|
ผ่าธุรกิจ “สวนสนุก”...ไม่มีวันตาย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ช่วงปีที่ผ่านมาธุรกิจสวนสนุกเมืองไทยมีเม็ดเงินที่แพร่สะพัดไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทโดยเฉพาะยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 เห็นอย่างนี้หากเป็นผู้ประกอบการคงยากที่จะตัดสินใจขายกิจการในภาวะการณ์แข่งขันที่มีอัตราการยอดรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในทางกลับกันธุรกิจสวนสนุกน่าจะส่งผลให้เป็นแม่เหล็กตัวสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้ประกอบการพร้อมจะกระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ และพร้อมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขยายตัวเติบโตไปในทิศทางที่สูงขึ้นด้วยซ้ำ
ปัจจุบันตลาดสวนสนุกในเมืองไทยจึงมีให้เห็นเพียงแบรนด์ใหญ่ๆไม่กี่ค่ายที่เปิดให้บริการและสามารถสร้างจุดขายให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งแต่ละค่ายต่างมีจุดขายที่ต่างกันไม่ว่าจะเป็น ดรีมเวิล์ด ซึ่งนับว่าเป็นจ้าวตลาดเครื่องเล่นเนื่องจากมีเครื่องเล่นจำนวนมากที่เปิดให้บริการและสร้างเมืองหิมะแห่งแรกในเมืองไทยไว้รองรับตลาดที่ยังไม่เคยสัมผัสหิมะ ส่งผลให้ในทุกๆปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปใช้บริการสวนสนุกดรีมเวิล์ดประมาณกว่า 2 ล้านคน แม้ว่าในปี 2008 จะเพิ่มเครื่องเล่นใหม่เข้ามาให้บริการไม่มากนักก็ตาม แต่เชื่อได้ว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ที่สำคัญของการบริหารจัดการจะหยิบช่วงเวลาของเทศกาลต่างๆเข้ามาใช้เป็นกลยุทธ์ด้วยการออกโปรโมชั่นร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้าไปใช้บริการ
ขณะที่สวนสยาม ยังคงใช้ ทะเลกรุงเทพ มาเป็นจุดขาย แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องของเครื่องเล่นเก่าชำรุดจนทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นก็ตาม แต่ทว่าสวนสยามก็ยังพยายามปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมดให้เป็นธุรกิจสวนสนุกครบวงจรโดยมีการนำเครื่องเล่นตัวใหม่เข้ามาเปิดให้บริการในช่วยปลายปี 50 ที่ผ่านมา และมีแผนงานที่จะขยายตัวทางธุรกิจให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจสวนสนุกครบวงจรเสียด้วยซ้ำ แต่ความพยายามครั้งนี้คงจะสูญเปล่าเพราะผู้ก่อตั้งและบริหารสวนสยามมากว่า 26 ปี อย่างชัยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ กลับถอดใจเอาง่ายๆพร้อมกับประกาศขายทิ้งสวนสยาม
ด้วยราคาทั้งพื้นที่และเครื่องเล่นที่ถูกตีมูลค่ากว่า 5,500 ล้านบาทของเสี่ยชัยวัฒน์ กลายเป็นคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบ แม้ว่าจะมีกลุ่มผู้สนใจทั้งคนไทยและต่างชาติยื่นข้อเสนอมาบ้างก็ตาม ซึ่งไม่มีใครรู้ได้ว่าภายใต้เงื่อนไขที่ถูกกำหนดอาจจะเป็นข้อจำกัดที่ใช้ยืดเวลาให้ธุรกิจสวนสยามดำเนินการต่อไปได้เพียงเพื่อหวังให้ลดกระแสข่าวด้านลบให้เบาบางลงไป ซึ่งเชื่อได้ว่ามูลค่าเม็ดเงินกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าแทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขายทิ้งกิจการเสียด้วยซ้ำ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจสวนสนุกแทบจะไม่มีกับ ซาฟารีเวิล์ด เลยเพราะจุดยืนหลักๆที่สำคัญของซาฟารีเวิล์ดคือการผันตัวเองไปจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสัตว์นานาชนิดทั้งบนบกและในน้ำแทนการนำเครื่องเล่นมาเป็นจุดขาย สร้างสีสันและความแปลกใหม่ให้น่าสนใจ ฉีกตลาดธุรกิจสวนสนุกไปอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้ยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแถบเอเชีย อาทิ จีน ไต้หวัน เป็นต้น
ปัจจุบันกระแสความต้องการของกลุ่มตลาดที่ชอบความท้าทายและความสนุกตื่นเต้นบนเครื่องเล่นแปลกใหม่จำนวนไม่น้อยเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่การแข่งขันทั้งผู้ประกอบการรายเก่าและรายใหม่เพื่อแย่งชิงตลาดธุรกิจสวนสนุกต่างเข้มข้นขึ้น ล่าสุดน้องใหม่ที่กำลังมาแรงจากค่าย พัทยาปาร์ค ภายใต้ชื่อ วันเดอร์เวิล์ด ก็แต่งตัวเสร็จสรรพเปิดให้บริการเครื่องเล่นพร้อมประกาศขอแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด
