|

ส่องท่องเที่ยว'ปี51...ผู้ประกอบการหืดจับ!
ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ทิศทางท่องเที่ยวไทยปี2008 แม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีอีเว้นท์ใหญ่เป็นจุดขายเหมือนปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่สถานการณ์ท่องเที่ยวก็ส่อแววสดใสเนื่องจากมีปัจจัยบวกเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ที่จะส่งผลเสริมให้เป็นปัจจัยบวกชี้ทิศทางท่องเที่ยวในปีนี้ มีแนวโน้มจะไปได้สวย
ขณะเดียวกันความชัดเจนจากสถานการณ์ท่องเที่ยวช่วงไฮน์ซีซันพบว่า มียอดอัตราการจองห้องพักในเมืองท่องเที่ยวหลักต่างๆ ล่วงหน้าเข้ามาสูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะยอดการจองห้องพักของโรงแรมต่างๆบริเวณฝั่งอันดามัน ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวจุดขายหลัก โดยจากการสำรวจล่าสุดในเดือนธันวาคม 2550 พบว่ามียอดจองล่วงหน้าเข้ามาแล้วกว่า 70% และส่วนใหญ่เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงไฮน์ซีซัน จะมียอดการจองเข้าพักไม่ต่ำกว่า 90%ทีเดียว
ด้านการขยายตัวของจำนวนเที่ยวบินในช่วงไฮน์ซีซันนี้ก็มีสายการบินต่างๆขยายเที่ยวบินเพิ่ม เปิดจุดบินใหม่เข้าสู่ไทยหลายบริษัท รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 100 เที่ยวบิน อาทิ การเปิดจุดบินใหม่ของแอร์ซีเชลส์ การเปิดบินตรงเข้าเชียงใหม่ของโคเรียน แอร์ การเปิดบินของสายการบินแอลทียู เป็นต้น รวมทั้งการขยายเส้นทางบินของสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งรูปแบบไม่ได้จำกัดเฉพาะเส้นทางที่ทำการบินภายในภูมิภาคนี้เท่านั้น เพราะปีนี้เป็นปีที่โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ หลายสายมองยุทธศาสตร์การขยายเที่ยวบิน ในลักษณะข้ามทวีป เช่น แอร์เอเชีย เอ็กซ์ รุกสู่การเปิดจุดบินเชื่อมยุโรปและเอเชียของสายการบินเจ็ทสตาร์ เป็นต้น
แม้แต่การขยายตัวของโรงแรมใหม่ในปีหน้า มีการดึงเชนจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก นับเป็นการเปิดตลาดให้คนต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้น
หลากหลายปัจจัยต่างๆดังกล่าวส่งผลให้แนวโน้มท่องเที่ยวไทยในปี 2008 คาดว่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่หัวเมืองหลักของการท่องเที่ยวยอดฮิตในปีนี้ จากการสำรวจตลาดของภาคเอกชนพบว่าการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันเป็นที่นิยมและถือเป็นปีทองของการท่องเที่ยวอีกปีหนึ่ง หลังจากโดนมรสุมต่างๆจากผลพวงของสึนามิมาหลายปี เห็นได้จากมีการลงทุนสร้างโรงแรมใหม่ๆเพิ่มขึ้น และมีการเพิ่มเที่ยวบินเข้าสู่ภูเก็ตมากขึ้น รวมไปถึงเขาหลักมีโรงแรมใหม่ผุดขึ้นมาจำนวนมาก คาดว่าจะมีโรงแรมให้บริการอยู่ไม่ต่ำกว่า 4,200 ห้อง นับเป็นผลดีต่อภาพรวมการท่องเที่ยวของไทย เพราะเป็นโซนที่ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวมากสุดในระดับหลักแสนล้านบาททีเดียว
สอดคล้องกับที่สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัด ภูเก็ต เผยว่า ช่วงไฮน์ซีซันของภูเก็ตมีอัตราการการเติบโตสูงกว่าปีที่ผ่านมา 20-30% ขณะนี้โรงแรมส่วนใหญ่มียอดจองล่วงหน้าช่วงไฮน์ซีซันเข้ามาแล้วกว่า 70% และเชื่อว่าเมื่อถึงช่วงไฮน์ซีซัน จะมียอดจองห้องพักจนล้น ไม่เพียงพอต่อการรองรับ และทำให้นักท่องเที่ยวต้องกระจายการเข้าพักไปยังโรงแรมอื่นๆ เช่น เขาหลัก จ.พังงา
แม้แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานภาคใต้เขต4 จ.ภูเก็ต ยังยอมรับว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวภูเก็ตปีนี้ถือว่าดีมาก และจากการประเมินสถานการณ์คาดว่าห้องพักในภูเก็ตจำนวนกว่า 3.6 หมื่นจะมีการจองเกือบเต็มในช่วงไฮน์ซีซัน และจะล้นไปยังจังหวัดกระบี่และพังงาด้วย ขณะที่จำนวนเที่ยวบินเข้าภูเก็ต(เที่ยวบินปกติและชาร์เตอร์ไฟล์ตรวมถึงการเพิ่มเที่ยวบิน)ในช่วงไฮซีซันนี้ พบว่ามีจำนวน 557 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากเดิมจำนวน 445 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 25% แบ่งเป็นเที่ยวบินต่างประเทศจำนวน 287 เที่ยวบินและเที่ยวบินในประเทศจำนวน 270 เที่ยวบิน
อย่างไรก็ตามแม้การท่องเที่ยวไทยในปีนี้จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่สำหรับการแข่งขันในด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการธุรกิจคงต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการแย่งชิงตลาดท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ และการแข่งขันของภาคธุรกิจด้วยกันเอง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่นับว่าปีนี้หืดขึ้นคอแน่ สืบเนื่องมาจากการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ยังมีอัตราการเติบโตสูง สอดคล้องกับทางองค์การการท่องเที่ยวโลก ที่คาดว่าเอเชียแปซิฟิค จะมีอัตราการเติบโตถึง 6.5% ไปจนถึงปี 2563 ขณะที่อัตราการเติบโตด้านการท่องเที่ยวในยุโรปและอเมริกาจะอยู่ที่ 2% เท่านั้น
