|
สลัดคราบ"กงสี"แลนด์ลอร์ด"อัสสกุล"ดันเรือเดินทะเล"ไทยสมุทรประกันชีวิต"
ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ทายาทคนโตตระกูล "อัสสกุล" เจ้าของธุรกิจ "ไทยสมุทรประกันชีวิต" เป็นกลุ่ม "แลนด์ลอร์ด" ระดับแถวหน้า และธุรกิจอีกนับไม่ถ้วน มักจะเปิดใจอย่างถ่อมตัวว่า มูลค่าทรัพย์สินทั้ง 3 ขาหลัก ไม่มากพอจะติดอันดับมหาเศรษฐีเมืองไทย บนหน้ากระดาน "ฟอร์บ" ขณะเดียวกัน ก็ไม่เคยต้องการ "เงินสดมหาศาล" เพื่อมาเก็บไว้ในบัญชีธนาคาร... แต่ถึงอย่างนั้น องค์กรที่บริหารด้วยระบบ "กงสี" ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองในรอบเกือบ 60 ปีเพื่อความอยู่รอด เพราะขนาดของ "เรือเดินทะเล" ที่เริ่มใหญ่ขึ้น กำลังสร้างแรงเฉื่อย ไม่คล่องตัว ถ้าจะต้องปะทะกับทุนจากโลกตะวันตก....
... " คุณพ่อซื้ออสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ไว้ทั่วประเทศ นี่จึงเป็น ความมั่นคงของบริษัทที่มี "มูลค่าแอบซ่อนอยู่"..."....
กีรติ อัสสกุล ประธานกรรมการบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต พี่ชายคนโตของ 3 พี่น้องตระกูล "อัสสกุล" กล่าวถึงธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ที่อาจถือเป็นกำลังหลัก ผลักดันความมั่นคงและมั่งคั่งให้กับ "ไทยสมุทรประกันชีวิต" มาโดยตลอด...
การบริหารงานในรูปแบบ "ไพรเวท คอมพานี" นับจากยุค "กงสี" เกือบ 60 ปีที่ก่อตั้งบริษัท เป็นการบริหารและถือหุ้นโดย ครอบครัว "อัสสกุล" ดังนั้นทุกอย่างจึงอยู่ในมือสมาชิกในครอบครัว ที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางและความเป็นไปของบริษัท
"อัสสกุล" มีธุรกิจในมือมากมาย แต่มีธุรกิจ 3 เสาหลักที่ค้ำยันให้ "อัสสกุล" ยังยืนหยัดอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง และยืนนาน นั่นคือ อสังหาริมทรัพย์ รวมถึง โรงแรม คอนโด บ้านเดี่ยว โรงเรียน ท่าเรือ อุตสาหกรรมส่งออก ที่รู้จักในนามโอเชี่ยนกลาส และไทยสมุทรประกันชีวิต
ทายาทคนโตอัสสกุล เจเนอเรชั่นนี้ ยังคงถ่อมตัวอยู่เสมอว่า มูลค่ารายได้จาก 3 ธุรกิจหลัก ไม่ได้มากมายมหาศาล เข้าขั้นระดับติดทำเนียบ "ฟอร์บ" มหาเศรษฐีระดับโลกด้วยซ้ำไป
หากเทียบกับทุนน้ำเมา เจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี ที่มีชื่อติดทำเนียบ "แลนด์ลอร์ด" ระดับต้นๆ อัสสกุล อาจพ่วงอยู่ระดับกลางๆ ถึงแม้จะมีจำนวนไม่มากเท่า แต่ที่ดินในมือก็ล้วนแต่เป็น "ทำเลทอง" มูลค่ามหาศาล...
