คมเฉือนคม หรือมีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

เรื่องนี้ก็คงจะเป็นควันหลงอีกแง่มุมหนึ่งเกี่ยวกับเครื่องไอบีเอ็มพีซี รุ่นเอที

เอทีเป็นเครื่องพีซีที่ไอบีเอ็มบริษัทแม่ประกาศนำเข้าตลาดมานานพอสมควรแล้ว

เพียงแต่ไอบีเอ็มประเทศไทยยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว ถ้าว่ากันตามธรรมเนียมที่เคยยึดถือปฏิบัติแล้วก็จะต้องรอให้ไอบีเอ็มประเทศไทยประกาศก่อน เอที จึงจะวางขายในตลาดบ้านเราได้

แต่เผอิญที่นี่เป็นประเทศไทย เมืองที่เอากฎเกณฑ์อะไรมากนักไม่ค่อยได้

เครื่องเอทีก็เลยถูกนำเข้ามาขายนานหลายเดือนแล้ว

การเข้ามาของเครื่องเอทีนั้นจะว่าไปก็เหมือนกับการตบหน้าไอบีเอ็มประเทศไทย เพราะฉะนั้นถ้ามีใครไปถามไอบีเอ็มก่อนหน้านี้สักเดือนสองเดือน ไอบีเอ็มก็จะยืนยันเสียงแข็งว่ายังไม่มีเครื่องรุ่นเอทีเข้ามาในเมืองไทยจนกว่าไอบีเอ็มประเทศไทย จะเป็นผู้นำมาเองเท่านั้น

คนปากเสียบางคนก็เลยต้องสวนกลับไปว่า เอทีนั้นใครๆ ก็มีแล้วยกเว้นไอบีเอ็มประเทศไทยคนเดียว ทั้งที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์อยู่โดยตรง

ในช่วงเดือนมีนาคม 2528 ที่มีนิทรรศการคอมพิวเตอร์ไทยที่เซ็นทรัลพลาซ่า ก็มีผู้ขายคอมพิวเตอร์บางรายนำเครื่องเอทีไปตั้งโชว์ให้ผู้สนใจชม แถมบางรายที่ว่านี้ยังไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายไอบีเอ็มพีซีที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้องเป็นทางการอีกด้วย

แต่ดูเหมือนจะตั้งโชว์ได้ไม่ทันข้ามวันก็ต้องยกเครื่องเก็บ เพราะคนของไอบีเอ็มแอบกระซิบด้วยน้ำเสียงลอดไรฟันว่า ทำแบบนี้ออกจะเกินไปหน่อย ขนาดไอบีเอ็มประเทศไทยเองแท้ๆ ยังไม่มีเอทีมาตั้งโชว์เลย

และจากพฤติกรรมดังกล่าวนี่เองที่แหล่งข่าวระดับสูงในวงการคอมพิวเตอร์แย้มๆ ให้ฟังว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไอบีเอ็มประเทศไทยตัดสินใจไม่แต่งตั้งผู้ขายคอมพิวเตอร์รายนั้นเป็นตัวแทนจำหน่ายไอบีเอ็มพีซีโทษฐานที่ทำข้ามหน้าข้ามตาไอบีเอ็มดีนัก

ว่ากันต่อมาว่า การเข้ามาของเครื่องเอทีนั้น ไอบีเอ็มประเทศไทยรู้อยู่เต็มอกว่าเป็นการนำเข้าที่ไม่ได้ผ่านบริษัทแม่ของไอบีเอ็ม หากแต่เป็นการซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายบางรายในยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษจะเป็นแหล่งใหญ่ที่สุด

ด้วยความเจ็บใจที่ต้องเสียหน้าบวกกับความตั้งใจที่จะทำลายพฤติการณ์ของผู้ที่ทำตัวเป็น “เกรย์ มาร์เก็ต” ให้หมดไป ไอบีเอ็มประเทศไทยก็เลยส่งสายสืบของตนออกไปเที่ยวสำรวจดูว่าเครื่องเอทีที่มีคนซื้อไปใช้อยู่นั้นมีหมายเลขเครื่องว่าอย่างไร?

อันว่าหมายเลขเครื่องนี้แต่ละเครื่องจะต่างกันเมื่อส่งไปที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของบริษัทแม่แล้ว มันจะตรวจสอบให้ทราบได้ทันทีว่าเป็นเครื่องที่ผลิตเมื่อเดือนไหนปีไหน ออกจากโรงงานแล้วส่งไปให้ตัวแทนจำหน่ายรายใดในประเทศอะไร เพราะฉะนั้นการได้หมายเลขเครื่องมาจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการที่จะลงโทษตัวแทนนจำหน่ายที่ส่งเครื่องเอทีเข้ามาขายในประเทศไทย แข่งกับไอบีเอ็มได้เป็นอย่างดี

ไอบีเอ็มประเทศไทยส่งหมายเลขเครื่องของเอทีไปตรวจสอบหลายหมายเลข

แต่ก็ไม่มีคำตอบออกมาจากคอมพิวเตอร์ของศูนย์

และต่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์มันตรวจสอบอีกร้อยเที่ยวพันเที่ยวก็จะยังไม่ได้คำตอบอยู่ดี

เนื่องจากหมายเลขเครื่องเอทีทุกเครื่องนั้น เมื่อมาถึงมือผู้ขายคนไทย ผู้ขายหัวใสทั้งหลายก็จัดแจงลบหมายเลขเก่าออก แล้วก็ใส่หมายเลขใหม่เข้าไป สุดแท้แต่จะนึกว่าควรเป็นตัวเลขอะไรบ้าง ให้มันมั่วๆ เข้าไว้เป็นใช้ได้

ลงอีหรอบนี้แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์ของศูนย์ซึ่งถูกโปรแกรมไว้มันจะเอาตัวเลขมั่วๆ อย่างนั้นไปตรัสรู้หาคำตอบออกมาได้อย่างไรกันเล่า!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.