ส่งผลให้หลายประเทศในแถบเอเซีย ทุ่มงบมหาศาลสำหรับการตลาดเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยว และส่งเสริมให้เอกชนเข้าไปลงทุนพัฒนาจุดขายใหม่ มูลค่าการลงทุนแต่ละโปรเจคนับแสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นโครงการเวเนเชียนในมาเก๊า หรือมารีน่า เบย์ ที่สิงคโปร์ เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวกว่า 200 ล้านคน
แต่สำหรับประเทศไทยยังคงไร้โครงการเมกกะโปรเจคด้านการท่องเที่ยวทั้งๆที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอยู่ในอันดับต้นๆ ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ยังคงใช้วิธีการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเดิมๆโดยอัดแคมเปญหลักในการส่งเสริมตลาดต่างประเทศที่ดึงแบรนด์ "อะเมซิ่งไทยแลนด์"กลับมาใช้ เหมือนเดิมเพราะเห็นว่าติดตลาด โดยนำเสนอจุดขาย "7 สินค้าอะเมซิ่ง วันเดอร์" มาโปรโมทการท่องเที่ยว
ทั้งๆที่ 7 สินค้าก็เป็นจุดขายเก่าที่มีอยู่แล้ว และไม่มีอิมแพ็คเพียงพอที่จะกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาเที่ยวไทยได้เพิ่มขึ้น เหมือนโครงการใหญ่ๆที่ถูกคู่แข่งขันประเทศรอบข้างหยิบนำมาใช้แถมยังได้ผลเกินคาด ส่งผลให้ททท.จำเป็นต้องแก้เกมการตลาดด้วยการหันไปดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงเข้ามา แต่จะมานั่งหวังยอดจำนวนนักท่องเที่ยวก็คงต้องใช้เวลา เพราะกลยุทธ์แบบนี้ต้องมีภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจังกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับในแวดวงการแข่งขันธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมดูจะเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะนอกจากจะมีโรงแรมใหม่พาเหรดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากแล้ว การลงทุนขยายธุรกิจของผู้ประกอบการที่หันมาลงทุนร่วมกับต่างชาติ กำลังถูกประเมินว่าในปี 2008 จะมีโรงแรมใหม่เกิดขึ้นรวมแล้วอีกไม่ต่ำกว่า 30 แห่งโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่จะทำให้เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย และอาจจะเป็นปัญหาของการตัดราคาและยิ่งตอกย้ำความเป็นแหล่งท่องเที่ยวราคาถูกของไทย อีกด้วย
นอกจากนี้จำนวนโรงแรมที่เพิ่มขึ้นยังเป็นช่องทางที่ทำให้การขยายตัวของธุรกิจโรงแรมเชนในไทยคึกคักมากขึ้น ซึ่งในปีนี้จะเห็นได้จากการขยายเครือข่ายการรับบริหารโรงแรมของเชนอินเตอร์ จะเน้นการนำแบรนด์ใหม่ๆเข้ามามากขึ้น เพื่อขยายฐานโรงแรมเข้าไปสู่โรงแรมในทุกระดับ ซึ่งโรงแรมใหม่ที่มีขยายตัวสูงมาก จะเป็นโรงแรมในระดับหรู 5 -6 ดาว เช่น เซนท์รีจิส และโรงแรมราคาประหยัด เช่นการใช้แบรนด์อีบิส ของกลุ่มเอราวัณ เป็นต้น
สำหรับการเติบโตของเชนอินเตอร์ครั้งนี้ ส่งผลให้เชนโรงแรมไทยต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นการทำรีแบรนด์ของเชนไทย อาทิ กลุ่มดุสิตธานี และกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งนับเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของเชนคนไทยที่ถูกรุกตลาดเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น และในอนาคตศักยภาพการบริหารจัดการโรงแรมในระดับกลางเชื่อได้ว่าน่าจะอยู่ในมือของเชนไทยมากกว่าที่จะมีโอกาสเข้าไปบริหารโรงแรมในระดับ 5 ดาว ด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้งเครือข่ายที่มีอยู่ไปทั่วโลกและการสร้างฐานการตลาดที่เข้มแข็งกว่าของเชนต่างประเทศนั่นเอง
7 สินค้าอะเมซิ่ง วันเดอร์
1.วิถีไทย "หัวใจแผ่นดิน" สื่อถึงวิถีชีวิตของคนไทย
2.มรดกแห่งแผ่นดินนำเสนอสินค้าด้านวัฒนธรรม
3.หลากหลายทะเลไทย ชูจุดขายความหลากหลายของทะเลไทยทั้งทะเลอันดามันและทะเลอ่าวไทย
4.ชีวิตร่วมสมัยความสุขใจที่แตกต่าง นำเสนอสินค้ากลุ่มบริการที่สอดคล้องตามกระแสนิยม อาทิ ร้านอาหาร ช๊อปปิ้งเซ็นเตอร์ บูติคโฮเต็ล
5.รักษ์ ห่วงใย ใส่ใจธรรมชาติ นำเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศอนุรักษ์ธรรมชาติ
6.สุขภาพนิยม สินค้าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาทิ สปา บริการทางการแพทย์
7.เทศกาลความสุข สีสันหรรษา จะเป็นกิจกรรมและเทศกาลท่องเที่ยวระดับโลกและระดับนานาชาติ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|