อย่างไรก็ตาม ที่บอกได้ก็คือ ทั้ง 3 ธุรกิจหลัก เกื้อหนุนกันมาอย่างดี และแต่ละธุรกิจก็มีมูลค่า 1 ใน 3 ไม่มีธุรกิจไหนมีรายได้สูง เกินหน้าเกินตากัน จนสามารถบอกได้ว่า มีสัดส่วนรายได้ล้ำหน้าธุรกิจอื่น
ว่ากันว่า จุดแข็งไทยสมุทรประกันชีวิตที่ต่างไปจาก ธุรกิจประกันชีวิตค่ายอื่นๆก็คือ หน้าตาพอร์ตลงทุนที่เชื่อมโยงกันอย่างเหนียวแน่น ระหว่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และพอร์ตลงทุนของไทยสมุทรฯ...
ที่เห็นชัดเจน ก็คือ มีการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ผ่านบริษัทในเครือ ที่มีโครงการในมือหลากหลายทั้งบ้านเดี่ยว โรงแรม คอนโด ระดับหรูหรา รวมถึงธุรกิจเช่าซื้อ และการปล่อยสินเชื่อกรมธรรม์
" องค์กรเรากำลังใหญ่ขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจระดับโลก ฉะนั้นการจะอยู่รอด และขับเคลื่อนธุรกิจไปได้ ก็จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนตัวเอง"
กีรติ บอกว่า ไทยสมุทรฯก็เหมือนเรือเดินทะเลที่มีขนาดใหญ่โตมากขึ้นทุกวัน และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ทำให้เกิดแรงเฉื่อย และไม่คล่องตัว โดยเฉพาะการอยู่ภายใต้ร่วมเงา "ธุรกิจแบบกงสี" ....
ในที่สุด การบริหารแบบครอบครัวก็มาถึง "จุดเปลี่ยน" เมื่อ ไทยสมุทรประกันชีวิต ได้มือดี ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดเงิน-ตลาดทุนเข้ามาเป็น "กัปตัน" เรือเดินสมุทรลำใหญ่ "ไทยสมุทรประกันชีวิต" ที่มีมูลค่าทรัพย์สินระดับ 40,000 ล้านบาท
กีรติ บอกว่า บอร์ดเห็นควรให้ปรับปรุงแนวทางการบริหาร โดยเริ่มจากส่วนบน เพราะ "ผู้นำ" จะเป็นกลไกสำคัญ ที่จะผลักดันองค์กรให้บรรลุวัตถุประสงค์ และอยู่มาได้อย่างเข้มแข็ง เหมือนที่เคยอยู่มานานเกือบ 60 ปี
" เดิมสไตล์การบริหารจะเป็นแบบครอบครัว คนที่จะขึ้นมายืนระดับสูงในอดีตจะมาจากคนในครอบครัว แต่ตอนนี้ ได้มีการเชิญมืออาชีพเขามาดูแลเต็มตัว ถึงแม้ในบางตำแหน่งจะต้องโปรโมทคนของตัวเองมาก่อน แต่ถ้าจำเป็นต้องเชิญคนนอก... ก็ต้องเชิญ..."
