตนในอีกสิบสองเดือนข้างหน้า ผู้บริโภคชาวไทยยังคงแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในระดับใกล้เคียงจากการสำรวจในรอบหกเดือนที่ผ่านมาว่า พบผู้บริโภคชาวไทยร้อยละ 64 ยังคงรู้สึกว่าโอกาสในด้านการงาน “ไม่ค่อยดี” และ “ไม่ดี” นอกจากนี้ยังพบว่าเกือบครึ่งของผู้บริโภคชาวไทยประมาณกว่า 44% มีความกังวลในด้านสถานะทางการเงินของตนในปีหน้า

มุ่งเน้นการออมเป็นหลัก

ผู้บริโภคชาวไทยร้อยละ 66% เชื่อว่าขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการซื้อสินค้าที่ตนต้องการในอีก 12 เดือนข้างหน้า ประเทศไทยยังคงติดในลำดับที่สามของโลกที่มีจำนวนนักออมมากถึง 64% ที่มีความประสงค์จะเก็บเงินในส่วนที่เหลือเพื่อเก็บออมหลังจากใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต หลังจากที่เคยครองแชมป์อันดับที่หนึ่งของโลกต่อเนื่องกันถึงสามครั้งในการสำรวจที่ผ่านมา โดยการสำรวจครั้งนี้พบชาวอินโดนีนีเซีย และสิงคโปร์อยู่ในระดับที่ 65% เท่ากัน ถูกจัดให้อยู่ในลำดับแรกและอันดับสองของโลก ขณะที่ผู้บริโภคชาวไทยเพียง 6% กล่าวว่าพวกเขาไม่มีเงินเหลือเก็บเลย

นอกจากความตั้งใจที่จะออมเงินแล้ว การใช้จ่ายทางด้านการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจ ยังคงเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคชาวไทยนิยมในการใช้จ่ายถึงร้อยละ 50 รองลงมาคือ สินค้าทางด้านเทคโนโลยี่ 38% และความต้องการซื้อเสื้อผ้าใหม่ประมาณ 30% ตามลำดับ

กรรมการผู้จัดการ นีลเส็น กล่าวเสริมว่า ผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงผู้บริโภคชาวไทยระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย โดยจะเห็นได้จากความพร้อมในการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงของผู้บริโภคใน 26 ประเทศ จาก 48 ประเทศที่เราทำการสำรวจ เมื่อเทียบจากผลสำรวจเมื่อหกเดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญต่อกลุ่มผู้ค้าปลีก ที่ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการดึงดูดผู้บริโภคให้จับจ่ายใช้สอยในปีนี้

ไทยวิตกปัญหาเศรษฐกิจมากที่สุด

ว่ากันว่าผู้บริโภคชาวไทยติดอยู่ใน5ประเทศแรกของโลกเมื่อพิจารณาถึงความวิตกกังวลทางด้านเศรษฐกิจในอีกหกเดือนข้างหน้า โดยพบผู้บริโภคจำนวน 68% กังวลกับปัญหาในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นจาก 59% และจากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่าปัจจัยที่กังวลมากที่สุดในสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำก็คือ ความไม่มั่นคงทางด้านการเมือง 47% ปัญหาการว่างงาน 43% และภาวะเงินเฟ้อ 28%

ขณะที่ไต้หวันร้อยละ 74 จัดอยู่ในอันแรกของโลกที่วิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจมากที่สุด รองลงมาคือประเทศจีน 71% โดยจะพบว่า 7 ใน 10 ประเทศที่มีความกังวลต่อเรื่องดังกล่าวมากที่สุดคือประเทศในกลุ่มเอเชีย แปซิฟิค (ตารางที่2 )

ในทวีปเอเชีย แปซิฟิค ประเทศที่กังวลกับเรื่องสุขภาพมากที่สุดได้แก่ จีน 63% ฮ่องกง 49% และเวียดนาม 48% นอกจากนี้ประเทศที่กังวลกับเรื่องโอกาสด้านการงานมากที่สุดได้แก่ เวียดนามทีมีสูงถึง 58% เกาหลีใต้ 54% และฟิลิปปินส์ 47%

ส่วนผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นน้อยที่สุดส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศในแถบยุโรป โดยมีประเทศในแถบเอเชีย แปซิฟิค ได้แก่ เกาลีใต้ 54 ญี่ปุ่น 59 และไต้หวัน 69 ที่มีความเชื่อมั่นในระดับที่ต่ำ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในญี่ปุ่น และไต้หวัน ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.