เป็นที่สังเกตว่าแต่ละค่ายแบรนด์ในธุรกิจสวนสนุกจะสร้างความโดดเด่นเฉพาะตัวขึ้นมา เพื่อต้องการที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายทั้งขาจรและขาประจำให้ได้มากที่สุด แน่นอนการสร้างกิจกรรมใหม่ๆหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนใจจึงกลายเป็นยุทธวิธีที่จะถูกนำมาใช้มากที่สุดสำหรับธุรกิจบริการแบบนี้ รวมไปถึงกลยุทธ์ของแต่ละค่ายจึงจำเป็นต้องฉีกหนีคู่แข่งให้ได้มากที่สุดเช่นกัน
ไม่เว้นแม้แต่ห้างสรรพสินค้าค่ายใหญ่ๆ อย่าง เดอะมอลล์กรุ๊ป ที่ให้ความสนใจลงทุนเนรมิตพื้นที่บางส่วนภายในห้างสรรพสินค้าให้กลายเป็นสวนน้ำ-สวนสนุก หวังใช้เป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อรองรับสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการแม้ว่ายอดผู้ใช้บริการในแต่ละวันจะมีไม่เท่ากับสวนสนุกค่ายใหญ่ๆที่เปิดให้บริการก็ตาม
แต่ทว่า ปัจจุบันธุรกิจสวนสนุกในเมืองไทยกำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษถึงความไม่ปลอดภัยในเครื่องเล่นต่างๆที่เปิดให้บริการ จากสถิติช่วงปีที่ผ่านมา เครื่องเล่นภายในสวนสนุกจะเป็นจุดขายที่สร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปสัมผัส แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเครื่องเล่นก็จะส่งผลเพียงระยะสั้นๆเท่านั้นไม่นานก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ
หรือแม้แต่ ดรีมเวิล์ด ที่ยึดเครื่องเล่นเป็นจุดขายหลักและไม่มีอุบัติเหตุใหญ่โตเกิดขึ้นก็ตาม ในทุกๆปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปใช้บริการสวนสนุกดรีมเวิล์ดประมาณ 2 ล้านกว่าคน แต่สำหรับปี 2008 นี้ มีการนำเครื่องเล่นชนิดใหม่เข้ามาให้บริการเช่นกัน ซึ่ง ผู้บริหารของ ดรีมเวิล์ด ก็เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจสวนสนุกโดยเฉพาะการใช้เครื่องเล่นเป็นจุดขายอย่างดรีมเวิล์ด ก็อาจจะมีผลกระทบบ้างในระยะสั้นๆ เช่นกัน
แน่นอนการวางเป้ายอดตัวเลขนักท่องเที่ยวที่กลุ่มดรีมเวิล์ดวาดหวังไว้ในตอนแรกตลอดทั้งปี 2008 จึงไม่น่าจะเพิ่มขึ้นถึง 10% อย่างน้อยตัวเลขก็ไม่น่าลดลงมากนัก
ไม่ต่างอะไรไปจากแผนงานเดิมของสวนสยามที่ถูกปิดตายเพราะบอสใหญ่ประกาศขายกิจการทั้งหมดผ่านสื่อ แม้ว่าในแต่ละวันก่อนเกิดเหตุจะมีนักท่องเที่ยวในวันธรรมดาไม่ต่ำกว่า 1,000 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 2,000-3,000 คนต่อวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
ขณะที่ผู้บริหารสวนสยามเคยฝันไว้ว่าปี 2008 จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันคนต่อวันธรรมดาและ 5 พันถึง 1 หมื่นคนในวันหยุด โดยหวังว่าต่างชาติน่าจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 10% เป็น 30% แต่ยอดตัวเลขดังกล่างคงจะทำไม่ง่ายอย่างที่คิด หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำถึงสองครั้งในช่วงระยะเวลาแค่ 3 เดือนและเกิดจากเครื่องเล่นแทบทั้งสิ้นแถมยังเป็นจุดขายไฮไลต์ของสวนสยามอีกด้วย
ก่อนอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นการตัดสินใจของชัยวัฒน์ ที่ใช้เงินทุ่มทุนกว่า 1,500 ล้านบาทเพื่อนำเครื่องเล่นตัวใหม่เข้ามาให้บริการพร้อมกับเนรมิตรสร้างบ้านผีสิงขึ้นมาเพื่อเจาะกลุ่มตลาดวัยรุ่นรวมถึงการสร้างศูนย์บันเทิงแบบครบวงจร “สยามซิตี้วอล์ค” รวมไปถึงการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของธุรกิจของสวนสยาม เพื่อเข้าสู่เส้นทางธุรกิจสวนสนุกครบวงจรและก้าวสู่ในระดับสากลจึงถูกดับฝันในที่สุด!
อย่างไรก็ตามการออกมาตรวจสอบมาตรฐานความพร้อมของเครื่องเล่นในสวนสนุกจากหน่วยงานทั้งภาครัฐที่ถูกทางกรุงเทพมหานครออกตรวจสภาพเครื่องเล่นชนิดรายวัน และพบว่า มีหลายแห่งที่ขาดมาตรฐานในการให้บริการ แถมยังเปิดให้บริการโดยไม่ได้ขออนุญาตอีกจำนวนมาก
แน่นอนที่สุดสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคงจะหนีไม่พ้นเรื่องของความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยซึ่งจะส่งผลไปถึงจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2008 อาจจะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|