กีรติ บอกว่า ธุรกิจอื่นในครอบครัวมักจะใช้มืออาชีพมาโดยตลอด เช่น อสังหาริมทรัพย์ ก็มีมืออาชีพด้านโรงแรม ธุรกิจก่อสร้าง การตลาด ธุรกิจโรงเรียนเข้ามาร่วมด้วย รวมถึงธุรกิจส่งออกแก้วหรือ โอเชี่ยนกลาส ก็ได้ส่งคนไปเรียนรู้โนฮาวน์จากต่างประเทศ และก็ทำมาถึง 25 ปี
" แต่ก็มีบางครั้งที่เลือกจะมีพันธมิตรแบบแชร์ทรัพยากรร่วมกัน กับบริษัทในเครือ อาทิ ร่วมกับไดอิชิ มิวชวล ไลฟ์ อินชัวรันส์ ญี่ปุ่น เพื่อทำการตลาดและธุรกิจร่วมกัน"
ดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการ คนใหม่ ก้าวเข้ามาในช่วงเปลี่ยนแปลงของไทยสมุทรฯครั้งใหญ่ในรอบ 6 ทศวรรษ ซึ่ง "กีรติ" มักจะบอกว่า มีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน แต่ผู้คนภายนอกอาจจะไม่ระแคะระคาย
ดัยนา ยอมรับว่า ตัดสินใจเข้ามาบริหารองค์กรนี้ เพราะมีภาพพจน์ที่ดีมาตลอด ถึงแม้จะเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่มากในอดีต แต่นับจากนี้การตลาดจะเน้นหนักไปในเชิงรุกมากขึ้น
" หัวใจคือ ความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อองค์กร ผู้บริหาร รองลงมาคือ ความมั่นคงขององค์กร"
กัปตันคนใหม่ของ เรือเดินสมุทร ไทยสมุทรประกันชีวิต บอกว่า จะใช้ประสบการณ์ด้านตลาดเงิน-ตลาดทุน มาวางระบบให้กับช่องทางขายใหม่ๆ นอกเหนือจากช่องทางตัวแทน อาทิ แบงแอสชัวรันส์ รวมทั้งการเริ่มต้นขายประกันให้กับองค์กรหรือ เวอร์คไซส์มาร์เก็ตติ้ง
" ที่ทำไปมากแล้วก็คือ การวางแผนคัดเลือกผู้ขายซอฟท์แวร์ หรือไอที เพื่อนำข้อมูล มาวางแผนการตลาด ที่จะเชื่อมไปถึงลูกค้า"
กีรติ บอกว่า ในยุค คุณพ่อ (กฤษณ์ อัสสกุล) กลับมาจากอเมริกา มาบริหาร จนไทยสมุทรฯอายุได้เกือบ 60 ปี การบริหารมักจะใช้มืออาชีพ โดยการตัดสินใจของบุคคลในครอบครัว แต่ปัญหาคือ จะหาใครมาดูแลธุรกิจให้รุ่งเรือง และแข่งขันได้ พร้อมกับการปรับตัวไปตามยุคสมัย เพราะการแข่งขันรุนแรง
" ธุรกิจประกันชีวิตปัจจุบันแข่งขันหนัก มีการนำเอาหลักวิชาการเข้ามาใช้ การตลาดก็แข่งขันรุนแรงมากขึ้น ซึ่งแม้เราจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ก็จำเป็นต้องวางรากฐานในอนาคต"
เพียงเท่านี้ก็มากพอจะอธิบายได้ว่า องค์กรที่เคยเก็บตัวเงียบ และยึดติดอยู่กับฐานลูกค้าระดับ "รากหญ้า"หรือ ตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรม เบี้ยราคาต่ำ มาตลอด คงจะเดินต่อไปได้ลำบาก เพราะพื้นที่หรืออาณาจักรที่เคยครอบครองอยู่กำลังถูก "รุกล้ำ" หรือถึงขั้น "บุกรุก"
ข้อมูลจากฝั่ง ไทยสมุทรฯ บอกว่า มีฐานลูกค้ามากกว่า 1.2 ล้านราย ถือกรมธรรม์ราว 1 ล้านกรมธรรม์ เกือบทั้งหมดเป็นตลาดระดับรากหญ้า ที่กำลังจะถูกคุกคาม โดยทุนนอกอย่าง เอไอเอ รวมถึงเบอร์ 2 ไทยประกันชีวิต เมืองไทยประกันชีวิต และอีกหลายค่ายที่กำลังจดจ้องตลาดระดับล่างตาเป็นมัน...
