|
สุวิทย์ทิ้งทวนดันขายหุ้นทีแอลเอ็มผู้บริหารยันล้างขาดทุนสะสมปี53
ผู้จัดการรายวัน(21 มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
“สุวิทย์” ฟันทีแอลเอ็ม ทิ้งทวนอำลาตำแหน่ง เตรียมเสนอ ค.ร.ม.ขอมติขายหุ้น ภายในเดือนนี้ เชื่อ การตัดสินใจทิ้งบริษัทดังกล่าว จะต้องทันในรัฐบาลขิงแก่ ด้าน ซีอีโอ ทีแอลเอ็ม ระบุ ธุรกิจลองสเตย์ รัฐบาลต้องมีส่วนร่วม เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ ยันแผนธุรกิจฉบับใหม่ จะนำองค์กรพ้นขาดทุนสะสมได้ในปี 2553 โดยไม่ต้องเพิ่มทุน
ร.ท.สุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้เตรียมนำเรื่อง ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ขายหุ้น บริษัท ไทยจัดการลองสเตย์ จำกัด(ทีแอลเอ็ม) เสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) ให้ทันภายในเดือนมกราคมศกนี้ โดยอาจเป็นสัปดาห์นี้ หรือสัปดาห์หน้า ขึ้นอยู่กับว่าที่ประชุม ค.ร.ม. ที่วาระพิจารณามาน้อยเพียงใด แต่มั่นใจว่า การพิจารณาขายหุ้นทีแอลเอ็ม จะเสนอค.ร.ม.ได้ทันในรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน โดยกระทรวงฯยังยืนยันตามที่ คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผล(ค.ต.ป.) ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ททท.ควรที่จะขายหุ้นจากบริษัทดังกล่าวนี้เสีย เพราะไม่คุ้มค่าในการลงทุน ไม่ใช่ภารกิจหลักของ ททท. และเพื่อให้เกิดการแข่งขันแบบเสรี โดยมี ททท.เป็นหน่วยงานด้านการส่งเสริมสนับสนุนเท่านั้น
“ที่ต้องขอมติ ค.ร.ม.เพื่อขายหุ้น ทีแอลเอ็ม เพราะ บริษัทดังกล่าว จัดตั้งขึ้นตามมติ ค.ร.ม. เมื่อปี 4 ปีก่อน ดังนั้นเมื่อจะขายหุ้นก็ต้องขอความเห็นชอบจาก ค.ร.ม.เช่นกัน “
ทั้งนี้ ททท. ถือหุ้นในบริษัท ทีแอลเอ็ม สัดส่วน 30% จากทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท หาก ค.ร.ม. เห็นชอบให้ ททท. ขายหุ้นได้ ก็จะเริ่มดำเนินการทันที ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันมูลค่าหุ้นของ ทีแอลเอ็ม ลดน้อยลงมาก ก็ต้องทำใจยอมรับให้ได้ เพราะหากฝืนดำเนินงานต่อไป รัฐก็จะขาดทุนมากกว่านี้ แต่หากไม่มีผู้ใดสนใจซื้อ ก็ต้องมาพิจารณากันต่อไป โดย ททท.ไม่สามารถถอนหุ้นออกมาเลยได้ ต้องมีผู้มารับซื้อเท่านั้น
ทางด้านนางปิยาพัชร สุบรรณ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยจัดการลองสเตย์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทได้ปรับลดขนาดองค์กร เหลือพนักงานเพียง 22 คน ทั้งฝ่ายขาย การตลาด และพนักงานต้อนรับที่สนามบิน ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานต่อเดือนไม่มาก และอัตราเงินเดือนของพนักงานทีแอลเอ็ม ก็ไม่สูงเท่ากับ ของ อีลิทการ์ด
นอกจากนั้นยังได้จัดทำแผนธุรกิจ 5 ปี (พ.ศ.2551-2555) ซึ่งได้ยื่นเสนอต่อ ร.ท. สุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ,ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว และ ททท. รวม 3 ฉบับ ซึ่งขณะนี้ บริษัทฯก็ใช้แผนดังกล่าว และมั่นใจว่าภายในปี 2553 บริษัทจะสามารถล้างขาดทุนสะสมซึ่งมีประมาณกว่า 60 ล้านบาทได้หมด และเมื่อสิ้นสุดแผนงานในปี 2555 บริษัทจะมีกำไรกว่า 47 ล้านบาท
ทั้งนี้บริษัท ยังเห็นความสำคัญว่า การทำธุรกิจในรูปแบบของทีแอลเอ็มนี้ จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะการที่รัฐคือ ททท. เข้ามาถือหุ้นใน ทีแอลเอ็ม ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นสมาชิก เนื่องจากผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หากตัดสินใจจะไปพำนักอยู่ประเทศใด จะเพื่อหนีความหนาวเย็น หรือการเข้ามารักษาสุขภาพ ต้องการได้รับความมั่นใจว่า รัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะให้การรับรองเป็นอย่างดี เขาต้องมีความปลอดภัย และได้รับการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบิน ด้วยระบบฟาสต์แทร็ก และการได้วีซ่า 1 ปี เป็นต้น ซึ่งประเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์ รัฐบาลเขาลงทุนให้ 100% ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ รัฐก็ลงทุนให้ทั้งหมด ทำให้ตลาดผู้สูงอายุจากประเทศญี่ปุ่นเข้าไปใช้บริการ เพราะเขาเกิดความเชื่อมั่น
“เงิน 30 ล้านบาท ที่ ททท.ลงทุนเข้ามา ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท เฉลี่ยแล้วเป็นเงินเพียงปีละ 6 ล้านบาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆของ ททท. และในวันนี้ ทีแอลเอ็ม แผนธุรกิจใหม่ของ ทีแอลเอ็ม ก็สามารถหารายได้มาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรในแต่ละเดือนได้ และจะเห็นว่า ในแผนธุรกิจดังกล่าว ไม่ได้มีการขอเพิ่มทุนแต่อย่างใด จึงไม่เชื่อว่าจะทำให้รัฐเสียรายได้” นางปิยาพัชรกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|