การสรรหาตัว "กัปตันเดินเรือ" ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงบอกเป็นนัยสำคัญถึง การพยายามรักษาฐานตลาดเดิม ก่อนจะใช้พื้นที่เดียวกันนี้ต่อยอดไปถึงการขายกรมธรรม์สามัญ ในกลุ่มลูกค้ารายย่อย ตลาดที่คู่แข่งหลายค่ายกำลังรุกไล่อย่างเมามัน ขณะที่ไทยสมุทรฯกลับออกตัวอย่างเชื่องช้ากว่าคนอื่น
สำคัญที่สุดคือ การเคลื่อนตัวอย่างอืดอาด ในขณะที่ทุนจากโลกตะวันตกกำลังเร่งอัตราการเติบโตจนยั้งไม่อยู่
แทบทุกบริษัทหว่านเงินไปกับกิจกรรมการตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ เสนอสินค้าผ่านทุกช่องทางที่มีอยู่ในโลกนี้ แต่ไทยสมุทรฯ กลับแน่นิ่ง ก่อนจะหันมาตั้งหลักพลิกลำเรือให้หันหัวเรือไปในทิศทางเดียวกับ "บรรดาคู่อริ" ในเวลาที่เรียกว่าเกือบจะสายเกินไป
" เพื่อความอยู่รอด บางคนอาจจะขายทรัพย์สินที่ถืออยู่ในมือ หรือไม่ถือเอาไว้เลย แต่สำหรับเรา มีความผูกพันธ์กับประกันชีวิต ดังนั้นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จึงต้องยึดถือ "มูลค่า" ที่จะทำให้อยู่รอดได้"
การยึดติดในมูลค่าหรือ "แวลู" ตามความหมาย ก็คือ การเข้าใจว่าลูกค้าเป็นใหญ่ เข้าใจในคุณค่าชีวิต และให้ความสำคัญกับตัวแทน กีรติ บอกว่า ไทยสมุทรฯเปรียบเสมือนเรือใหญ่ ที่มีน้ำหนักมาก แต่ก็มีเสถียรภาพ ขณะเดียวกันก็มีหลักการที่ยึดมั่นในตระกูล "อัสสกุล" คือ คงไม่ขายกิจการหรือ ขายหุ้นเพื่อให้คนอื่นเข้ามาควบคุม
ยกเว้นอีกฝ่าย จะมีโนฮาวน์ นวัตกรรมใหม่ๆ มีการบริหารควบคุมต้นทุนที่เก่ง เก่งในข้อมูล และการตลาด มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน ที่จะมีผลต่อการสืบทอดองค์กรในอนาคต ก็มีความเป็นไปได้ที่จะตอบรับเป็นพันธมิตรในรูปของ "พันธมิตรธุรกิจ"
" เราคงไม่เอาประเภท ทำกำไร แล้วจ่ายเงินปันผลออกไปต่างประเทศ หรือ บริษัทนั้นๆทำตัวเป็น "นักลงทุน" ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นอย่างเดียว อย่างนี้เราก็คงไม่เลือกมาเป็นพันธมิตร แต่พาร์ทเนอร์ของเราเข้ามา ต้องเป็นบวก"
ทายาทคนโต ตระกูล "อัสสกุล" บอกว่า ... "ไม่สนใจเรื่องเงิน และไม่รู้จะเอาเงินสดมาเก็บไว้ในแบงก์ทำไม ขณะเดียวกัน ก็ไม่คิดจะขายหุ้น เพื่อที่จะนั่งนับเงินปันผลอย่างเดียว"...
แต่ยังมีสัญญาณหนึ่ง ที่บอกได้ว่า "อัสสกุล" คงเลี่ยงไม่พ้น นั่นก็คือ ถึงแม้จะมีเงินในมือมากมายมหาศาล ก็ยังไม่มากเพียงพอจะหลบกระแสพายุลูกใหญ่จากทุกมุมโลก ที่เคลื่อนตัวเข้ามาในเวลาเดียวกันได้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในองค์กร ที่เคยยืนหยัดในรูป "กงสี" มายาวนาน ตลอดเวลา 60 ปี ทุกอย่างก็อาจจะสายเกินไป....
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|